ยิ่งจดยิ่งเก่งกับ ‘วิธีการจดโน้ตแบบ Cornell’

In Summary

  • การจดโน้ตเป็นเรื่องที่ทุกคนมีเทคนิคเฉพาะตัว และปัจจุบันนี้เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นจนคนสามารถใช้แล็ปท็อปในการพิมพ์แทนการเขียนได้แล้ว แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การจดโน้ตแบบเขียนด้วยมือทำให้จำได้ดีและมีความเข้าใจสูงกว่าการพิมพ์
  • เป็นวิธีการจดโน้ตที่ได้รับการพิสูจน์ว่าทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้และความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น พัฒนาขึ้นโดยด็อกเตอร์ วอลเตอร์ พอลค์ นักเขียนชื่อดังด้านการให้คำแนะนำในเรื่องการเรียน และหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์
  • ทำได้โดยการแบ่งหน้ากระดาษออกเป็นสามส่วน จดรายละเอียดและเนื้อหาไว้ฝั่งขวาของหน้ากระดาษ จดคำถามที่เราใช้ทบทวนหรือสงสัยและคีย์เวิร์ดไว้ที่ฝั่งซ้าย และจดสรุปเนื้อหาไว้ล่างสุด การจดโน้ตแบบนี้ทำให้เราแบ่งประเภทเนื้หาได้ชัดเจน และทำให้สมองต้องตื่นตัวเพราะต้องวิเคราะห์เวลา ซึ่งนั่นจะทำให้คนจดเข้าใจเนื้อหาได้ดี

เมื่อพูดถึงเรื่องการจดโน้ต ทุกคนล้วนมีวิธีจดแบบของตัวเองที่แตกต่างกันไป และแต่ละช่วงอายุ วิธีการจดโน้ตของเราก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย วัยเรียนก็จดแบบนึง พอโตมาทำงานเราก็จดอีกแบบที่เหมาะกับการทำงานมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าการลองเปลี่ยนวิธีจดหลายๆ วิธีจะช่วยให้เราหาวิธีที่เหมาะตัวเราในช่วงวัยนั้นๆ มากที่สุดได้

ปัจจุบันนี้เราได้ก้าวเข้ามาสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว หลายคนหันไปใช้การพิมพ์ในคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปมากกว่าการจดโน้ตด้วยมือ ซึ่งนั่นอาจจะเร็วกว่าถ้าคุณเป็นคนพิมพ์เร็ว แต่อย่างไรก็ตามหากพูดถึงเรื่องความมีประสิทธิภาพ การจดโน้ตก็ยังชนะขาดอยู่ดี
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Psychological Science แสดงให้เห็นว่าการจดโน้ตด้วยมือให้ผลที่ดีกว่าการพิมพ์ เพราะเวลาพิมพ์เรามักจะพิมพ์ตามทุกคำพูดได้เลย นั่นก็เพราะความเร็วในการพิมพ์มีมากกว่าการเขียน แต่เวลาจดโน้ตด้วยมือ เรามักจะวิเคราะห์และสรุปเป็นคำของเรา เพราะเราไม่สามารถเขียนตามทุกคำได้ทัน กระบวนการวิเคราะห์และสรุปนี้ทำให้เราสามารถจดจำเนื้อหาจากการจดได้ดีกว่าการพิมพ์ ขอแค่ขยับมือจด จะในแท็บเลต หรือในกระดาษก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีพอกัน

ในเมื่อการจดด้วยมือมีความสำคัญขนาดนี้ วิธีนี้เป็นวิธีการจดโน้ตยอดฮิต ที่ได้รับการพิสูจน์โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Language Teaching and Research แล้วว่าทำให้คนจดเก่งขึ้นได้จริงมากฝากกัน

งานวิจัยนี้ทำขึ้นโดยการให้แบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มนึงให้ใช้วิธีการจดโน้ตแบบ Cornell ส่วนอีกกลุ่มจดแบบธรรมดาทั่วไป หลังจากเรียนและทำแบบทดสอบเสร็จ ผลปรากฎว่ากลุ่มที่จดโน้ตแบบนี้ได้คะแนนดีกว่ากลุ่มที่จดโน้ตแบบทั่วไป จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า จดโน้ตแบบนี้ ยิ่งจดยิ่งเก่งจริงๆ
การจดโน้ตแบบ Cornell คืออะไร?
ถูกพัฒนาขึ้นโดย ด็อกเตอร์ วอลเตอร์ พอลค์ (Walter Pauk) นักเขียนชื่อดังด้านการให้คำแนะนำในเรื่องการเรียน และหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์

ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการจดเลคเชอร์ เพราะมันถูกออกแบบมาช่วยให้เราจัดระเบียบความคิด จัดระเบียบเนื้อหา ทำให้สมองเราตื่นตัวและจำได้ดีขึ้น จากการที่ต้องวิเคราะห์และจำแนกประเภทเนื้อหาตลอดเวลา และยังต้องจดเป็นข้อความตามความเข้าใจของเราเอง กระบวนการวิเคราะห์ในขณะจดช่วยทำให้เราจำได้ระดับหนึ่ง และเมื่อผสมกับการการแบ่งสัดส่วนเนื้อหาให้เป็นระเบียบ ก็จะทำให้เราจำได้ดียิ่งขึ้น เข้าใจยิ่งกว่า และสามารถกลับมาอ่านทบทวนได้ง่ายและรวดเร็ว

ถึงจะเหมาะกับการเรียนการสอนเป็นหลัก แต่คนวัยทำงานอย่างเราๆ ก็ใช้ได้ อาจจะใช้จดเวลาเราเรียนคอร์สออนไลน์เสริม ฟังพอดแคสต์ที่ให้ความรู้ใหม่ๆ หรือใช้เวลาจดเนื้อหาในการประชุม เพื่อให้กลับมาทบทวนได้ใหม่ และทำงานตามที่มอบหมายอย่างไม่ผิดพลาด  

วิธีการจดโน้ตแบบนี้เป็นวิธีง่ายๆ ที่ไม่ยุ่งยาก แค่เตรียมหน้ากระดาษและปากกาตัดเส้นไว้เท่านั้น จากนั้นก็เริ่มทำตามขั้นตอนที่เราเอามาฝากกันได้เลย

การจดโน้ตแบบ Cornell ทำอย่างไร? แบ่งหน้ากระดาษเป็น 3 ส่วน ตามภาพด้านล่าง เขียนหัวเรื่องและวันที่ด้านบนสุดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันความสับสน
1. Notes: ส่วนที่ใหญ่ที่สุดด้านขวาจะใช้จดเนื้อหาที่อาจารย์สอน ซึ่งไม่จำเป็นต้องขียนตามทุกคำ แต่ให้เน้นจดสาระสำคัญ เน้นการใช้ตัวย่อเพื่อให้จดได้เร็วขึ้น และเน้นการวาดแผนผังเชื่อมโยง เพื่อให้เข้าใจความเชื่อมโยงของเนื้อหาได้ดีขึ้น

ประโยชน์: การจดโน้ตทำให้เราจำเนื้อหาได้ดีกว่าแค่นั่งฟัง


2. Cue: ฝั่งซ้ายของหน้ากระดาษเป็นที่ที่เราใช้เขียนคีย์เวิร์ดสำคัญของรายละเอียดที่เราจดไป  เขียนคำถามที่เราสงสัย หรือคำถามที่ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ
ซึ่งคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราทบทวนได้ถูกจุด และเข้าใจเนื้อหาที่เราจดมากขึ้น

ประโยชน์: การตั้งคำถามและหาคีย์เวิร์ดตลอดเวลา ทำให้สมองตื่นตัว และทำให้สมองของเราทำงานมากกว่าแค่จำ แต่ยังได้วิเคราะห์ ประเมิน และปรับใช้เนื้อหาที่เรียนไปด้วย

3. Summary: ส่วนล่างสุดของกระดาษ มีไว้สำหรับสรุป สรุปสั้นๆ ว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากโน้ตนี้ควรทำทันทีหลังจดเสร็จ ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญมากที่เราจะได้สรุปเนื้อหาที่จดออกมาในรูปประโยคของตัวเอง

ประโยชน์: การทำสรุปทำให้เรามองสลับไปมาระหว่างรายละเอียดใน Notes และการสรุปภาพกว้างออกมาใน

Summary จะทำให้เราเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ดีขึ้น


สุดท้ายนี้เรารวบรวมตัวอย่างการจดโน้ตจากแบบ Cornell ที่เจ้าของสร้างสรรค์ออกมาอย่างสวยเก๋ มาฝากกัน หลังจากได้รู้จักวิธีการและประโยชน์ของมัน ประกอบกับเห็นตัวอย่างเหล่านี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงจะตื่นเต้นอยากลองเอาไปปรับใช้บ้างแล้ว

วิธีง่ายๆ ที่จะเพื่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่ดีขึ้นแบบนี้ ลองดูก็ไม่เสียหาย

Source

Created with