4 ขั้นตอนจัดการหนี้ ให้ตรงจุด และมีเงินออมหลังปลดหนี้

คนที่มีหนี้ต่างเข้าใจว่าในภาวะเศรษฐกิจปกติ การ “จัดการหนี้” ก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่หลายคนได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง หลายคนตกงาน ต้องหาอาชีพอื่นทำเพื่อประคองตัวไป ขณะที่เจ้าหนี้แต่ละรายกยังทวงกันทุกเดือน หลายคนต้องยอมเฉือนเนื้อทิ้ง คือการปล่อยให้โดนยึดบ้าน ยึดรถ ยึดที่ดิน เพราะคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าหนี้ โดยเฉพาะสถาบันการเงินต่างๆ เขาไม่ได้อยากยึดทรัพย์สินของเรา แต่เขาอยากให้จ่ายหนี้เป็นเงินมากกว่า

ในบทความนี้ SHiFT Your Future จะมาช่วยแนะแนวทางการปลดหนี้อย่างถูกวิธี สามารถรักษาสินทรัพย์เอาไว้ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถสร้างเงินออมหลังปลดหนี้สำเร็จได้อีกด้วย
ตั้งสติ ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
สิ่งแรกที่ต้องทำให้ได้ก่อนคือ การตั้งสติ เพราะบางคนอาจจะสติแตกกับรายจ่ายที่เจ้าหนี้แต่ละรายเรียกเก็บ ขณะที่รายได้ที่หามานั้นแทบจะไม่พอจ่าย หรือเมื่อจ่ายหมดแล้วไม่เหลือเงินใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อตั้งสติได้แล้ว ให้เริ่มทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เริ่มจากรายจ่ายก่อน ให้ดูว่าเป็นหนี้ใครบ้าง ยอดเงินต้นเหลือเท่าไร แต่ละรายเสียดอกเบี้ยเท่าไร รวมถึงรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายในทุกๆ เดือนเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต

จากนั้นกลับมาดูรายรับตัวเอง ว่ามีมากกว่าหนี้หรือน้อยกว่านี้ กรณีที่รายรับยังมากกว่าหนี้ ก็ถือว่าคุณยังโชคดีที่สามารถหาวิธีจัดการหนี้ได้ง่าย แต่ถ้าหนี้มากกว่ารายรับก็อาจจะต้องลองมองหาอาชีพเสริมที่ใช้การลงแรงเพื่อแลกกับเงินที่เพิ่มขึ้นต่อเดือน
เปิดใจคุยกับเจ้าหนี้ วางแผนร่วมกัน
หลังจากรู้รายรับรายจ่ายของตัวเองแล้ว ให้รีบไปคุยกับสถาบันการเงินที่เราเป็นหนี้มากที่สุด และให้ “เปิดใจคุย” ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า เจ้าหนี้อยากได้เงิน มากกว่ายึดทรัพย์สิน

จากนั้นให้คุยเพื่อรวมหนี้จากทั้ง บ้าน รถ บัตรเครดิต หรืออื่นๆ เป็นก้อนเดียว เป็นการ “กู้หนี้ใหม่ไปปิดหนี้เก่า” เพื่อง่ายต่อการต่อรองเรื่องดอกเบี้ยและจำนวนเงินที่ต้องชำระต่อเดือน ซึ่งลูกหนี้ที่แสดงความจริงใจจะจ่ายหนี้ มีโอกาสที่จะได้รับการ “ประนอมหนี้” มากกว่าคนที่ไม่ยอมคุยกับเจ้าหนี้โตยตรง

ทั้งนี้การประนอมหนี้ สามารถทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่

-ขอขยายเวลาผ่อนชำระ : เช่นจากเดิมต้องใช้หนี้ให้หมดใน 10 ปี ก็อาจจะขอขยายเป็น 15 ปี เพื่อลดจำนวนเงินที่ต้องชำระต่อเดือน

-ขอลดดอกเบี้ย : สำหรับลูกหนี้ชั้นดี ก็มีโอกาสต่อรองกับสถาบันการเงินเพื่อขอลดดอกเบี้ยได้

-ขอหยุดชำระหนี้ชั่วคราว : กรณีลูกหนี้เกิดวิกฤต เช่น ตกงาน หรือ ป่วยหนักและต้องการนำเงินไปรักษาตัว
ลดสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่สร้างหนี้ใหม่
เมื่อเรารู้ตัวว่ามีหนี้ท่วมหัว สิ่งที่สำคัญอีกข้อ คือ การไม่สร้างหนี้ใหม่ เพราะการสร้างหนี้ใหม่โดยที่ยังหารายรับเพิ่มไม่ได้จะส่งผลเสียในระยะยาว โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ต้องหยุดพฤติกรรม “ของมันต้องมี” ให้ได้ ลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยจนกว่าจะปลดหนี้ได้ รวมถึงไม่กู้นอกระบบ
สร้างวินัยตัวเอง ทำให้เป็นนิสัยถาวร
ข้อสุดท้ายนี้จะเปลี่ยนชีวิตของลูกหนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะความมีวินัยกับตัวเองนั้นสำคัญมาก วินัยข้อแรกคือการแบ่งเงินออกมาจ่ายหนี้ก่อนนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายอย่างอื่น หลีกเลี่ยงนิสัยดึงเงินที่ต้องจ่ายหนี้มาใช้ก่อน และใกล้ๆ กำหนดชำระหนี้ค่อยหามาคืน เพราะถ้าหาเงินกลับมาไม่ทันก็จะเสียเครดิตลูกหนี้ชั้นดีไป

นอกจากแบ่งเงินออกมาจ่ายหนี้แล้ว ข้อที่ 2 คือการแบ่งเงินเล็กๆ น้อยๆ มาออมไว้ทุกเดือน เพราะเราไม่รู้ว่าวันหน้าจะเกิดวิกฤตอะไรอีกหรือไม่ เงินออมส่วนนี้จะเข้ามาช่วยบรรเทาวิกฤตได้ แต่ถ้าไม่มีวิกฤตอะไรเกิดขึ้น

หลังจากปลดหนี้สำเร็จ ให้เปลี่ยนเงินที่เคยใช้ชำระหนี้ต่อเดือน มาเป็นเงินลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น หรือ กองทุนต่างๆ ทั้งนี้จะต้องหาความรู้และลงทุนกับสิ่งที่ตนเองรู้และสนใจด้วยเพื่อจะได้ไม่สูญเงินไปกับการลงทุน

สุดท้ายนี้เราก็หวังว่าลูกหนี้ จะนำแนวทางเหล่านี้ไปใช้ และปลดหนี้ได้ในเร็ววัน

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

5 ข้อที่นักลงทุนมือใหม่ยังเข้าใจผิด
แก้ปัญหา 5 ข้อของการตลาดออนไลน์ ที่มักถูกมองข้าม

ภาพประกอบจาก freepik
Created with