3 แนวคิด พัฒนาการขายออนไลน์ เมื่อสถานการณ์ที่เจอไม่ใช่การแก้ไขไปวันๆ แต่ต้องทำให้ยั่งยืน

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย แม้จะล่วงเลยมาปีกว่าๆ แล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องให้คนค้าขายปวดหัวอยู่ตลอดเวลา และยังไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไร คนที่กำลังคิดว่าจะขายสินค้าออนไลน์ แต่ก็คิดว่ารอก่อนก็ได้ เดี๋ยวก็ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติแล้ว ยังไงสินค้าของเราคนก็ต้องมาซื้อที่ร้านเท่านั้นเพราะของเราดีอยู่แล้ว ไม่อยากเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติม แค่โพสต์ลงโซเชียลก็พอแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าหากคิดแบบนี้ สุดท้ายธุรกิจที่อยู่มานานอาจจะต้องเสียลูกค้าไปเรื่อยๆ ในอนาคต และสุดท้ายอาจจะถูกคู่แข่งที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลาแย่งลูกค้าไปจนหมด

ในบทความนี้ SHiFT Your Future จะมาแนะแนวคิด และวิธีการพัฒนาการขายออนไลน์ เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ในอนาคตกัน
ลองคิดต่าง และแสวงหาอะไรใหม่ๆ
สิ่งสำคัญที่สุดของการขายของออนไลน์คือ ปรับความคิดตัวเองที่ทำแบบเดิมๆ มาตลอด หลายคนมักจะจบที่การโพสต์ขายสินค้าตรงๆ ลงรูป ใส่ราคา ผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ หรือไลฟ์ขายสินค้า และรอคนมากดสั่งซื้อ

เราอาจจะลองคิดในมุมอื่นๆ บ้าง ใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยการขาย เช่น

-การสร้างคอนเทนต์ให้ความรู้ลูกค้า ช่วยให้เข้าใจในตัวสินค้ามากขึ้น
-แนะนำวิธีการใช้สินค้าให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด
-สร้างคอนเทนต์ให้ความบันเทิง แต่สอดแทรกไปด้วยตัวสินค้า
-หาพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วยทำให้สินค้าดูมีมูลค่ามากขึ้น และสร้างสตอรี่ลงในโซเชียลมีเดีย
สร้างมาตรฐานที่ดี ให้เป็นที่จดจำ
อาหารสร้างมาตรฐานที่รสชาติ เสื้อผ้าสร้างมาตรฐานที่ดีไซน์และเนื้อผ้า แต่กับสินค้าชนิดอื่นๆ เมื่อมาขายบนออนไลน์ก็จะต้องสร้างมาตรฐานของตัวเองให้ได้ คนที่ซื้อไปแล้วต้องพูดถึงในเรื่องเดียวกัน เช่น ความทนทาน ความเอาใจใส่ลูกค้า ตอบแชทไว และการรับประกันที่ดี

ยกตัวอย่างร้านทอง หรือร้านเพชร ที่เราคิดว่าเป็นสินค้าที่ขายออนไลน์ยาก เพราะเสี่ยงจะเจอของปลอม แต่การที่ร้านทอง หรือเพชร นั้นสร้างมาตรฐานด้านชื่อเสียงไว้ดี มีคนซื้อการันตีมากมาย ลูกค้าใหม่ที่ต้องการซื้อสินค้าเหล่านี้ก็จะมั่นใจในการส่งสินค้า การรับประกัน และสามารถกดสั่งซื้อผ่านออนไลน์ได้โดยที่ไม่ต้องไปยืนเลือกจากหน้าร้านเลย

ทั้งนี้การที่เรามีชื่อเสียงเป็นบวก จะช่วยสร้างการบอกต่อและการกลับมาซื้อซ้ำได้ไม่ยาก
เก็บดาต้า แก้ปัญหาให้ลูกค้า
ลูกค้าที่หลากหลาย ย่อมมาพร้อมความเห็นที่หลากหลายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนมากหรือน้อยก็ตาม การฟังเสียงลูกค้าจะช่วยให้เราสามารถปรับจุดบกพร่อง ที่เราอาจจะมองข้ามไป รวมถึงเพิ่มเติมในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เช่น เพิ่มช่องทางการส่งสินค้า เพิ่มช่องทางการชำระเงิน

เพราะฉะนั้น การเก็บดาต้าจากลูกค้าจึงสำคัญมาก เราจำเป็นต้องรู้ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

ทั้งนี้การที่เราไม่สนใจถามลูกค้าเลยว่าชอบหรือไม่ อยากให้ปรับปรุงตรงไหนหรือไม่ อาจจะส่งผลให้ลูกค้าหันไปหาคู่แข่งที่ใส่ใจมากกว่า พัฒนาสินค้าและบริการมากกว่า

สุดท้ายนี้ การพัฒนาการขายสินค้าบนโลกออนไลน์อาจจะต้องทำไป ปรับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอท่าที่ใช่ ทางที่เราถนัด เพราะแต่ละคนก็มีสไตล์การขายสินค้าที่แตกต่างกันไป และเราก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

3 วิธีพัฒนาตนเองในยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน เมื่อการเพิ่มทักษะไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด
Remote Working จะยังเป็นเทรนด์ต่อไป แม้ผ่านวิกฤตโควิด

ภาพประกอบจาก freepik
Created with