ความเป็นผู้นำในแบบ Dwight D.Eisenhower ที่คุณควรนำมาปฏิบัติตามในสถานการณ์วิกฤติ

ความเป็นผู้นำนั้นมี 4 แบบหลักๆ คือ แบบนักปฏิบัติ (Pragmatist), แบบนักอุดมการณ์ (Idealist), แบบนักการทูต (Diplomat) และแบบนักกำกับดูแล (Steward) โดยแบบนักปฏิบัติจะให้ความสำคัญในการบรรลุเป้าหมายมากกว่าสิ่งอื่นใด แบบนักอุดมการณ์จะเชื่อมั่นในศักยภาพด้านบวกของคน และให้คุณค่าในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ แบบนักการทูตจะมีบุคลิกดูเป็นคนใจดี เข้าสังคม ชอบการให้ และมักจะสร้างปฏิสัมพันธ์ส่วนตัวที่แน่นแฟ้นกับพนักงาน

แต่ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ผู้นำแบบที่เราต้องการชี้ให้เห็นคือ ผู้นำแบบนักกำกับดูแลซึ่งเป็นผู้นำในแบบของประธานาธิบดีไอเซนฮาว (Dwight D.Eisenhower)

นักกำกับดูแลเปรียบดั่งเสาหลักขององค์กร พวกเขาเชื่อถือได้ มีความซื่อสัตย์ ชอบช่วยเหลือ และสามารถสร้างความมั่นคงและความสันติให้กับพนักงานของเขาได้ นักกำกับดูแลจะให้คุณค่ากับกฎระเบียบ กระบวนการ และความรับผิดชอบ พวกเขาเชื่อว่าโซ่จะขาดตรงข้อที่อ่อนแอที่สุดไม่ว่าข้ออื่นจะแข็งแรงแค่ไหนก็ตาม วิธีนี้จะให้โอกาสกับพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมเป็นดั่งฟันเฟืองให้เครื่องจักรทำงานต่อไปอย่างไม่สะดุด และพนักงานจะพบกับความปลอดภัย ความมั่นคง และความสามัคคี

มีผู้นำมากกว่าหนึ่งล้านคนได้ทำการทดสอบเรื่อง “คุณเป็นผู้นำแบบไหน?” ฟรีทางออนไลน์ และจากข้อมูลทดสอบทั้งหมดพบว่า ผู้นำแบบกำกับดูแลมีน้อยกว่าหนึ่งในสี่

แต่ในยามวิกฤติ หรือในเวลาที่ผู้คนรู้สึกปั่นป่วน กระวนกระวาย และสับสน การใช้การบริหารแบบนักกำกับดูแลที่เน้นกระบวนการและความเป็นระเบียบจะสามารถทำให้ผู้คนค่อยๆซึมซับ และทำให้จิตใจสงบลงและเป็นระเบียบมากขึ้นได้

Dwight D.Eisenhower ก้าวเข้ามาสู่ทำเนียบขาวด้วยความชำนาญด้านบริหารและบุคลิกที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่เคยมีมา และในฐานะที่เขาเคยเป็นอดีตผู้บัญชาการสูงสุดของพันธมิตรยุโรปในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาจึงให้ความสำคัญกับกฎระเบียบและนโยบายที่เสริมสร้างความมั่นคง โดยได้เลือกเฟ้นหาคนมาทำงานด้วยความรอบคอบ รวมทั้งเฝ้าดู ประเมินความสามารถ และหาทางปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสม

Dwight D.Eisenhower ไม่ใช่คนที่ทำอะไรเรื่อยๆเปื่อยๆ โดยไม่มีเป้าหมายหรือเป็นพวกหัวโบราณ หากแต่เป็นนักปฏิรูปตัวยง โดยประเด็นบางส่วนจากหนังสือ The Presidential Difference ของ Fred Greenstein ที่ระบุไว้เกี่ยวกับคุณสมบัติของประธานาธิบดี ทั้งข้อที่ดีและไม่ดี ได้บอกไว้ว่าประธานาธิบดีไอเซนฮาวได้แต่งตั้งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาวคนแรก ได้สร้างสำนักงานความสัมพันธ์รัฐสภาเป็นครั้งแรก และได้แต่งตั้งตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีฝ่ายกิจการความมั่นคงแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ไอเซนฮาวได้ขอความร่วมมือจากนักวิเคราะห์ที่มีประสบการณ์ด้านความมั่นคงแห่งชาติทั้งหมด 3 กลุ่ม เพื่อเชิญมาปรึกษาหารือและทบทวนเกี่ยวกับกลยุทธ์แห่งชาติ โดยให้บรรลุถึง “การสร้างความมั่นคงโดยไม่ต้องใช้จ่ายเพื่อป้องกันการล้มละลาย” โดยแต่ละกลุ่มได้เสนอกลยุทธ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เขาได้ใคร่ครวญถึงแนวคิดที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ และได้สรุปการวางแผนอย่างรัดกุมขึ้นมา โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ วิธีนี้ไม่เพียงเป็นการพัฒนากระบวนการให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นการสร้างทีมงาน และส่งเสริมการทำงานร่วมกันอีกด้วย

แม้ว่าพวกเราจะไม่สามารถทำตามแบบอย่างของ ไอเซนฮาวได้ทุกอย่าง ทั้งในด้าน แบบแผน การบริหาร และ การสร้างความผูกพันของทีมงาน แต่เราก็สามารถหยิบยืมเทคนิคของเขามาใช้ได้ และนี่คือ 3 บทเรียน ของผู้นำแบบกำกับดูแล ที่เราสกัดมาเพื่อให้คุณสามารถนำมาใช้ได้ในทันที:

บทเรียนที่ 1: ระบุให้ชัดเจนถึงวันเวลาที่ต้องเสร็จงาน และผลลัพธ์ที่ต้องการให้ส่งมอบ

อย่างที่บอกว่า จากการที่ไอเซนฮาวเป็นทหารมาก่อน เขารู้ดีว่าความคิดที่ยอดเยี่ยมใดๆ จะไม่มีทางสำเร็จได้เลยถ้าไม่ระบุให้ชัดเจนถึงวันเวลาที่ต้องเสร็จงาน และระบุผลลัพธ์ที่ต้องการให้ส่งมอบเสียก่อน อดีต CEO ของ Google อย่าง อีริค ชมิดต์ และผู้นำแบบกำกับดูแลคนอื่นๆ ต่างเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงบทเรียนนี้  โดยอีริค ชมิดต์ ได้เคยกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับวันแรกในการทำงานที่ Google ณ มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดว่า:

“ตอนนั้นมีวัยรุ่นผู้ชาย 2 คน ที่ทั้งฉลาด ทั้งบ้า และดูไม่ค่อยน่าไว้วางใจเท่าไหร่ (แลร์รี เพจ และ เซอร์ไก บริน ผู้ก่อตั้ง Google) เราต้องการ CEO เพื่อมาควบคุมพวกเขา ผมจึงมีลิสต์ของสิ่งต่างๆให้พวกเขาทำ และเราก็ดำเนินการไป โดยทั่วไปบริษัทขนาดเล็กทั้งหลายต่างเต็มไปด้วยพลัง และไม่มีกระบวนการ แต่ลิสต์ของผมนั้นตรงไปตรงมา เช่นพวกการวางแผนที่เป็นสากล แผนการขาย แผนการทางผลิตภัณฑ์ แผนการเงิน และอื่นๆ การประชุมครั้งแรกใน Google ของผม เหมือนอยู่ในบัณทิตมหาวิทยาลัยที่มีแต่คนที่เจ๋งๆมากมายที่ไม่รู้จัก เราได้บอกวันเวลาที่ต้องเสร็จงาน และผลลัพธ์ที่จะส่งมอบด้วย”
เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์วิกฤติในปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มไขว้เขวและไม่เป็นระเบียบ ปฏิกิริยาตอบสนองธรรมดาๆต่อความตรึงเครียดนี้คือ เราต้องการผู้นำที่ชี้แนวทางที่ชัดเจน ง่ายๆตรงประเด็น ต้องระบุกำหนดเวลาและ ผลที่จะตามมาให้ชัดเจนด้วย   

บทเรียนที่ 2 : ระบุให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ

เมื่อไอเซนฮาวได้แต่งตั้งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาวคนแรก เขาได้สร้างสำนักงานความสัมพันธ์รัฐสภาเป็นครั้งแรก และได้แต่งตั้งตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีฝ่ายกิจการความมั่นคงแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก การกระทำเช่นนี้เสมือนว่าเขาได้คาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า สักวันหนึ่งบริษัท Apple จะต้องมีการริเริ่มคำศัพท์ Directly Responsible Individual หรือ DRI ขึ้นมา ซึ่งแปลว่า ผู้ที่เป็นคนรับผิดชอบโดยตรงในงานนั้นๆ เพื่อให้สำเร็จลุล่วง (หรืออาจล้มเหลว) เพราะมันไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบโดยการทำทุกอย่างในงานนั้น แต่หมายถึงพวกเขาต้องรับผิดชอบในการหาทรัพยากรหรือบุคคลที่จำเป็นในงานนั้น และสามารถทำให้แน่ใจได้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้งานสำเร็จ

ไอเซนฮาวไม่รู้จักการเล่นเกมการเมือง ไม่เคยใช้กองกำลังในเงามืดโจมตีใคร หรือไม่เคยยุยงให้ทีมงานตีกันเอง เขาต้องการความชัดเจนของงานที่มอบหมายและส่วนที่ต้องรับผิดชอบ ไม่เพียงทำให้แน่ใจได้ว่างานนั้นจะถูกส่งมอบทันเวลาเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้จิตใจที่ไขว้เขวของผู้คนสงบลงและเป็นระเบียบมากขึ้น เพราะการรู้ว่าใครมีหน้าที่รับผิดอะไรในทุกๆส่วนของกระบวนการ ย่อมทำให้การทำงานนั้นสะดวกมากยิ่งขึ้น
บทเรียนที่ 3 : การตัดสินใจอย่างเป็นระบบ

การที่ไอเซนฮาว ได้ทำการทบทวนกลยุทธ์แห่งชาติใหม่โดยการระดมความคิดจากนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงแห่งชาติที่มีประสบการณ์ทั้งหมด 3 กลุ่มโดยแต่ละกลุ่มได้เสนอกลยุทธ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้น เขาไม่ได้ทำเพื่อเล่นเกมทางการเมือง แต่เขาทำเพื่อต้องการเข้าใจอย่างลึกซึ้งและต้องการข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้

และเมื่อเขาเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว เขาก็ได้ทำการตัดสินใจอย่างเยือกเย็น มีหลักการ และไม่ใช้อารมณ์ ดังที่รองประธานาธิบดีของเขา ริชาร์ด นิกสัน ได้กล่าวไว้ว่า

ไอเซนฮาว อาจดูกระตือรือร้นอย่างมากเกี่ยวกับความคิดเห็นที่อาจจะยังไม่สุกงอมนักในช่วงของการพูดคุยอภิปรายกัน แต่เมื่อเขาต้องเป็นคนตัดสินในนาทีสุดท้าย เขากลับเยือกเย็น ไม่ใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และเป็นนักวิเคราะห์ที่ดีคนหนึ่งที่โลกเคยมีมา

ริชาร์ด นิกสัน

ในช่วงเหตุการณ์ปกติ อาจมีผู้นำหลากหลายแบบที่ดูดีบนปกนิตยสารและได้รับการยกย่องมากมาย แต่ในสถานการณ์วิกฤตินี้ ผู้นำที่เสมอต้นเสมอปลายด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบและรู้ถึงผลที่จะตามมานั้น มีประสิทธิภาพและพึ่งพาได้มากกว่า แม้ว่าผู้นำแบบกำกับดูแลอาจไม่ใช้ผู้นำแบบปกติที่คุณคุ้นเคย แต่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายนี้มันอาจคุ้มค่าที่จะลองเปลี่ยนแปลงดูก็ได้

ที่มา :

https://www.forbes.com/sites/markmurphy/2020/03/29/in-this-current-crisis-you-should-borrow-from-dwight-eisenhowers-leadership-style/#772b26513764
Created with