Critical Thinking ทักษะที่ Elon Musk เจ้าพ่อ Tesla และ Jeff Bezos บอสใหญ่ Amazon บอกว่า “ของมันต้องมี”

In Summary

  • Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์คือทักษะที่พูดถึงกันอย่างหนาหูในปัจจุบัน และเป็นทักษะที่ผู้มีอิทธิพล และนักธุกิจใหญ่ของโลกทั้ง อีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบซอส ต่างกำลังฝึกฝน
  • การคิดเชิงวิพากษ์คือการคิดทบทวนและวิเคราะห์ถึงเรื่องราว ประเด็น และปัญหาต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ โดยคิดจากพื้นฐานของความเป็นจริง และทบทวนข้อโต้แย้งหรือมุมมองที่ตรงข้ามกับแนวคิดของเราด้วย ซึ่งการคิดเช่นนี้จะช่วยให้เรามองเห็นข้อบกพร่องของตนเองและพัฒนาตนเองได้อยู่เสมอ
  • ทุกคนสามารถฝึกฝนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ได้โดยยึดตามคำแนะนำดังนี้ อย่ารีบร้อน ใช้เวลาทบทวนความเห็นด้านลบ ให้เวลากับความคิด มองการณ์ไกล และปล่อยให้เรื่องราวมันหายเดือดก่อน

คำว่า Critical Thinking หรือ ‘การคิดเชิงวิพากษ์’ เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยมากในยุคนี้ แล้วความหมายมันคืออะไร? ทำไม อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และ เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ถึงต้องพยายามฝึกฝนสกิลนี้อย่างหนัก? มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

ทั้งอีลอนและเจฟฟ์ต่างเป็นเจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่ของวงการเทคโนโลยีทั้งคู่ ถึงแม้พวกเขาจะเป็นคู่แข่งกัน แต่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่มีเหมือนกัน และยังเป็นคุณสมบัติที่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอีกด้วยนั่นก็คือ พวกเขามี ความหมกหมุ่นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาผลงานและผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาอยากพัฒนาสกิลการคิดเชิงวิพากษ์ เพราะมันเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ทั้งสองพัฒนาตัวเองและผลงานของตัวเองไปได้อย่างไม่สิ้นสุด
Tesla CEO Elon Musk speaks during the unveiling of the new Tesla Model Y in Hawthorne, California on March 14, 2019. (Photo by Frederic J. BROWN / AFP)FREDERIC J. BROWN/AFP/Getty Images

‘การคิดเชิงวิพากษ์’ (Critical Thinking) คืออะไร?
การคิดเชิงวิพากษ์ คือ กระบวนการคิดทบทวนอย่างละเอียดรอบคอบและลึกซึ้งเกี่ยวกับแนวคิดหรือหัวข้อใดๆ รวมถึงการคิดวิเคราะห์ ชั่งน้ำหนัก หาเหตุผล และเชื่อมโยงอย่างละเอียด ซึ่งการคิดเชิงวิพากษ์ต้องตั้งอยู่บนความคิดที่เป็นกลาง ความจริง และเหตุผลเป็นหลัก

แล้วทำไมบอสใหญ่แห่ง Tesla และ Amazon ถึงมองว่าการคิดวิพากษ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาล่ะ?

คำตอบคือ โดยปกติหากเป็นเรื่องของตนเอง ความสามารถของตนเอง หรือผลงานของตนเอง น้อยคนนักที่จะมองสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเป็นกลาง เพราะยังไงเราก็รักตัวเราและค่อนข้างมองว่าเราในเวอร์ชันนี้ หรือผลงานของเราในตอนนี้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว และสิ่งนี้จะกลายเป็นม่านบัง ทำให้เรามองไม่เป็นข้อบกพร่องที่ซ่อนอยู่

การคิดเชิงวิพากษ์คือเชือกที่จะดึงเรากลับมาสู่ความเป็นจริงที่เป็นกลาง และช่วยให้เราเริ่มต้นวิเคราะห์สภาวะที่แท้จริงและข้อบกพร่องต่างๆ ได้ ซึ่งการมองเห็นข้อบกพร่อง และแก้ไขคือหนทางที่ดีที่สุดในการพัฒนาไปอีกขั้น และหากเราทำเช่นนี้ได้เรื่อยๆ ก็จะพัฒนาไปได้ไม่มีสิ้นสุด และนั่นคือเหตุผลว่าทำไม บอสใหญ่ทั้ง 2 จึงพยายามฝึกฝนสกิลนี้อย่างหนักนั่นเอง

อีลอนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมพยายามมองหาข้อบกพร่องอยู่เสมอ การที่จะพัฒนา Tesla ให้ดีขึ้น ผมต้องคิดวิเคราะห์และวิพากษ์อย่างหนัก เวลาที่ผมมองรถแต่ละคัน ผมจะได้มองเห็นข้อบกพร่องทุกอย่างที่รอการพัฒนาไปสู่ขั้นที่ดีกว่า”

เช่นเดียวกับเจฟฟ์ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมสังเกตเห็นว่าคนฉลาดที่สุดมักจะคิดทบทวนความเข้าใจในเรื่องต่างๆ และทบทวนปัญหาที่คิดว่าตัวเองแก้ไขได้แล้วอยู่เสมอ พวกเขาจะเปิดใจรับมุมมองใหม่ ข้อมูลใหม่ แนวคิดใหม่ หรือแม้กระทั่งข้อโต้แย้งที่ท้าทายแนวคิดของพวกเขาเสมอ”

จากคำพูดนี้ของเจฟทำให้เราตกตะกอนอีกคุณสมบัติหนึ่งของการคิดเชิงวิพากษ์ได้ คือ การยอมรับและเรียนรู้จากความเห็นที่เป็นขั้วตรงข้ามหรือขัดแย้งกับเรานั่นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากใครอยากฝึกสกิลการคิดเชิงวิพากษ์แบบอีลอนกับเจฟฟ์ เรามีเคล็ดลับดีๆ 5 ข้อที่จะทำให้คุณกลายเป็นนักคิดสายวิพากษ์มาฝากกัน
ในคำวิจารณ์มีข้อเท็จจริงอะไรที่เราไม่เคยรู้หรือเปล่า?Jeff Bezos, chief executive officer of Amazon.com Inc.
Mike Kane | Bloomberg | Getty Images

1. อย่ารีบร้อน
องค์กรหลายๆ แห่งในปัจจุบันมักจะกระตุ้นให้พนักงาน “คิดเร็ว ทำเร็ว” แต่นั่นคือสิ่งที่ตรงข้ามกับการคิดเชิงวิพากษ์โดยสิ้นเชิง การคิดเชิงวิพากษ์ต้องใช้ ความอดทน ไปพร้อมกับความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งก็คือความเข้าใจในอารมณ์ของเรา ว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกอย่างไร และเกิดจากปัจจัยอะไร เช่น เรากำลังไม่พอใจเพื่อนร่วมงาน เพราะเขามีแนวคิดที่ขัดกับเรา แต่ถ้าเข้าใจตรงนี้เราก็จะหันกลับมามองได้ว่า เรากำลังเอาแต่ใจตนเองหรือเปล่า และหากเราอดทน ปล่อยให้อารมณ์ที่คุกกรุ่นผ่านไปก่อน เราจะหันกลับมามองได้ว่าความคิดของเขาที่ขัดกับเรามีประโยชน์ในการเปิดโอกาสให้เราทบทวนตัวเองในอีกมุมหรือไม่

การมีความอดทน และความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยได้มากในการรับมือและการใช้ประโยชน์จากความเห็นที่ตรงข้ามกับเรา

และยังป้องกันไม่ให้เราปล่อยให้ตัวเองถูกอารมณ์ครอบงำจนเกิดการตัดใจที่ผิดพลาดนั่นเอง

2. ทบทวนความเห็นด้านลบ
แน่นอนว่าถ้ามีใครพูดถึงเรา งานเรา หรือแนวคิดเราในด้านลบ สิ่งแรกที่คนส่วนมากจะทำก็คือการโมโหไว้ก่อน พูดปกป้องตัวเอง และตั้งแง่อคติผู้พูดทันที แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่นักคิดเชิงวิพากษ์ควรทำ

ความเห็นเชิงลบเหมือนกับเพชรที่เพิ่งขุดจากเหมือง หน้าตาช่วงแรกอาจไม่น่าดูเพราะเปรอะเปื้อนขี้ดิน แต่พอขัดเกลาให้สะอาดแล้วก็จะกลายเป็นสิ่งมีค่าขึ้นมาทันที เช่นเดียวกับความคิดเห็นในแง่ลบ ถ้าเราทบทวนดีๆ อาจเห็นข้อบกพร่องของตัวเองที่เราเคยต่อต้านก็เป็นได้

ให้เวลาตัวเองสักวันสองวัน อย่าเพิ่งตอบโต้ รอให้อารมณ์สงบก่อน  แล้วถามตัวเองว่า

  • เราเรียนรู้อะไรจากคำวิจารณ์นี้ได้บ้าง?
  • ในคำวิจารณ์มีข้อเท็จจริงอะไรที่เราไม่เคยรู้หรือเปล่า?
  • ถ้าไม่มี แล้วเราจะเรียนรู้แนวคิดอะไรจากมุมมองของคนที่พูดกับเรา?

    ถ้าไม่มี แล้วเราจะเรียนรู้แนวคิดอะไรจากมุมมองของคนที่พูดกับเรา?

3. จัดตาราง ให้เวลากับความคิด
การฝึกคิดเชิงวิพากษ์ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะมองเห็นปัญหา และวิเคราะห์ให้ออก ไม่ได้ใช้เวลาแค่เพียง 5-10 นาที ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือจัดตารางเวลาของคุณเลย ว่าเวลานี้เราจะใช้เพื่อ ‘คิด’  ล้วนๆ เพื่อเตรียมจมดิ่งไปในกระบวนการคิดโดยปราศจากสิ่งรบกวน

ถ้าคิดไม่ออกว่าจะเริ่มยังไง ลองเริ่มตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ กับตัวเองตามนี้

  • ข้อสันนิษฐานของเรื่องนั้นมีอะไรบ้าง?
  • ข้อเท็จจริงของเรื่องนั้นมีอะไรบ้าง?
  • ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง?
  • ปัญหาที่ซ่อนอยู่คืออะไร?
  • ปัญหาที่เห็นชัดและเป็นปัญหาหลักคืออะไร?
  • ข้อดีข้อเสียของทางแก้ที่เราเลือกใช้คืออะไร?
  • ทางแก้ที่ดีที่สุดคือะไร?


บางครั้งเราอาจจะรวมหัว ตั้งวงกันคิดกับเพื่อนๆ รอบตัวด้วยได้ แต่ส่วนมากแล้วการคิดทบทวนอย่างสงบคนเดียวจะดีกว่า คุณจะได้เข้าใจความคิดของตัวเองอย่างทะลุปรุโปร่ง แล้วค่อยเอาไปคุยกับเพื่อนร่วมงานทีหลังก็ยังไม่สาย

4. มองการณ์ไกล
หนึ่งในอุปสรรคหลักที่ขัดขวางการคิดเชิงวิพากษ์คือการมองสั้นเกินไปและไม่เตรียมการล่วงหน้า ฉะนั้นลองหันมาตั้งหลักทบทวนให้ชัดว่า ถ้าตัดสินใจเช่นนี้ จะเกิดผลอะไรตามมาบ้างในเดือนหน้า ปีหน้า หรืออีกสัก 5 ปีข้างหน้า การมองการณ์ไกลจะทำให้เราเห็นภาพกว้าง และปรับการตัดสินใจให้เข้ากับผลลัพธ์ในระยะยาวได้

5. ปล่อยให้เรื่องหายเดือดก่อน
เวลาที่เราต้องแก้ปัญหาที่ยากๆ หรือต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ หนึ่งในเคล็ดลับที่หลายคนแนะนำคือการเดินออกมาก่อน ให้เวลากับทุกอย่างเย็นลงแล้วค่อยตัดสินใจ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป อคติและอารมณ์จะจางหาย แล้วคุณจะตัดสินใจจากพื้นฐานความจริงได้ง่ายขึ้น

การรอเวลาไม่ใช่การหนีปัญหา คุณสามารถตั้งเวลาก็ได้ว่า จะให้เวลาตัวเองกี่วัน แต่หนึ่งในเคล็ดลับสำคัญ หรือจะมองเป็นคำเตือนก็ได้คือ ไม่ว่าคุณจะให้เวลาตัวเองนานแค่ไหน อย่าตัดสินใจอะไรในช่วงกลางดึกก่อนนอน

ลองมองย้อนกลับไปเวลาที่คุณเจอเรื่องเครียด หรือเรื่องเศร้า เวลาที่ปัญหาดูย่ำแย่และยากลำบากที่สุดคือเวลาก่อนนอนเสมอ ปัญหาเล็กๆ ก็อาจดูใหญ่จนเหมือนโลกจะพังทลาย นั่นเพราะว่าเวลากลางคืนจะเป็นเวลาที่อารมณ์เราเข้มข้น และเหตุผลเราเจือจางที่สุด แต่พอตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ หลายคนมักพบว่า ปัญหาของเมื่อวานก็ไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิด

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะทำอาชีพอะไร จะอยู่ในช่วงวัยไหน เราเชื่อว่าการคิดวิพากษ์จะมีประโยชน์ต่อชีวิตในทุกแง่มุมของคุณ ทั้งชีวิตการทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มันจะส่งให้คุณพัฒนาทุกด้านไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ลองทำตาม 5 เคล็ดลับนี้ดู ค่อยๆ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่ง Critical Thinking ก็จะกลายเป็นวิธีคิดโดยอัตโนมัติของคุณไปโดยปริยาย SHiFT Your Future เอาใจช่วยทุกคนอยู่

 

ที่มา

https://www.inc.com/justin-bariso/intelligent-minds-like-elon-musk-jeff-bezos-seek-to-master-this-crucial-skill-heres-how-you-can-do-it-too.html

https://www.inc.com/jessica-stillman/this-is-number-1-sign-of-high-intelligence-according-to-jeff-bezos.html

https://www.youtube.com/watch?v=qd4-GdU490M
Created with