เปิดแนวคิด “ดร.เพิ่มสิทธิ์ นำประสิทธิผล” เมื่อชีวิตไม่ได้มีแค่ Work กับ Life จะออกแบบอย่างไรให้มีความสุข

เมื่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วนถูกออกแบบมาทั้งหมด เช่น จักรยาน ถูกทำออกมาให้ใช้ในหลายสถานการณ์ ทั้งสำหรับทางเรียบ ทางวิบาก หรือ รองเท้า ถูกออกแบบมาให้ใส่ได้ในหลายๆ สถานการณ์ ก็จะต้องเลือกรองเท้าให้เหมาะกับกิจกรรมที่ทำ แต่กับชีวิต เรามักจะไม่ค่อยออกแบบและวางแผนมัน

ดร.เพิ่มสิทธิ์ นำประสิทธิผล นักจิตวิทยาที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบชีวิต ให้สัมภาษณ์กับ SHiFT Your Future

เรื่องการออกแบบชีวิตว่า เวลาไปเปิด workshop ผมจะชอบถามนักเรียนว่า อีก 5 ปีมองเห็นตัวเองเป็นอย่างไร ซึ่งในสมัยเด็กเวลาเราถูกถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราจะรู้สึกสนุกกับการตอบคำถามนี้ แต่เมื่อโตขึ้นมันกลับเป็นเรื่องที่ตอบยาก ทั้งๆ ที่เรามีประสบการณ์มากขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น ใช้ชีวิตมาแล้วระดับหนึ่งในสังคม เราควรจะรู้ว่าเราจะทำอะไรต่อกันแน่

“กลับกลายเป็นว่า ความไม่รู้ในวัยเด็กทำให้เรากล้าตอบมากกว่า คนที่มีความรู้กับประสบการณ์กลับมองว่าตัวเองมีทางเลือกน้อย หรือเลือกที่จะไม่ตอบ”

ดร.เพิ่มสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า หลายๆ คนไม่ได้มีมุมมองที่ชัดเจนว่าอยากจะทำอะไรในอนาคต เมื่อเจอสิ่งที่ทำแล้วไม่มีความสุข แต่ก็ทนทำต่อ และมาบ่นกับเพื่อนร่วมงาน

โพลล์ของสำนักต่างๆ ทั่วโลกนั้น เปิดเผยว่าคนทำงานทั่วโลก มีแค่ 30% เท่านั้นที่ชอบงานตัวเอง หมายความว่าอีก 70% นั้นไม่ได้ชอบงานตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่

เมื่อชีวิตผูกพันกับงาน จึงต้องทำอย่างมีความสุข
“เราใช้เวลากับสิ่งใด มันคือการสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งนั้น เราอาจจะมีสิ่งของที่เรารักมากๆ ใช้เวลากับมันมาก เราก็จะผูกพันกับสิ่งนั้น”

ดร.เพิ่มสิทธิ์ กล่าวว่า ในรูปแบบของงานก็เช่นเดียวกัน คนใช้เวลาขณะตื่น 60-70% ต่อวันกับการทำงาน เพราะฉะนั้นการทำงานจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก มีความผูกพันค่อนข้างมาก และเมื่อต้องใช้อยู่กับการทำงานนานๆ ก็จะพบปัญหาบ้าง ซึ่งเวลาต้องการแก้ปัญหาก็จะพบคำแนะนำสำเร็จรูป เช่น การหาความชอบให้เจอ ต้องทำ Work-Life Balance หรือให้หาเส้นทางที่ถูกต้องให้เร็ว

ซึ่งคำแนะนำสำเร็จรูปเหล่านี้ไม่ได้ผิด แต่อาจจะไม่ได้เหมาะกับบริบทของเรา เพราะจากสถิติพบว่า มีคนแค่ 20% เท่านั้นที่หาความชอบของตัวเองเจอ

การออกแบบชีวิตจะช่วยให้รู้จักแนวคิดคร่าวๆ และนำเครื่องมือมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เราหาคำตอบได้ว่า สิ่งที่เรามองหานั้นคืออะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้แผนชีวิตที่สมบูรณ์แบบ เพราะบริบทของคนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ การที่เรารู้สึกชอบอะไรบางอย่างมากๆ ในปัจจุบัน ไม่ได้หมายความว่าในอีก 10 ปีถัดไปเราจะยังชอบสิ่งนี้อยู่ ซึ่งเมื่อถึงจุดที่ความชอบเปลี่ยนไป ก็ให้หยิบเครื่องมือเหล่านี้ขึ้นมาค้นหาตัวเองอีกครั้ง

การออกแบบชีวิต ไม่ได้มีแค่ Work กับ Life
“ในตำราของ Designing Your Life จะบอกว่า Work-Life Balance ไม่มีจริง หรือโมเดลนี้ไม่ได้ถูกต้องเท่าไร”

ดร.เพิ่มสิทธิ์ กล่าวว่า ทุกคนล้วนมีตัวเลขในใจ เช่น จะทำงาน 60% และทำอย่างอื่น 40% ซึ่งจะพบว่าโมเดลนี้มีข้อเสียอย่างหนึ่ง ตรงที่บอกว่ามันมีแค่สองด้านในชีวิตคือ Work กับ Life และถ้าด้านใดด้านหนึ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งก็จะลดลง เราต้องถามตัวเองว่ามันจำเป็นหรือไม่

คนที่ทำงานหนัก 12 ชั่วโมงต่อวัน แต่เขาหาเงินได้มากมาย เขามีความสุข แบบนี้ Work-Life Balance เสียหรือไม่ ขณะที่บางคนงานอาจจะไม่ได้เยอะมากแต่เป็นงานที่น่าเบื่อ ต่อให้ทำแค่ครึ่งวันก็รู้สึกเบื่อแล้ว เพราะฉะนั้นใน Designing Your Life ไม่ได้มองว่าชีวิตมี 2 ด้าน เพราะชีวิตมันมีมากกว่านั้น

“จะเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต แต่ต้องมาดูว่าเราใช้ชีวิตได้ตามลำดับความสำคัญที่ให้กับตัวเองหรือไม่”

การใช้เครื่องมืออย่าง Life Dashboard เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะให้คนมองในสี่มุมคือ Work, Play, Love และ Health และให้ดูว่าในแต่ละสัปดาห์คุณพึงพอใจในแต่ละด้านขนาดไหน จะทำให้เห็นภาพกว้างว่า จริงๆ แล้วเราให้ความสำคัญกับอะไร เราใช้ชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมาในรูปแบบชีวิตที่เราอยากจะใช้ต่อไปหรือไม่

เป้าหมาย ช่วยให้คนมีความสุขในชีวิต
เป้าหมายส่วนตัวของ ดร.เพิ่มสิทธิ์ คือ อยากทำให้คนที่ไม่ชอบงานตัวเองมีจำนวนลดลง ทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น มีมุมมองอื่นๆ ในการใช้ชีวิตมากขึ้น และเป้าหมายระยะยาว คือ อยากให้คนมีสุขภาวะทางจิตดีขึ้น

ดร.เพิ่มสิทธิ์ เล่าว่า ในช่วงที่เรียยนปริญญาเอกในสาขาจิตวิทยาที่ปรึกษา ได้ค้นพบว่า ภาวะซึมเศร้า หรือ Burnout มันขยายวงมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป จนวันหนึ่งได้ไปอ่านหนังสือชื่อ Designing Your Life ของ Bill Burnett และรู้สึกชอบ เพราะคนเขียนสามารถออกแบบมาให้คนอ่านแล้วเข้าใจง่าย นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน ช่วยให้คนค้นหาตัวเองได้ดีขึ้น และหาทางออกชีวิตได้ง่ายขึ้น

จึงตัดสินใจไปลงเรียนคอร์สเป็นนักเรียนรุ่นแรกกับ Bill Burnett ที่สหรัฐฯ และหลังจากนั้นก็ได้ทำความรู้จักพูดคุยกันมาเรื่อยๆ เพื่อที่จะนำวิชานี้เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย และได้ขอใบอนุญาตในการสอนวิชา Designing Your Life ในประเทศไทย

“ผมอยากนำวิชาดีๆ เข้ามาสอนในประเทศไทย เพราะส่วนตัวมองว่าการอ่านหนังสือจะได้ความรู้ระดับหนึ่ง แต่จะให้ดีกว่าคือต้องลงมือทำ ซึ่ง Designing Your Life เป็นวิชาที่เรียนได้ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร”

อ่านบทสัมภาษณ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

-เปิดมุมมอง นาว - ภาดารี อุตสาหจิต แห่ง Lightwork เมื่อโลกของข้อมูลแข่งขันกันด้วยเวลา RPA จึงเป็น AI ทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้
-ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ จากความหลงใหลสู่การส่งต่อศาสตร์ธุรกิจแบบญี่ปุ่น
Created with