ธนพนธ์ รงรอง

เปิดแนวคิดสองผู้ออกแบบหลักสูตร How to PLAY with Kids ที่จะมาเพื่อเสริมทักษะพ่อแม่ยุคใหม่และโลกที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไป

“ช่วงเวลาในการเล่นกับเด็กเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากๆ ในการที่เขาจะบอกหลายๆ อย่าง… มันก็เป็นข้อมูล/Data ที่สำคัญที่พ่อแม่ควรจะต้องเห็น…”


ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัล การเลี้ยงเด็กหรือเลี้ยงลูกเป็นเรื่องสำคัญที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะต้องทำความเข้าใจอย่างแท้จริง ในหลายๆ ครั้ง แม้จะเป็นในรุ่นที่ผ่านๆ มา เราเริ่มเห็นระยะห่างระหว่างพ่อแม่กับลูก เด็กที่เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แต่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ บางคนก็ไม่มีความสุขในชีวิต ซึ่งหลายครั้ง สาเหตุมันเกิดขึ้นมาจากตอนเรายังเด็กกัน

ล่าสุด ทางทีมงาน SHiFT มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณนพปฎล เทือกสุบรรณ หรือ ‘ครูตอง’ และคุณวรุตม์ เหลืองวัฒนากิจ หรือ ‘ครูกอล์ฟ’ สองผู้ร่วมก่อตั้ง KIDative Design Lab for Kids และผู้พัฒนาหลักสูตรเสริมทักษะพ่อแม่และผู้ปกครองอย่างคอร์ส How to PLAY with Kids ที่มีวิธีคิดไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่และลูก โดยเฉพาะกับคนเป็นลูก เกิดจากความไม่เข้าใจกันในจุดที่พวกเขายืนอยู่จากยุคสมัยที่ต่างกัน และการเล่นกับลูกนั้นเป็นปัจจัยสำคัญมากอย่างหนึ่งที่จะทำให้พ่อแม่เข้าถึงลูกและเสริมสร้างพัฒนาการลูกได้อย่างรอบด้าน ซึ่งเทคนิคต่างๆ จะถูกถ่ายทอดผ่านคอร์สนี้อย่างครบถ้วนกระบวนความ

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เรามาเปิดแนวคิดเกี่ยวกับการทำคอร์ส How to PLAY with Kids ของทั้งสองท่านนี้กันก่อนว่า คอร์สนี้เกิดขึ้นได้ด้วยแนวคิดอะไรและสำคัญต่อคนเป็นพ่อเป็นแม่และการเลี้ยงลูกให้มีพัฒนาการที่ดีได้อย่างไรในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วอย่างทุกวันนี้ ผ่าน 5 คำถามที่จะตอบโจทย์คุณพ่อคุณแม่ได้อย่างแน่นอน

คำถามที่ 1: ทั้งสองท่านเห็นปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นในสังคมระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง?

ครูกอล์ฟ: “โลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันและก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้น แต่ว่าผู้ปกครองโดยส่วนใหญ่แล้ว ยังตามโลกที่เปลี่ยนไปไม่ทัน และก็เอาสิ่งที่พวกเขาคิดและโตมาในอดีตมาคุยกับลูก ซึ่งอยู่ในตอนนี้ มันเหมือนคุยกันคนละช่วงเวลา ซึ่งเด็กเองก็ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่อย่างเดียว เด็กหลายคนก็มี Community  ของเขา เพราะฉะนั้น เขารับรู้ความเปลี่ยนไปของโลกในมุมที่ต่างออกไป มันก็เลยเกิดความขัดแย้งในสิ่งที่พ่อแม่เชื่อกับสิ่งที่ลูกเชื่อ”

ครูตอง: “ปัญหาใหญ่สำหรับผมในตอนนี้ คือ ความสุขของเด็กๆ ซึ่งดูเหมือนกับว่า สิ่งที่เขาจะต้องทำในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเรื่องของการเรียน หรือเรื่องของการกวดวิชาเตรียมตัวสอบ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เขาต้องเรียน มันไม่ได้ทำให้ความสุขในชีวิตเขาเพิ่มขึ้น เรากลับรู้สึกว่า หลังจากที่เราทำกิจกรรมกับเด็กๆ มา เราพบว่า จริงๆ แล้ว ความสุขในตัวเขามันมาจากสิ่งที่เขาเล่นอยู่ เรารู้สึกว่า โมเมนต์ที่เขากำลังเล่น เขากำลังใช้ชีวิตแบบอิสระทางความคิดของเขา อันนั้นน่ะเป็น Quality time (เวลาที่มีคุณภาพ) ที่เขากำลังรู้สึกใช้พลัง ใช้ Energy กับสิ่งที่เขาชอบเขาทำ

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งหนึ่งที่หลายๆ ครั้งเนี่ย คุณพ่อคุณแม่ หรือว่าคนรอบตัวเขา ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเขา หรืออาจจะยังไม่เห็นความสำคัญในสิ่งที่เขาทำ เพราะเฉพาะตรงนี้ ผมกำลังรู้สึกว่า โฟกัสของการใช้ชีวิตของเด็ก มันถูกเบี่ยงเบนไป ให้ไปทำหลายๆ อย่าง ซึ่งจริงๆ แล้ว มันเป็นภาพจำของคุณพ่อคุณแม่ที่เคยทำมาก่อน และอีกอย่างคือ พ่อแม่อาจคิดว่านั่นคือสิ่งที่จะช่วยพัฒนาให้ลูกเขาเนี่ยโตขึ้นไปได้ในแบบที่เขาเป็น

แต่เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลงไปเร็ว จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาเล่นอยู่ สิ่งที่เขาทำอยู่ มันเป็นอีกโลกใบใหม่ ซึ่งมันมีอะไรหลายๆ อย่างเลย ที่พวกเราผู้ใหญ่ไม่รู้ และก็ไม่คุ้นเคย ซึ่งตรงนี้มันก็เลยทำให้สองช่วงเวลาของเด็กกับผู้ใหญ่มันเริ่มแยกห่างกันออกไป ทำให้กิจกรรมที่เขาอยากทำ กับกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่อยากส่งเสริม บางทีอาจจะไม่ไปด้วยกัน ตรงนี้แหละคือสิ่งสำคัญที่ตอกย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ก็ทำให้ทั้งมุมมอง ทัศนคติ รวมถึงเป้าหมายของการใช้ชีวิตในแต่ละวันของพ่อแม่กับลูกเนี่ยมันเริ่มห่างกันออกไปเรื่อยๆ”

ครูกอล์ฟ: “สิ่งที่ KIDative เชื่อเสมอคือ เด็กทุกคนมีความพิเศษ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามที่จะหา คือ เราพยายามที่จะให้เด็กค้นหาความพิเศษของตัวเองให้ได้ ในขณะเดียวกัน พอเวลาเขาอยู่ในบริบทอื่นๆ เช่น อยู่กับที่บ้าน อยู่กับที่โรงเรียน สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกคนพยายามหาจุดอ่อนเขา

สมมุติว่าใน Transcript มีอยู่ 6 วิชา เราจะดูว่าเขาเก่งวิชาอะไร ทางด้านไหน แล้วเราก็จะรู้สึกว่าเราอยากเอาสิ่งที่เขาพิเศษมาพัฒนาต่อ แต่ในบริบทอื่นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า สิ่งที่พ่อแม่ได้ Transcript จากเด็กไป อย่างแรกเลยที่จะดูคือเขาอ่อนวิชาไหน แล้วก็ให้เด็กไปเรียนพิเศษ เพื่อที่จะให้จุดอ่อนนั้นมันกลับขึ้นมาเป็นปกติ จริงๆ มันก็ไม่ได้ผิด แต่ถ้าเราให้ความสำคัญกับความพิเศษ ลูกก็จะรู้สึกว่าเขามีความกระตือรือร้น มีความมุ่งมั่นมากขึ้น อยากที่จะทำให้มันดียิ่งขึ้น แต่เราไปโฟกัสจุดอ่อนเขา ซึ่งถ้าอ่อน ต้องอ่อนอย่างมีเหตุผล ทำไมเขาถึงอ่อน อาจจะเป็นเพราะลูกไม่ชอบวิชานั้นก็ได้ การที่ไม่ได้ชอบวิชาใดวิชาหนึ่งไม่ได้ทำให้ชีวิตมันแย่ลงนะ มันก็ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่เด็กคนนี้ทำได้ดี แล้วก็เหมาะกับเขามากกว่า

เราเชื่อว่าการศึกษามันจะตามมาเมื่อเรามีกรอบความคิดที่ตรงกันแล้ว อย่างที่พี่ตองจะพูดเสมอในคลาสว่า มันคือเรื่องของ Mindset สิ่งที่เราสอนไม่ใช่เรื่องของ Skill set อย่างเดียวนะ แต่มันเป็นเรื่องของ Mindset ด้วย ซึ่งอสิ่งนี้มันเป็นเรื่องยาก บางที พ่อแม่ยุคนี้เสพข้อมูลเยอะ เราอ่านหนังสือ ดูคอนเทนต์จากเพจต่างๆ อะไรก็แล้วแต่ คือมันดี แต่ว่าถ้าเราสร้าง Mindset แบบนี้ไม่ได้ สิ่งที่เราดูจะกลายเป็นความบันเทิงอย่างเดียวเลย”

ครูตอง: “เรารู้สึกว่า มันเริ่มเห็นภาพว่าบางทีผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจกันเอง ผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจเด็ก เด็กไม่เข้าใจผู้ใหญ่ คราวนี้ ถ้าการพยายามทำความเข้าใจมันยาก เด็กก็จะเลือกแยกกัน ต่างคนต่างอยู่ แต่สำหรับเรา พ่อแม่และก็ลูกเนี่ย พวกเขามีเวลาของครอบครัวที่มีคุณภาพด้วยกันมากได้ และมีจำนวนชั่วโมงที่เยอะมาก เพราะฉะนั้น เราไม่ควรจะปล่อยให้พวกเขาแยกกันอยู่ แต่สำคัญคือจะทำยังไงให้พวกเขาใช้เวลาครอบครัวด้วยกันได้ให้เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันให้มาก”

คำถามที่ 2: ทำไมทั้งสองท่านคิดว่าการเล่นกับเด็กจึงสำคัญ?

ครูตอง:
“KIDative เชื่อว่า ช่วงเวลาในการเล่นกับเด็กเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากๆ ในการที่เขาจะบอกหลายๆ อย่าง บอกในสิ่งที่เขาสนใจ บอกในสิ่งที่เขาทุ่มเท บอกในสิ่งที่เขากำลังค่อยๆ เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างผ่านการเล่นของเขา เพราะถ้าเราไม่สนใจ ไม่สนุกกับมัน เราก็ไม่เล่น การที่เขาใช้เวลากับการเล่นได้เยอะได้ยาวนาน มันก็เป็นข้อมูล/Data ที่สำคัญที่พ่อแม่ควรจะต้องเห็นว่า ในช่วงเวลาที่ลูกใช้เวลากับมันได้ยาวนาน มันเกิดอะไรขึ้นในนั้นบ้าง เขากำลังสนใจอะไรอยู่ มีอะไรทำให้เขาสนใจสิ่งเหล่านั้น มีอะไรที่เขาสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาจากสิ่งที่เขาเล่น มันเป็น Data ผมคิดว่ามันกำลังบอก Data อะไรหลายๆ อย่างให้เราครับ

ยกตัวอย่าง มีเด็กคนหนึ่งเล่นไดโนเสาร์มาตั้งแต่เกิดเลย จนมาถึง 7 ขวบ ก็ยังเล่นไดโนเสาร์อยู่ แต่พ่อแม่เห็นว่าให้เลิกเล่นไดโนเสาร์ได้แล้ว มันเยอะเกินไปแล้ว เขาควรจะ Move on (ก้าวต่อ/เปลี่ยน) ไปทำสิ่งอื่นได้แล้ว คำถามคือมันควรจะเป็นแบบนั้นใช่ไหม จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาควรจะเล่นไม่ใช่ไปเล่นอย่างอื่น แต่เขาควรจะหาไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่อไปที่เขาและโลกไม่เคยเห็นมาก่อน แสดงว่า 7 ปีที่เขาเล่นไดโนเสาร์มา เขาเป็นกูรูแล้วนะ

ฉะนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรจะรู้ คือ พ่อแม่ควรจะได้เห็น Data หลายๆ อย่างที่มันค่อยๆ เกิดขึ้นจากสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่คุณครูสั่งให้ทำ อาจารย์สั่งให้เรียน หรือว่ากำหนดการสั่งให้ต้องส่ง แล้วเขาถึงจะมีเวลาทำ เพราะเวลาเล่นมันควรเป็น Free time ถ้ามีเวลาให้ 3 ชั่วโมง สิ่งที่เขาอยากเล่นคืออะไร เพราะนั่นคือการให้ความสนใจเป็นอันดับ 1 ที่เขาจะหยิบมาเล่น และเป็นความสุขแรกที่เขาจะหยิบมาเล่น ซึ่งสำคัญมาก ถ้าผ่านไป 10 ปีเขายังเล่นแบบเดิมอยู่ นี่คือขุมทรัพย์ เพราะช่วงเวลาในการเล่นเท่ากับช่วงเวลาในการค้นหาตัวเอง”

ครูกอล์ฟ: “ของผมมี 2 ประเด็นนะครับ คือ ประเด็นแรก พอพูดถึงการเล่นมันคือความสนุกเนาะ เพราะฉะนั้น ผมก็มีความเชื่อว่า ถ้าเราอยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำแล้วเกิดความสนุก มันจะทำให้เราอยากทำมัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การสร้างความรับผิดชอบ การค้นหาตัวเอง การทำอะไรก็แล้วแต่ การสื่อสาร ทุกอย่าง คือถ้ามันทำแล้วมันสนุก มันก็จะรู้สึกว่ามันอยากทำ และพอได้ทำไปเรื่อยๆ มันก็จะทำให้ทักษะต่างๆ มันดีขึ้น

มันเหมือนกับว่า บางที เวลาเราพยายามสอนออะไรลูกบางอย่าง แล้วลูกอาจจะไม่อยากฟัง แต่พอเราทำให้สิ่งที่เราอยากสอนนั้นมันสนุกขึ้นผ่านกระบวนการเล่น เด็กก็จะรู้สึกเข้าใจได้ง่ายขึ้น รู้สึกอยากที่จะทำ รู้สึกมีความกระตือรือร้น มันคือทฤษฎีเกม เช่น เด็กบางคนไม่ได้อยากทำความสะอาดบ้าน แต่พอมันมีเป็นเกมขึ้นมา เซตเป็นด่าน มันสนุกขึ้น เขาก็อยากทำ นี่คือประเด็นแรกคือการทำให้สนุกขึ้น

มาประเด็นที่สอง พอพูดถึงเรื่องการเล่น การเล่นมันไม่มีผิดไม่มีถูกนะครับ เพราะฉะนั้น มันจะสร้าง Safe zone (พื้นที่ปลอดภัย) ให้เด็ก เพื่อที่จะทำให้เขาเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทำให้พ่อแม่สามารถที่จะเรียนรู้และก็เข้าใจเขาได้ รวมถึงสอนได้ด้วย”

ครูตอง: “ใช่ๆ Safe zone สำคัญมาก”

ครูกอล์ฟ: “บางคนก็ถามว่า การเล่นมันต้องสอนด้วยหรอ มันก็คล้ายกับเราเกิดเป็นคนไทย ทำไมเราต้องเรียนภาษาไทยด้วย แต่อย่าลืมว่า ทำได้กับทำเป็นมันคนละเรื่องกัน เล่นได้กับเล่นเป็นมันก็คนละเรื่องกัน ทุกคนเล่นได้หมดแหละ แต่ใครล่ะจะเล่นเป็น คำว่า เล่นเป็น คืออะไร เล่นเป็นคือการเล่นอย่างมีจุดมุ่งหมาย ต่อให้มันเป็นการเล่นแบบมีจุดมุ่งหมายที่ไม่มีจุดมุ่งหมายก็ตาม คือ Free play มันก็เป็นการเซตจุดมุ่งหมายเอาไว้ หรือการเล่นเพื่อที่จะรับฟัง เล่นเพื่อที่จะคุยกับเขา เล่นเพื่อที่จะสร้างพัฒนาการให้กับลูก ทั้งหมดมันคือทักษะ แต่อะไรจะเป็นตัวบอกว่าสิ่งที่เล่นกับลูกนั้น มันโอเคแล้ว”

ครูตอง: “ครูกอล์ฟใช้คำว่า ออกแบบการเล่นอย่างมีคุณภาพ ถูกไหม”

ครูกอล์ฟ: “ใช่ๆ มันคือการออกแบบการเล่นอย่างมีคุณภาพ ทีนี้มองในอีกด้านหนึ่ง ที่น่ากลัว คือ อย่าลืมว่ากำลังทำงานกับเด็ก กำลังคุยกับเด็กอยู่ การที่บางที พ่อแม่รู้สึกว่าเล่นกับลูกแล้วในวิธีการของพ่อแม่ บางทีมันก็จะมีผลกระทบกับเด็กเหมือนกัน พ่อแม่อาจคิดว่า ทำยังไงจะผลักดันลูกให้ไปได้ไกลมากขึ้น ก็เลยใช้วิธีการติ เช่น พูดว่า ดีแล้ว แต่พ่อว่าตรงนี้มันควรจะเป็นแบบนั้น ตรงนั้นควรจะเป็นแบบนี้ หรือการเอาความคิดตัวเองใส่เข้าไป เล่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เด็กมีปัญหาทันที เพราะเขาจะรู้สึกว่า สิ่งที่เล่า สิ่งที่เขาพูดมา มันไม่โอเค”

คำถามที่ 3: ทำไมทั้งสองท่านถึงทำคอร์สนี้ How to PLAY with Kids?

ครูตอง: “ต้องการให้พ่อแม่ออกแบบการเล่นที่มีคุณภาพ หนึ่งคือเล่นสนุก สองคือเล่นเพื่อพัฒนาทักษะทั้ง Mindset และ Skill set สามคือเล่นจนเขาสามารถค้นหาตัวเองได้ และสุดท้ายคือจะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น เพราะการเล่นที่มีคุณภาพจะทำให้ความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้เล่นนั้นดีขึ้น ที่สำคัญ คอร์สนี้คือการออกแบบเพื่อให้ลูกๆ สามารถที่จะสนุกและค้นหาสิ่งที่เขาชอบได้ และทำให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ในสายตาของลูก คือ คนที่เข้าใจเขาจริงๆ เข้าใจ พร้อมที่จะฟังเขา และก็สนับสนุนเขา เป็น Safe zone ของเขา คือเราต้องสร้าง Safe zone ก่อนถึงจะออกแบบการเล่นแต่ละอย่างได้นะครับ”

ครูกอล์ฟ: “และ ณ ปลายทาง มันก็จะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดียิ่งขึ้นครับ”

คำถามที่ 4: ผู้เรียนจะได้อะไรจากการเรียนคอร์ส How to PLAY with Kids?

ครูตอง: “หนึ่งเลย คือ การทำให้คุณพ่อคุณแม่กับลูกๆ ได้เข้ามาใกล้กันมากขึ้น ไม่ต้องเข้ามายืนอยู่บนดาวดวงเดียวกันก็ได้ แต่ว่าเข้ามาใกล้กันจนมองเห็นสิ่งที่ลูกๆ สนใจ ลูกๆ ก็จะเข้าใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คิด ทั้งสองส่วนนี้ก็จะสามารถใช้เวลาในการที่จะแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดของแต่ละคนผ่านการเล่น ซึ่งการเล่นเนี่ย จะเป็นลูกที่เป็นคน Lead (นำ) และคุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนสนับสนุน ซึ่งจะเป็นการสร้างช่วงเวลาที่จะช่วยผลักดันสิ่งที่ลูกสนใจนั้นผ่านการเล่นครับ”

ครูกอล์ฟ: “สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะได้จากคอร์สนี้เลย ก็คือ คุณพ่อคุณแม่จะเหมือนได้ทางลัดและเทคนิค สิ่งที่ผมเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังในคลาสนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่เราคิด แต่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ 7 ปีผ่านเด็กหลายพันคนและพ่อแม่มากมายหลายครอบครัว สิ่งที่จะเกิดขึ้นในคลาส คือ เราเอาประสบการณ์มาแชร์กันด้วย เพื่อที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกมากขึ้น แทนที่จะไปลองผิดลองถูกเอาเอง ฉะนั้น การที่กระบวนการเล่นที่ถูกออกแบบหรือไม่ถูกออกแบบด้วยซ้ำ มันอาจไม่มีคุณภาพมากพอ แล้วมันอาจจะส่งผลเสียกับลูกๆ ได้ แต่สิ่งที่เราคุยให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง สิ่งที่เรานำมาสอนในคลาสนี้ มันคือสิ่งที่มันตกผลึกออกมาแล้ว และนี่จะเป็น Shortcut (ทางลัด) ของพ่อแม่เลยที่จะสามารถเอาสิ่งเหล่านี้ไปปรับใช้”

คำถามที่ 5: อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งสองท่านทำสิ่งนี้ ทำคอร์ส How to PLAY with Kids?

ครูตอง: “ผมสอนมหาวิทยาลัยเยอะ เป็นเหมือนอาจารย์พิเศษอาชีพเลย แล้วก็มาทำ KIDative แล้วก็สอนเด็ก มีโอกาสได้เจอผู้ใหญ่ในองค์กร ผมว่าสิ่งที่ผมเห็นคือผมเห็นเด็กตั้งแต่ 5 ขวบจาก KIDative ไปจนถึง 10 กว่าขวบ ไปจนถึงเด็กมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอายุ 18 19 ไปจนถึง 20 กว่าปี แล้วผมก็เห็นคนในองค์กร ก็คืออายุตั้งแต่ 20 กว่าที่เพิ่งเข้าไปเป็นน้องใหม่จนถึงคนที่กำลังจะเกษียณ ผมเห็นว่า ช่วงวัยของคนในสังคมเรามีหลายอย่างที่ไม่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้จริงๆ มันเป็นคนละความคิด คนละอะไรหลายๆ อย่างเลย สำหรับผม ผมอยากให้มันเกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ไม่ว่าใครก็ตามนะครับ ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนใกล้เกษียณ ได้มีโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เยอะขึ้น

แต่สำหรับเด็ก ผมเชื่อว่าเขากำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับประเทศเรา ให้โลกเรา แต่มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเขาไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เขาคิดอะไรใหม่ๆ ค้นหาสิ่งที่เขาสนใจ ให้เขาทำสิ่งที่อยากทำแบบสุดขั้ว มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเขายังอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิมที่ค่อยจะแบบตัดสินเขา ให้ใช้กรอบความคิดแบบเดิม มันไม่ทันแล้วจริงๆ เราต้องให้เขาเป็นคน Lead (นำ) เราต้องสร้างเขาเพื่อให้พร้อมขึ้นมาเป็นคน Lead เรา แล้วเราเป็นคนค่อย Support (สนับสนุน) เขา ถ้ามองกันจริงๆ มันคือทางรอดของสังคมเรา แต่เราต้องให้คนที่เขาทัน เขาไวกว่าเร็วกว่า เขาคุ้นชินกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเร็วกว่าขึ้นมาเป็นคนนำเรา เพราะฉะนั้น เขาจะต้องไปด้วยความชอบแบบ Passion (แรงผลักดัน) สุดขั้วของเขา แล้วเขาจะเป็นพลังสำคัญมากที่คอยผลักดันเราด้วย

เราก็เป็นผู้ใหญ่เรามีประสบการณ์ เราก็แค่ผลักดันเขาว่าเขาอยากทำอะไร แล้วมันจะทำได้ด้วยเงื่อนไขไหน นี่คือสิ่งหนึ่งที่หน้าที่ของอาจารย์ก็เป็นแบบนี้ หน้าที่ของพ่อแม่ถ้าทำได้ก็จะดีมาก ในการที่จะให้ลูกนำไปสักหน่อย เราคอยตามและสนับสนุนในประสบการณ์แบบที่เราเป็น เราเป็นผู้ใหญ่เรารู้ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ แต่ว่าถ้าเรามีความคิดที่ปิด เราจะไม่รู้เลยว่า สิ่งที่ลูกกำลังไปนั้น มันจะเป็นไปได้ด้วยวิธีไหนบ้าง เราก็อาจจะคิดว่า มันทำไม่ได้ เพราะสมัยพ่อยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าถามผม ผมต้องการจะสร้างสภาพแวดล้อมนี้ให้เกิดขึ้นในหน่วยย่อยที่สุดคือครอบครัว ถ้าครอบครัวเกิดไม่ได้ บริษัทใหญ่ขนาดไหนก็เกิดไม่ได้”

ครูกอล์ฟ: “เหตุผลที่เราทำเพราะว่า เราอยากให้โลกนี้ดีขึ้น โลกนี้มันจะดีขึ้นได้ จากว่า ถ้าจะมีสักคนที่เปลี่ยนโลกได้ เด็กคือคนที่เปลี่ยนโลกได้ ณ วันนี้เราเห็นสิ่งใหม่ๆ ที่ดีที่ช่วยทำให้โลกเป็นที่ที่ดีขึ้นได้ ส่วนใหญ่ก็มาจากเด็กรุ่นใหม่นะ เราเห็นคนทำ Ocean Cleanup Project เราเห็นคนทำลูกอมที่กินแล้วฟันไม่ผุ เราเห็นอะไรหลายๆ อย่างที่มันดี ดีกับคน ดีกับโลก ผมว่านี่แหละที่เราอยากทำ KIDative และคอร์ส How to PLAY with Kids คือทำให้เด็กได้อยู่ในบรรยากาศที่ช่วยเอื้อให้เขาไปในทิศทางที่มันดีขึ้นครับ

จริงๆ คอร์ส How to PLAY with Kids ไม่อยากให้มองว่าเป็นคอร์สที่จะเอาไปใช้กับเด็กอย่างเดียว แต่มันยังสามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับคนได้หลากหลายช่วงอายุและหลากหลายกลุ่ม แม้กระทั่งในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นใช้ระบบการเล่นในการทำโปรเจกต์ ตลอดจนการสื่อสารกันในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ครูตอง: “เราใช้เนื้อหาในคอร์สนี้ทั้งในเชิงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และก็แก้ปัญหา เผชิญกับปัญหาได้ ผมบอกเลย นี่คือ Master piece (ผลงานชิ้นเอก) เป็นประสบการณ์เราตลอด 6-7 ปีจริงๆ ถือว่าเป็นคอร์ส Exclusive มากนะครับ!”


มาถึงตรงนี้ ทีมงาน SHiFT ขอสรุปให้เลยว่า คอร์ส How to PLAY with Kids เป็นหลักสูตร Exclusive สำหรับคนเป็นพ่อแม่โดยตรงที่มาเพื่อตอบโจทย์การเลี้ยงลูกยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพต่อทั้งพ่อแม่และลูกที่กำลังเติบโต รังสรรค์โดยสองผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงเด็กให้มีพัฒนาการที่ดีที่สุด ค้นพบตัวเอง และมีความสัมพันธที่ดีกับคนในครอบครัวในระยะยาวท่ามกลางโลกที่หมุนผ่านและเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน…
Created with