เบ่งกล้ามความคิด พิชิตทักษะ Strategic Thinking

In Summary

  • การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) เป็นทักษะการคิดที่องค์กรให้ความสำคัญมาตลอด หลายคนเคยโดนตำหนิว่าไม่มีทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์มากพอ แต่ก็ไม่รู้ว่าทักษะนี้จริงๆ แล้วคืออะไรและจะฝึกได้อย่างไร
  • การคิดเชิงกลยุทธ์ไม่จำเป็นต้องเป็นการวางกลยุทธ์ที่ยิ่งใหญ่ พลิกชีวิต หรือเปลี่ยนทิศทางการดำเนินการขององค์กรโดยสิ้นเชิง แต่เป็นแค่การตัดสินใจเล็กๆ แต่อยู่ในบริบทของการบรรลุจุดประสงค์ใหญ่ขององค์กร เป็นการตัดสินใจเล็กๆ ที่คิดอย่างรอบคอบและท้ายที่สุดส่งผลกระทบลูกโซ่ทั้งเครือข่าย
  • เราสามารถเพิ่มทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ได้ด้วยการให้เวลาตัวเองคิดอย่างรอบคอบขึ้น มองปัจจัยรอบด้าน เปลี่ยนแปลงให้ทันโลก อย่ายึดติดกับแนวทางในอดีต หัดเชื่อมโยงไอเดีย เครือข่าย แผนงานใหม่ๆ หาความเชื่อมโยงที่คนอื่นมองไม่เห็น และท้ายที่สุดเมื่อวางแผนอะไรแล้วต้องกล้าลงมือและตัดสินใจ

คุณเคยได้รับฟีดแบคจากหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานในเชิงว่าคุณควรจะมีการติดเชิงกลยุทธ์ที่ดีขึ้นมั้ย? หรือคุณเคยไม่ผ่านโปรเพราะหัวหน้าบอกว่าคุณมีทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ที่ไม่ดีพอ? การโดนคอนเมนต์แบบนั้นมันช่างเจ็บปวด ที่แย่กว่านั้นคือบางทีคุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” (Strategic Thinking) มันคืออะไร และไม่รู้จะไปฝึกที่ไหน

การคิดเชิงกลยุทธ์ไม่ใช่การต้องคิดการใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั้งองค์กร แต่อาจเป็นเพียงการตัดสินใจเล็กๆ ที่อยู่ในบริบทของการบรรลุจุดมุ่งหมายที่ใหญ่กว่าขององค์กร เช่น การตัดสินใจส่งของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ เพื่อที่จะได้ข้อมูลเชิงลึกในอนาคตก็ถือเป็นการคิดเชิงกลยุทธ์แล้ว ซึ่งทุกคนสามารถพัฒนาไปสู่การคิดเชิงกลยุทธ์ที่ดีขึ้นได้

แบ่งเวลามาคิดอย่างตั้งใจ

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ไม่มีทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์มากพอ นั่นอาจจะเป็นเพราะคุณยุ่งมากเกินไป ลองทบทวนดูว่าคุณใช้เวลาแต่ละสัปดาห์ในการประชุมไปแล้วกี่ชั่วโมง แล้วมีเวลาเหลือมากแค่ไหนที่จะเช็คอีเมล โทรติดต่องาน หรือทำงานที่เป็นงานจริงๆ บางครั้งความพยายามที่จะทำงานให้ได้เยอะ และโปรดักทีฟมากไป อาจทำให้คุณสูญเสียเวลาที่จะใช้ในการคิดไปอย่างไม่รู้ตัว

ผลที่ได้ก็คือการคิดของเราจะเป็นการใช้สิ่งที่สะท้อนมาจากอดีตมากกว่าจะเป็นการคิดทบทวนจากทุกปัจจัยอย่างรอบคอบจริงๆ การคิดแบบสะท้อนจากอดีตอาจดูสวยหรู แต่ความหมายจริงๆ ก็คือแค่การเอาสิ่งที่ประสบความสำเร็จในอดีตมาใช้นั่นแหละ ซึ่งอาจจะได้ผลถ้าโลกของเราเป็นสิ่งที่หยุดอยู่นิ่งไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความเป็นจริงดันไม่เป็นแบบนั้น เพราะอุตสาหกรรมของคุณ คู่แข่งของคุณ และลูกค้าของคุณเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างไม่มีหยุดพัก การทำแต่สิ่งที่เคยทำมาอาจเสี่ยงมากกว่าการลองสิ่งใหม่ๆ ด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นการให้เวลาตัวเองเพื่อคิดทบทวนอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจคือสิ่งที่สำคัญมาก มีปัจจัยอะไร และใครเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง? มีโอกาสและความเสี่ยงอะไรบ้าง? นี่คือสิ่งที่ต้องคิดทบทวนให้ดี เพราะสิ่งที่ดูเหมือนเป็นโอกาสอาจกลายเป็นความเสี่ยง และสิ่งที่ดูเหมือนเป็นความเสี่ยงอาจกลายเป็นโอกาสในภายหลัง
โยงเส้นเชื่อมให้เก่ง

นอกจากนี้ การลิสต์สิ่งที่ต้องทำ และทำตามลิสต์นั้นซึ่งเป็นวิธียอดเยี่ยมที่คุณใช้จัดการกับชีวิตที่แสนยุ่งเหยิงมาตลอดอาจทำให้โฟกัสของคุณแคบและเข้มงวดไป และนั่นจึงเป็นสิ่งที่ลดทักษะในการคิดเชิงกลยุทธ์ของคุณ คนที่มักทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์มักคิดนอกกรอบและเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องของไอเดีย แผน และผู้คนซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนมากมองไม่เห็น

ผู้บริหารคนหนึ่งอาจคิดแค่จะจ้างเซลล์ด้านไอทีใหม่เพื่อดูแลการปฏิบัติงานในแถบภูมิภาค เพราะว่าเขารู้มาว่าอีกแผนกหนึ่งกำลังปรับมาตรฐานการดูแลลูกค้าใหม่ วิธีคิดแบบนี้ของเขานั้นเป็นแบบเดิม แบบที่อัตโนมัติที่ตั้งมาแล้ว ไม่ได้มีการทบทวนอะไรใหม่ ซึ่งนั่นถือเป็นการเสียโอกาส เพราะแค่การจ้างคนมาเพิ่มไม่ได้ช่วยพัฒนาอะไรในการดูแลลูกค้า ซึ่งนั่นทำให้เขาจะเสียลูกค้าให้กับคนที่มีการบริการลูกค้าที่ดีกว่า มีการเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ แบบเรียลไทม์ และคิดทบทวนปรับตัวตามข้อมูลนั้นจริงๆ

และอย่าลืมว่าเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ก็เป็นทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ด้วยเช่นกัน คนที่มีทักษะด้านนี้ดีมักจะมองโลกนี้ว่าเป็นเสมือนใยแมงมุมที่ทุกคนเชื่อมโยงกัน และพวกเขาจะหาโอกาสที่จะขยายเครือข่ายของตนเองเสมอ
ต้องตัดสินใจให้เป็น

แต่อย่างไรก็ตามคนที่สามารถคิดทบทวนสถานการณ์ เชื่อมต่อไอเดียกับบุคคลากรก็ยังคงเจออีกหนึ่งปัญหา นั่นก็คือ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำทุกอย่างตามที่พวกเขาคิด ความเป็นไปได้อาจดูเหมือนจะไม่มีขีดจำกัด แต่เวลา เงิน และทรัพยากรนั้นไม่เหมือนกัน นั่นทำให้พวกเขาต้องมีความสามารถและความพร้อมที่จะตัดสินใจเลือก งานวิจัยกล่าวไว้ว่า ความล้มเหลวในการเลือกกลยุทธ์ที่เป็นหัวใจหลัก ทำให้การปรับใช้กลยุทธ์ก็มักจะล้มเหลวเช่นกัน

การตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ต้องทำ และไม่ต้องทำเป็นหนึ่งในส่วนที่สำคัญที่สุดของการมีทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ การยอมปิดประตูบานหนึ่งเพื่อเปิดประตูอีกบ้านนั้นต้องการความกล้าเป็นตัวแปรสำคัญเสมอ ซึ่งถ้ามันล้มเหลว คนอื่นก็อาจโทษคุณได้ภายหลัง นอกจากนี้คุณยังต้องมีความมั่นใจที่จะละทิ้งตัวเลือก ซึ่งนั่นก็อาจเป็นการพลาดโอกาสในภายหลังได้เหมือนกัน ซึ่งในจุดนี้แหละที่ทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ของคุณจะถูกทดสอบ ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยง แต่การไม่เลือกหรือใช้ทรัพยากรกับตัวเลือกมากเกินไปมักเสี่ยงกว่าการตัดสินใจเลือกเสมอ

คุณจะดูเป็นคนที่มีทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์มากกว่าถ้าคุณเลือกที่จะเริ่มเสี่ยงลงมือทำ มากกว่าอยู่นิ่งๆ แล้วไม่ทำอะไรเลย

คุณไม่จำเป็นต้องเลื่อนตำแหน่ง ต้องมีอำนาจมากขึ้น หรือต้องมีงบประมาณมากขึ้นในการเพิ่มทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ คุณแค่ต้องคิดและทำอย่างตั้งใจมากขึ้น ยอมใช้เวลาและพลังงานในการคิดทบทวนสถานการณ์คุณเจอ หาวิธีที่จะเชื่อมโยงไอเดียเข้ากับกลุ่มคนที่คุณไม่เคยนึกถึงมาก่อน มีความกล้าในการตัดสินใจทำและไม่ทำสิ่งต่างๆ เท่านี้คุณก็จะเป็นคนที่คิดเชิงกลยุทธ์ได้มากขึ้นแล้ว และอีกไม่ช้าคนจะมองคุณต่างไป เรียกหาคุณมากขึ้น และอาจลงเอยด้วยการได้เลื่อนตำแหน่งก็ได้นะ

Source

Created with