5 ขั้นตอนจัดการการเงินเวลาเกิดวิกฤติ

Photo from: Unsplash

 

COVID-19 ก็ระบาด เศรษฐกิจก็กำลังย่ำแย่ การลงทุนก็ผันผวน แถมมีความเสี่ยงเรื่องรายได้ที่อาจจะลดลงหรือหายไปท่ามกลางหนี้สินพะรุงพะรัง จะขยับตัวจะลงทุนอะไรก็เสี่ยงไปหมด จะรับมืออย่างไรดีกับวิกฤตินี้โดยเฉพาะกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ในกระเป๋า จะจัดการเรื่องเงินทองอย่างไรให้เรารอดผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้อย่างชาญฉลาด

วันนี้ หมอนัท คลินิกกองทุน หรือ น.สพ. ธนัฐ ศิริวรางกูร นักวิเคราะห์กองทุน และที่ปรึกษาด้าน Wealth Management & Fintech ของ ก.ล.ต. จะเอาทริคการจัดการเงินเวลาเกิดวิกฤติ 5 ขั้นตอนที่ทำได้จริงมาฝากกัน

จงมี ‘สติ‘ ก่อน แล้วสตางค์จะตามมา

1. จัดการการเงินโดยการทำรายรับ-รายจ่าย แบบมองไปข้างหน้า
เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ นักลงทุนลองกลับมองมาที่รายรับ-รายจ่ายของตัวเองก่อน เนื่องจากรายได้ที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อการกินอยู่ของเราอย่างแน่นอน

แต่การทำบัญชีรายรับรายจ่ายนั้นมีข้อควรระวังอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการทำบัญชีรายรับรายจ่ายต้องไปทำไปข้างหน้า หรือเป็นการกำหนดงบประมาณในแต่ละเดือนนั่นเอง ไม่ใช่การทำย้อนหลัง เพราะการทำย้อนหลังก็เพื่อให้เราเห็นว่ารายจ่ายอะไรบ้างที่เราเคยมี จัดแบ่งกลุ่มรายจ่าย เพื่อคัดเลือกรายการที่ไม่จำเป็น แบบนี้ก็จะทำให้เราสามารถลดการจ่ายลงได้บ้าง

ทั้งนี้การทำจ่ายรับรายจ่ายล่วงหน้าจะทำให้ได้เห็นว่าเงินมีอยู่เท่าไหร่ และรายได้ที่ลดลงนั้นเพียงพอต่อการใช้ในแต่ละเดือนหลังจากนี้ไปได้อีกกี่เดือน หรือว่าสามารถอยู่ได้รอดพ้นวิกฤติไปหรือไม่นั่นเอง

2. บริหารจัดการหนี้
หลังจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้ว จะทำให้เรารู้แล้วว่ามีรายได้ที่ลดลงนั้นสามารถที่จะอยู่ได้หรือไม่ หากอยู่ไม่ได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอเหมือนแต่ก่อนก็ให้ลดรายจ่ายบางอย่างลง เช่น รายจ่ายที่เกี่ยวกับสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ส่วนรายจ่ายประจำเช่นการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ นั้นบางครั้งเราก็อาจจะมองว่าเป็นส่วนที่ลดลงไม่ได้ แต่ให้ลองเข้าไปปรึกษากับธนาคารหรือเจ้าหนี้ และชี้แจงเรื่องที่รายได้ลดลงให้ทางสถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้ทราบ ซึ่งธนาคารจะมาตรการช่วยเหลือเช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือได้รับการช่วยเหลือในเรื่องการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย ยืดระยะเวลา การลดดอกเบี้ย หรือผ่อนแต่ดอกเบี้ย ก็เป็นไปได้

โดยเฉพาะวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่าง COVID-19 นี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ออกมาเยอะแยะมากมาย ซึ่งธนาคารเกือบทุกที่ก็สนองมาตรการนี้ออกด้วยการช่วยเหลือลูกค้าธนาคารมากมายเลย เช่น ลดการจ่ายหนี้ลง 40% จากยอดเดิมเป็นเวลา 1 ปี หรือ ทำการพักชำระหนี้ไป 3- 6 เดือนเลย ซึ่งเชื่อว่าอย่างน้อยๆ ก็ลดรายจ่ายต่อเดือนลงไปได้มากเลยทีเดียว
3. เตรียมเงินฉุกเฉิน
การเตรียมเงินฉุกเฉินนั้น ในความเป็นจริงเราต้องมีการเตรียมมาก่อนหน้านี้ คือในยามปกติเราควรที่จะต้องมีเงินสำรองอย่างน้อยๆ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน พูดง่ายๆ ว่าต่อให้ต้องไม่มีรายได้เลยในระยะเวลา 3-6 เดือน ก็ยังคงที่จะอยู่ได้อย่างสบายๆ จนวิกฤติผ่านพ้น

แต่ถ้าใครที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนนั้นก็คงต้องเริ่มทำโดยเร็ว วางแผนเรื่องเงินที่มีหรือที่เหลือให้ดี โดยเฉพาะเงินที่เหลือจากการปรับลดหนี้สินลงในข้อที่ 2 เราก็จะมีเงินเก็บมากขึ้น และต้องทยอยเก็บเงินฉุกเฉินไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะหลังจากวิกฤติครั้งนี้ผ่านไป เราก็ไม่สามารถรู้ได้หรอกครับว่าจะมีอะไรมารอเราอยู่อีก และทำเผื่อไว้ถ้ามีวิกฤติครั้งหน้าเราก็ไม่ต้องไปกังวล

4. เตรียมเก็บเงินลงทุน
หลังจากที่เราทำตามขั้นตอนหมดแล้ว ช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนทุกคนโชคดีมากที่สุดของการลงทุนในรอบหลายปี เนื่องจากราคาสินทรัพย์ต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ปรับตัวลดลงถึง 20-30% บางสินทรัพย์ก็ติดลบลงไปถึง 40-50%

ณ ตอนนี้โรค COVID-19 ก็ยังไม่หายไป ทำให้ความผันผวนยังคงดำเนินต่อไป อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในตลาดหุ้นนั้น รายได้ก็ยังไม่ฟื้นตัวแม้จะผ่านวิกฤติไปแล้วก็ตาม ดังนั้นตอนนี้ให้อดทนรอ เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปมันจะเป็นโอกาสดีในการลงทุน อาจจะยอมได้กำไรน้อยหน่อย แต่โอกาสขาดทุนน้อยลงก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ต้องอดทนรวยให้ได้

ส่วนนักลงทุนคนไหนที่ทำการลงทุนรายเดือนหรือ DCA (Dollar cost average) อยู่ ขอแนะนำว่าให้ทำต่อไป รักษาวินัยการลงทุนของเราไปเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ได้ของถูกมาถัวเฉลี่ยราคากองทุนหรือ ราคาหุ้นที่ลดลงมานั่นเอง รับรองว่าผ่านไปอีก 3-4 ปีข้างหน้า ก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีเลย
5. มองหาสินทรัพย์ที่ดี และหาข้อมูล เรียนรู้เรื่องการลงทุนเพิ่มเติม
ในช่วงเวลาที่เราเตรียมความพร้อมในการลงทุนหลังวิกฤตินั้น ก็ไม่ควรทำแค่เตรียมเงินเพียงอย่างเดียว การเตรียมความพร้อมในการลงทุนนั้น เราต้องเสริมสร้างสิ่งที่เรียกว่า ความรู้ ความเข้าใจ และหาข้อมูลที่ดีที่ถูกต้องเอาไว้ด้วย เพื่อที่เวลาลงทุนไปแล้ว เราจะได้ทราบว่าที่เราตัดสินใจลงทุนนั้นเกิดจากวิเคราะห์ที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่ลงทุนตามคนอื่นๆ ไป หรือลงทุนตามจังหวะที่คิดว่าดีเท่านั้น

เพราะว่าการลงทุนที่ดีต้องมาจากความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นๆ เป็นอย่างดี การไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าเรากำลังลงทุนกับอะไร นั่นคือการลงทุนที่เสี่ยงที่สุด

ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเรามองให้ดี ในวิกฤติก็ยังมีข้อดีมากมาย เพราะว่าทำให้เราเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ หรือทำให้เราเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบอื่นได้ ทำให้เราได้รู้ว่าต่อให้เราลดรายจ่ายลงเราก็อยู่ได้นี่ เปิดโอกาสให้เราได้อยู่กับครอบครัว ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น มีเวลาทำอะไรที่ชอบมากขึ้น และมีเวลาในการพัฒนาตัวเองไปด้วย

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติก็มักจะมีการวิวัฒนาการอะไรบ้างอย่างเกิดขึ้น ซึ่งนำมาด้วยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเสมอ อย่างในอดีตการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งก็ทำให้เกิดกองทุนอสังหา ฯ ที่นักลงทุนได้ลงทุนและได้ผลตอบแทนที่ดี เกิดนโยบายการลงทุนในกองทุน LTF, RMF เกิดโครงการให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม เกิดอาชีพนักวางแผนการ เงิน เกิดนโยบายการเงินการลงทุนอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้นวิกฤติที่เกิดขึ้นไม่ได้แย่เสมอไป แค่เราเตรียมตัวให้ดี มีสติ ดูแลเงินในกระเป๋าให้ดี รับรองว่าฟ้าหลังฝนจะสวยงามเสมออย่างที่เคยได้ยินกัน และมันจะเป็นเช่นนั้นเสมอ

หากอยากเรียนรู้เรื่องของการบริหารจัดเงิน ๆ ทอง ๆ และการลงทุนเพิ่มเติมแบบเป็นขั้นตอน ตั้งแต่รู้หลักการออมเงิน รู้วิธีการลงทุนที่ถูกต้อง ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการเตรียมพร้อมก่อนเกษียณอายุ ต้องไม่พลาดที่จะเลือกเรียนรู้

กับหลักสูตร ‘Personal Finance’ โดย น.สพ. ธนัฐ ศิริวรางกูร หรือ หมอนัท คลินิกกองทุน นักวางแผนกองทุนชื่อดัง และวิทยากรพิเศษของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นผู้ที่ทำข้อมูลหนังสือชี้ชวนการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สามารถเรียนผ่านระบบการเรียนออนไลน์ของ SHiFT ACADEMY
Created with