7 ข้อ เปลี่ยนคนธรรมดาเป็นคนคูลๆ ด้วยการเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)

In Summary

  • การมีความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Intelligence) คือคุณสมบัติที่ทำให้เราสามารถควบคุม เข้าใจ และจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดี คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจึงเป็นคนสุขุม ใจเย็น และสามารถรับมือได้กับทุกปัญหา
  • ความฉลาดทางอารมณ์ EQ (Emotional Intelligence) คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นในทุกแง่มุม เพราะทำให้เราจัดการความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวหรือที่ทำงานได้ดีเยี่ยม
  • การเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ โดยอาศัยการเรียนรู้จากตัวอย่างของคนต้นแบบ การรู้จักรับฟังผู้อื่น การเพิ่มความน่าเชื่อถือ สร้างขอบเขตชีวิตที่ชัดเจน รู้จักและเข้าใจความคิดของตนเอง รวมถึงการบ่มเพาะความรู้สึกดีๆ ต่อทุกแง่มุมของชีวิต

เคยสังเกตเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวบางคนไหม ว่าทำไมเขาถึงดูใจเย็น สุขุม รับมือกับเรื่องต่างๆ ได้ดี เรียกได้ว่าดูเป็น ‘คูล’ มากๆ แทบไม่เคยหลุดระเบิดอารมณ์ออกมาไม่ว่าสถานการณ์จะกดดันแค่ไหนก็ตาม หรือเวลาเจอกับความล้มเหลว เขาก็มักจะฟื้นตัวไว จนกลายเป็นคนที่คอยกระตุ้นและให้กำลังใจคนอื่นอยู่เสมอ

แน่นอนว่าทุกคนต้องพบเจอมีคนคูลๆ แบบนี้ไม่มากก็น้อย ซึ่งสาเหตุที่พวกเขามีความคูลมากมายขนาดนั้น ก็เพราะเขามีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ (Emotional Intelligence) หรือที่เราคุ้นหูกันสั้นๆ ว่า EQ

ความฉลาดทางอารมณ์คือสิ่งที่ทำให้คนเราสามารถจัดการความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้ดี เข้าใจว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไร เกิดจากอะไร ต้องจัดการอย่างไร ที่สำคัญต้องควบคุมการกระทำไม่ให้สร้างปัญหากับคนรอบข้างด้วย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้นี่เอง ที่จะต่อยอดไปสู่ภาพลักษณ์ของการเป็นคนสุขุม น่าเชื่อถือ เห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง แถมยังจัดการกับปัญหาได้ดีเสมอ

การมีความฉลาดทางอารมณ์ไม่เพียงแต่ทำให้คุณดูเป็นคนคูลๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย เพราะมันทำให้คุณประคองความสัมพันธ์ได้ดีและจัดการกับปัญหาได้ยอดเยี่ยมนั่นเอง

และนี่ทำให้ Forbes จัดให้ความฉลาดทางอารมณ์เป็น 1 ใน 10 ทักษะที่จำเป็นที่สุดต่อการทำงาน แน่นอนว่าความสามารถทางเทคนิคเป็นสิ่งที่ทำให้คุณได้งาน แต่ความฉลาดทางอารมณ์จะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณเป็นที่รัก รวมไปถึงการได้เลื่อนขั้นเพราะคุณจะเข้ากับคนอื่นได้ดีเยี่ยม

หากใครยังคิดว่าตัวเองไม่ค่อยมีความฉลาดทางอารมณ์ อย่าเสียใจไปเพราะมันเป็นเรื่องที่ฝึกฝนและเรียนรู้กันได้ ลองทำตามคำแนะนำ 7 ข้อจากจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ เดวิด เจ พูเดอร์​ (David J. Puder) จิตแพทย์จากศูนย์พฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลมาลินดา มัวรีน การ์ริตี (Muareen Gharrity) และแอนเทซา เจนเซน (Antesa Jensen) ผู้เชี่ยวชาญด้านความฉลาดทางอารมณ์ ออเดรย์ โฮป (Audrey Hope) นักบำบัดในศูนย์บำบัดสุขภาพจิตที่มาลิบู และโรแซน คาแพนนา ฮอดจ์ (Roseann Capanna Hodge) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ใน Grateful.com

แล้วคุณจะ ‘คูล’  ได้ไม่ยากเกินเอื้อมแน่นอน
1.ใช้ตัวช่วยจากนักบำบัด
“ลองหานักบำบัดใจดีสักคนที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงคุณได้ เพราะบางครั้งเราแค่ต้องการสัมผัสความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจ และต้องการอยู่ใกล้ชิดคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองไปในทิศทางเดียวกันได้ การซึมซับพฤติกรรมเช่นนี้แบบตัวต่อตัว ดีกว่าการอ่านเองจากหนังสือเป็นไหนๆ”

นี่คือคำแนะนำจาก เดวิด เจ พูเดอร์​ (David J. Puder) จิตแพทย์จากศูนย์พฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลมาลินดา

2. หัดฟังให้มาก
“หนึ่งในสิ่งที่คนต้องการมากที่สุดในโลกคือการถูกรับฟัง” มัวรีน การ์ริตี (Muareen Gharrity) ผู้เชี่ยวชาญด้านความฉลาดทางอารมณ์แนะนำ แน่นอนว่าคนทุกคนอยากพูด อยากระบายความรู้สึก โดยที่มีใครสักคนนั่งฟังโดยไม่ต่อต้าน เราไม่ต้องเห็นด้วยกับพวกเขาก็ได้ ขอแค่ให้โอกาสเขามีคนรับฟังก็พอ

“การฟังอย่างเดียวอาจดูไม่มีสมอง แต่คนเราแทบไม่เคยเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดีเลย” แอนเทซา เจนเซน (Antesa Jensen) ผู้เชี่ยวชาญด้านความฉลาดทางอารมณ์อีกคนแนะนำ เคล็ดลับการเป็นผู้ฟังที่ดีทำได้ไม่ยาก แค่ตั้งใจฟัง จดจ่อกับปัจจุบัน ทวนสิ่งที่ได้ฟังมาซ้ำเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสนใจจริง และเข้าใจถูกต้อง วิธีนี้จะทำให้เราเข้าใจแม้กระทั่งนัยยะที่ซ่อนอยู่ในบทสนทนา ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์เขาทำกันเป็นนิสัยอยู่แล้ว

3. เพิ่มความน่าเชื่อถือ
“หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้คุณเป็นคนน่าเชื่อถือ คือการรักษาคำพูด หากพูดไว้ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำ และถ้ามีเหตุผลที่ทำไม่ได้ให้บอก คนเราจะรู้สึกดีกับความตรงไปตรงมามากกว่าข้ออ้าง” มัวรีนแนะนำ

รวมไปถึงการเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยการทำความรู้จักและจดจำรายละเอียดเกี่ยวกับคนรอบตัวคุณ พยายามสักหน่อย แล้วพวกเขาจะเชื่อมั่นในคุณมากขึ้นอีกเยอะ


Photo from: Freepix


4. สร้างขอบเขตที่ดี
แอนเทซาแนะนำว่า “ประตูสู่การมีความฉลาดทางอารมณ์ระดับสูงคือการสร้างขอบเขตที่ดี” กล่าวคือ เราต้องรู้จักสร้างขอบเขตให้คนอื่นรู้ว่า เวลาไหนที่จะปฏิสัมพันธ์กับเราได้ และต้องรู้จักปฏิเสธด้วย ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เมื่อถึงเวลาที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับใคร ต้องให้เกียรติเขาเหล่านั้นด้วยการทุ่มความสนใจไปที่พวกเขาอย่างสุดตัว

5. สนใจและใส่ใจอารมณ์ของเราบ้าง
“คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะเข้าใจอารมณ์ของตนเองอย่างถ่องแท้และแม่นยำ” แอนเทซาแนะนำ การเข้าใจอารมณ์ของตนเองคือการรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เรากำลังรู้สึกมีอารมณ์โกรธ เมื่อไหร่ที่เรากำลังมีความกังวล และสื่อสารอารมณ์ตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา

หนึ่งในข้อผิดพลาดที่คนหลายคนทำซึ่งทำให้การเข้าใจอารมณ์ทำได้ยากขึ้น คือการเอาอารมณ์ไปปะปนกับความคิดเห็น เช่น เวลาที่เราพูดว่า ฉันรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ดี ไม่เหมือนกับเวลาที่เราพูดว่า ฉันรู้สึกไม่ดี หากแปลเป็นภาษาอังกฤษอาจเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นถึงความต่างระหว่าง “I think this is bad” กับ “I feel bad” ลองเปลี่ยนการพูดใหม่ เข้าใจและแยกให้ได้ว่าอันไหนคืออารมณ์ อันไหนคือความคิดเห็น แล้วเราจะค่อยๆ รู้จักและเข้าใจอารมณ์ตนเองมากขึ้น

6. รู้จักตัวเอง
“อะไรที่ทำให้เราโกรธอยู่ตอนนี้?” นี่คือตัวอย่างของคำถามที่ ออเดรย์ โฮป (Audrey Hope) นักบำบัดในศูนย์บำบัดสุขภาพจิตที่มาลิบูแนะนำให้เราถามตัวเองบ่อยๆ “ใครกระตุ้นความโกรธของเรา และอะไรทำให้เราโกรธจนคุมตัวเองไม่ได้ขนาดนี้?” การหาต้นตอของความโกรธเจอ จะนำไปสู่ความสามารถในการเข้าใจทุกสถานการณ์ทางอารมณ์ในทุกๆ ความสัมพันธ์ นอกจากนี้ออเดรย์ยังแนะนำว่าให้เราออกแบบวิธีหลักที่จะใช้บัง

คับตัวเองหรือดึงสติกลับมาเวลาที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เช่น ใช้วิธียอดฮิตอย่าง นับ 1 ถึง 10 ในใจ หรือเดินออกจากตรงนั้นเพื่อตั้งสติ สูดหายใจก่อนก็ได้

7. รู้สึกขอบคุณและแสดงความขอบคุณออกไปเสมอ
“คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งกับทุกสิ่งรอบตัวเสมอ เมื่อเราซาบซึ้งกับทุกเหตุการณ์ในชีวิต ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก จะดีหรือร้าย ความซาบซึ้งจะเต็มในจิตใจ จนไม่เหลือที่ว่างให้ความรู้สึกด้านลบ หลังจากนั้นความรู้สึกดีๆ และการมองโลกในแง่บวกจะค่อยๆ เติบโตขึ้นในใจเราเอง” โรแซน คาแพนนา ฮอดจ์ (Roseann Capanna Hodge) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตแนะนำ หนึ่งในวิธีที่ช่วยสร้างความรู้สึกขอบคุณในใจเราคือการเริ่มเขียนบันทึกเกี่ยวกับ 3 คนหรือ 3 เรื่องที่ทำให้เรารู้สึกขอบคุณในแต่ละวัน ลองหยุดคิดสักนิด ให้เวลาตัวเองนึกถึงคนอื่นและนึกถึงเรื่องราวดีๆ ในชีวิตบ้าง สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ได้อีกมาก

จดจำและเรียนรู้ 7 ข้อนี้ให้ขึ้นใจ ให้เวลาตัวเองค่อยๆ ฝึกต่อไป วันหนึ่งเราจะกลายเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ได้ โดยที่เราไม่ต้องฝืนทำอีกเลย

Source:

Created with