3 กฏทองของเจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง (ตอนที่ 1)

3 กฏทองพาธุรกิจฝ่าอุปสรรคในทุกวิกฤติของ “สุพจน์ ธีระวัฒนชัย” ผู้ก่อตั้งโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง (ตอนที่ 1 )
Highlight

  • โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงเป็นหนึ่งในหลายธุรกิจที่คนไทยจับตาในช่วงไวรัสระบาด เพราะจากที่มียอดขายวันละหลักแสนหลักล้าน พิษ COVID-19 ทำให้รายได้ของโรงเบียร์หดหายเหลือวันละต่ำกว่า 50,000 บาท จนล่าสุดโรงเบียร์ตัดใจปิดม่านพักการแสดงทุกสาขาไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ 18-30 มีนาคม 63
  • สถานการณ์เช่นนี้ “สุพจน์  ธีระวัฒนชัย” ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเบียร์ขึ้นเวทีเรียกขวัญและกำลังใจจากทุกผ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยการบอกเล่าความรู้สึกผ่านวิดีโอ บรรยายถึง 20 ปีที่ผ่านมาของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงว่าได้ผ่านร้อนหนาว ผ่านภาวะวิกฤติ ผ่านภัยบ้านเมืองที่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง และครั้งนี้น่าจะเป็นภาวะวิกฤติที่หนักหน่วง ซึ่งบริษัทจะผ่านไปได้อีกครั้ง
  • เจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงคนนี้ ผ่านวิกฤติชีวิตมาหลายครั้ง จากเด็กในตลาดสด สุพจน์สร้างอาณาจักรโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงที่มียอดขายกว่า 800 ล้านบาทได้ด้วยมุมมองว่าความยากจนมีประโยชน์ขับเคลื่อนชีวิตได้ ยังมีวิธีการล้มแล้วลุกใหม่ที่ใช้ได้ผล รวมถึง 3 กฎทองในการทำธุรกิจที่หากใครทำได้ ก็ย่อมมีโอกาสสูงที่จะสามารถฝ่าอุปสรรคในทุกวิกฤติ


โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่ที่จุลูกค้าได้เกิน 1,000 ที่นั่ง แม้จะใช้ชื่อว่าโรงเบียร์แต่ “สุพจน์  ธีระวัฒนชัย” ผู้ร่วมก่อตั้งและ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง 1999 ยืนยันว่าร้านรองรับลูกค้าตั้งแต่ 6 ขวบถึง 60 ปี รวมถึงทุกคนที่อยากลิ้มรสอาหารไทยเคล้าเบียร์สด แกล้มกับการแสดงบนเวทีที่สามารถชมได้ใกล้ชิดเสมือนอยู่ในโอเปร่าเฮ้าส์ของต่างประเทศ

สุพจน์บอกว่าตลอดเวลาที่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงทุกสาขาได้เคร่งครัดต่อ 5 มาตรการ ทั้งการพ่นฉีดฆ่าเชื้อทุกวัน ตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าและพนักงานก่อนเข้าร้าน บริการเจลล้างมือตั้งแต่หน้าร้านไปจนถึงหลังร้าน ทำความสะอาดทุกพื้นที่ที่มีการใช้ร่วมกัน ทั้งลูกบิดประตู ที่กดขักโครก และโถปัสสาวะ คุมเข้มให้พนักงานทุกคนสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อทั้งหน้ากาก ถุงมือ และหมวก ที่ขาดไม่ได้คือเว้นระยะโต๊ะของลูกค้า อย่างน้อยให้มีระยะห่างกัน 1.50 เมตร

“ทั้งหมดนี้เราทำมาตลอด แต่แล้ววันที่เราตัดสินใจปิดม่านพักการแสดงก็มาถึง เราพักแค่ชั่วคราว แล้วเราจะกลับมาพบกันใหม่ ในบรรยากาศที่สนุกสนาน อบอุ่นและเป็นกันเองเหมือนเดิม ดนตรีที่ขับขานอย่างมีมนต์เสน่ห์ และแน่นอน อาหารที่แสนจะอร่อยของเรา แล้วพบกันครับ”

สุพจน์กล่าวในวิดีโอที่ฉายบนช่องทางโซเชียลของโรงเบียร์ฯ
MiX Magazine
วิดีโอนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่สุพจน์แสดงความเชื่อมั่นในการพาบริษัทฝ่าวิกฤติ แต่สุพจน์เคยใช้หนังสือ “เมื่อความจน เฆี่ยนตีผม” เป็นโทรโข่งประกาศถึงนิสัยไม่ยอมแพ้ของตัวเอง ความจนที่ว่ากันว่าเฆี่ยนตีสุพจน์จนได้ดิบได้ดีทุกวันนี้ ทำให้สุพจน์ไม่ได้รังเกียจความยากจนของครอบครัว โดยบอกว่าเป็นโชคที่ไม่ใช่โชคร้าย

ผ่านไปได้ด้วยความคิดแบบนี้
สุพจน์เป็นคนกรุงเทพ เกิดที่วงเวียนใหญ่ได้ 6 ขวบก็ย้ายไปที่ตลาดสดศรีวรจักร พ่อเป็นช่างปั๊มโลหะ ทำแหวน ขอบกระเป๋า นกหวีดเล็ก แม่เป็นแม่บ้าน ครอบครัวมีลูก 5 คน สุพจน์เป็นคนที่ 2

สิ่งที่ผลักให้สุพจน์คิดทำมาค้าขายแต่เด็ก คือการเริ่มช่วยแม่ ซึ่งตั้งแผงในตลาดขายขนมกล้วยบวชชี สาคูถั่วดำ หลังกลับจากโรงเรียน สุพจน์จะช่วยแม่เก็บล้าง ยกหม้อเดินเข้าบ้าน

ประมาณ ป.4 หรือช่วงอายุ 9-10 ขวบ สุพจน์ก็เอ่ยปากขอเงินแม่ 10 บาท นำไปซื้อน้ำอัดลม แล้วมาตั้งขายคู่กับน้ำแข็ง 1 กระติก เทขายใส่แก้ว ไอเดียนี้คิดเอง ต้นทุน 1 บาทรวมน้ำแข็งไม่เกิน 1 สลึง สุพจน์ขายประมาณ 10 สลึงหรือ 2.5  บาท เรียกว่าได้เงิน 2 เท่าตัว

สุดท้าย สุพจน์ไปรับขนมปังเป็นก้อน มาแบ่งขายก้อนละ 1 สลึง แม่บอกให้ไปลองขายที่ตลาดมหานาค สุพจน์จึงเริ่มรับข้าวเกรียบถุงมาขาย แขวนไว้ตามแผงให้ลูกค้าดึงไป

การอยู่ในตลาดทำให้สุพจน์เห็น”ทราฟฟิก” ลูกค้าที่เดินผ่านตลาดอย่างหนาตา ทำให้สุพจน์หาสินค้าใหม่มาขายไปเรื่อยๆ  ที่เด็ดดวงคือแผงจับสลากแลกของเล่น ต้นทุน 9 บาท สุพจน์ขายได้เบาๆ 27 บาท

แรงผลักดันที่ทำให้สุพจน์อยากทำคือความอยากรับประทานราดหน้าจานละ 2 บาท ช่วงปิดเทอมคือมีนาคม-กันยายน สุพจน์บอกว่าเก็บเงินจากการขายได้ 7,000 บาท เพราะช่วงปิดเทอมคือโอกาสทองที่สุพจน์จะขายของเอง แต่ช่วงเปิดเทอมจะให้แม่ช่วยดูร้าน

เด็กชายสุพจน์คิดได้แต่เด็ก ว่าคนเราไม่ควรอยู่เฉย การนั่งเล่นดีดลูกหินเป่ากบนั้นไร้สาระ อย่ากระนั้นเลยออกไปหาเงินดีกว่า

อีกส่วนที่หล่อหลอมให้สุพจน์คิดทำธุรกิจตั้งแต่เล็ก คือช่วงที่บ้านมีปัญหาครอบครัว คุณแม่ต้องรับสุพจน์แยกจากพี่ๆ น้องๆ ไปอยู่บ้านยาย ก่อนที่แม่จะได้เงินจากวงแชร์มา 3 หมื่นบาท จึงเอาไปลงทุนซื้อจักรหลายชนิดสำหรับเย็บเสื้อคอกลมขาย เวลานั้นสุพจน์ทำทุกอย่างตั้งแต่ยกผ้า เย็บเสื้อ สุพจน์ย้ำว่าไม่อายที่เป็น “ผู้ชายเย็บเสื้อ”

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดหนักเข้าไปอีก เพราะหลังจากนั้นไม่นาน คุณพ่อสุพจน์พาพี่น้องอีก 4 คนที่เหลือเดินมาส่งหน้าปากซอย เขาบอกว่า ตอนนั้น 4 คนนี้เดินมาร้องห่มร้องไห้จนสรุปว่าทั้งหมดต้องมาอยู่ด้วยกันที่บ้านยาย วันนั้นสุพจน์ร้องไห้เพราะคิดว่าจะมีค่าใช้จ่ายอีกมาก สุพจน์บอกแม่ว่าอยากลาออกจากการเรียนที่สวนกุหลาบ แม้ค่าเรียนไม่แพงแต่คิดว่าอย่างน้อยก็หาเงินได้มากขึ้น และแม่ไม่ต้องหาคนงานเพิ่ม

สิ่งที่สุพจน์จำได้คือแม่ร้องไห้ พร้อมกับบอกว่าอย่าลาออก แต่ให้เรียนและให้อดทน สุพจน์แพ้น้ำตาของผู้หญิง จึงยึดมั่นและสู้กันมาทั้งครอบครัว จนแม่ประสบปัญหาส่งเสื้อแล้วลูกค้าไม่จ่ายเงิน รายได้ที่หายไป 3-4 แสนกลายเป็นปัญหาใหญ่

เวลานั้น สุพจน์บอกว่าที่บ้านมีเงินเพียงแค่ซื้อเกาเหลา 5 บาท และบะหมี่น้ำ 4 บาท เพื่อให้ 5 พี่น้องนั่งล้อมวงกินกับข้าวสวยคนละถ้วย ข้อแม้ในวันนั้นคือน้อง 2 คนต้องได้กินลูกชิ้นปลา เพราะเป็นโปรตีน พี่รองอย่างสุพจน์จึงต้องกินข้าวกับถั่วงอกและน้ำก๋วยเตี๋ยว ขณะที่เส้นบะหมี่ยกให้พี่สาว

สิทธิการได้กินเท่านี้กลายเป็นจุดที่สุพจน์บอกว่า “รู้สึกรู้สากับมันที่สุด” เกิดเป็นความคิดมุ่งมั่นว่าวันหนึ่งจะต้องทำให้ทุกคนในบ้านกินก๋วยเตี๋ยวคนละชามให้ได้

พอถึงช่วงต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ เอ็นทรานซ์ สุพจน์ก็สอบไม่ติดในปีแรก จึงไปลงเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อน แต่ปีต่อมา ก็สอบเข้าได้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา

ระหว่างเรียน สุพจน์ยังทำธุรกิจเสื้อผ้าอยู่ เขาจึงต้องวิ่งรอกตลอดเวลาระหว่างตลาดโบ๊เบ๊กับมหาวิทยาลัย เพราะต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย วันนี้ไปเก็บเช็ค อีกวันไปส่งเสื้อ วางบิลเสร็จแล้วก็วิ่งมามหาวิทยาลัย พอเรียนจบมาสุพจน์จึงรู้สึกเบื่อธุรกิจเสื้อยืด และคิดว่าจะไปเป็นลูกจ้างเขาดีกว่า

สุพจน์จึงคิดไปสมัครเป็นพนักงานขายที่เมอร์รี่คิงวังบูรพา เพราะมั่นใจว่าตัวเองขายของเก่ง แต่สุดท้าย วันไปสัมภาษณ์งานเขากลับหารองเท้าหนังไม่เจอ และด้วยความคิดที่ว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อยเป็นเรื่อง “เสียฟอร์ม” ก็เลยทำให้ไม่ไปสัมภาษณ์งาน

สุพจน์เคว้งคว้างอยู่ระยะหนึ่ง จนมีคนที่ชี้ทางให้คือ “ต๊อด” อดิศร พวงชมพู เจ้าของเสื้อแบรนด์แตงโม อดิศรบอกสุพจน์ว่า “เฮ้ย พจน์เป็นคนที่เก่งเรื่องเสื้อเรื่องผ้า ทำไมไม่ทำเสื้อแบรนด์ของตัวเอง” เขาจึงเริ่มพิจารณาความคิดนี้ และตัดสินใจทำในที่สุด

แต่แทนที่จะเย็บเสื้อโหลแบบเดิม สุพจน์ผลิตเสื้อโดยตั้งชื่อยี่ห้อของตัวเอง หลักการตั้งยี่ห้อเสื้อในวันนั้นคือ ต้องให้แม่ซึ่งเป็นคนจีน สามารถพูดยี่ห้อนั้นได้ชัดเจน ซึ่งปรากฏว่าแม่พูดคำว่า “แยมแอนด์ยิม” ได้ สุพจน์จึงสรุปว่าชื่อยี่ห้อนี้คนทั้งประเทศจะเรียกได้ชัดเช่นกัน

สุพจน์บอกว่าจุดเริ่มต้นคือต้องมีร้าน เพื่อที่จะได้มีที่ทางที่ใครๆ ก็เดินมาหาได้ทั้งพ่อค้าปลีกและพ่อค้าส่ง ซึ่งแหล่งเปิดร้านที่ดีที่สุดและต้นทุนถูกที่สุดในยุค 30 กว่าปีที่แล้ว คือตลาดนัดจตุจักร เวลานั้นจตุจักรเพิ่งย้ายจากสนามหลวงมาได้ 5 ปี (ตลาดนัดจตุจักรย้ายมาจากสนามหลวงในปี 2525 และสุพจน์เปิดร้านในปี 2530)

เวลานั้นสุพจน์ไปเช่าร้านกับรุ่นน้องโดยลงขันกัน 12,000 บาทต่อเดือน ขายแค่เสาร์-อาทิตย์ 8 วันต่อเดือน เพียงวันแรกที่เปิดร้านก็ขายได้แล้วถึง 30,000 บาท

ธุรกิจเสื้อก็ค่อยๆเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ขยับขยายจนมีพ่อค้ามาติดต่อเพื่อนำไปขายต่อให้กับคนในร้านต่างจังหวัด จากนั้น เขาก็เริ่มขยายกิจการไปเช่าห้องที่เดอะมอลล์ท่าพระ และที่สยามสแควร์ตามลำดับ ตอนนั้นสุพจน์ตัดสินใจเซ้งต่อร้านมาด้วยทุน 9 ล้านบาท และนั่นกลายเป็นครั้งแรกในชีวิตที่สุพจน์กู้แบงค์ โดยเอาสัญญาเช่าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ผ่อนธนาคารเดือนละ 171,000 บาท

รูปการณ์ดูเหมือนจะดี แต่แล้วสุพจน์ก็ลงทุนผิดพลาดด้านฝ่ายผลิต เพราะแต่เดิม สุพจน์มีเพียงตึกแถวห้องเดียวอยู่ที่ตลาดน้อย แต่ตอนหลังตัดสินใจไปซื้อโรงงานย่านเทพารักษ์เพื่อผลิตสินค้า จากที่มีจักรเย็บผ้า 12 หลัง สุพจน์เพิ่มเป็น 50 หลัง โดยให้ภายในโรงงานมีหอพัก และคิดการณ์ใหญ่โตด้วยการสร้างห้องสมุดให้ลูกหลานคนงานในโรงงานได้ใช้ประโยชน์ด้วย

 โรงงานแห่งใหม่เปิดทำการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2535 แต่แล้ววันที่ 15 ธันวาคม ปี 2537 ก็ปิด เรียกว่ามีชีวิตอยู่ได้แค่ 2 ปีก็ต้องปิดกิจการ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงงานต้องปิดตัวลง เพราะสุพจน์ลงทุนเกินตัว สุพจน์เล่าว่าต้องใช้เงินประมาณ 9-10 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้แบงค์นั้นมีดอกเบี้ยแน่นอน แต่สุพจน์คิดว่า “คงมีปัญญาจ่ายดอกเบี้ยอยู่แล้ว ถ้าไม่เกิดปรากฏการณ์ที่เขาเรียกว่าหักหลังลูก”

‘ลูก’ ที่ว่าของสุพจน์ในเวลานั้นก็คือธุรกิจเสื้อ แยมแอนด์ยิม ที่สุพจน์เอาเงินของลูกไปเล่นกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นั่นคือการจองคอนโดเพื่อขายต่อเก็งกำไร แต่เมื่อขายไม่ได้อย่างใจหวัง สุพจน์ต้องดึงเวลาโดยต้องขอผ่อนผันกับเจ้าของโครงการไปจนถึงขั้นที่ต้องโอน ทำให้ในเวลานั้น นอกจากมีดอกเบี้ยธนาคารที่มีอยู่เดิมแล้ว สุพจน์ยังต้องมาเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกจากการลงทุนผิดพลาดอีกด้วย กระทั่งในที่สุดกระแสเงินสดก็ขาดมือ

แม้ในตอนนั้นจะยังขายเสื้อได้ แต่เงินที่มีก็หายไปกับดอกเบี้ย สุพจน์ใช้คำว่า “ไม่รอด เพราะไม่มีปัญญาหมุนเงินจ่ายดอกเบี้ย” ดอกเบี้ยที่จ่ายไม่ไหวนี้มีทั้งดอกเบี้ยธนาคารและดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ยธนาคารในเวลานั้นคือ 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปีบนยอดหนี้ทั้งหมด 30 ล้านบาท

สุดท้าย พี่เขยของสุพจน์จึงให้สติ และแนะวิธีล้างหนี้ด้วยการใช้วิธีกางบัญชี ให้ฝั่งซ้ายเป็นหนี้สิน ฝั่งขวาเป็นสินทรัพย์ ทุกรายการต้อง “แบออกมาให้หมด” แล้วทำให้ 2 ข้างเท่ากัน

ภารกิจนี้จัดการภายใต้เงื่อนไขว่า ฝั่งขวานั้นสุพจน์ต้องขายในราคาที่ขายได้ ไม่ใช่ในราคาที่อยากได้ คือต้องขายให้ได้เพื่อครอบคลุมหนี้ทั้งหมด

สุพจน์จึงตัดสินใจขายโรงงาน โชคดีที่พี่เขยเอาเงิน 8 ล้านบาทมาช่วย กลยุทธ์ของสุพจน์ในวันนั้นคือต้องหยุดดอกเบี้ยตัวแพงก่อน ดอกเบี้ยธนาคารถือว่ายังไม่แพงเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยนอกระบบ ซึ่งถือว่าต้องหยุดให้ได้ทันที

สุพจน์ลงมือทำป้ายขายอสังหาฯแบบติดเสาไฟฟ้าขนาดเล็ก เพราะไม่มีเงินซื้อบิลบอร์ดขนาดใหญ่ สินทรัพย์ตัวสุดท้ายที่ขายทิ้งคือร้านที่จตุจักร

เมื่อขายตัวถ่วงทั้งหมดก็รอด
สุพจน์บอกว่าการขายอสังหาฯที่เป็นตัวถ่วงให้เกิดดอกเบื้ยทั้งหมด ทำให้สุพจน์รอดพ้นวิกฤติ และเมื่อจบโรงงานเสื้อได้แล้ว สุพจน์ก็หันมาลงทุนอสังหาฯเต็มตัว

“เสถียร เศรษฐสิทธิ์” รุ่นพี่ของสุพจน์ที่รู้จักกันที่ธรรมศาสตร์ เอ่ยปากชวนให้สุพจน์ร่วมทำธุรกิจทาวน์เฮาส์ด้วยกัน โดยสุพจน์ลงทุน 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าโครงการทั้งหมด 50 ล้าน คิดเป็น 5 ล้านบาท

คำถามคือสุพจน์เอาเงินจากไหนในเวลาที่หนี้เพิ่งหมด สุพจน์บอกว่ามีเจ้าหนี้ใจดีและเมตตาที่พอจะคุยกัน ทำให้สามารถขอยืมเงิน 5 ล้านบนดอกเบื้ย 2% (100,000 บาทต่อเดือน) สุพจน์เอาค่าเช่าที่สยามและ “อะไรต่ออะไรที่หนุนอยู่” มาเลี้ยงหมุนวนไปเรื่อย ซึ่งเมื่อเปิดโครงการประมาณหลังเมษายน-พฤษภาคมปี 38 ทาวน์เฮาส์ของโครการขายได้ราว 500 ยูนิตจาก 1087 ยูนิต

ฟังดูทุกอย่างน่าจะโอเค กระทั่งบริษัทลงทุนทำโครงการใหม่ในชื่อ โครงการสุธาวีมินิแฟคตอรี่ที่เทพารักษ์ กม. 27 ซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก ธุรกิจกลับไปได้ไม่สวยเพราะเกิดวิกฤตการณ์ 2 กรกฎาคม ปี 2540 ที่รัฐบาลไทยประกาศสั่งปิดสถาบันการเงิน 52 แห่ง ทำให้สถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสุพจน์ต้องลากยาวถูลู่ถูกังไปจนสิ้นปี 45-46  ซึ่งสุพจน์ยืนยันว่าแม้จะสร้างโรงงานเสร็จและรับผิดชอบทุกอย่างเป็นระบบ แต่ก็เป็นการต่อสู้ภายใต้ความมืดมิด เพราะไม่รู้เลยว่าอนาคตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเป็นอย่างไรและควรเดินต่อไปอย่างไรดี

อ่านบทความตอนที่ 2 ต่อ คลิก
Created with