คุยกับ HR: เขียน Resume ยังไงให้เพิ่มโอกาสการได้งาน?

In Summary

  • ทำ Profile ก่อนทำ Resume ด้วยการค้นหาองค์ประกอบต่างๆ ของตัวเราก่อน
  • ศึกษาตำแหน่งงาน สถานการณ์ และองค์กรที่จะสมัครให้ดี
  • เลือกองค์ประกอบใน Profile ของเรามาใส่ใน Resume แล้วปรับแต่งให้เหมาะสมกับงาน
  • ห้าม Fake/โกหก/โอ้อวด/โฆษณาเกินจริง เพราะผู้สัมภาษณ์เก่งๆ ดูออก

ระยะหลังๆมานี้เราจะเริ่มเห็นคำแนะนำการเขียน Resume หรือการสัมภาษณ์งานที่มักจะจั่วหัวประมาณว่า ‘ทำแบบนี้ได้งานแน่’ ‘เขียนแบบนี้ให้ได้งาน’ หรือ ‘ตอบแบบนี้เพื่อให้ได้งาน’

ในฐานะ HR ขอตอบแบบฟันธงไปเลยว่า ไม่จริง นะครับ เพราะการจะได้งานสักที่หนึ่ง มันมีปลายปัจจัยมากที่พร้อมจะขัดขวางให้เราไม่ได้งาน แม้ว่าเราจะทำตามคำแนะนำ 100% เป๊ะๆ ก็ตาม

ดังนั้น ถ้าหากใครบอกว่า ทำแบบนี้ได้งานชัวร์ ไม่จริงครับ สิ่งที่เป็นจริงคือ ‘เพิ่มโอกาสได้งาน’ มากกว่า ซึ่งรวมไปถึงการเขียน Resume ด้วย

“ไม่มีใครได้งานจาก Resume ที่เขียนได้ดีมากๆ แต่ถ้า Resume เขียนไม่ดี ก็ไม่มีโอกาสได้งานเลย” – ผมกล่าวเอง

แล้วเราควรเขียน Resume อย่างไรให้เพิ่มโอกาสการได้งาน?

คำตอบก็คือ “สื่อตัวตนให้ชัดเจน และเหมาะสมกับงานที่(จะ)สมัคร”
1) สื่อตัวตนให้ชัดเจน
ความยากไม่ใช่การสื่อสารตัวตนของเรา แต่ความยากคือการรู้อย่างชัดเจนว่าประวัติส่วนตัว หรือ Profile ของเราเป็นอย่างไรต่างหาก ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ยกตัวอย่าง ระหว่างการเล่าประวัติการศึกษา กับการพัฒนาทักษะที่ผ่านมา อันไหนง่ายกว่ากัน?

แหงละ ต้องเป็นประวัติการศึกษาอยู่แล้ว เพราะเรามีทั้งวุฒิและประวัติการลงทะเบียนกับมหาวิทยาลัย มันจับต้องได้มากกว่านั่นเอง

Profile ส่วนที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างง่าย เพราะเรามีข้อมูลและเห็นชัดเจนอยู่แล้ว ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆดังนี้

  • Physical Nature – สุขภาพและสภาพร่างกายของเรา งานบางอย่างต้องใช้ส่วนสูงเฉพาะ งานบางอย่างต้องใช้รูปลักษณ์ภายนอก เป็นต้น (อนึ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นการเหยียดแต่อย่างใด)
  • Family – พื้นเพครอบครัวและบรรพบุรุษ ที่อยู่อาศัย ช่องทางการติดต่อ สิ่งเหล่านี้มีผลในการพิจารณาเบื้องต้นแต่ไม่ใช่เกณฑ์ในการรับคน
  • Education – เรายังคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษายังคงเป็น 1 ในเกณฑ์เบื้องต้นที่บริษัทพิจารณา ทั้งสายวิชาที่เรียน หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย แต่สิ่งเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไป…
  • Lifestyle – การใช้ชีวิตและความชอบส่วนตัว สิ่งนี้ไม่เพียงบอกตัวตนแต่บอกถึงแนวโน้มการใช้เงินใช้เวลา รวมไปถึงผลกระทบต่อความใฝ่ฝันในอนาคตอีกด้วย
  • Digital Footprint – ทุกวันนี้พฤติกรรม ธุรกรรม หรือการแสดงความคิดเห็นต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตสามารถบ่งบอกถึงตัวเราได้อย่างง่ายดายมากขึ้นและเป็นส่วนที่ HR ใช้เช็คเรื่องพฤติกรรมเป็นหลัก (ประกอบการตัดสินใจเท่านั้น)
  • Financial – สถานะทางการเงิน ความจำเป็นทางการเงิน สินทรัพย์หนี้สิน ซึ่งสิ่งนี้จะสื่อถึงเงินเดือนที่ต้องการนั่นเอง

Profile ส่วนที่ยากกว่าคือสิ่งที่เป็นนามธรรมเพราะจับต้องไม่ได้ และเปลี่ยนแปลงได้แทบจะตลอดเวลา ผมจำแนกเป็นสิ่งเหล่านี้
  • Personality – บุคลิกลักษณะนิสัยเป็นสิ่งที่แยกแต่ละคนว่ามีพื้นฐานความคิด, ทัศนคติและแนวโน้มพฤติกรรมอย่างไร
  • Achievement – ผลงานและประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการจะได้งาน ที่มันเป็นนามธรรมเพราะ มีผู้สมัครไม่น้อยที่ไม่รู้ถึงผลงานของตัวเองเลย
  • Skill/Competency – ทักษะและความสามารถ ไม่ว่าจะเป็น Soft Skills หรือ Hard Skills
  • Motivation/Aspiration – ความใฝ่ฝัน แรงจูงใจ แรงผลักดัน มุมมองและทัศนคติต่างๆ ต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน

แนวทางการเตรียม Profile1. บันทึก Profile ที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้ออกมาก่อน จะเป็นในรูปแบบการจดหรือการพิมพ์เก็บไว้ก็ได้ให้ละเอียดที่สุด
      - Physical Nature, Family, Education คือส่วนที่เราสามารถเขียนได้แทบจะทันที
       - วิธีหา Lifestyle อย่างง่ายที่สุดคือ เราหมดเวลาและเงินไปกับอะไรมากที่สุด ที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น
       - Digital Footprint ดูได้จาก Page หรือ Channel ที่เราตาม ความ Active และ Post ของเราในสื่อสังคมออนไลน์(ไม่แนะนำให้เปลี่ยน ปกปิด หรือปรับแต่งให้ดูเกินจริง)
       - Financial หรือเงินเดือนที่ต้องการ เราสามารถรู้ได้จากปัจจัยที่จำเป็น(ย้ำว่า จำเป็น)ต่อการดำรงชีวิตของเรา เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง เป็นต้น

2. Profile ส่วนที่เป็นนามธรรม อาจต้องมีการใช้คำถามเข้ามาช่วยเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
    - Personality สามารถใช้แบบทดสอบที่มีทั่วไปเพื่อค้นหาบุคลิกภาพได้เลย เพราะแบบทดสอบพวกนี้ผ่านการค้นคว้าวิจัยมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตรง 100% จึงอาจต้องมีการเช็คตัวเองย้อนหลังด้วย
    - Achievement ผลงานของเราทั้งหมด (ย้ำว่า ทั้งหมด) คำถามนำที่สามารถใช้ก็คือ อะไรที่เราภูมิใจที่ได้ทำ? อะไรที่คนอื่นสามารถยืนยันได้? อะไรที่คนอื่นได้ประโยชน์ด้วย? เขียนผลงานและความรับผิดชอบออกมา และถ้าสามารถสื่อออกมาให้จับต้องได้จะดีมาก
   - Skill/Competency ทักษะจะเป็นตัวชี้วัดถึงความสามารถในการทำงานจริง สามารถถามด้วยคำถามเหล่านี้
             1. เราบริหารจัดการงานอย่างไร?
  2. เราบริหารจัดการคนอย่างไร?
  3. เราบริหารจัดการตัวเองอย่างไร?

4. Motivation/Aspiration ถ้าพูดถึงเป้าหมายอย่างเดียวก็อาจจะเป็นนามธรรมเกินไป สิ่งที่จะเข้ามาช่วยให้การค้นหาสิ่งเหล่านี้ง่ายขึ้นจะเป็นคุณค่าในการทำงานที่เราชอบ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ สภาพแวดล้อมการทำงาน (Work Culture) แบบไหนที่เหมาะสมกับเรา
- การตั้งเป้าหมายไม่ควรตั้งเป็นอาชีพหรือแม้แต่ตำแหน่งแต่ควรตั้งเป็นลักษณะของการทำงานมากกว่า เช่น ในอีก 3 ปีอยากจะเขียนหนังสือสักเล่ม ในอีก 5 ปีอยากจะมีช่องทางการทำงานที่มากกว่า 1 ช่องทางอย่างชัดเจน เป็นต้น

สภาพแวดล้อมการทำงาน สามารถใช้คำถามเหล่านี้เพื่อสะท้อนตัวตนของเราเองได้
  • เป้าหมายของบริษัท/อาชีพแบบไหนที่เราอยากทำงานด้วย?
  • ลักษณะผู้นำแบบไหนที่เราสบายใจที่จะทำงานด้วย?
  • เพื่อนร่วมงานแบบไหนที่เราอยากมี?
  • สถานที่ทำงานแบบไหนที่เราชอบ?
  • ลักษณะและขั้นตอนการทำงานเป็นแบบไหน?
2) เหมาะสมกับงานที่(จะ)สมัคร
เชื่อว่าหลายๆคนเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘สมัครงาน 10 ที่ ก็ต้องใช้ เรซูเม่ 10 แบบ’ คำกล่าวนี้เป็นเรื่องจริง เพียงแต่คนส่วนมากไม่ได้มีการทำ Profile เอาไว้ก่อน พอถึงเวลาสมัครงานก็เลยกลายเป็น เรซูเม่ แบบเดียวร่อน 10 บริษัท

สำหรับผมแล้ว เรซูเม่ คือ Profile ฉบับย่อ ที่นำมาเพียงผลงาน ทักษะ ตัวตนและตัวอย่างบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สุดเท่านั้น ดังนั้นการสมัคร 10 ตำแหน่ง เรซูเม่ ไม่มีทางเหมือนกัน 100% และการทำ เรซูเม่ ไม่ใช่งานง่ายแต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่ามากกว่าแค่การได้งานเพราะมันคือการรู้จักตัวตนทำให้เราชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่าลืมว่า เรซูเม่ เป็นเพียงใบเบิกทางเท่านั้น ยังมีการสัมภาษณ์รออยู่ ถ้าเราไม่ได้รู้จักตัวเราเองดีพอก็ไปตกสัมภาษณ์อยู่ดี ถ้าหากเจอ HR หรือหัวหน้างานที่ดูคนออก

แนวทางการเตรียม Resume
ในการทำ Resume ก่อนอื่นจะต้องทำความรู้จักตำแหน่งงาน สถานการณ์ และวัฒนธรรมของบริษัทที่จะสมัครเสียก่อน

ทั้ง 3 อย่างที่กล่าวไป จะเป็นตัวกำหนดว่าเราควรใส่อะไรใน เรซูเม่ เพื่อให้สอดคล้องกับองค์กรบ้าง ในความเป็นจริงไม่มีอะไรที่ Perfect 100% แต่การเขียนเรซูเม่ ที่อ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทก่อนจะเป็นการเพิ่มโอกาสการได้งานให้มากขึ้นจริงๆ
  1. ตำแหน่งงาน คือหน้าที่ความรับผิดชอบของงานนั้นๆ ซึ่งส่วนมากเราจะพบได้ใน Job Description (JD) ที่ออกมาอยู่แล้วแต่ต้องอ่านและทำความเข้าใจให้มากพอเพื่อจะคัดเลือกผลงาน (ประสบการณ์ก็จะมาด้วย) และทักษะ Hard Skill ที่เกี่ยวข้องที่สุดมาใส่ใน เรซูเม่
ส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง
  • Achievement
    • เขียนโดยแบ่งเป็น Section โดยเฉพาะนอกจากประสบการณ์ของเราหรืออาจจะเขียนรวมในประสบการณ์ได้แต่ต้องอยู่อันดับต้นๆเพื่อเน้นให้เด่นขึ้น
    • ควรมีตัวเลขหรือผลลัพธ์ที่ชัดเจนให้คนอ่านนึกออกว่าสำเร็จอย่างไร เช่น ลดต้นทุนได้ 15% หรือ พัฒนาทักษะจนเพื่อนร่วมงานกว่า 90% สังเกตและให้ Feedback ที่ดียิ่งขึ้น
  • Skill/Competency
    • ทักษะ Hard Skill ที่มีใบประกาศหรือมาตรฐานรองรับจะยิ่งเสริมความน่าเชื่อถือมากขึ้น หรือถ้ามีผลงานที่เกี่ยวข้องกับทักษะนั้นๆก็ระบุมาด้วย
2. สถานการณ์ คือสถานการณ์ของตำแหน่งนั้นๆ ใน JD อาจจะมี Requirement 10 ข้อ แต่ข้อที่ต้องการมากที่สุดอาจจะมีเพียงข้อเดียวก็ได้ เรารู้ได้จากการอ่าน JD บ่อยๆ หรือการสอบถามตรงๆ กับบริษัทหรือทีมงานในบริษัทนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องค้นหาเพื่อจะคัดเลือกทักษะทั้ง Hard Skill และ Soft Skill มาใส่ใน เรซูเม่ รวมถึง Personality บางอย่างที่ทำให้เราเข้ากับทีมได้ด้วย

ส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง

  • Skill/Competency
    • ทักษะ Soft Skill สามารถหาได้จาก Internet และเลือกเขียนสิ่งที่เราเข้าใจจริงๆว่าคืออะไร และต้องยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่ามีการใช้ทักษะนั้นๆ เช่น มีทักษะการสอน ตัวอย่าง ได้สอนชั้นเรียนเด็กจบใหม่ให้ทำ Resume เป็นและลำดับขั้นตอนเข้าใจได้ภายใน 3 ชั่วโมง และมี Feedback ในแง่บวกกว่า 97% เป็นต้น
  • Personality
    • สามารถใช้ Keyword จากผลทดสอบออนไลน์ต่างๆมาใช้ได้โดยอาจอธิบายใน Summary หรือมี Section แยกต่างหากเรื่อง Personality ก็ได้


      3. วัฒนธรรม คือบรรยากาศการทำงานหรือวิธีการทำงานที่องค์กรนี้เป็นในระยะหลังๆบริษัทพยายามสื่อสารสิ่งเหล่านี้ออกมาให้ชัดมากขึ้นใน JD มากยิ่งกว่านั้นเราสามารถสอบถามจากพนักงาน หรืออ่านจากข่าวสารองค์กรได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ต้องค้นหาเพื่อจะรู้ว่าเหมาะกับตัวเราไหม ทั้งเป้าหมาย แรงจูงใจ ความชอบหรือทัศนคติส่วนตัว

      ส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง

      • Personality
        • สามารถใช้ Keyword จากผลทดสอบออนไลน์ต่างๆมาใช้ได้ โดยอาจอธิบายใน Summary หรือมี Section แยกต่างหากเรื่อง Personality ก็ได้ สามารถพ่วงกับ Motivation/Aspiration ในรูปแบบประโยคสั้นๆได้

      • Motivation/Aspiration
        • ในการนำเสนอแรงจูงใจหรือคุณค่าการทำงาน วิธีง่ายสุดคือใส่ใน Summary ของเราด้วยประโยคสั้นๆ สามารถพ่วงกับ Personality ได้ เช่น Practical person with eagerness to act หรือ Complicate thinker and focus on big picture เป็นต้น

      Created with