ธนพนธ์ รงรอง
App War มากกว่า ‘แอปชนแอป’ คือแรงบันดาลใจของการสร้าง ‘งานที่ใช่’
ทีมงาน SHiFT มีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์ ‘App War แอปชนแอป’ อีกครั้งผ่านทาง Netflix ภาพยนตร์ไทยจากปี 2018 ที่แม้ว่าจะกลับไปดูอีกครั้งในตอนนี้ ปี 2022 มันก็ยังดูสดใหม่ ไม่ล่าสมัย และสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทางทีมงาน SHiFT จับประเด็นได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การสร้างงานที่ใช่จากความต้องการที่เรียบง่ายของคนเรานี่เอง
ก่อนอื่น ขอพูดถึงธุรกิจ Start-up ที่รันอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้แบบคร่าวๆ ก่อน...
ที่ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังดูสดใหม่ นั่นก็เพราะแม้ว่าธุรกิจ Start-up จะไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วในตอนนี้ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Start-up ยังคงเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดและเข้ามามีบทบาทสำคัญกับวิถีชีวิตและสังคมในโลกทุกวันนี้อย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อบริบทของสังคมโลกเปลี่ยนไปเร็วจากการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของ Disruptive Technology (หรือที่เรียกกันว่า “เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก”) ในระยะหลัง และการระบาดของโควิด-19
ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์อย่าง App War แอปชนแอป เอง ก็นับว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่สะท้อนวิธีคิดและโครงสร้างการทำงานในธุรกิจ Start-up ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของไอเดียที่จะเข้ามาพัฒนาวิถีชีวิตของผู้คนและสังคมผ่านการเขียนและออกแบบโปรแกรม/แอพพลิเคชั่น ร่วมกับการทำธุรกิจให้อยู่รอด ตลอดจนการขอทุนที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างแท้จริง
แต่เมื่อย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการทำแอพพลิเคชั่นในภาพยนตร์เรื่องนี้ มันกลับสะท้อนมาจากเพียงไอเดียที่เรียบง่ายของคนสองคน ที่ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่และสร้าง ‘งานที่ใช่’ ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจ...
App War แอปชนแอป เล่าเรื่องราวของคนสองกลุ่มที่มีแนวคิดในการทำ Start-up เหมือนๆ กัน ซึ่งเริ่มต้นมาจากการเจอกันในร้านอาหารอินเดียของตัวละครหลักอย่าง ‘บอม’ โปรแกรมเมอร์สุดเนิร์ด กับ ‘จูน’ นักการตลาดสุดเฟี้ยว ที่ต่างก็มีไลฟ์สไตล์และชื่นชอบอะไรคล้ายๆ กัน เช่น ชอบกินอาหารอินเดีย ชอบเล่นเลเซอร์แท็ก เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากคนรอบตัวส่วนใหญ่ของพวกเขาเอง อย่างไรก็ตาม การพบกันในครั้งนั้นกลับก่อให้เกิดไอเดียตั้งต้นในการทำธุรกิจ Start-up และจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีคุณสมบัติในการนัดแนะกับคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันให้มาเจอกัน พูดคุยกัน และได้ทำกิจกรรมที่ชอบร่วมกัน
โดยบอมได้นำทีมพัฒนาแอพพลิเคชั่นดังกล่าวร่วมกับเพื่อนๆ ในชื่อแอพ ‘Inviter’ ขณะเดียวกัน จูนก็ไม่ได้เจอกับบอมอีกหลังจากที่ร้านอาหารอินเดียข้างต้น เธอก็ได้นำทีมพัฒนาแอพพลิเคชั่นในลักษณะเดียวกันกับ Inviter ตามออกมาในชื่อแอพ ‘Amjoin’ ซึ่งทั้งสองแอพก็กำลังเติบโต อยู่ในการแข่งขันกัน และเตรียมเข้าชิงทุนก้อนใหญ่แห่งวงการ Start-up ขณะที่การทำงานของทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นงานที่เกิดขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจที่ต้องการช่วยเหลือผู้คนจากแรงขับเคลื่อนภายในใจของตัวเองที่มีต่องานที่กำลังทำ
แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเดินตามความฝันและเติมเต็มงานที่ใช่ให้ประสบผลสำเร็จ เมื่อบอมกับจูมมีโอกาสได้พบกันอีกครั้ง และต่างก็รู้เบื้องหลังของกันและกันว่า กำลังนำทีมพัฒนาแอพที่เป็นคู่แข่งกันเองในเกือบทุกแง่มุม ปัญหาจึงเกิดขึ้นเพราะผู้นำของทั้งสองกลุ่มต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่กลับมีธุรกิจที่แข่งขันกันแบบซึ่งๆ หน้า
ด้วยเหตุนั้น เรื่องยุ่งเหยิงก็อุบัติขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ดี-ร้ายและการแข่งขันทางธุรกิจอันเข้มข้นที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และส่งผลกระทบต่อการทำงานที่ใช่โดยตรงของทั้งบอมและจูนเอง จนนำไปสู่การแข่งขันในแบบที่เรียกว่า “เอาเป็นเอาตาย” เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้ามให้ได้ และเริ่มมองข้ามแรงขับเคลื่อนภายในใจต่องานที่ใช่ไปแล้ว? (ซึ่งผู้อ่านสามารถไปรับชมได้เองในภาพยนตร์ App War แอปชนแอป นะครับ ไม่สปอยล์จ้า)
แต่เมื่อมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นในการเจอกันของบอมกับจูนที่ร้านอาหารอินเดียแล้ว แรงบันดาลใจของการได้ทำในสิ่งที่ใช่ หรืองานที่ใช่นี้ และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับตัวคนที่ทำงานนั้นได้ มันเกิดขึ้นมาจากเพียงเรื่องราวและความคิดที่เรียบง่ายภายในของทั้งสองคนนี้เท่านั้นเอง...
ในกรณีของบอม เขาเพียงอยากหาใครสักคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันกับเขาได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน มากไปกว่านั้น เขายังมีจูนเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการทำงานพัฒนาแอพ Inviter ของเขาให้เกิดขึ้นมาด้วย หรือพูดอีกอย่างว่า เป็นการเปลี่ยนปมด้อยของตัวเองให้กลายเป็นไอเดียและสร้างงานที่ใช่ขึ้นมา
ส่วนในกรณีของจูน จูนเป็นสาวหัวสมัยใหม่ที่ไม่อยากทำงานกับที่บ้าน และต้องการลุกออกมาทำธุรกิจของตัวเองผ่านการทำ Start-up ซึ่งเธอก็มีแนวคิดและไลฟ์สไตล์ที่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับบอมจากการพูดคุยในร้านอาหารอินเดียครั้งนั้น และมันก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้เธอเริ่มทำแอพ Amjoin ขึ้นมาด้วย
...มองย้อนกลับมาที่ตัวเราและคุณผู้อ่าน บางคนอาจกำลังสับสนกับการทำงานที่เราไม่ได้ชอบหรือไม่พอใจที่จะทำ หรือไม่ก็ยังค้นหาตัวเองในด้านอาชีพการงานไม่เจอ แต่เมื่อพิจารณาจากแง่คิดที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ดังที่กล่าวไปแล้ว บางที เราอาจลองมองย้อนกลับเข้ามาสำรวจตัวเองอีกสักครั้ง (ไม่ว่าคุณจะทำอะไรอยู่ก็ตาม) ลองมองให้ลึกเข้าไปในจิตใจและความคิด ลองออกไปเจอผู้คนหรือทำอะไรใหม่ๆ และตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราอยากทำงานแบบไหนและมีอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนหรือกำลังใจให้เราไปต่อได้กับสิ่งนั้นได้ยาวๆ เช่น เป้าหมายในชีวิต หรือคนที่เรารัก เป็นต้น
และหลังจากที่คุณทบทวนตัวเองให้ดีแล้ว เราเชื่อว่า งานที่ใช่และสอดคล้องกับตัวตนของคุณจะรอคุณอยู่อย่างแน่นอน หรือไม่ คุณก็อาจจะได้สร้างงานที่ใช่นั้นขึ้นมาเองเลยก็ได้ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับบริบทและวิธีคิด รวมถึงความรู้สึกของแต่ละคนด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ทีมงาน SHiFT ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับใครก็ตามที่กำลังตามหาตัวตนและงานที่ใช่ของตัวเองอยู่ให้สู้ต่อไป อย่าได้ท้อนะครับ!
อัปเดตคอร์สใหม่และส่วนลดคอร์สต่างๆ
Thank you!
Policy Pages
Copyright © 2022
รับสิทธิพิเศษก่อนใคร แอดไลน์ @shiftyourfuture