กลับมาทำงานออฟฟิศอย่างไรให้ไร้มลทิน (ทางจิตใจ) ด้วย 5 คำแนะนำ

In Summary

  • หลังจากรัฐเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์กันไปบ้างแล้ว หลายบริษัททั่วโลกก็เริ่มเรียกพนักงานให้กลับทำงานที่ office
  • ความกังวลครั้งนี้ไม่เหมือนตอนเปลี่ยนจากทำงานที่ออฟฟิศมา WFH เพราะมันคือการกลับไปสู่ภาวะปกติที่ไม่ปกติอีกต่อไป การต้องเปลี่ยนบางส่วนของชีวิตปกติให้เป็นไปตามมาตรการต่างๆ ยากกว่าการเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านมาก
  • เคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้คุณเตรียมตัวกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแบบนิวนอร์มอลได้มีดังนี้ ควบคุมความกังวลของตัวเอง เตรียมความอดทนและความยืดหยุ่นรอไว้เลย จัดการความคาดหวังของตัวเอง ทำตัวเป็นขุมพลังบวก มองเรื่องดีๆ และภาพกว้างเป็นหลัก
 

ใครๆ ก็กลับมากันหมด ส่วนเราก็ต้องกับไปทำงานที่ office แล้วสินะ

ในช่วงนี้รัฐเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ และบริษัททั่วโลกต่างก็ทยอยให้พนักงานกลับมาทำงานรูปแบบเดิมอีกครั้ง หลายคนอาจกระตือรือร้นที่จะได้ออกจากบ้าน แต่ก็มีหลายคนที่ยังกังวล งานวิจัยจาก PwC แสดงให้เห็นว่า 70 เปอร์เซ้นต์ของพนักงาน 1,000 คนมีความกังวลที่จะต้องกลับไปทำงานรูปแบบเดิม 51 เปอร์เซ็นต์กังวลเรื่องโรคติดต่อ ส่วนที่เหลือกังวลเรื่องการใช้ขนส่งสาธารณะ และลูกๆ ที่ยังคงเรียนจากที่บ้าน

จำตอนที่เราต้องเปลี่ยนจากทำงานมาเวิร์กฟอร์มโฮมได้ไหม? ซึ่งตอนนั้นหลายคนก็รู้สึกว่ามันท้าทายมาก แต่เราขอบอกว่าการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอาจท้าทายมากกว่า นั่นเพราะว่าการเปลี่ยนผ่านอย่างปุ๊บปั๊บ เป็นสิ่งที่สมองรับมือได้ง่ายกว่าที่เราคิด หลายเดือนที่แล้ว เราจำเป็นต้องเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านทันทีโดยไม่มีสัญญานเตือน หรือคำแนะนำอะไรมาก่อน เราต้องใช้ความสร้างสรรค์ของตนเองในการเปลี่ยนห้องทานอาหารให้กลายเป็นห้องทำงาน ซึ่งความรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับเรื่องใหม่ๆ นี่แหละทำให้เรารับมือกับทุกอย่างได้ ยิ่งอะดรีนาลีนของเราหลั่งมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความครีเอทีฟมากขึ้น และปรับตัวกับทุกอย่างได้ เราจะรู้สึกภูมิใจมากตอนนั้น เพราะเราทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน และเอาชนะความกังวลทั้งหมดได้

กลับกัน เวลาที่เราจะกลับไปทำงานที่สำนักงาน เราคาดหวังให้ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติ สมองของเรามีโหมดที่เรียกว่า ‘โหมดบินอัตโนมัติ’ (Autopilot Mode) ที่ช่วยให้เราทำสิ่งที่ต้องทำเป็นกิจวัตรได้โดยแทบไม่รู้สึกตัว เหมือนเวลาที่คุณขับรถไปถึงที่ทำงานโดยแทบไม่รู้ตัวเลยว่าขับมาได้ไงนี่แหละ ซึ่งโหมดนี้ไม่ค่อยเหมาะสมในสถานการณ์นี้ เพราะคุณอาจใช้โหมดนี้ในการทำทุกอย่างเหมือนเดิมเวลากลับไปที่ออฟฟิศ โดยลืมไปว่าเรากำลังอยู่ในช่วงนิวนอร์มอลที่มีมาตรการมากมายที่ต้องระวัง เราต้องวัดไข้ก่อนเข้าตึก ต้องนั่งห่างจากคนอื่น ต้องยืนต่อแถวซื้อของอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา แน่นอนว่าจะนึกเรื่องพวกนี้ให้ออกอาจจะใช้แค่ 10 นาทีเท่านั้น แต่มันใช้พลังเยอะมาก  และในสัปดาห์แรกๆ คุณอาจต้องเจอสถานการณ์นี้หลายครั้งต่อวันเลยทีเดียว


วันนี้เราหยิบเอา 5 วิธีที่จะช่วยรับมือกับสถานการณ์แปลกใหม่ทั้งหมด และเตรียมตัวให้คุณกลับสู่การทำงานแบบเก่าได้อย่างราบรื่นมาฝากกัน มาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลย

ควบคุมความกังวลของตัวเอง
คุณอาจรู้สึกกังวลอย่างมากที่จะต้องหยุดทำงานที่บ้านและกลับไปมีวิถีชีวิตเดิมก่อน และด้วยความกลัวจะไม่เป็นมืออาชีพจึงพยายามปกปิดไว้ แต่ทางที่ดีที่สุดคือให้เข้าใจตนเอง และหาใครสักคนคุยด้วย อาจจะเป็นเจ้านายหรือฝ่ายบุคคลก็ได้ การจัดการกับความกังวลที่ไม่ดี อาจทำให้เกิดผลที่ตามมาได้ เช่น คุณอาจรู้สึกไม่สบาย หรือความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ทำงานอาจแย่ลง หรือคุณอาจจะกังวลมากเกินไป กลายเป็นพวกคลั่งกฎ และไล่จี้ทุกคนที่เผลอถอดหน้ากากก็ได้ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกกังวลมากแต่ไหน ยอมรับมัน เข้าใจมัน และสื่อสารมันออกมาให้ใครสักคนฟัง

เตรียมความอดทนและความยืดหยุ่นรอไว้เลย
คาดการณ์ไว้เลยว่าข้อปฏิบัติในบริษัทของคุณจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ แน่นอน เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน หรือมีข้อมูลใหม่ๆ มาตรการก็อาจเปลี่ยนตาม เตรียมความอดทนและทำตัวเองให้ยืดหยุ่นรอรับเรื่องแบบนี้ไว้เลย คุณจะได้ไม่หงุดหงิดเวลาที่มันเกิดขึ้น เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่าโทษบริษัทของคุณว่าไม่มีการจัดการที่ดี เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ให้มองว่านั่นเป็นสัญญานที่ดีว่าบริษัทกำลังเรียนรู้และพัฒนา จำไว้ว่าอย่าปรับตัวเองเข้าสู่โหมดอัตโนมัติเร็วเกินไป เพราะคุณยังต้องเจอการเปลี่ยนแปลงอีกมาก

ที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมเห็นอกเห็นใจเจ้านายของคุณด้วย อย่ากล่าวโทษพวกเขาเวลาที่เกิดข้อผิดพลาด นอกจากเขาจะต้องจัดการความกังวลของตนเองแล้ว เขาก็ต้องดูแลพวกคุณอีก ในสถานการณ์แบบนี้ ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจกัน สำคัญที่สุด

จัดการความคาดหวังของตัวเอง
เรามักจะคาดหวังให้คนอื่นเข้าใจเรา คาดหวังว่าคนอื่นจะคิดเหมือนเรา และมีสมมุติฐานแบบเดียวกับเรา ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ผิดมาก แทนที่จะมานั่งคิดแทนกัน สิ่งที่ควรทำคือการสื่อสาร หากต้องการอะไรก็ให้หาวิธีพูดที่ให้เกียรติและจริงใจ เช่น ถ้าคุณยังมีความจำเป็นต้องดูแลลูก เพราะลูกเรียนที่บ้าน บอกเจ้านายของคุณดีๆ เพื่อขอตารางงานที่ยืดหยุ่นขึ้น อย่าคิดไปก่อนว่าเขาจะต้องรู้เรื่องนี้

หรือถ้าคุณเป็นเจ้านาย เมื่อลูกน้องถามคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ บอกพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา แจ้งข่าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง แสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณกำลังทำเต็มที่เพื่อดูแลพวกเขา
ทำตัวเป็นขุมพลังบวก
วิธีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือการพยายามทำให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น ชวนคนในทีมคุยเรื่องตลกขบขัน ติดต่อกับเพื่อนร่วมงานที่ยังทำงานที่บ้านอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองพลาดอะไรไป คิดค้นหาวิธีให้กำลังใจที่ดีแทนการกอดหรือจับมือ ซึ่งทำไม่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ เวลามีใครเผลอทำผิดกฏ เช่น เผลอลืมหน้ากากอนามัย พยายามเปลี่ยนให้เป็นเรื่องขบขนมากกว่าที่จะด่าทอคนคนนั้น ความเป็นเพื่อนและความร่วมมือกันสร้างความสุข คือตัวช่วยที่ดีที่สุดในการลดความตึงเครียดของสถานการณ์เช่นนี้

มองเรื่องดีๆ และภาพกว้างเป็นหลัก
การเปลี่ยนผ่านไปสู่นิวนอร์มอลไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มีรายละเอียดจุกจิกมากมายที่กำลังรอการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องที่คุณควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่คุณควบคุมได้คือมุมมองที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น อย่ามัวแต่หัวเสียการเรื่องยิบย่อย ลองหันมามองภาพกว้างกันดีกว่า เรากำลังอยู่ในช่วงที่ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึก ลองโฟกัสที่แง่มุมดีๆ เตรียมคำตอบสำหรับคำถามว่า “หนึ่งปีหลังจากนี้ ถ้ามีคนถามว่าการใช้ชีวิตผ่าช่วงโควิด-19 เปลี่ยนคุณให้เป็นคนที่ดีขึ้นในทางไหนบ้าง?” การตอบคำถามนี้จะทำให้คุณมองหาแต่เรื่องดีๆ และมองภาพกว้างว่าที่ผ่านมาทั้งหมดแล้ว มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง และมันจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น

เหตุการณ์ที่เรากำลังประสบกันอยู่นี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องใหม่ๆ ที่เราและคนทั้งโลกต้องรับมือ และสามารถส้างโอกาสในอนาคตได้อีกมากมาย อยู่ที่คุณแล้วว่าคุณจะเลือกใช้ชีวิตให้ผ่านช่วงนี้ไปอย่างขมขื่น หรือเรียนรู้จากมัน ยืดอกกลับไปทำงาน พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ๆ แล้วคุณจะค้นพบแง่มุมดีๆ ที่ซ่อนอยู่

หากใครที่ยังคง WFH อย่างต่อเนื่อง แนะนำ 6 เคล็ดลับที่สร้างความสุขให้คุณและทีม อ่านต่อ

 

Source

Created with