คำทำนายจาก บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) คนที่อยากรู้อยากเห็นจะอยู่รอดได้ในโลกการทำงานแห่งอนาคต

อะไรที่จะทำให้คุณได้เปรียบในปี 2030? บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) มีคำตอบ

Bill Gates มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Microsoft ได้เปิดเผยแนวคิดส่วนตัวของเขาเพื่อตอบคำถามที่ว่า “ทักษะแบบไหนที่จะทำให้คนได้เปรียบในโลกการทำงานแห่งอนาคต?”

จากการขึ้นบรรยายให้นักเรียน ผู้ปกครอง และศิษย์เก่าที่โรงเรียนเก่าของเขาในซีแอตเทิลปีที่แล้ว เบอร์นี โน อาจารย์ใหญ่ได้ถามคำถามหนึ่ง ซึ่งเป็นคำถามที่ควรค่าแก่การจดจำสำหรับคนทำงานรุ่นต่อไป

“ทักษะอะไรที่นักเรียนในปัจจุบันจำเป็นต้องฝึกฝนเพื่อที่จะก้าวหน้าได้ในโลกการทำงานปี 2020-2040?”

บิลล์ตอบว่า “สำหรับนักเรียนรู้ที่เปี่ยมด้วยความอยากรู้อยากเห็น ช่วงเวลานี้เป็นเวลาทองของพวกคุณ พยายามหาความรู้ใหม่ๆ ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะผ่านพอดแคสต์หรือคอร์สออนไลน์ต่างๆ เพราะตอนนี้ช่องทางเหล่านี้ได้พัฒนามาได้อย่างมีคุณภาพมาก”


บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) บ่มเพาะความอยากรู้อยากเห็น
ในการเตรียมความพร้อมแก่นักเรียนเพื่อการทำงานในโลกอนาคต บิลล์เน้นย้ำอย่างหนักถึงความสำคัญของ ‘ความอยากรู้อยากเห็น’ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการหาความรู้ใหม่ๆ เขาสนับสนุนให้นักเรียนเดินหน้าเรียนรู้ในสาขาประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ ซึ่งเขามองว่าสาขาเหล่านี้จะเป็นสาขาที่มีประโยชน์มากในการชี้วัดความสำเร็จในอนาคต

บิลล์กล่าวว่าการมี Growth Mindset เป็นทุนเดิมพร้อมด้วยความอยากรู้อยากเห็นและความพร้อมที่จะเรียนรู้เสมอคือรากฐานสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้นักเรียนสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

ถึงแม้ว่าบิลล์จะลาออกจาก Harvard และเริ่มก่อตั้ง Microsoft ในปี 1975 เขาก็ยังคงโหยหาความรู้อย่างมากจนเขาไปลงเรียนคอร์สพิเศษต่างๆ มากมาย เพียงเพราะว่ามันฟังดูน่าสนใจและน่าสนุก
แม้กระทั่งทุกวันนี้บิลล์ก็ยังคงเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็นและกระหายที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร New York Times บิลล์เล่าว่าเขาอ่านหนังสือกว่า 50 เล่มต่อปี “มันเป็นวิธีหลักที่ผมใช้ในการเรียนรู้ และผมใช้วิธีนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว”

วิทยาศาสตร์ของความอยากรู้อยากเห็น
หลายงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าความอยากรู้อยากเห็นไม่เพียงแต่เป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีความพึงพอใจในชีวิตอีกด้วย และมีงานวิจัยอีกมากมายที่แสดงให้เห็นว่าความอยากรู้อยากเห็นทำให้คนมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เชื่อมต่อกันได้อย่างใกล้ชิดขึ้น และทำให้การเข้าสังคมสนุกสนานมากขึ้น และในความเป็นจริงแล้วคนเรามักจะรู้สึกใกล้ชิดและดึงดูดเข้าหาคนที่แสดงความอยากรู้อยากเห็นได้ง่ายกว่าอยู่แล้วเช่นกัน

Harvard Business Review รายงานว่าคนที่มี ‘CQ’  (Curiosity Quotien หรือระดับความอยากรู้อยากเห็น เป็นคุณลักษณะที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกับพวก IQ ที่เราคุ้นเคย) ในระดับสูงจะขี้สงสัยและสามารถผลิตไอเดียที่สร้างสรรค์และสดใหม่ได้มากกว่า และวิธีคิดแบบนี้จะนำไปสู่ระดับการเรียนรู้ที่สูงกว่าวิธีคิดแบบอื่น การมี CQ สูงคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ด้วยวิธีง่ายๆ ที่ได้มาจากกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากความขี้สงสัยของเรา

ความอยากรู้อยากเห็นยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มความเป็นผู้นำและยังช่วยปลดล็อคศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเราและคนรอบข้างเราได้อีกด้วย ความไม่ลังเลที่จะสำรวจเรื่องราวใหม่ๆ และความกล้าที่จะถามคำถามทำให้ผู้นำที่มีคุณลักษณะนี้สามารถสังเกตเห็นทุกประเด็นที่ซ่อนอยู่ในทุกปัญหา และสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้
บ่อยครั้งที่คนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมและไม่ชอบความเปลี่ยนแปลงจะพยายามทำให้คนขี้สงสัยหยุดถามเพราะมองว่าทุกคำถามมีคำตอบเดิมๆ อยู่แล้ว แต่การสร้างโครงสร้างการทำงานที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นจะเป็นการเตรียมตัวเองให้เปิดรับมุมมองและไอเดียใหม่ๆ ที่อาจจะช่วยแก้ปัญหาซับซ้อนได้เร็วขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

สรุปก็คือ ความอยากรู้อยากเห็นจะนำไปสู่ความชอบ หรือแพสชั่นที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ และนั่นคือสิ่งที่พา Bill Gates มาจนถึงทุกวันนี้

ที่มา: https://www.inc.com/marcel-schwantes/bill-gates-future-of-work-skills.html?cid=sf01001
Created with