อันนั้นก็ต้องมี อันนี้ก็อยากได้ วิธีจัดสรรเงิน 50/30/20 ให้ซื้อได้ทั้งสิ่งจำเป็นและของที่อยากได้

In Summary

  • ค่าใช้จ่ายในชีวิตเราทุกคนแบ่งได้หลักๆ เป็นของที่จำเป็น และของที่อยากได้ ซึ่งหลายครั้งคนเรามักจะใช้เงินไปกับของที่อยากได้จนหมดจนไม่เหลือพอให้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
  • หลายคนคิดว่าถ้าหากอยากเริ่มจัดการงบประมาณ และทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อออมเงิน ควรจะต้องหยุดการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น แต่นั่นจะเป็นการที่ทำให้เราไม่มีความสุขทางใจเลย
  • หลักการ 50/30/20 จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่ยังอยากซื้อของสนองความต้องการอยู่บ้าง โดยแบ่งรายได้ให้ของจำเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ของที่ต้องการ 30 เปอร์เซ็นต์ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์เพื่อออม

เมื่อพูดถึงของใช้จำเป็นในชีวิตคนเรา ย่อมหนีไม่พ้นปัจจัย 4 ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค แถมให้อีกอย่างก็คือรถที่ต้องขับไปทำงานทุกวัน แต่ขณะเดียวกันก็มีของไม่จำเป็นอีกมากที่เราอยากได้เพื่อสนองความสุขทางใจ เช่น รองเท้าคู่ใหม่ กระเป๋าใบสวย ฯลฯ

ซึ่งพอพูดถึงการจัดการรายรับรายจ่ายและการออมเงินแล้ว หลายคนคงคิดว่า ถ้าจะออมให้ได้ ฉันคงต้องประหยัด ต้องซื้อแต่ของที่จำเป็นสินะ ใจเย็นก่อน ชีวิตมันไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เราเข้าใจว่ายังไงเสีย มนุษย์เราก็ยังต้องการของที่อยากได้มาสนองความสุขทางใจอยู่ดีนั่นแหละ

วันนี้เราขอหยิบบทความ ‘Needs vs. Wants: How to Budget for Both’ บทความดีๆ จากเว็บไซต์ Nerdwallet.com มาฝากกัน เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พอดี บทความนี้จะสอนวิธีในการแบ่งสรรปันส่วนงบประมาณให้สมดุล เพื่อให้คุณสามารถซื้อได้ทั้งของที่จำเป็น และของที่อยากได้ ในขณะที่ยังมีเงินเหลือออมอีกด้วย

กำหนดค่าใช้จ่ายที่จำเป็น

อย่างที่บอกไปว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นมักจะเป็นสิ่งที่ถ้าไม่มีแล้วคุณจะใช้ชีวิตลำบาก หรืออาจถึงขั้นที่ใช้ชีวิตไม่ได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็มักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือน และเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในค่าใช้จ่ายทั้งหมดของคุณ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยประกัน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร

ระบุออกมาให้ครบและประมาณไว้เลยว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ จะได้กันเงินไว้แล้วที่เหลือก็สามารถเอาไปใช้จ่ายได้อย่างสบายใจ
Attractive african female photograph thinking, holding money over beige background. Copy space.

ระบุสิ่งที่ต้องการ

สิ่งที่คุณอยากได้หรือต้องการมักเป็นส่วนที่จะทำให้คุณมีชีวิตที่สบายและมีความสุขมากขึ้น จริงอยู่ว่าไม่มีก็อยู่ได้นั่นแหละ แต่ชีวิตก็คงอยู่แบบเซ็งเบื่อๆ ใช่มั้ยล่ะ แม้ความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ส่วนมากก็อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งบันเทิงต่างๆ เช่น ค่าตั๋วหนัง ค่ากินบุฟเฟต์ ค่าเดินทางท่องเที่ยว หรือจะเป็นเสื้อผ้าชุดเก๋นำเทรนด์ และกระเป๋า Limited Edition

เราอยากให้คนที่กำลังรู้สึกผิดกับการเสียเงินไปกับสิ่งเหล่านี้ว่า อย่ากดดันตัวเองจนเกินไป คนเรามีความสุขได้ แค่ใช้จ่ายอย่างมีสติก็พอ

บางครั้งสิ่งที่ต้องการกับสิ่งที่จำเป็นอาจทับซ้อนกัน เช่น คุณต้องการรถเพื่อขับไปทำงาน เพราะบ้านของคุณไกลจากขนส่งสาธารณะมาก การซื้อรถราคา 5 แสนก็ถือว่าเพียงพอสำหรับความจำเป็นแล้ว แต่ความต้องการของคุณคือรถยนต์สุดหรูราคา 2 ล้าน ตรงนี้คือจุดที่คุณต้องคิดดูให้ดีว่า การซื้อรถที่ราคาแพงกว่านั้นกระทบการเงินของคุณหรือไม่ จะทำให้คุณเป็นหนี้โดยไม่จำเป็นรึเปล่า

หรือแม้แต่เรื่องเสื้อผ้า เสื้อผ้าคือสิ่งที่จำเป็นมากในการดำรงชีวิต แต่ถ้าคุณมีเสื้อเต็มตู้แล้ว แต่ก็ยังต้องการเพิ่มอีกเพราะดีไซน์สวย นั่นเข้าข่ายความต้องการมากกว่าความจำเป็น ซึ่งคุณก็ควรจะต้องคิดให้รอบคอบ

จัดสรรงบสำหรับความต้องการและความจำเป็นให้ชัดเจนด้วย เพราะถ้าหากไม่เริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่าย จัดสรรงบประมาณตั้งแต่วันนี้ สุดท้ายคุณอาจจะเผลอทุ่มเงินไปกับสิ่งที่ต้องการจนไม่เหลือพอให้สิ่งที่จำเป็น และนั่นจะทำให้ชีวิตคุณลำบากได้
Aerial view of hands planning a trip with design space

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือเริ่มทำบัญชี ลิสต์ค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อเดือนลงมา ไม่ว่าจะเป็นของเล็กๆ น้อยๆ อย่างกระดาษชำระก็ควรเขียน และแบ่งของทั้งหมดไปตามประเภทต่างๆ เช่น ค่าของใช้ในบ้าน ค่าประกัน ค่าโทรศัพท์

จากนั้นแบ่งต่อเป็นสองประเภทใหญ่คือ สิ่งที่ต้องการ และ สิ่งที่จำเป็น ค่าโทรศัพท์กับเบี้ยประกันคือสิ่งจำเป็น แต่ค่า Netflix คือสิ่งที่ต้องการนะ อย่าสับสนล่ะ

รวมยอดทั้งหมดและจัดลำดับความสำคัญ และใช้สูตร 50/30/20 แบ่งงบประมาณ 50 เปอร์เซ็นให้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ให้ค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งที่อยากได้ และ 20 เปอร์เซ็นต์ไว้ออมและจ่ายหนี้ ลองเอารายได้ทั้งหมดมาคิดเปอร์เซ็นต์ตามนี้แล้วคุณจะได้รู้ว่าคุณสามารถใช้จ่ายอะไรได้เท่าไหร่

เริ่มวางแผนวันนี้เพื่อความมั่นคงและความสุขในชีวิตที่สมดุลกันเถอะ เราเอาใจช่วยอยู่นะ

ที่มา: https://www.nerdwallet.com/article/finance/financial-needs-versus-wants
Created with