“หัวใจของการทำงาน คือการมองเพื่อนร่วมงานเป็นมนุษย์คนหนึ่ง” สัมภาษณ์ รุตม์ – อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ Head of People LINE MAN Wongnai

ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากสำหรับทุกองค์กร และถือเป็นตัวแปรหลักที่จะทำให้องค์กรนั้นๆ ล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ ทุกบริษัทจึงมีแผนกทรัพยากรบุคคลหรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า HR อยู่เสมอ แต่ LINE MAN Wongnai ไม่ได้เรียกชื่อแผนกนี้เหมือนที่อื่น และตั้งชื่อใหม่ว่า ‘ทีม People’

สำหรับ Wongnai หลายคนคงรู้จักกันดีอยู่แล้วในฐานะแพลตฟอร์มรีวิวและค้นหาร้านอาหารอร่อยๆ ใกล้ตัว ซึ่งกลางปี 2563 ที่ผ่านมาได้มีการควบรวม LINE MAN และ Wongnai อย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท และหวังต่อยอดธุรกิจจนกลายเป็นแพลตฟอร์มอาหารเบอร์ 1 ของไทย

รุตม์ – อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ Head of People LINE MAN Wongnai หรือแปลง่ายๆ คือหัวหน้าแผนกบุคคล เขาคือคนที่อยู่เบื้องหลังการสรรหาและคัดเลือกพนักงานใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มบริษัท คนที่รักษาใจพนักงานให้จงรักภักดีกับองค์กร ทั้งยังเป็นคนที่คิดค้นหลักสูตรพัฒนาความรู้ความสามารถให้พนักงานเติบโตก้าวหน้าอยู่เสมอ

ที่สำคัญ มันไม่ง่ายเลยที่เขาและทีม People จำนวนไม่เกิน 10 คน จะต้องดูแลพนักงานทั้งบริษัทกว่า 700 คน SHiFT Your Future จึงชวนคุยกับคุณรุตม์ถึงเคล็ดลับในการดูแลพนักงาน และค้นหาความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งหลังจากได้คุยกับเขาแล้ว บางทีคำตอบก็อาจอยู่ที่ชื่อทีม People ตั้งแต่แรก

เพราะเขาบอกกับเราว่า “หัวใจของการทำงาน คือการมองเพื่อนร่วมงานเป็นมนุษย์คนหนึ่ง” นั่นเอง
ย้อนกลับไปจริงๆ แล้วคุณเรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้า แล้วทำไมอยู่ดีๆ ถึงมาทำงานสายการสื่อสารองค์กร
จริงๆ แล้วไม่ได้สนใจสายสื่อสารเลย แต่เราชอบทำกิจกรรมตั้งแต่เด็ก คือเป็นทั้งประธานนักเรียน เป็นหัวหน้าห้อง เป็นคนทำชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย แต่พอดีงานสายสื่อสารองค์กร มันเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม ก็เลยรู้สึกว่าเป็นตำแหน่งที่น่าสนใจ

หลังจากเรียนจบ ผมไปทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ 2 ปีกว่า ต่อด้วยงาน Technical Support เชิงลึก เติบโตจนเป็นหัวหน้าทีม แต่พอทำงานสาย IT อยู่ประมาณ 7 ปีก็รู้สึกไม่ได้ชอบขนาดนั้น พอดีมีตำแหน่งสื่อสารองค์กรเปิดว่างขึ้นมา ผมก็เลยลองสมัครดู แล้วก็ได้ทำงานสาย สื่อสารมา 7 ปีเต็มๆ

พอเปลี่ยนมาทำงานสายสื่อสาร มีการปรับเปลี่ยนทักษะตัวเองมากน้อยแค่ไหน
ผมมีทักษะการเขียนมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว อ่านหนังสือเยอะมาก เช่น ตอนมัธยมปลายไปอยู่นิวซีแลนด์ เวลาไม่มีอะไรทำก็อ่านหนังสือ เขียนไดอารี่ หรือเขียนจดหมายถึงเพื่อนเก่า ผมก็เลยมีทักษะการสื่อสารโดยไม่รู้ตัว พอต้องมาทำงานเป็น Communication Manager ก็ได้ใช้ทักษะการเขียนโดยปริยาย

ความสำคัญของทักษะสื่อสารคือทำให้ ‘รู้เขารู้เรา’ รู้ว่าคนอื่นต้องการฟังอะไร เขาให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด ทำให้เราต้องคิดละเอียดมากขึ้นก่อนสื่อสาร พอไปเรียนต่อปริญญาโท คณะภาษาและการสื่อสารที่ NIDA ก็ทำให้เราเข้าใจพื้นฐานมากขึ้น ฉะนั้นการทำงานด้านนี้ทำให้เราเขยิบเข้าใกล้ตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ จากเด็กจบวิศวะไฟฟ้า ไม่ชอบไฟฟ้ามาเป็นโปรแกรมเมอร์ ทำงานคอมพิวเตอร์แต่ทำไม่ได้ดีมาก ก็เลยมาทำสื่อสารองค์กร สุดท้ายก็กลายมาเป็น HR โดยไม่คาดคิดมาก่อน

ปัจจุบันได้ใช้ศาสตร์ความรู้เชิงวิศวะหรือโปรแกรมเมอร์ในการทำงานไหม
ก็ใช้นะ เป็นการคิดแบบ logic หรือคิดแบบคนขี้เกียจ (หัวเราะ) คือทุกปัญหาที่เกิดขึ้นมันมีคนเคยแก้มาก่อนแล้ว ทำไมคุณต้องมานั่งแก้ใหม่ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Don’t reinvent the wheel ไม่ต้องไปหาทำล้อใหม่ ถ้ามีล้อที่อื่นที่ใช้ได้ก็เอามาใช้เลย เราจะพยายามหาวิธีการที่สบายที่สุดในการทำงาน

เหมือนการทำงานช่วงแรกๆ มันจะเหนื่อยหน่อย ทำ 100 อาจได้แค่ 10 แต่เราจะทำ 10 ยังไงให้ได้ 100 บ้าง เราต้องวิธีหรือหาเครื่องมือใหม่ๆ มาช่วยทำงาน เรียนรู้สูตรใหม่ๆ เสมอ เอาง่ายๆ ขนาด Microsoft Excel ยังมีสูตรและวิธีการใช้มากมาย ฉะนั้นเรื่อง logic เรามีพื้นฐานอยู่แล้ว เราก็มองวิธีแก้ปัญหาแบบวิศวกรดีกว่า
พอเข้ามาทำงานเป็นหัวหน้า HR ที่ Wongnai ทำไมถึงตั้งชื่อแผนกว่าทีม People
นอกจากตั้งชื่อให้ดูสวยหรูแล้ว จริงๆ เป็นการเตือนใจว่า People คือคน เราทำงานกับคน และองค์กรไม่มีอะไรนอกจากคน (ยิ้ม) เวลาพูดถึงแบรนด์หรือสินค้าอะไรก็ตาม จุดเริ่มต้นทุกอย่างมันมาจากคน ถ้าเรามองคนเป็นแค่ทรัพยากร เราจะปฏิบัติต่อเขาอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเรามองคนเป็นคนจริงๆ เราจะปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นเพื่อนกัน เป็นพี่น้อง เป็นคนที่มีความต้องการและความเจ็บปวดเหมือนกันเรา สุดท้ายก็เป็นการเตือนตัวเองและทีมให้ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างมีความเคารพและเหมาะสมที่สุด

ปัจจุบันคนใน LINE MAN Wongnai มีจำนวนเท่าไหร่
ตอนนี้ Wongnai มี 500 คน ส่วน LINE MAN มี 200 ก็มารวมๆ แล้ว 700 คน แต่ก็มีคนที่อยู่ต่างจังหวัดด้วยนะ ส่วนคนที่อยู่ประจำออฟฟิศมีประมาณ 400 ครับ บางตำแหน่ง เช่น ฝ่ายขาย ก็ต้องออกไปทำงานข้างนอกตลอดเวลา ค่าเฉลี่ยอายุของคนในบริษัทคือ 27 ปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กจบใหม่ เพราะที่ผ่านมามีแต่เด็กจบใหม่อยากมาทำงานกับเรา แต่ตอนนี้เราอยากให้แบรนด์ดูโตขึ้น มั่นคงขึ้น ไม่งั้นองค์กรจะมีแต่เด็กๆ อย่างเดียว

พนักงานส่วนใหญ่มักจะเข้ามาปรึกษาทีม People ด้วยปัญหาอะไร
ถ้าคิดออกเร็วๆ ก็คือกลุ่มหัวหน้าใหม่ที่เพิ่งทำงานมา 3-4 ปีแล้วได้เป็นหัวหน้า เขาทำงานดี โตเร็ว แต่อาจจะยังไม่มีทักษะบริหารอารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ตัวเอง หรืออารมณ์ของน้องๆ ในทีม เช่น เขาจะแบกรับความเครียดยังไงดี จะจัดการความรู้สึกคนอื่นอย่างไร เพราะแต่ละคนก็มีวิธีการไม่เหมือนกัน มันต้องมีศิลปะในการจัดการ สิ่งเหล่านี้ต้องผ่านกาลเวลากว่าจะเป็นหัวหน้าที่ดีได้ ส่วนปัญหาอื่นๆ ไม่ค่อยมีนะ ปัญหางานหนักก็เป็นเรื่องปกติ เพราะที่นี่ทำงานหนักตลอดเวลาอยู่แล้ว (ยิ้ม)

จำนวนคนกว่า 700 คน แถมปัญหาแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คุณมีกลยุทธ์ในการดูแลพนักงานอย่างไรให้ทุกคนอยู่ดีมีสุขกับการทำงาน
มันต้องกลับมาที่คำแรกคือ ‘ความเคารพซึ่งกันและกัน’ ถ้าเรามองคนเป็นคนจริงๆ เราก็จะพยายามปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ เราต้องมีความโปร่งใสที่สุดเท่าที่จะทำได้ สื่อสารว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังไปไหน ปลายทางคืออะไร หรือกำลังติดปัญหาอะไรอยู่ ให้ทุกคนรับรู้เหมือนที่เรารู้ ไม่มีอะไรปิดบังกัน อะไรที่เปิดได้ก็จะเปิดให้หมด ไม่ค่อยมีความรู้แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ยกเว้นเรื่องเงินเดือนที่บอกไม่ได้ (หัวเราะ) แต่เรื่องกลยุทธ์บริษัทเราพยายามบอกให้มากที่สุด มันคือสัญญานว่าเราไว้ใจพนักงาน เพราะงานหลักของเราคือการหาคนเก่ง รักษาคนดี แล้วก็พัฒนาคน งานเราไม่ใช่การจับผิดครับ

หาคนเก่ง รักษาคนดี และพัฒนาคน สามข้อนี้คือหัวใจหลักในการทำงานของคุณใช่ไหม
ใช่ครับ เริ่มจากเรื่องการรับคนก่อน เราค่อนข้างคิดเยอะว่าองค์กรต้องการอะไรหรือต้องการคนแบบไหน พี่ต่อ ฟีโนมีนา (ธนญชัย ศรศรีวิชัย) เคยบอกว่า “ถ้าอยากได้ปลาช่อนก็จงออกไปจับปลาช่อน อย่าไปจับปลาแซลมอนแล้วพยายามให้เป็นปลาช่อน” เราก็เลยต้องนิยามว่าปลาช่อนของเราหน้าตาเป็นยังไง สุดท้ายก็ออกมาเป็น Core Values ที่เราประกาศออกไปในบริษัท

เราต้องการคนที่มี Impact กล้าทำงานใหญ่ ไม่กลัวความกดดัน Speed คิดเร็วทำเร็ว เรียนรู้เร็ว มี Grit ความอดทน ดื้อดึง ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ มี Passion รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รัก แล้วก็ One Team แน่นอนทุกคนจะมีสไตล์ต่างกัน ก็ต้องเตือนว่าเราเป็นทีมเดียวกัน เราไม่ใช่แค่ LINE MAN หรือ Wongnai นะ แต่เราคือ LINE MAN Wongnai เพราะฉะนั้น Core Values เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

นอกจากทักษะการทำงาน เรายังมี Aptitude  Test และ Skill Test เอาไว้ทดสอบเหตุผล การคำนวณ ภาษา รวมไปถึงการสำรวจจิตใจของคน เช่น การดู Growth Mindset ว่า ความล้มเหลวที่เคยเจอหนักที่สุดคืออะไร? แล้วคุณก้าวออกมาได้ยังไง? ผลงานที่ภูมิใจที่สุดคืออะไร? หรือถ้าไม่เห็นด้วยกับหัวหน้าคุณจะทำตามหัวหน้าไหม? คำถามเหล่านี้เราจะใช้เป็นประจำ เราจะมีชุดคำถาม Guideline มีประมาณ 40 คำถาม ที่เมเนเจอร์แต่ละคนสามารถเลือกไปใช้ได้จริง

ต่อมาคือการรักษาคน เราต้องใช้เครื่องมือในการดูแลเมเนเจอร์ก่อน เช่น การทำ One on One Meeting, การ Coaching หรือการ Feedback ทีมงานยังไง เราจะมีการเทรนนิ่งเมเนเจอร์ถึงเรื่องพวกนี้ เพราะเมเนเจอร์ควรจะคุยกับลูกน้องทุกเดือนเพื่อเข้าใจปัญหา อย่างเรามีโปรแกรม WeCare ที่ใครมีเรื่องไม่สบายใจก็สามารถมานั่งเล่าให้ทีม People ฟัง เราก็แค่นั่งฟังเฉยๆ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการปรึกษาพูดคุย หรือสวัสดิการ WeFlex ที่ออกแบบมาเพื่อคนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน เช่น การเบิกค่ารถไฟฟ้า ค่าเช่าหอ ค่า Easy Pass รวมไปถึงการสมัครฟิตเนสก็เบิกได้

สุดท้ายคือการพัฒนาคน เรามี We Share ที่จะเชิญคนเก่งๆ มาพูดให้เราฟัง ทั้งพี่ต่อ ฟีโนมีนา, คุณแท็ป-รวิศ หาญอุตสาหะ,​ คุณวูดดี้ เกิดมาคุย, ​คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา หรือ คุณโจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ แล้วพนักงานไปเทรนนิ่งอะไร ที่ไหน ก็สามารถมาเบิกเราได้เหมือนกัน
ในฐานะศูนย์กลางที่จะต้องรับฟังปัญหาคนอื่น คุณมีวิธีการรับมือกับตัวเองอย่างไรไม่ให้จมไปกับปัญหานั้นๆ
ผมไม่ได้เป็นคนซึบซับพลังงานลบครับ ถ้าเป็นการ์ตูนวันพีซก็คือมนุษย์ยาง (หัวเราะ) จะไม่ได้รับเอาความรู้สึกคนอื่นมาใส่ใจ ไม่เก็บเอามาเครียดต่อ ถามว่าผมรับมือยังไง… ต้องบอกว่าไม่ได้รับมือ แค่ฟัง ฟังแล้วจัดการ จะไม่เก็บเอาใส่ใจจนตัวเองดาวน์

คนที่มีทัศนคติแบบไหนเหมาะกับการทำงานในตำแหน่งทีม People
เวลาผมรับคนเข้าทีม People อย่างแรกต้องมองว่าเป็นคนที่น่าเข้าหาหรือเปล่า เขาต้องเป็นคนที่มีพลังงานอะไรบางอย่างที่ทำให้คนอื่นรู้สึกว่าสบายใจที่จะพูดคุย ส่วนทัศนคติต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่บวก ที่สำคัญคือไม่เอาเรื่องของคนอื่นไปเล่าต่อ เทคนิคของผมคือการต้องคุยกับเขาบ่อยๆ สัมภาษณ์เยอะๆ หลายครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้มั่นใจ 100% นะ แต่มั่นใจสัก 80% ก็โอเคแล้ว ทักษะการทำงานเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สุดท้ายต้องเป็นคนที่ใครเข้าหาแล้วสบายใจที่จะคุย

LINE MAN Wongnai มีการพัฒนาคนอยู่บ่อยครั้ง คิดว่าทำไมคนเราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลาขนาดนั้น
ทุกคนก็ต้องพัฒนาอยู่แล้วนะ การเรียนรู้เป็นสิ่งพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ เหมือนคนก็ต้องกินข้าว แล้วคนเราก็ควรเรียนรู้เพื่อเติบโตขึ้นไป

ปัจจุบันคิดว่าทักษะอะไรเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนยุคนี้
ไม่ขอเรียกว่าทักษะ แต่เรียกว่าความกล้าดีกว่า เพราะส่วนใหญ่ปัญหาในที่ทำงานเกิดจากคนไม่กล้ากัน เช่น ไม่กล้าบอกกันตรงๆ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าทดลองอะไรใหม่ๆ ถ้าเกิดกล้าที่จะลอง คุณก็อาจเจอสิ่งที่ดีกว่า แต่ถ้าอยู่ที่เดิม คุณก็จะอยู่ตรงนั้นต่อไป คำถามก็คือ คุณอยากอยู่ที่เดิมแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน?​

การเปลี่ยนแปลงมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณไม่ลอง คุณจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป ขอแค่กล้าที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ แค่นั้นเอง (ยิ้ม)

เราจะสร้าง ‘ความกล้า’ ที่ว่านั้นยังไง
ต้องกล้าในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อน พอกล้าแล้วประสบความสำเร็จ คุณก็จะเริ่มเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น แล้วคุณจะกล้าลองสิ่งใหม่ที่ใหญ่ขึ้น เช่น กล้าที่จะลองแพลตฟอร์มใหม่ๆ กล้าที่จะบอกว่าตัวเองไม่รู้ หรือกล้าที่จะบอกว่าไม่ไหวแล้ว… ประมาณนั้น

เท่าที่สังเกตคนส่วนใหญ่มีความกล้ามากพอไหม
เป็นการรักษาภาพพจน์มากกว่า เช่น ไม่อยากเสียหน้า หรือคิดว่าทำแบบเดิมก็สบายอยู่แล้ว ทำแบบใหม่น่าจะยากกว่าเดิม ไม่เอาดีกว่า ผมจึงบอกเสมอว่า “อย่าทำเพราะมันง่าย ให้ทำเพราะมันยาก”เพราะถ้าคุณเลือกทางง่าย ชีวิตคุณจะยากทีหลัง แต่คุณเลือกทางยาก ชีวิตคุณจะง่ายขึ้นเอง ฉะนั้นกล้าที่จะทำสิ่งที่ยากที่สุด แล้วดูว่าทุกอย่างมันง่ายขึ้นจริงหรือเปล่า

ผมคิดว่าการพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งที่ดีนะ แค่มาทำงานก็คือการยกระดับตัวเองแล้ว แต่ถ้าทำงานแบบเดิมๆ คุณก็จะไม่ได้รู้อะไรใหม่ๆ เลย นั่นคือการเสียโอกาสของคุณ

ทุกวันนี้ความสุขในการทำงานกับทีม People ของคุณคืออะไร
HR เป็นแผนกที่สามารถสร้างคุณหรือสร้างโทษได้เยอะมากเลยนะ ถ้าเราทำอะไรที่ไม่สมเหตุสมผล คนทั้งองค์กรก็จะเป็นทุกข์ เหมือนเรามีดาบอยู่ในมือ ก็ต้องระวังในการใช้ดาบของเรา แต่ถ้าเราใช้ดาบนี้แล้วทำให้คนอื่นมีความสุข เราก็จะรู้สึกอยากมาทำงานทุกวันเลย เหมือนเราอยู่ในสถานที่ที่ถูกทาง

ความสุขอีกอย่างคือเวลาเห็นในทีมค่อยๆ เติบโตขึ้นมา จากจูเนียร์มาเป็นซีเนียร์ เป็นหัวหน้าทีม เป็นเมเนเจอร์ หรือบางคนขึ้นมาเป็นไดเรกเตอร์แล้ว ก็จะเป็นความภูมิใจลึกๆ ของเรา เพราะเราเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้เขาอยู่กับเราจนเติบโตขึ้นมาถึงตอนนี้ครับ (ยิ้ม)
Created with