5 วิธีจดโน้ตอย่างมีประสิทธิภาพ

In Summary

  • การจดโน้ตคือหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้บทเรียนใหม่ๆ หรือการเข้าฟังการประชุมก็ตาม ทุกคนต่างก็ต้องจดโน้ตเพื่อเก็บข้อมูลสำคัญกลับมา
  • การจดโน้ตที่ดีคือการจดโน้ตอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งมีหลากหลายแบบและมีความเหมาะสมแตกต่างกันไปตามเนื้อหา
  • 5 วิธีการจดโน้ตอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจดโน้ตแบบเอาท์ไลน์ การจดโน้ตแบบคอร์เนลล์ การจดโน้ตแบบบ็อกซิง การจดโน้ตแบบชาร์ท และการจดโน้ตแบบแมปปิง
การจดโน้ตเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เราต้องทำกันบ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน แม้จะเลยวัยเรียนมาแล้ว เวลาเข้าประชุมเราก็ยังต้องจดโน้ต หรือเวลาศึกษาหาข้อมูลหรือเรียนรู้เรื่องต่างๆ การจดโน้ตก็ยังคงมีความจำเป็น

หลายคนอาจคิดว่าการจดโน้ตจะจดแบบไหนก็ได้เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญคือใจความสำคัญในโน้ตต่างหาก แต่ในความเป็นจริงคือ รูปแบบการจดโน้ตนั้นมีผลต่อประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และจดจำเนื้อหามากกว่าที่เราคิด งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการจดโน้ตที่มีประสิทธิภาพและช่วยให้เราเข้าใจและจดจำเนื้อหาได้ดีที่สุดคือการจดโน้ตอย่างมีระเบียบ ซึ่งการจดโน้ตให้มีระเบียบนั้นมีรูปแบบหลากหลายแตกต่างกันไป และเหมาะกับรูปแบบเนื้อหาที่ต่างกันอีกด้วย

วันนี้ SHiFT Your Future เลยอยากเป็นผู้ช่วยที่ดีในการเรียนรู้ของทุกคน ขอหยิบเอา 5 วิธีจดโน้ตอย่างมีประสิทธิภาพมาฝากกัน การจดโน้ตแต่ละรูปแบบก็จะเหมาะกับเนื้อหาที่ต่างกันไป รับรองว่ายิ่งจดยิ่งเก่งแน่นอน บอกเลยว่าบทความนี้ไม่อ่านถือว่าพลาดนะครับ

 
1. การจดโน้ตแบบเอาท์ไลน์ (The Outline Method)
การจดโน้ตแบบเอาท์ไลน์คือหนึ่งในวิธีจดโน้ตที่เป็นที่นิยมที่สุด และหลายคนก็อาจจะเคยจดโน้ตวิธีนี้บ่อยๆ โดยไม่รู้ตัว คำว่า ‘เอาท์ไลน์’ หรือ ‘Outline’ นั้นแปลเป็นไทยแบบตรงตัวได้ว่า ‘โครงร่าง’ ดังนั้นการจดโน้ตแบบเอาท์ไลน์คือการเลือกจดเฉพาะใจความสำคัญและจดให้เป็นโครงร่างที่ช่วยให้เห็นภาพรวม

ขั้นตอนการจดโน้ตแบบเอาท์ไลน์คือ เลือกจดใจความสำคัญที่เป็นหัวข้อใหญ่เป็นหลัก และหากมีใจความสำคัญที่เป็นหัวข้อย่อยๆ ก็ให้จดไว้ภายใต้หัวข้อหลักนั้นอีกที ดูตัวอย่างได้ตามภาพด้านล่าง
การจดโน้ตรูปแบบนี้จะช่วยประหยัดเวลาในการจด และยังประหยัดเวลาในการทบทวนอีกด้วย เนื่องจากเป็นการเน้นหัวข้อแบบเนื้อๆ ทำให้ง่ายต่อการโฟกัส และทำให้โน้ตของคุณมีระเบียบขึ้น การจดโน้ตรูปแบบนี้เหมาะกับทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการประชุมก็ได้หมดเลยครับ

 
2. การจดโน้ตแบบคอร์เนลล์ (The Cornell Method)
เราเคยพูดถึงวิธีการจดโน้ตแบบคอร์เนลล์ไปอย่างละเอียดกันแล้วในบทความ ยิ่งจดยิ่งเก่งกับ ‘วิธีการจดโน้ตแบบ Cornell’ สามารถไปตามอ่านกันอย่างละเอียดได้เลย โดยสรุปแล้ววิธีการจดโน้ตแบบคอร์เนลล์นั้นเป็นวิธีที่ออกแบบมาโดยวอลเตอร์ พอลค์ (Walter Pauk) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ โดยจะแบ่งหน้ากระดาษเป็น 3 ส่วนตามภาพด้านล่าง และเขียนหัวข้อและวันที่บนหัวกระดาษ
ส่วนที่ชื่อว่า Cue ทางซ้ายสุดนั้นจะใช้จดคีย์เวิร์ด (keyword) สำคัญของบทเรียน รวมถึงคำถามที่เราสงสัย ถัดมาทางขวา ส่วนที่เรียกว่า Note จะใช้จดสาระสำคัญของเนื้อหา และด้านล่างส่วน Summary จะใช้สรุปเนื้อหาในหน้านั้นๆ ควรทำทันทีหลังจบบทเรียน

การจดโน้ตแบบคอร์เนลล์เป็นวิธีที่จะช่วยให้เราสรุปใจความ จัดระเบียบความคิด และจัดระเบียบเนื้อหาได้ดี แถมการต้องจดเนื้อหาแยกประเภทตามช่องนั้นจะช่วยให้เราได้วิเคราะห์เนื้อหาที่กำลังเรียนตลอดเวลา ทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ลึกซึ้งขึ้น และอ่านทบทวนได้ง่ายอีกด้วย การจดโน้ตแบบคอร์เนลล์เหมาะกับทุกสถานการณ์ จะเป็นการเรียนหรือประชุมก็ได้เช่นกัน

 
3. การจดโน้ตแบบบ็อกซิง (The Boxing Mehjod)
วิธีการจดรูปแบบนี้ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้วิธีอื่นๆ เลย ลักษณะของการจดโน้ตวิธีนี้แปลได้ตรงตัวเลยว่าเป็นวิธีการจดโน้ตแบบกล่อง โดยเขียนหัวข้อใหญ่เป็นหัวกระดาษ จากนั้นแบ่งเรื่องที่จะจดเป็นหัวข้อย่อยๆ หัวข้อนึงก็ใส่ในกล่องนึง ในกล่องนั้นก็ให้สรุปสาระสำคัญหรือรายละเอียดของหัวข้อนั้นๆ ไว้ สามารถดูตามรูปด้านล่างได้เลย
สับสน การจดโน้ตนี้เหมาะกับการจดยุคใหม่ในไอแพดมากกว่ากระดาษ เพราะสามารถปรับขนาดของกล่องได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องลบแก้ใหม่ หรือจะจดทุกอย่างรวมกันให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาแยกใส่กล่องทีหลัง เป็นการทบทวนไปในตัวก็ได้ การจดวิธีนี้ยังง่ายต่อการอ่านทบทวน เพราะกรอบของกล่องจะทำให้เราเลือกโฟกัสทีละหัวข้อได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้จำได้

ง่ายขึ้นเนื่องจากเราสามารถจำเป็นภาพในหัวตามการจัดวางของกล่องได้

 
4. การจดโน้ตแบบชาร์ท (The Charting Method)
การจดโน้ตรูปแบบชาร์ทเป็นวิธีที่เหมาะมากสำหรับเนื้อหาที่พูดถึงข้อมูลเฉพาะของสิ่งต่างๆ และมีรายละเอียดให้จำเยอะ เช่น หากเรียนคอร์สดิจิทัลมาร์เก็ตติงและต้องจด เนื้อหาจำพวกรายละเอียดของแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ หรือเรียนคอร์สเศรษฐศาสตร์และต้องจดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ เป็นต้น โดยการจดรูปแบบนี้จะเป็นการตีตาราง และแบ่งช่องตามประเภทของข้อมูล เช่น หากจดเนื้อหาที่เป็นข้อมูลสื่อโซเชียล อาจแบ่งช่องเป็นชื่อ รายละเอียดเบื้องต้น วิธีทำการตลาดที่เหมาะ ข้อดี ข้อเสีย เป็นต้น
วิธีนี้จะช่วยให้การต้องท่องจำรายละเอียดเยอะๆ นั้นทำได้ง่ายขึ้น และยังใช้สำหรับสรุปเนื้อหาสำหรับทบทวนได้เช่นกัน หากเป็นเนื้อหาที่ต้องมีการเปรียบเทียบข้อมูลก็จะยิ่งเหมาะมากขึ้นไปอีก เนื่องจากรูปแบบการจดจะทำให้เห็นความต่างระหว่างข้อมูลแต่ละอันได้ง่ายขึ้น

 
5. การจดโน้ตแบบแมปปิง (The Mapping Method)
หลายคนคงคุ้นเคยกับการทำ ‘มายแมป’ (Mind map) ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์มักสั่งให้ทำหลังเรียนจบบทเรียนในวัยประถมและมัธยม การจดโน้ตแบบแมปปิงนี้ก็เหมือนกันการทำมายแมปที่เราเคยทำนั่นแหละ จดสรุปสาระเป็นหัวข้อและโยงหากันตามรูปแบบความสัมพันธ์ เช่น หัวข้อหลักไปหาหัวข้อย่อย หรือเหตุไปหาผล ซึ่งการจดแบบแมปปิงนี้เหมาะมากสำหรับหัวข้อที่มีเหตุและผล และมีความสัมพันธ์ในเนื้อหาเยอะ ทำให้เราเห็นภาพรวมของเนื้อหาและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
แม้จะพ้นวัยเรียนมาแล้วแต่การจดโน้ตแบบแมปปิงนั้นก็ยังคงใช้ได้ดีมากเสมอ ทำให้เราเรียงลำดับและเข้าใจความสัมพันธ์ของเนื้อหาทั้งหมดได้ในภาพเดียว เหมาะสำหรับการจดทุกรูปแบบ และยังทบทวนง่ายอีกด้วย แต่สิ่งที่ต้องระวังคือควรเช็กให้ดีว่าเราเข้าใจเนื้อหาถูกต้องหรือไม่ และวาดแมปออกมาได้ถูกต้องตามหลักเหตุผลหรือความสำพันธ์ในเนื้อหาหรือไม่

เรียนรู้วิธีการจดทั้ง 5 รูปแบบกันไปแล้ว อย่าลืมนำไปปรับใช้ เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนะครับ

Source

Weforum

Medium
Created with