The Pareto Principle: ทำ 20 ได้ผลลัพธ์ 80 พลิกชีวิตทำงานด้วยหลักการน้อยแต่มาก

In Summary

  • หลักการ 80/20 หรือ The Pareto Principle คือหลักการที่คิดค้นโดยวิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Pareto) นักเศรษฐศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลีที่ค้นพบว่าทรัพย์สินกว่า 80% ของประเทศ เป็นของประชากรแค่เพียง 20% เท่านั้น
  • หลักการนี้เปลี่ยนมุมมองที่ว่าทำเท่าไรได้ผลลัพธ์เท่านั้้น เพราะบางครั้งผลลัพธ์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์มักจะมาจากการตัวแปรเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนทั้งหมดเท่านั้น
  • หลักการนี้สามารถปรับใช้ในการทำงานได้ โดยจะช่วยให้เราทุ่มเทแรงได้ถูกจุดมากขึ้น มองหาส่วนของงาน 20 เปอร์เซ็นต์ที่สำคัญที่สุด แล้วทุ่มแรงให้กับงานส่วนนั้น เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าที่จะทุ่มเวลามากมายในส่วนของรายละเอียดที่ไม่ได้สำคัญเท่าไรนัก

“80 เปอร์เซ็นต์ของผลลัพธ์เกิดจากการลงแรงเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”

ครั้งที่แล้วเราพูดถึงหลักการ 80/20 ในเรื่องของการจัดการเวลาไปแล้ว เชื่อว่าหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่า จริงๆ แล้วเจ้ากฎนี้ทำงานยังไงกันแน่ วันนี้เราจึงวนกลับมาอีกรอบ เพราะถ้าคุณรู้จักปรับใช้กฎ 80/20 นี้ มันจะพลิกชีวิตทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตการทำงานของคุณ แบบหน้ามือเป็นหลังมือ

กฎ 80/20 จริงๆ แล้วมีชื่อว่ากฎ ‘The Pareto Principle’ ตั้งตามชื่อของ วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Pareto)

นักเศรษฐศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลีที่ทำวิจัยแล้วพบว่าทรัพย์สินกว่า 80% ของประเทศ เป็นของประชากรแค่เพียง 20% เท่านั้น โดยแนวคิดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เกือบทุกแง่มุมในชีวิต เพราะมันมีหลักคิดพื้นฐานที่เข้าใจง่ายๆ ว่า “หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตไม่ได้ส่งผลเท่ากัน ออกแรงไปเท่าไหร่ ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลเท่านั้น”

ยกตัวอย่าง โรงงานหนึ่งมีคนงาน 100 คน ไม่ได้หมายความว่า จะมีคนงาน 100 คน ที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพจนส่งผลถึงผลลัพธ์แบบ 100% แต่จริงๆ แล้วผลลัพธ์ 80% อาจมาจากพนักงานแค่ 20% ก็ได้ หรือปัญหา 80% ในระบบคอมพิวเตอร์ อาจมาจากบัคเพียงแค่ 20%

พออธิบายแบบนี้แล้วเห็นภาพชัดขึ้นไหม?

ฉะนั้น อย่าเพิ่งเชื่อว่าทำเท่าไหร่ ได้ผลลัพธ์เท่านั้น เพราะการทำน้อยได้มาก ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
Photo from: Freepix
ประโยชน์ของหลักการ 80/20 มุมมองใหม่ในการทำงาน

หลายคนคงสงสัย แล้วแนวคิดนี้จะมาช่วยอะไรเราล่ะ?

คำตอบก็คือช่วยให้เราโฟกัสถูกจุดมากขึ้น

ถ้าปัญหา 80% เกิดจากบัค 20% ก็แก้บัคเหล่านั้นก่อน ไม่ต้องตามแก้ทั้งหมด หรือถ้าเรารู้ว่าผลงาน 80% มาจากพนักงาน 20% ก็ให้รางวัลพนักงานเหล่านั้น

หลักการนี้ยังทำให้รู้ว่า เราควรลงทุนหรือลงแรงตรงจุดไหนที่จะสร้างความต่างได้ ไม่ใช่ลงทุนลงแรงไปกับ 80% ที่เหลืออย่างเสียเปล่า และแทบจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย

อีกหนึ่งตัวอย่างที่อาจทำให้เข้าใจมากขึ้น คือลองหยิบกระดาษมาหนึ่งแผ่นแล้ววาดรูปบ้านสักหลังหนึ่ง จับเวลาจนกว่าคุณจะวาดเสร็จอย่างสมบูรณ์ และลองมาย้อนดูกันว่าคุณใช้เวลากับการวาดอะไรมากที่สุด?

สมมุติว่าภาพนั้นเสร็จสมบูรณ์ภายใน 4 นาที แน่นอนว่าแทบทุกคนจะวาดโครงสร้างบ้านเสร็จตั้งแต่นาทีแรกแล้ว นั่นคือจุดที่เราเห็นบ้านเป็นรูปเป็นร่าง เป็นบ้านที่เข้าไปอยู่อาศัยได้แล้ว ส่วนเวลากว่า 3 นาทีที่เหลือ เราใช้ไปกับการเติมรายละเอียด วาดรั้วดอกไม้ วาดลวดลายหน้าต่าง ใส่ลายกระเบื้องหลังคา หรือบรรยากาศรอบบ้าน

แน่นอน เวลา 3 นาทีที่เกินมาทำให้บ้านดูน่าอยู่และสวยงามขึ้นมาเป็นกอง แต่เราก็ต้องยอมรับว่า เจ้าโครงสร้างตัวบ้าน (ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด) มันเสร็จไปตั้งแต่นาทีแรกแล้ว

และนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องโฟกัสกับรายละเอียดยิบย่อยมากเกินไป เพื่อจะได้ไม่เสียเวลากับส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นโดยใช่เหตุ ฉะนั้นลองใช้หลักการนี้เพื่อค้นหาให้เจอว่า อะไรคือสิ่งที่เราต้องโฟกัส  จัดแบ่งเวลาให้ถูก แล้วเวลาในชีวิตเราจะมีมากขึ้น

แทนที่จะใช้ 1 ชั่วโมงร่างไอเดียนำเสนอที่ยังไม่ผ่านโดยละเอียด 1 ไอเดีย เปลี่ยนเป็นใช้เวลา 1 ชั่วโมงนั้นคิดไอเดีย 6 ไอเดียไปให้บอสเลือกจะดีกว่าไหม? เพราะการคิดและเขียนโดยคร่าวๆ คงใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีต่ออันอยู่แล้ว

แทนที่จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงอ่านบทความหนึ่งโดยละเอียดยิบทุกถ้อยคำ เปลี่ยนเป็นใช้เวลา 5 นาทีในการอ่านผ่านๆ จับประเด็นสำคัญของบทความนั้นดีกว่าไหม? ซึ่งถ้าเรามี 1 ชั่วโมง เท่ากับว่าเราจะอ่านได้ถึง 12 บทความเลย

สุดท้ายนี้เราก็ไม่ได้อยากให้ทุกคนละเลยความสำคัญของรายละเอียดยิบย่อยหรอก ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณจำเป็นต้องผลิตงานชิ้นมาสเตอร์พีซจริงๆ แล้วล่ะก็ นั่นคือเวลาที่ควรจะโฟกัสไปที่รายละเอียดทั้งหมดที่เหลือ เพราะภาพโมนาลิซาคงโด่งดังไม่ได้ หากเป็นเพียงภาพสเก็ตช์ที่ไม่มีรายละเอียดสื่ออารมณ์อะไรเลย

ฉะนั้นโฟกัสให้ถูกจุด แล้วชีวิตคุณก็จะเปลี่ยนไป
Photo from: Freepix


Source:

Created with