ส่อง FinTech ด้านสินเชื่อ ส่งผลกระทบกับโลกการเงินอย่างไร ใครได้ประโยชน์บ้าง

Financial Technology หรือ FinTech (ฟินเทค) คือ เทคโนโลยีการเงิน ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเงินยุคเก่า การค้าขายแบบเก่า โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจให้ทันสมัยขึ้น ทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกขึ้น เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่ง FinTech นั้นถูกแบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร, สินเชื่อ, การจ่ายเงิน, การโอนเงินระหว่างประเทศ, ประกันภัย, การลงทุน, และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)

ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีการเงินที่น่าสนใจคือ เรื่องสินเชื่อ กู้ยืม เพราะเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจไม่อาจเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะต้องการเงินไปขยายกิจการ หรือประสบปัญหาด้านการเงิน

ในบทความนี้จะพามารู้จักกับเทคโนโลยีการเงินด้านสินเชื่อ ว่าจะเข้ามามีผลกระทบกับโลกการเงินอย่างไร และใครได้ประโยชน์บ้าง

Digital lending
หรือการให้กู้ยืมเงิน ที่มีการบริหารจัดการผ่านช่องทางดิจิทัล ปัจจุบันมีอยู่ 3 รูปแบบคือ

-แพลตฟอร์มของธนาคาร เช่น K PLUS , SCB EASY และ KMA
-แพลตฟอร์มที่ร่วมมือกับธนาคาร ในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ เช่น LINEBK , MONIX และ AISCB ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยพาณิชย์และเอไอเอส
-แพลตฟอร์มที่ไม่มีธนาคารอยู่เบื้องหลัง แต่ใช้ข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการหรือพาร์ทเนอร์ที่ร่วมงานผ่านแพลตฟอร์มเป็นข้อมูลเพื่ออนุมัติสินเชื่อ เช่น Grab , SEAMONEY และ Ascend Nano

ประโยชน์ที่ได้ จาก Digital lending :

-ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ (SMEs) ที่ต้องการเงินทุนไม่มาก ในยุคก่อนจะเดินเข้าไปหาธนาคาร ยื่นเอกสารมากมาย และต้องใช้เวลารอนานนับเดือนลุ้นจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ส่วนธุรกิจที่รอไม่ได้ก็อาจจะไปอาศัยการกู้นอกระบบแทน ซึ่งมีความเสี่ยงมาก

การที่มีเทคโนโลยีด้านการเงินเข้ามาช่วย จะทำให้ SMEs สามารถได้รับการอนุมติง่ายขึ้น โดยไม่ต้องยื่นเอกสารมากมาย ซึ่งแพลตฟอร์ม Digital lending ต่างๆ จะสามารถดึงข้อมูลรายได้-รายจ่ายมาประมวลผล และวิเคราะห์ พร้อมกับอนุมัติสินเชื่อได้ในเวลาอันรวดเร็ว ช่วยให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างไม่ขาดตอน

-ร้านค้าหรือคนทำงานที่หารายได้ผ่านแพลตฟอร์ม เช่น คนขับรถส่งอาหารหรือรับส่งผู้โดยสารที่ผูกกับแพลตฟอร์มต่างๆ จะสามารถกู้เงินเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นกับอาชีพอย่าง จักรยานยนต์ หรือ โทรศัพท์มือถือ ได้ โดยที่ไม่ต้องยื่นหลักฐานมากมาย เพราะแพลตฟอร์มจะสามารถคำนวณรายได้ที่ทำต่อวันออกมา และรู้ได้ทันทีว่าพาร์ทเนอร์คนขับแต่ละคนมีความขยันในระดับไหน เช่นเดียวกัน ร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์กับแพลตฟอร์มเหล่านี้ ก็สามารถกู้เงินไปขยายร้านค้าได้ เพราะแพลตฟอร์มนั้นมีข้อมูลรายได้จากคนสั่งซื้ออาหารในทุกวัน ทำให้รู้ได้ว่าร้านดังกล่าวมีรายได้ในแต่ละวันเท่าไร

ซึ่งการนำข้อมูลเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลนั้น จะช่วยให้คนสามารถเข้าถึงการเงินได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น

P2P lending
Peer-to-Peer lending คือ การกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางในการจัดการระหว่างผู้ขอกู้และผู้ให้กู้ เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแก้ปัญหาการกู้เงินนอกระบบ จากที่เคยกู้จากเพื่อน จากคนข้างบ้าน ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และอาจจะเกิดปัญหาทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้

การนำแพลตฟอร์มเข้ามาก็จะช่วยตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของผู้กู้ได้ ว่าไม่มีประวัติเบี้ยวหนี้ หรือเคยติดเครดิตบูโรมาก่อนหรือไม่

ประโยชน์ที่ได้ จาก P2P lending :

-ผู้ปล่อยกู้: ถือว่าป็นอีกหนึ่งวิธีในการลงทุน ใครก็สามารถนำเงินมาปล่อยกู้ได้ และได้ผลตอบแทนในลักษณะของดอกเบี้ยในเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอน นอกจากนี้ยังไม่เริ่มต้นด้วยเงินจำนวนมาก

-ผู้กู้: เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกู้ยืมเงินในการนำไปขยายธุรกิจ หรืออาจจะนำไปซื้อสิ่งของบางอย่างที่ต้องใช้ประกอบอาชีพ แต่ไม่สามารถกูผ่านธนาคารได้

ทั้งนี้ P2P lending สำหรับประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการศึกษาเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การประเมินเครดิตผู้กู้ การเบี้ยวหนี้ รวมถึงการเก็บรักษาเงินของคนกลาง

 
ในสัปดาห์หน้า เราจะพาไปพบกับบทสัมภาษณ์ของ อ.สิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ผู้มีประสบการณ์มากมายในสายงานการเงิน จะมาให้คำตอบว่าทำไม FinTech ถึงสำคัญกับทุกคน และจะช่วยยกคุณภาพชีวิตให้กับคนที่เขาใจการเงินในโลกดิจิทัลอย่างไรบ้าง

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

-ถอดรหัส ปรากฏการณ์ยานแม่ SCBX
-Metaverse และ NFT โอกาสสร้างตัวตนและความมั่งคั่งในโลกอนาคต?
Created with