3 กฏทองของเจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง (ตอนจบ)

3 กฏทองพาธุรกิจฝ่าอุปสรรคในทุกวิกฤติของ “สุพจน์ ธีระวัฒนชัย” ผู้ก่อตั้งโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง (ตอนจบ)
 สามารถอ่านตอนแรกได้ที่ Link
จุดเริ่มต้นของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
แต่ท่ามกลางสภาพการทำธุรกิจที่ไม่แน่นอน ก็ยังมีแสงสว่าง ที่ทำให้สุพจน์รู้ว่าหลังจากวางมือจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว เขาจะทำธุรกิจใดต่อไป

โดยเรื่องเริ่มมาจาก มีรุ่นน้องชวนสุพจน์ไปเลี้ยงอาหารเป็นการตอบแทนที่สุพจน์ไปถ่ายภาพรับปริญญาให้ (เรื่องนี้น้อยคนจะรู้ว่าสุพจน์เป็นช่างภาพมือดีที่มีคนเรียกตัวไปรับงานถ่ายภาพรับปริญญาอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่สมัยที่ตัวเองเรียนจบใหม่ๆ) วันที่เข้าไปที่ร้านอาหารแห่งนั้น เขายังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าร้านนี้ขายอะไร แต่เขาเห็นถังเบียร์แบบทองแดงตั้งอยู่ 2 ใบ และเห็นเครื่องมือหลายชิ้นเกี่ยวกับเบียร์ ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากในเวลานั้น และแม้ว่าสุพจน์จะไม่ใช่คอเบียร์ แต่วันนั้นเขาจำได้ว่าเบียร์ในร้านนั้นอร่อยมาก

จากนั้นสุพจน์พบเจอกับเสถียรทุกวัน เพราะทำงานด้วยกัน จึงชวนกันไปลองนั่งกินเบียร์กันบ่อยขึ้นเพราะติดใจความเป็นเบียร์ถัง ไม่ใช่เบียร์ขวด สุพจน์และเสถียรเริ่มคุยกันว่า “ถ้าเราขายเบียร์แบบนี้คู่กับอาหารอีสานมันจะเป็นยังไง” คำถามนี้ถูกถามขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าทำ เพราะยังมีควันหลงจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในครั้งนั้น

แต่ความฝันที่ทั้งคู่อยากทำก็คือ “ร้านเบียร์ของคนไทย อาหารไทย ราคาคนไทย” สุพจน์คิด 3 คำนี้ขึ้นมาเอง และเริ่มทำจริงประมาณปี 2541

แม้จะเคยล้มเหลว ทำธุรกิจผิดพลาดมาก่อน แต่สุพจน์ก็ยึดถือในความคิดที่ว่า ‘ลูกผู้ชาย ล้มแล้วต้องลุก’ บวกกับความคิดว่าในวิกฤตมีโอกาส เขาจึงอยากเริ่มต้นอีกครั้ง ซึ่งช่วงนั้นเองสุพจน์ก็มีโอกาสได้เช่าที่ดินราคาที่ถูกที่สุดผืนหนึ่งในย่านนราธิวาส

เวลานั้น การตั้งโรงเบียร์ฯ จะต้องใช้เงินอย่างเบาะๆ ประมาณ 40 ล้าน หลักการระดมทุนของสุพจน์คือการลิสต์รายชื่อเพื่อน สุพจน์ไม่ได้เลือกชื่อเพื่อนที่มีเงิน แต่เป็นเพื่อนที่คิดว่าจะให้ยืม เพราะความเชื่อมั่นในตัวสุพจน์ล้วนๆ

เพื่อนรายหนึ่งเป็นนายแบงก์ ตัดสินใจช่วยด้วยการนำโฉนดของสุพจน์ไปช่วยหาเงินกู้ บางคนให้ยืมหลักแสน บางคนให้หลักหมื่น สุพจน์บอกทุกคนว่าอย่าถามอะไรมาก ถ้าเชื่อมั่นก็เอามาให้ยืม แล้วก็รับประกันว่าคืนแน่นอน

สุพจน์บอกว่า ด้วยวิธีนี้เองที่ทำให้เขาหาเงินจนเปิดร้านได้ พอเปิดร้านทำธุรกิจใหม่ได้ สุพจน์ก็ต้องคิดหาทางใช้หนี้ไปด้วย คิดแม้กระทั่งการขายเบียร์แบบปลีก และการให้คุณแม่ตั้งวงแชร์ระดมเงิน

ระหว่างทำโรงเบียร์ สุพจน์ก็ไม่รีรอที่จะเรียนรู้เรื่องการผลิตเบียร์ คิดอะไรไม่ออกก็ไปห้องสมุดธรรมศาสตร์ สิ่งที่เจอคือหนังสือ 3 เล่มที่เล่าเหมือนกันหมดโดยที่ไม่เห็นภาพจริง สุพจน์ในวันนั้นรู้แค่ว่าหม้อทองแดงที่เห็นคือหม้อต้ม แต่ไม่รู้ว่าเบียร์ผลิตอย่างไร และเครื่องจักรผลิตเบียร์เป็นอย่างไร

การหาความรู้เองเกิดขึ้นเพราะสุพจน์ไม่รู้ว่าจะหาผู้เชี่ยวชาญจากที่ไหน จนสุพจน์รู้ว่าจะมีงานแสดงเครื่องจักรการผลิตเบียร์ที่เยอรมนี ตอนนั้นเขามีเงินทุน 5 แสนบาทและบัตรเครดิตวงเงิน 50,000 บาท สุพจน์จึงเดินทางไปกับเสถียรเพื่อติดต่อซื้อเครื่องจักร

เครื่องจักรทำให้การก่อตั้งโรงเบียร์สำเร็จอย่างรวดเร็ว ช่วงแรกที่เปิดตัว เศรษฐกิจไทยไม่ดีและเพิ่งฟื้นตัว สุพจน์จึงใช้การตลาดที่มีต้นทุนน้อยที่สุดคือไดเร็กต์เมล ระดมเพื่อนฝูงรวบรวมชื่อพร้อมชื่อบริษัทในรอบ 5 กม.จากร้านแรกคือพระราม 3 ทำโปรโมชันกินเบียร์ไม่อั้น ตั้งแต่เปิดร้านถึง 1 ทุ่ม

สุพจน์บอกว่าวันแรกของโรงเบียร์ถือว่า”เจ๊ง” เพราะเด็กในร้านจำเบอร์โต๊ะไม่ได้ ทำให้ส่งอาหารมาถึงโต๊ะไม่ได้ ลูกค้ารอไม่ไหวก็เดินไปหยิบเบียร์มากินเอง วันนั้นเก็บเงินก็ไม่ได้ สรุปว่าร้านเก็บเงินได้หลักหมื่นในวันนั้น

วันรุ่งขึ้น ลูกค้าหดหายเหลือ 40 กว่าคน แต่ทุกอย่างก็ค่อยๆดีขึ้น เป็นหลัก 200 คน ตอนนี้กราฟเริ่มดีต่อเนื่องเพราะติดตลาด หลังเปิดร้านเพียงเดือนเศษก็มีคิวจอง

สุพจน์รู้ดีว่าคิวที่โรงเบียร์ฯไม่เหมือนร้านอื่นที่รับประทานอาหารอิ่มแล้วกลับ แต่ลูกค้าโรงเบียร์มักจะดูโชว์ต่อหลังกินเสร็จ ตอนนั้นความท้าทายหลักคือเรื่องจัดคิว สุดท้ายจึงตัดสินใจให้ลูกค้าจองโดยมีกติกาว่าถ้ามาไม่ตรงเวลา ร้านจะปล่อยคิวให้คนรอหน้าร้าน

สุพจน์พูดถึงหลักการบริหารร้านเพื่อให้โรงเบียร์ฯไม่เหมือนร้านอื่น ว่ามองเห็น 4 เสาหลักคือเบียร์ บริการ บรรยากาศ และความบันเทิง เบียร์นั้นมีเครื่องจักรทำให้แล้ว แต่เรื่องบริการ สุพจน์บอกว่าไม่มีความรู้อะไรมาก่อน เมื่อไม่มีความรู้เรื่องการบริการจึงต้อง”คลำทางเอา” สุพจน์บอกว่าความรู้ด้านนี้ได้มาโดยต้องสัมพันธ์กับระบบ POS หรือระบบรับคำสั่งเพื่อส่งคำสั่งไปยังส่วนครัว บาร์น้ำ เพื่อให้บริกรรับมาส่งลูกค้าอย่างรวดเร็ว

สุพจน์จึงสร้างคัมภีร์งานบริการ ที่เหมาะกับพนักงานแต่ละคน สุพจน์บอกว่าพนักงานใหม่ต้องใช้ตำราแบบหนึ่ง พนักงานที่ผ่านการทดลองงานแล้วต้องใช้อีกตำราหนึ่ง และพนักงานที่ได้ขึ้นเงินเดือนจะต้องใช้อีกตำรา

ประเด็นนี้ สุพจน์ให้เครดิตพนักงานว่ามีความรู้หน้าร้านมากกว่า เพราะพนักงานรู้ว่าต้องเสิร์ฟอย่างไรจึงไม่เปลืองน้ำแข็ง รู้ว่าต้องบริการหน้าร้านอย่างไร

สำหรับการแสดงยุคแรกของโรงเบียร์ สุพจน์เลือกใช้ “วงฟองน้ำ” ที่ต้องซื้อบัตรราคาแพงในการเข้าชม ยุคถัดมาเปลี่ยนเป็นการใช้มิวสิคคัลเธียเตอร์ ลงทุนกับผู้แสดงและระบบแสง สุพจน์บอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือเครื่องเสียงที่ดี เหตุผลเพราะมันเป็นสิ่งที่ลูกค้าสัมผัสได้ และโชว์บนเวทีจะบอกได้เลยว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบ

สุพจน์ถ่อมตัวว่าโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงมีความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการรักษาไว้ จนถึงทุกวันนี้สุพจน์ใช้หนี้ครบต้นครบดอกไม่เคยตกหล่น และหนี้ที่ระดมมาสร้างร้านก็สามารถสะสางหมดภายใน 13 เดือนแรกหลังจากเปิดโรงเบียร์ฯ

ตรงนี้คือความซื่อสัตย์ของสุพจน์ ความซื่อสัตย์สำหรับสุพจน์คือการรับปากแล้วทำ แม้จะได้กินน้อยอิ่มน้อย แต่สุพจน์ยอม และไม่มีทางผิดคำพูด


สรุป 3 กฎทองใครทำได้ก็สำเร็จ
เบื้องหลังความสำเร็จของการทำธุรกิจของสุพจน์ ที่สามารถหยิบมาเป็นกฏทองในการพาบริษัทให้พ้นทุกวิกฤตินั้นมี 3 เรื่อง เรื่องแรกคือเนื้อแท้ของธุรกิจ โดยสุพจน์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ถ้าเราจะเย็บเสื้อ ก็ต้องเย็บให้สวย ตะเข็บต้องตรง สกรีนก็ต้องสวย หรือเมื่อทำเบียร์ ก็ต้องทำให้อร่อย ทำอาหารก็ทำให้อร่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

เรื่องที่ 2 คือความซื่อสัตย์กตัญญู ไม่เพียงซื่อสัตย์ต่อผู้มีพระคุณ แต่ควรซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ต่อลูกน้อง และต่อสหาย

เรื่องสุดท้ายคือ สุพจน์เน้นใส่ใจในรายละเอียด เพราะการแพ้ชนะนั้นวัดกันที่รายละเอียด สุพจน์ยกตัวอย่างการหุงข้าว คนอย่างสุพจน์จะไม่เพียงต้องหุงข้าวให้สวย ให้สุก ให้นุ่ม แต่ต้องคิดเลยว่าข้าวหม้อนี้จะไปถึงมือคนกินได้อย่างไร จะใช้ทัพพีอะไรตัก จะใช้จานอะไรใส่ จานขนาดไหน แล้วคนกินทั้งหมดกี่คน แล้วถ้าทุกคนอยากกินแล้ว ข้าวในหม้อมันพอไหม

สุพจน์ย้ำว่าคนทำธุรกิจต้องคิดให้ครบลูป ตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงก้าวสุดท้าย สำหรับชีวิตที่ผ่านมา ความยากจนในมุมมองของสุพจน์นั้นเหมือนแส้เส้นบางๆ ที่คอยเฆี่ยนตีเราอยู่เสมอ นั่นหมายถึงเราทุกคนจะนั่งนิ่งเฉยไม่ได้ ถ้าใครอยู่เฉย คนนั้นกำลังเป็นภาระของคนอื่น อย่างน้อยก็เป็นภาระของแม่ พี่น้อง ครอบครัว ขยายความต่อไปก็คือเป็นภาระของสังคม

ดังนั้น สุพจน์จึงมองความยากจนเป็นพลังงาน ที่ทำให้เราทุกคน “เลี้ยวได้” สิ่งที่เราต้องทำคือการเลี้ยวให้ถูก เพราะเลี้ยวซ้ายอาจไปเป็นนักเลงหัวไม้ แต่เลี้ยวขวาอาจไปเป็นปัญญาชน

สุพจน์ย้ำว่าวันนี้ยังมีความฝันอื่นๆ อีกนอกจากการสร้างโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง แต่สุพจน์จะสานฝันแบบใจเย็นกว่าเดิม คือค่อยคิดค่อยไตร่ตรอง

คำแนะนำถึงผู้ประกอบการยุคใหม่จากสุพจน์วัย 58 ปี คือในเส้นทางชีวิตที่สุพจน์เดินมานั้นเป็นเส้นทางที่มีกำไรตลอดเวลา เป็นกำไรของชีวิตที่เต็มไปด้วยกัลยาณมิตรและเสียงหัวเราะ แม้จะมีเสียงร้องไห้บ้างแต่ถึงที่สุดแล้วเสียงหัวเราะก็จะดังกว่าเสียงร้องไห้ เส้นทางชีวิตนี้ไม่ได้วัดกันที่เงินทอง แต่วัดกันที่คุณภาพชีวิตที่เราดำรงอยู่ ซึ่งทุกคนสามารถเลือกได้ว่าอยากมีคุณภาพชีวิตอย่างไร

ที่สำคัญคือจงชดใช้ให้สังคมบ้างตามอัตภาพ ใครที่สามารถช่วยอะไรได้ก็ควรช่วยโดยไม่ดูดาย และท่องไว้เสมอว่า เราควรทำอะไรก็ได้เพื่อตอบแทนสังคม.

ที่มา : https://positioningmag.com/1268753

https://www.posttoday.com/economy/news/377553
https://www.ryt9.com/s/prg/3077576
Created with