Facilitator: เปลี่ยนตัวเองให้เป็นครู สอนการเรียนรู้ชีวิต

In Summary

  • Facilitator: เปลี่ยนตัวเองให้เป็นครู สอนการเรียนรู้ชีวิต บทความนี้เรียบเรียงจาก SHiFT Your Future Live วิชาที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ตอนที่ 7
  • แขกรับเชิญ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ Executive Coach ผู้อยู่เบื้องหลังเส้นทางแห่งความสำเร็จ และ ภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของเหล่าผู้บริหารระดับสูง
  • ดำเนินรายการโดย วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม บรรณาธิการที่ปรึกษา SHiFT Your Future
ดร. วรภักดิ์ ภู่เจริญ Executive Coach ผู้อยู่เบื้องหลังเส้นทางแห่งความสำเร็จ และ ภาพลักษณ์น่าเชื่อถือของเหล่าผู้บริหารระดับสูง  เล่าประสบการณ์มากมายให้เราฟังอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับเสียงหัวเราะตลอดการพูดคุย 1 ชั่วโมงเต็มในวันนี้

กว่า  10 ปี ที่ ดร. วรภัทร์ เดินอยู่บนเส้นทางการเป็น Executive Coach คอยทำหน้าที่รับฟัง พูดคุย ถามคำถามต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริหารองค์กรมากมายเกิดกระบวนการคิดที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

หลายคนอาจจะสับสนในบทบาท หน้าที่ และความแตกต่างของ อาชีพ “นักให้คำปรึกษา” ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น Inspirer , Mentor , Facilitator , Consult และ Coach

รู้จักกับ บทบาทของ “นักให้คำปรึกษา” แต่ละรูปแบบ

เริ่มจาก “Consult”  ดร.วรภัทร์ มองว่า การคอนซัลท์  คือการให้คำปรึกษาจากสิ่งที่มีคำตอบอยู่แล้ว มีผลลัพธ์ที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งผู้ที่เป็นคอนซัลท์ จะเป็นผู้บอกให้ทำ โดยจะเป็นการสอนตรง ๆ ด้วยหลักการที่ชัดเจน

ส่วน “Mentor” จะเปรียบเสมือนนักเล่านิทาน เล่าเรื่องราว ถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อให้เกิดการคิดและเรียนรู้จากเรื่องราวของบุคลอื่น จนกระทั่งก่อให้เกิดกระบวนการคิดและได้คำตอบให้กับตัวเอง โดยได้ยกผลการวิจัยที่พบว่า “การสอนตรง” จะทำให้คนฟังเชื่อในสิ่งที่บอกที่สอนไป เพียงแค่ 5% เท่านั้น และคนฟังจะไม่เกิดกระบวนการคิด นั่นหมายถึงไม่ได้ช่วยให้คนฉลาดขึ้น

“เมื่อคนได้ฟังนิทาน เรื่องราวต่าง ๆ แล้วมีความสุข ร่างกายหลั่งฮอร์โมนไปที่สมองส่วนหน้า PFC หรือ prefrontal cortex เป็นส่วนหน้าของสมองกลีบหน้าผาก ซึ่งทำหน้าที่วางแผนหรือโปรแกรมพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับรู้ที่ซับซ้อน บุคลิก การตัดสินใจ การควบคุมความคิดและการกระทำให้สอดคล้องกันไปตามเป้าหมายที่อยู่ภายในใจ”

สำหรับ “Coach” “โค้ช”  มีหลายประเภท ทั้ง “Pure Coach” “Life Coach” “Executive Coach” “Sport Coach” ฯลฯ แต่การเป็น “โค้ช” จะไม่มีการให้คำแนะนำว่าควรทำอย่างนั้น อย่างนี้ …. หน้าที่หลัก ๆ ของ “โค้ช” คือการชวน “ลูกโค้ช” พูดคุย รับฟัง ตั้งคำถามต่าง ๆ และสรุป หรือ เสนอมุมคิดที่แตกต่างให้กับลูกโค้ช เพื่อให้เกิดความรู้สึกดี ส่งผลต่อกระบวนการคิดให้สมบูรณ์มากขึ้น สามารถค้นหาคำตอบในสิ่งที่ต้องการได้ดีขึ้น  ซึ่งการตั้งคำถาม ที่โค้ชทำ ก็เพื่อให้เกิด Growth Mindset หรือ กระบวนการพัฒนาความคิด ไปจนกว่า ลูกโค้ช จะหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง เปรียบเสมือนการเอาไฟฉายส่องทางให้เลือกเดิน

ดร.วรภักดิ์ กล่าวว่า “ผู้บริหาร ก็ต้องการ Executive Coach  เพราะส่วนใหญ่ผู้บริหารต้องการความแปลกใหม่ ต้องการความคิดในอีกมุมที่หลงลืมไปเท่านั้น  ดังนั้นผู้ที่เป็น Executive Coach มักจะใช้วิธีการยิงคำถาม หรือ เล่าแลกเปลี่ยนกลยุทธ์  เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดตามมา

และสุดท้าย “Facilitator” หรือ ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้  ซึ่งเป็นการต่อยอดจาก “Coach” ซึ่ง Facilitator จะมีวิธีชักจูง ให้บุคคล หรือ กลุ่มคน เกิดการเรียนรู้ จากการลงมือทำด้วยตัวเอง โดยที่บุคคล หรือ กลุ่มคนเหล่านั้นไม่รู้ตัวว่า กำลังรับคำปรึกษา หรือ กำลังอยู่ในกระบวนการสอน

“สงวนจุดต่าง ประสานจุดร่วม” บทบาทของ Facilitatior

สำหรับผู้ที่เป็น “Facilitator” ในองค์กร ส่วนใหญ่ จะทำหน้าที่ประสานความแตกต่างของคนแต่ละกลุ่ม ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ประสานจุดร่วมของคนที่ขัดแย้งกันในองค์กร ประสานความเข้าใจระหว่างผู้บริหารและพนักงานให้ตรงกัน เพื่อเป้าหมายการทำงานให้บรรลุจุดหมายเดียวกันได้  หรือแม้แต่การแทรกซึมเข้าไปในองค์กรนำทำกิจกรรมสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความคิด จากการได้ลงมือทำจริง เจอกับประสบการณ์จริง นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่มีความจำเป็นต่อองค์กรที่มีความแตกต่างเรื่องการสื่อสารของคนแต่ละ Generation ช่วยแก้ปัญหาความไม่เข้าใจกันในองค์กร  ซึ่งส่วนใหญ่ Facilitator จะไม่ลงมือทำเพียงคนเดียว

การเปลี่ยนพฤติกรรมจะต้องมาจาก Mindset

ดร.วรภักดิ์ เชื่อว่า หัวใจหลักที่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนความคิดได้ นั่นก็คือ “ความเชื่อ”  

“ทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่มีใครที่ผมมองว่าไม่ดี ทุกคนดีหมดในสายตาผม แต่ผมจะหาจุดแข็งของเขาได้อย่างไร และจะเอาจุดแข็งเขาออกมาได้อย่างไร”

“Coach” ที่ดีต้องระวังไม่ให้ลูกโค้ช ศรัทธามากจนเกินไป

สำหรับโค้ช ต้องระวังการทำให้ ลูกโค้ช เกิดความศรัทธา หรือ ยึดติดอยู่กับโค้ชมากจนเกินไป เพราะนั่นจะไม่ส่งผลดีต่อตัวของลูกโค้ชเอง ดังนั้น หลักการของ โค้ช คือ ทำอย่างไร ให้ ลูกโค้ช สามารถคิดหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง  ต้องไม่ให้เกิดการยึดติดศรัทธาในตัวโค้ชจนคิดเองไม่ได้ เพราะสุดท้ายจะไม่ได้เปิดศักยภาพของเขา

“หลักก็คือ ต้องให้เขาคิดเองได้ เดินได้ด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้และ ไม่อ่อนแอ”  

Facilitator ไม่ใช่เรื่องใหม่​??

            แท้จริงแล้ว Facilitator นั้น ไม่ใช่อาชีพใหม่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และยังมีแทรกซึมอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มงานด้านการเกษตร เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ก็มีมานานแล้วและถือเป็น Facilitator เพียงแต่ในองค์กรบริษัทบางแห่ง อาจยังมองไม่เห็นความสำคัญ

โค้ช ที่ดี ดูอย่างไร ?

            “ถ้าเป็นคนที่ช่วยตั้งคำถาม ชวนคิด ชวนคุย..ก็คือว่าเป็นโค้ช แต่หากเป็นการแนะนำ การสอน ไม่ถือว่าเป็นโค้ช เขาอาจเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ หรือ Inspiror เท่านั้น”   

วิธีคิดที่ต้องเตรียมเพื่อฝ่าวิกฤตที่ถาโถมเข้ามาในช่วงนี้         

            ดร.วรภัทร์ มีวิธีคิดที่น่าสนใจในการสร้างทักษะเพื่อฝ่าวิกฤต โดยยึดหลักคำสอนทางพุทธศาสนา นั่นก็คือ มรรค 8 หรือ การลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ไม่ว่าจะเป็น สัมมาทิฏฐิ (Purpose) , สัมมาสังกัปปะ(Mindset) , สัมมาวาจา( Dialogue) , สัมมากัมมันตะ (Skill) , สัมมาอาชีวะ , สัมมาวายามะ , สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ(Focus)

“การเป็นโค้ช ไม่ใช่การที่จะไปบอกให้คนเชื่อ ให้คนทำอย่างนั้น อย่างนี้ …แต่โค้ชที่ดี ต้องทำให้ลูกโค้ชเกิดกระบวนการเรียนรู้ เกิดการพัฒนาได้ด้วยตัวเอง”

-ดร. วรภักดิ์ ภู่เจริญ
Created with