ใครท้อต้องฟัง! “วาสนา นารายา” การันตีชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ

ใครท้อต้องฟัง! “วาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัส” แห่งแบรนด์ นารายา การันตีชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอHighlight
  • สถานการณ์ห้างร้านเงียบเหงาในวันที่นักท่องเที่ยวหดหายเพราะพิษ COVID-19 นั้นสร้างผลกระทบให้หลายธุรกิจ นาทีนี้จึงอาจมีบางคนนึกท้อใจเพราะเหนื่อยกับผลลัพท์ที่ไม่เป็นไปตามฝัน ใครที่เริ่มมีอารมณ์นี้ขอให้ลองฟังชีวิตของ “วาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัส” ผู้สร้างแบรนด์ “นารายา” ซึ่งสามารถเนรมิตธุรกิจกระเป๋าผ้าเงินล้านสำเร็จเพราะการบอกตัวเองว่า ‘ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ’
  • คาถาชีวิตที่วาสนายึดมั่นมาตลอดแม้ในวันที่สร้างนารายาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว คือ การไม่ย่อท้อและไม่หมดหวังกับชีวิต วาสนาบอกว่าคนที่ต้องให้กำลังใจตัวเราเองมากที่สุดคือตัวเรา และไม่มีใครจะมาช่วยเราได้เลยยกเว้นตัวเราเอง

เส้นทางชีวิตของวาสนายังสะท้อนสุดยอดคำแนะนำที่ครอบจักรวาลและใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ มนุษย์งาน แม่บ้าน วินมอเตอร์ไซค์ คนขายหมูปิ้ง ฯลฯ  นั่นคือ ทุกคนอาจต้องอดทนทำสิ่งที่ไม่ชอบไปช่วงหนึ่ง เพราะบางทีสิ่งนั้นจะแปรรูปเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เราสามารถหยิบมาใช้ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า

ประเทศไทยเป็นเมืองที่มีของดีสินค้าเด่นแทรกอยู่ทั่วทุกหัวระแหง แต่ท่ามกลางยาอม ยาดม ยาหม่องที่เป็นสินค้าฮิตหรือของฝากที่นักท่องเที่ยวซื้อติดไม้ติดมือเป็นประจำแล้ว แบรนด์กระเป๋าผ้าเงินล้านอย่างนารายาหรือ NaRaYa นี่แหละที่สามารถแทรกตัวเป็นไอเท็มโดดเด่นในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ จนมีการพูดกันเล่นๆ ว่า คงเป็นตราบาป ถ้าไม่ซื้อกลับบ้านเกิด

นารายาเป็นแบรนด์ของ “บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด” ก่อตั้งเมื่อปี 2532 โดย “วาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัส” และ “วาสิลิโอส ลาทูรัส” สามีชาวกรีก วาสนาบอกว่ามีวันนี้ได้เพราะ มองอุปสรรคเป็นปัญหาที่มีไว้สำหรับแก้ไข ฉะนั้นเมื่อเจอปัญหาใดก็ตาม ขอให้คิดเสมอว่าเรามีเวลา ยังมีเกมให้เราเล่นอีก แล้วเราก็ลุกขึ้นสู้มันโดยไม่ต้องท้อแท้

วาสนาคิดแบบนี้ได้หลังจากวันหนึ่งวันนั้น…วันที่เธอแบกรับปัญหาจนไม่ไหว และตัดสินใจกราบลาพระเพื่อจะไปจากโลกนี้ แต่พอเงยหน้าขึ้นมา วาสนาก็คิดได้เหมือนพระท่านจะให้สติ สตินั้นเตือนเธอว่า “เราก็แค่ไม่สบายใจ แต่กายเรายังไหว เรามีอวัยวะครบ 32 น่าจะลุกขึ้นมาสู้อีกสักครั้งหนึ่ง”

เวลานั้นเองที่วาสนาเช็ดน้ำตาแล้วเดินลงมาที่ชั้นล่างของบ้าน แล้วมองว่ามีอะไรในบ้านที่จะเก็บไปขายได้บ้าง การตัดสินใจครั้งนั้นทำให้วาสนาเล่าเรื่องระทมทุกข์ได้ด้วยรอยยิ้มในอีกหลายปีถัดมาหลังจากที่พายุหนักของชีวิตผ่านพ้นไป

36 ปีแรกกับชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับกระเป๋าผ้า

แม้แบรนด์นารายาจะมีอายุเกิน 30 ปี แต่ชีวิต 36 ปีแรกของวาสนาล้วนเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระเป๋าผ้าเลย

เด็กหญิงวาสนาเป็นลูกสาวคนจีนที่จำเป็นต้องหยุดเรียนตอน ป.4 เพื่อช่วยครอบครัวขายของในตลาดประตูน้ำ ด้วยวัยเพียง 11 ปี เด็กหญิงวาสนาช่วยเป็นลูกมือพี่สาวขายไข่ไก่ ถุงพลาสติก เธอบอกว่าจำใจอยู่ตลาดตลอด 20 ปีเต็ม

วาสนาเล่าถึงช่วงนั้นว่าจริงๆ แล้วไม่ได้อยากใช้ชีวิตอยู่ในตลาด เพราะรู้สึกว่ามีแต่สภาพแวดล้อมที่ไม่ดี  แม้จะไม่ชอบแต่ก็จำเป็นต้องทำเพราะตอนนั้นคุณพ่อเลิกกับคุณแม่ไป ทำให้แม่ต้องเลี้ยงลูก 9 คน เธอคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของเธอที่จะต้องช่วย ถึงแม้ว่าจะอายุยังน้อย แต่ก็คิดว่ายังไงเธอก็ต้องช่วย

สิ่งที่ช่วยได้ตอนนั้นคือช่วยแรง วาสนาไปขายของแล้วซักผ้า รีดผ้า ถูบ้านเท่าที่ทำได้ เพราะเป็นน้องคนเล็กของบ้าน แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่ทิ้งการเรียน แต่ยังคงไปเรียนกวดวิชาและสอบเทียบจนได้วุฒิมศ. 3

วันหนึ่ง หลังจากที่คุณแม่เสียแล้ว วาสนาคิดว่าชีวิตเป็นของเรา เธออยากจะไปในที่ที่อยากไป และไปในที่ใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก เธอจึงตัดสินใจไปเรียนภาษาอังกฤษที่สถาบันเอยูเอ เพราะใฝ่ฝันว่าอยากเป็นแอร์โฮสเตส แต่เธอรู้ดีว่าความรู้ไม่พอและความสวยไม่ได้ วาสนาจึงคิดว่าจะเบนเข็มไปทำงานด้านอื่นๆ  ช่วงแรกเธออยากทำงานโรงแรม แต่ก็หวั่นใจว่าโรงแรมอาจไม่รับเข้าทำงาน จึงมองที่งานมัคคุเทศก์แทน ว่าแล้วก็ไปลงเรียนมัคคุเทศก์จนจบหลักสูตร จากนั้นจึงไปสมัครงาน เมื่อบริษัทให้กรอกประวัติการทำงาน เธอกรอกไม่ได้เพราะไม่เคยผ่านงานอะไรมาเป็นชิ้นเป็นอัน ตอนนั้นฝ่ายบุคคลถามว่า “ไปทำอะไรมา อายุ 36 แล้วแต่งานการไม่เคยทำมาก่อน” เธอจึงอธิบายว่าเธออยู่แต่ในตลาด โชคดีที่บริษัทนั้นไม่มองคนที่วุฒิการศึกษา แต่มองคนที่ความสามารถ เธอจึงได้รับโอกาสให้เข้าทำงาน

เหตุการณ์นี้ทำให้วาสนานำแนวคิดนี้มาใช้ในบริษัท เธอบอกว่าบริษัทนี้ให้โอกาสเธอ เธอจึงใช้โอกาสนี้เป็นการให้โอกาสผู้อื่นเหมือนกัน ดังนั้นใครที่มาสมัครงานแล้วบอกว่าจบปริญญาเอกมา นารายาจะไม่สนใจ แต่ถ้าใครมีประสบการณ์ “เราจะรับ”

ล้มแล้วต้องลุก

ตัดภาพอย่างรวดเร็ว ไปที่ตอนวาสนาพบรักกับสามี เธอกับเขาเริ่มต้นทำธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ วาสนาบอกว่าชีวิตช่วงนั้นล้มแล้วล้มอีก ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายอะไหล่รถยนต์และจักรยานยนต์ไม่ได้กำไรยั่งยืนเพราะลูกค้าส่วนใหญ่หันไปติดต่อซื้อตรงกับบริษัทผู้ผลิต เมื่อเงินทุนเริ่มหมดและกำลังมองหาทางผลิตสินค้าของตัวเอง เธอได้รับคำแนะนำจากเพื่อนชาวกรีกซึ่งขายสินค้าที่ระลึกหรือซูวีเนียร์ เพื่อนรายนี้บอกว่าอยากรับสินค้ากลุ่มกระเป๋าผ้าจากประเทศไทย เธอจึงเริ่มหันไปเป็นตัวแทนจำหน่ายกระเป๋าผ้า เพื่อหาธุรกิจใหม่ๆ ทำต่อไป

รายได้จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายกระเป๋าผ้าเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ  แต่ข้อผิดพลาดเรื่องกระเป๋าตัดเย็บผิดแบบผิดสี ทำให้เพื่อนแนะนำให้วาสนาลองลงไปทำเอง เธอจึงชวนพี่สาวและน้องสะใภ้ที่เป็นช่างตัดเสื้อ 3 คน เอาเงินมารวมกันกันนิดหน่อย แล้วก็เริ่มต้นธุรกิจตัดเย็บกระเป๋าผ้าอย่างจริงจัง

วาสนายอมรับว่าเธอไม่ได้เป็นคนที่ชอบกระเป๋า  แท้จริงแล้ววาสนาเป็นคนชอบเสื้อผ้าที่ตัดเย็บเนี้ยบ แต่เป็นเพราะเพื่อนคนนี้ต่างหากที่เอาอาชีพมาให้ ธุรกิจกระเป๋าผ้าของเธอจึงเหมือนโดนบังคับให้ทำเพราะไม่มีอะไรจะทำในเวลานั้น แต่กลายเป็นว่า ธุรกิจนี้เริ่มดีวันดีคืน แต่ท้องฟ้าสว่างสดใสได้ไม่นาน วันหนึ่งวิกฤติก็เกิดขึ้นหลังจากนั้นจนได้

ทำธุรกิจได้สักพัก สถานะการเงินเริ่มสั่นคลอน ภาวะหนี้สินกำลังบีบให้เธอเข้าตาจน วาสนาเล่าว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ วันหนึ่งมีคนมาเคาะประตูบ้าน ผู้ชายร่างใหญ่บอกให้เธอส่งกุญแจรถมา เพราะไม่ได้ผ่อนมา 4 เดือนแล้ว

เธอคิดว่า “แล้วฉันต้องทำยังไงต่อดี” เธอเริ่มใช้บัตรเครดิตในการหมุนเงิน เอารถไปขายเพื่อซื้อรถที่ถูกกว่า รวมถึงกู้เงินนอกระบบ ชีวิตช่วงนั้นลำบากมากจนเธอคิดว่าจะไม่อยู่บนโลกนี้อีกแล้ว

วาสนาบอกว่าเวลานั้นเธอตั้งท้อง และปกติเธอเป็นคนสู้และไม่ใช่คนท้อถอยง่าย แต่วันนั้นเธอรู้สึกเหนื่อยมาก เช็คมีกำหนดเคลียร์พรุ่งนี้แล้วแต่ไม่มีเงินเข้า ตอนนั้นเธอคิดว่าไม่ไหวแล้ว และไม่มีทางจะไปยืมเงินใครเพราะญาติพี่น้องไม่ได้ร่ำรวย เธอขึ้นบ้านไปกราบลาพระว่า “จะไปแล้ว” แต่พอเงยหน้าขึ้นมา เธอก็คิดได้เหมือนท่านให้สติ

เธอคิดได้ว่า “เราแค่ไม่สบายใจ” แต่กายก็ยังครบ 32 น่าจะลุกขึ้นมาสู้อีกสักครั้งหนึ่ง ความคิดนี้ทำให้เธอเช็ดน้ำตาแล้วก็ลงมามองว่ามีอะไรในบ้านจะเก็บไปขายได้บ้าง และแน่นอนว่า มันยังมีกระเป๋าผ้าเหลืออยู่จำนวนมาก เพราะทุกออเดอร์ วาสนาจะสั่งเผื่อสินค้าเสียหายราว 10 เปอร์เซ็นต์ วาสนาคิดจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วยการหาทางขายกระเป๋าผ้าที่เหลือ

วาสนาจึงเริ่มหาทำเลขายของ เธอเลือกไปที่แหล่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงไปที่ร้านนารายณ์ภัณฑ์ซึ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เป็นแหล่งค้าขายที่แอร์โฮสเตสนิยมมาเดินซื้อของ บูธเช่า 2 คูณ 3 แบบ 6 ตารางเมตรที่มีม่านลิเกเป็นประตูร้านกลายเป็นพื้นที่ที่วาสนานำกระเป๋าที่มีในบ้านไปตั้งวางขาย ด้วยประสบการณ์การเป็นแม่ค้าที่ประตูน้ำ ทำให้เธอรู้วิธีคุยกับลูกค้า จนขายดิบขายดี มีเงินสดเข้ากระเป๋าทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทในเวลานั้น

จากที่ต้องรอให้ได้รับออเดอร์ ส่งของ แล้วธนาคารอนุมัติ จึงจะได้รับเงินเหมือนเมื่อครั้งทำบริษัทส่งออก วาสนาเริ่มมีเงินสดเข้ามือทุกวัน จนกระทั่งกระเป๋าหมด นารายาจึงเกิดขึ้นโดยวาสนาต้องไปเลือกซื้อผ้าเพื่อไปสั่งตัดด้วยตัวเอง

บทเรียนที่เจอในวันนั้น และพลังที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง ทำให้วาสนาอยากบอกทุกคนว่า “ไม่ว่าเราจะทุกข์แค่ไหน มันก็ไม่ใช่ที่สุดของชีวิต”

เพราะเธอบอกว่ามันไม่มีคำว่าที่สุด วันนี้พระอาทิตย์ตก แต่พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็ขึ้น พรุ่งนี้ก็อาจจะเป็นวันของเรา แต่เราจะไม่นั่งรอแบบงอมืองอเท้า

แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีสติ เพราะการทำธุรกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ ล้วนมีโอกาสล้มเหลวพอๆ กับสำเร็จ บางคนอาจจะโชคดี ทำแล้วสำเร็จเลย แต่บางคนก็ล้มแล้วล้มอีก แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ท้อ อย่าหมดหวังกับชีวิต คนที่ต้องให้กำลังใจตัวเราเองมากที่สุดคือตัวเรา ไม่มีใครจะมาช่วยเราได้เลยยกเว้นตัวเราเอง

เราทุกคนจึงต้องให้กำลังใจตัวเอง ว่ามันไม่ใช่วันสุดท้ายของชีวิต ฉะนั้นเรายังมีเวลา ยังมีเกมให้ได้เล่นอีก แล้วก็จงสู้มันโดยไม่ท้อแท้

จงอดทนทำสิ่งที่ไม่ชอบ

อย่างที่บอกว่า วาสนายอมรับว่าเธอไม่ชอบชีวิตการค้าขายในตลาด แต่ชีวิตช่วงนั้นเองกลับให้ประสบการณ์มหาศาลกับเธอ ทำให้เธอรู้ว่าต้องขายยังไง อดทนยังไง และจะดีลยังไงกับลูกค้า

“ดังนั้นแม้จะต้องทำสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ มันจะมอบประสบการณ์ให้เราอย่างหนึ่ง ที่เราสามารถนำมาใช้ในวันไหนที่เราก็ไม่รู้เหมือนกัน” วาสนากล่าวบนเวทีสัมมนาของประชาชาติธุรกิจเมื่อปี 2017 “วันนี้เรามีชีวิตอยู่ต่อ อะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นและทำร้ายเราเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ถ้ามองกลับไปจะพบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นครูเราทั้งนั้นเลย เป็นบทเรียนที่เราหาไม่ได้ และไม่มีที่ไหนสอน โชคดีที่เราแก้ไขถูกทาง เรามาด้วยความมีสติ และมีสติในการเดินก้าวต่อไป”

ประสบการณ์ทำให้มีวันนี้

อะไรคือสิ่งที่ทำให้นารายามีวันนี้?  วาสนายอมรับว่าเป็นจังหวะและโอกาส จากช็อปแรกทำให้เธอขยายไปช็อปที่ 2 โดยใช้ประสบการณ์จากสิ่งที่เกิดขึ้น เธอบอกว่า “ขอเพียงหยิบมันไปใช้”

ลูกค้าอุดหนุนนารายามากขึ้นเพราะการเป็นเจ้าแรกในย่านพัฒนพงษ์ที่ขายสินค้าราคา fixed หรือตั้งราคาไว้แน่นอน ปกตินักช็อปที่พัฒนพงษ์ต้องต่อราคา 4-5 เท่า แต่การขายราคาแน่นอนที่ไม่แพงทำให้ลูกค้าเดินไปแล้วต้องเดินกลับมา เพราะว่ามีร้านอื่นขายสินค้าเหมือนกันแต่นารายาขายถูกกว่า

เมื่อมีลูกค้าและธุรกิจเป็นแบบรับเงินสด บริษัทจึงไม่ได้ก่อหนี้ เพราะต้องเอาเงินไปซื้อผ้าแล้วมาเย็บ เย็บแล้วขาย แล้วเอาเงินไปซื้อใหม่ วนอยู่แบบนี้ จึงเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่เสี่ยงเกินไป นอกจากนั้น เธอก็เริ่มมองเห็นช่องทางขยายร้านที่เซ็นทรัลเวิร์ล ทำให้นารายาเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่วาสนายึดมั่นไว้เป็นหลักการทำธุรกิจก็คือ ธรรมชาติของนักท่องเที่ยวล้วนไม่อยากโดนหลอก แต่ทุกคนอยากได้ของคุณภาพดี โชคดีที่นารายาสามารถผลิตสินค้าล็อตใหญ่ ทำให้วัตถุดิบตั้งต้นมีราคาถูกลงมาก สนนราคากระเป๋าของนารายามีตั้งแต่หลัก 200-300 ไปจนกระทั่งถึงระดับไฮเอนด์เกิน 1,000 บาท การผลิตจำนวนมากทำให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง และสามารถกำหนดราคาขายระดับโรงงานโดยไม่ได้เอากำไรมาก

วาสนายอมรับว่าตัวเองในอายุ 60 แอบหวั่นใจเรื่องการตามเทรนด์แฟชัน เธอบอกว่าเป็นไปได้และเป็นไปได้แน่นอนด้วยว่า ตื่นขึ้นมาพรุ่งนี้ ผู้คนอาจไม่ใช้กระเป๋าของนารายาแล้วก็ได้ แต่วาสนาไม่ได้ยอมแพ้ และมองว่าสิ่งที่ต้องทำคือพยายามทันสมัยอยู่เสมอ

วาสนาใช้วิธีตั้งรับด้วยการเตรียมดีไซเนอร์ญี่ปุ่นและร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่น เพื่อตีตลาดญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็มีการปรับตัวด้วยการซื้อข้อมูลเทรนด์สีผ้าล่วงหน้า 2 ปี ร่วมกับการนำเสียงตอบรับจากหน้าร้านมาพัฒนาผลิตภัณฑ์

ตอนนี้ นารายามีสาขาไม่ต่ำกว่า 24 สาขา มีสาขาต่างประเทศที่ดำเนินการเองที่ฮ่องกง วาสนาบอกว่ารับข้อมูลจากหน้าร้านทุกวันเพื่อนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ลูกค้าบางรายแนะนำว่ารุ่นนี้สายสั้นไป หรือบางครั้งอยากให้มีช่องเก็บของมากกว่านี้ เธอก็จะรับฟังไปปรับปรุง

คิดมุมกลับ

สิ่งที่ทำให้วาสนาต่อยอดธุรกิจได้ดีคือการคิดมุมกลับ วาสนามองเรื่อง Loyalty ว่าต้องไม่ใช่ลูกค้าที่เป็นฝ่ายภักดีกับแบรนด์ แต่เป็นแบรนด์ที่ต้องภักดีกับลูกค้า เธอเล่าว่าสามีก็คิดเหมือนกันว่า “เราสัญญาอะไรเราก็ควรจะให้สิ่งนั้น เช่นของนารายา คำสัญญาของเราคือสินค้าเราคุณภาพดีราคาไม่แพงและหลากหลาย เราก็ต้องทำตรงนั้นให้ได้ แล้วก็ต้องทำให้ได้ตลอดไป ไม่ใช่ว่าพอลูกค้าติดเราแล้ว เราก็แอบเอาเปรียบตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย”

วาสนายังมีความเห็นต่ออุปสรรคในชีวิตในมุมมองที่ไม่ธรรมดาด้วยว่า ทุกสิ่งที่พบเจอ เธอจะไม่มองว่าเป็นอุปสรรค เพราะเมื่อเราคิดว่าเป็นอุปสรรค ก็จะก้าวข้ามมันไม่ได้สักที แต่ควรมองเป็นปัญหา เพราะปัญหาหมายความว่าเราต้องก้าวข้ามมันให้ได้

 

ดังนั้นอย่ายอมแพ้ เมื่อเจอวิกฤตก็จงสู้มันให้เต็มที่.
Created with