5 คำถามกับ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ | ทำธุรกิจให้อยู่ได้ 100 ปี ต้องมีหัวใจ

5 Questions ทำธุรกิจให้อยู่ได้ 100 ปี ต้องมีหัวใจ! กับ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ
ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรืออาจารย์เกตุ ของนิสิตภาควิชาการตลาด ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะเป็นชื่อที่หลายคนยกมือขอเป็นแฟนคลับ เพราะอาจารย์คือหนึ่งในทีมนักเขียนมือวางอันดับต้นๆ ของเพจ Marumura โดยมีนามปากกาว่า เกตุวดี Marumura ที่นำเสนอเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นมานานหลายปี เพราะตัวอาจารย์เกตุเองก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนักเรียนเก่าญี่ปุ่นมาก่อนนั่นเอง

ไม่เพียงแค่เรื่องราวทั่วไปและวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นที่ทำให้คนอ่านติดหนึบแล้ว อาจารย์ยังสนใจเรื่องราวของธุรกิจยั่งยืน หรือ ประเด็นเกี่ยวกับ ริเน็น ที่ว่าด้วยปรัชญาการทำธุรกิจให้ยั่งยืน ให้กลายเป็นบริษัทอายุไม่น้อย แค่ร้อยกว่าปี (เท่านั้นเอง)

ความสนใจเรื่องการทำธุรกิจให้ยั่งยืน หรือที่อาจารย์พูดย้ำบ่อย ๆ ว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเอง แต่เป็นธุรกิจที่ทำด้วยหัวใจ และคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นเป็นที่ตั้ง เป็นเรื่องที่อาจารย์เอาจริงเอาจังถึงขึ้นเขียนออกมาเป็นหนังสือเรื่อง ‘ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น’ และเป็นเรื่องนี้เองที่ทำให้อาจารย์ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรให้กับสถาบันต่างๆ มากมาย เพราะถือว่า ริเน็น เป็นอีกหลักคิดในการทำธุรกิจที่ตรงใจคนจำนวนมาก ที่มองที่หัวใจมากกว่าผลกำไรทางธุรกิจ

เรื่องน่าสนใจขนาดนี้ ทาง Shift Academy จึงไม่พลาดที่จะเชิญอาจารย์เกตุ มาให้ความรู้และเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับริเน็นกับเราซะเลย แต่ก่อนอื่น เราอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักริเน็นใน 5 คำถามนี้ เพื่อที่คุณจะได้ตั้งคำถามกับตัวเองต่อไปว่า อะไรคือสิ่งที่ธุรกิจของคุณต้องการ…
1.จุดเริ่มต้นที่ทำให้ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ สนใจในเรื่องปรัชญาการทำธุรกิจให้ยั่งยืน หรือ ริเน็น คืออะไร
จุดเริ่มต้นที่สนใจเรื่องธุรกิจญี่ปุ่น เกิดขึ้นเพราะพานิสิตจุฬาฯ ไปดูงานตามบริษัทญี่ปุ่นบ่อย ๆ แล้วตอนนั้นเราชอบหนังสือของอาจารย์ซากาโมโตะ โคจิ ที่เขียนเรื่อง ‘เริ่มต้นด้วยหัวใจ บริษัทก็ไปได้ไกลกว่า’ เพราะในเล่มนี้จะเป็นเรื่องราวของบริษัทในญี่ปุ่น ที่ทำธุรกิจอย่างมีหัวใจ บางธุรกิจสามารถพลิกฟื้นสภาพที่ใกล้ล้มละลาย ด้วยการดูแลพนักงานให้ดีที่สุด เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้เขาลุกมาทำงาน พอเราพานิสิตไปดูงานบริษัทที่มีแนวคิดแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มสังเกตเห็นว่าบริษัทเหล่านี้ เขามักจะพูดถึง ริเน็น ของบริษัทเสมอ

ต้องบอกก่อนว่า ปกติเวลาเราไปดูงาน บริษัททั่วไปเขาจะเล่าเรื่องตัวเลขว่า ทำกำไรแค่ไหน ทำธุรกิจอะไร จบ แต่บริษัทญี่ปุ่นที่เน้นการทำธุรกิจแบบยั่งยืน เขาจะเอาปรัชญาการทำธุรกิจของเขามาไว้สไลด์ที่ 2 ต่อจากเรื่องการทำความรู้จักบริษัทเลย เช่น พอเราเริ่มรู้จักบริษัทเขาแล้วเขาจะเล่าให้ฟังว่า ริเน็นของบริษัท คืออะไร เราก็เลยเริ่มคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทำไมบริษัทเหล่านี้คิดได้ดีจัง แล้วเราก็เลยศึกษาเยอะขึ้น

เพราะตามประสาที่เรียนบริหารธุรกิจมา เราก็จะรู้แต่ว่า เวลาทำธุรกิจ เราจะทำยังไงให้ธุรกิจเติบโตได้ดีที่สุด เช่น ทรัพยากรมีจำกัด ทำยังไงให้ได้กำไรสูงสุด หรือต้องลดต้นทุนให้ได้มาก ๆ เพื่อทำยอดขายให้มากที่สุด เป็นต้น แต่พอมาเรียนเรื่อง ริเน็น มันทำให้เราเห็นว่า บางเรื่องมันไม่ได้ใช้ตัวเลขวัดอย่างเดียว แต่จะตั้งคำถามว่า

ก่อนจะตัดต้นทุน ก่อนจะไปเพิ่มยอดขาย เราต้องกลับมาเข้าใจก่อนให้ได้ว่า เราเป็นใคร ทำธุรกิจไปเพื่ออะไร ตรงนี้จะช่วยได้มาก เวลาที่บริษัทเราเริ่มหลงทางหรือเริ่มสงสัยว่าเราต้องทำยังไงต่อไปดี เราก็จะได้มองกลับมาที่แก่นของเรา ว่าเราเป็นใครและต้องชัดเจนในสิ่งที่เป็น

2.ปรัชญาแบบริเน็น ถ้าเราสรุปลงไปอีก อาจารย์คิดว่าเกิดมาจากอะไร ที่คิดว่าเป็นลักษณะร่วมของบริษัทญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่
มันคือจิตวิญญาณของความอยากทำเพื่อคนอื่น คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมองว่า ธุรกิจของเขาเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้คนอื่น สร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น ซึ่งนี่คือแนวคิดที่เราตกใจมาก เพราะเราถูกสอนมาอีกแบบ นั่นคือการทำธุรกิจเป็นเรื่องเท่ ทำเงินได้เยอะ รวย แต่ทั้งหมดนี้คือการทำเพื่อตัวเอง

แต่พอเราไปเจอบริษัทแบบที่ว่า ทำธุรกิจโทรคมนาคมขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนทั้งประเทศลดค่ามือถือลงได้ แล้วเรารู้สึกดีจังเลย คือในเมืองไทยคงมีคนคิดดี ๆ เยอะละค่ะ แต่แค่เราไม่ค่อยได้พูดถึง กลับกลายเป็นว่า เราไปชื่นชมกันที่รายได้ ว่าได้กี่ร้อยล้าน พันล้าน แต่เราไม่ค่อยได้ชูประเด็นว่า เขาทำประโยชน์ยังไงบ้าง หรือทำเพื่อคนอื่นยังไงบ้าง
3.คิดว่ารากของความคิดอยากทำเพื่อคนอื่นมาจากไหน ทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงคิดคล้ายๆ กันได้
นอกจากการสอนกันจริงจังในหลายๆ บริษัทแล้ว คิดว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดอีกเรื่องก็คือ ภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ เพราะเวลาแผ่นดินไหวมาที ธุรกิจก็พังหมดอยู่ดี ถามว่าตอนนั้นคุณเหลือใคร ถ้าคุณเหลือพนักงานก็ถือว่าดี แต่คนในชุมชนที่จะมาเป็นลูกค้าในเวลาที่เราไม่เหลืออะไรแล้วล่ะ ยังมีอยู่มั้ย? ซึ่งถ้ามี ก็ถือว่าดีมากเพราะลูกค้าเหล่านั้นจะได้กลับมาช่วยอุดหนุนธุรกิจเราได้มากขึ้น

ดังนั้นทุกวิกฤติที่เกิดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่โควิด มันคือสิ่งที่ทำให้เราได้ช่วยเหลือกัน แล้ววิกฤติของญี่ปุ่น มันคือวิกฤติที่คาดเดาไม่ได้ แล้วมันเป็นวิกฤติใหญ่มาก ถ้าคิดแต่จะสะสมเงินอย่างเดียว ทุกอย่างอาจจะสูญหายไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่สิ่งที่มันเหลืออยู่จริง ๆ คืออะไร มันคือความสัมพันธ์กับคนต่างหาก นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้และตีความเองจากการศึกษามา

เอาจริงๆ เราเคยเห็นหลายองค์กรพยายามสอนให้พนักงานเข้าใจเรื่องวิชั่น หรือวิสัยทัศน์องค์กร แต่ก็มีอีกหลายแห่งเช่นกัน ที่ตั้งมิสชั่น วิชั่นไว้ แล้วไม่เคยย้อนกลับไปดูมันเลย หรือแม้แต่พนักงานก็ไม่เคยรู้ แต่ในบริษัทญี่ปุ่นที่เขาตั้งใจทำเรื่องนี้จริง ๆ ทุกอาทิตย์เขาจะมีกิจกรรมทวนแนวคิดของเขาเลย ก่อนเริ่มงานต้องท่องริเน็นทุกครั้ง หรือจะมีกิจกรรมที่ทำให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนเข้าใจในปรัชญาบริษัทของเขาจริง ๆ

มีบางบริษัท ผู้บริหารตรวจเรียงความพนักงานตลอดนะคะ เช่น มีการโยนโจทย์ไว้ให้พนักงานก่อนว่า ริเน็นของเราคือความกล้าหาญ แล้วเขาก็จะถามว่า อาทิตย์นี้หรือเดือนนี้ คุณทำอะไรที่แสดงถึงความกล้าหาญนี้หรือยัง พนักงานจะไปเขียนเรียงความมาแล้วผู้จัดการก็จะนั่งตรวจเลย

ก่อนจะตัดต้นทุน ก่อนจะไปเพิ่มยอดขาย เราต้องกลับมาเข้าใจก่อนให้ได้ว่า เราเป็นใคร ทำธุรกิจไปเพื่ออะไร
ตรงนี้จะช่วยได้มาก เวลาที่บริษัทเราเริ่มหลงทางหรือเริ่มสงสัยว่าเราต้องทำยังไงต่อไปดี เราก็จะได้มองกลับมาที่แก่นของเรา
ว่าเราเป็นใครและต้องชัดเจนในสิ่งที่เป็น

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (เกตุวดี MARUMURA)

4.อาจารย์คิดว่า ทำไมริเน็นถึงเหมาะสมกับยุคสมัยของการทำธุรกิจที่ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็ว มีการ disrupt เกิดขึ้นมากมายในวงการนี้ บางคนทำธุรกิจไม่นานก็ exit เป็นต้น และโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างบริษัทหรือธุรกิจอะไรที่อยู่กันเป็นร้อยปีก็ได้
จริงๆ เรื่องนี้ มันอาจจะแตะไปที่เรื่องอิคิไกด้วยนะ คือความหมายของการมีชีวิตอยู่ เช่น เมื่อทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมากขนาดนี้ แล้วพอเราประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เราก็จะเริ่มมีคำถามว่า แล้วเราเกิดมาเพื่ออะไร เราจะทำเงินเยอะๆ ไปเพื่ออะไร หรือเราจะโตไปเพื่ออะไร ซึ่งในตอนแรกที่ตั้งบริษัทกันมา การทำงานหนัก การทำให้บริษัทเติบโตเร็วๆ มันก็ไม่แปลกหรอก มันสนุกดีด้วย แต่พอทุกอย่างไปได้ดีแล้ว เชื่อว่า คนเราจะเริ่มคิดแล้วว่าอะไรคือก้าวต่อไปที่เราจะไปต่อ ตรงนี้ถ้ากลับมาเจอแก่นของเราว่า จุดยืนเราคืออะไร ก็จะทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ถามว่าทำไมแนวคิดนี้ถึงเหมาะกับช่วงนี้ เพราะธุรกิจของคุณจะได้เติบโตแบบมีทิศทาง และเติบโตได้อย่างมั่นคงนั่นเอง

ส่วนตัวแล้ว รู้สึกว่าปัญหาที่ผู้ประกอบการเผชิญอยู่ทุกวันนี้ มันจะเป็นปัญหายิบย่อยเช่น พนักงานลาออก ต้องหาพนักงานใหม่ เงินทุนไม่พอ กู้แบงค์ยังไงดี โฆษณาสินค้ายังไงให้ขายได้ ซึ่งเหมือนเรากำลังแก้ทุกปัญหาแยกๆ กันอยู่

แต่ถ้าเราหันมาเจอจุดยืนของเรา หรือริเน็นของเรา แล้วเราได้รู้ว่า เราทำธุรกิจไปเพื่ออะไร สินค้าที่ออกมามันก็จะตรงกับริเน็น คือมันจะมีจิตวิญญาณบางอย่างอยู่ ว่าเราทำเพื่อสิ่งนี้จริงๆ แล้วในที่สุดมันจะทำให้พนักงานมีแรงขับเคลื่อนในการทำงานด้วย พอพนักงานตั้งใจทำงาน ลาออกกันน้อย สินค้าออกมาดี มันก็จะนำไปสู่ยอดขายที่มั่นคงขึ้น

ดังนั้น แทนที่เราจะแก้ปัญหาทีละนิดทีละหน่อย เช่นเรื่อง HR บ้าง การตลาดบ้าง เราลองกลับมาดูจุดยืน หรือจุดเริ่มต้นของเราดีกว่าว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไรกันแน่

จะว่าไป มันเหมือนเราได้เริ่มต้นใหม่ หรือ คิดใหม่ อีกครั้งด้วย โดยเฉพาะวันนี้ เมื่อเราพูดถึงสตาร์ทอัพ เรามักจะนึกถึงบริษัทที่อยากเติบโตไปเร็วๆ แต่บอกเลยว่า ถ้าพื้นฐานของคุณไม่แน่นพอ มันจะมีปัญหา ตอนที่คุณเป็นสตาร์ทอัพ คุณอาจจะยังมีความเชื่อ มีจิตวิญญาณร่วมกันอยู่แหละ เพราะมันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่พอคุณโตขึ้น เริ่มสเกล หรือมีโอกาสเข้ามาเยอะมาก เช่นนักลงทุนจะให้เงินเยอะมาก แต่ให้เราไปทำอย่างอื่นที่ผิดไปจากแนวทางเดิม

“ถามว่าคุณกล้าจะปฏิเสธมั้ย หรือบอกได้มั้ยว่าจะรับหรือไม่รับโอกาสนั้น“

5.อาจารย์คิดว่า กรณีศึกษาที่น่าสนใจในเรื่องริเน็น คือเรื่องใดบ้าง

เคส โรงพยาบาล นมะรักษ์ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งเต้านม ในบ้านเรานี่แหละ จริงๆ เขาไม่เคยรู้เรื่องริเน็นมาก่อน แต่ทำธุรกิจไปตามความเชื่อของตัวเองเลย เป้าหมายของคุณหมอที่เป็นผู้บริหารที่นี่คืออยากจะให้โรงพยาบาลเอกชนเห็นตัวอย่างที่คุณหมอทำ แล้วลดค่ารักษาพยาบาลลง เพราะคุณหมอคิดว่า ทำไมคนทั่วไปถึงต้องจ่ายเงินแพงๆ กับเอกชน หรือไปรักษาโรงพยาบาลรัฐ เครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่พอ

คุณหมอก็เลยออกมาตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ตัวเองถนัด แล้วก็ใช้อุปกรณ์ที่ดีมาก เท่าระดับโรงพยาบาลเอกชน แต่ตั้งราคาที่ชนชั้นกลางเอื้อมถึงได้ แล้วเป็นโรงพยาบาลที่เข้าไปแล้วจะรู้สึกเลยว่าเขาทำเพื่อคนไข้ เพราะถ้านักธุรกิจโดยทั่วไป ทุกพื้นที่ในโรงพยาบาลจะต้องใช้ให้เต็มที่ ทำยังไงให้รับคนได้มากที่สุด มีเตียงเยอะที่สุด แต่ที่นี่ ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของบริเวณรอบ ๆ คุณหมอจะทำเป็นสวน ตรงพื้นที่นั่งรอ ก็ทำให้นั่งสบายๆ อารมณ์เหมือนเราไปคอนโดหรูๆ บ้านเพื่อน

เหตุผลที่ทำก็เพราะคุณหมอคิดว่า คนไข้เป็นมะเร็งอยู่แล้ว เขาอยากรู้สึกสบายใจ แล้วจะทำยังให้เขาสบายใจ ให้ญาติรู้สึกสบายใจที่มาเยี่ยม ซึ่งเป็นวิธีคิดที่พลิกมาก คนที่มาก็เลยประทับใจและบอกต่อ ลูกค้าบางคนห่วงเลยว่าจะอยู่ไม่ได้ บอกขึ้นราคาก็ได้นะ ราคาแบบนี้ไหวเหรอ หมอก็บอกราคาเท่านี้พอ เขาก็เลยไปช่วยบอกต่อ ไปโปรโมทอย่างอื่นแทน ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีแบบนี้มันวัดด้วยตัวเงินไม่ได้เลยจริงๆ นะ

อีกตัวอย่างที่เห็นชัดมากในเรื่องริเน็น คือร้านขนมแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ร้านนี้ทำขนมขายมา 150 ปี แล้ววันหนึ่ง เจอน้ำท่วมเพราะไต้ฝุ่นเข้า ประกอบกับขยายธุรกิจเกินตัวด้วย ทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ก็เลยเจ็บหนัก เจ้าของก็รู้สึกว่าตัวเองซวยซ้ำซวยซ้อนมาก

พอวันรุ่งขึ้นหลังจากน้ำท่วม เขาไปที่โรงงานก็เห็นโรงงานเลอะโคลนเต็มไปหมด เห็นพนักงานตั้งใจทำความสะอาด เขาก็เลยคิดว่า น้ำท่วมมันพัดทุกอย่างไปได้ก็จริง แต่เรายังเหลือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดก็คือ พนักงาน

เจ้าของเขาก็เหมือนมีกำลังใจสู้ต่อ สิ่งที่เห็นและเรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คือ พลังของคนที่อยู่ใกล้ชิดเรามากที่สุดนั่นแหละ เวลาที่ธุรกิจเราไปได้ดี เราอาจจะลืมเขา เราคิดถึงแต่ยอดขายที่อยากโตเยอะๆ แต่ลืมคิดถึงคนที่โตมากับเรา นั่นก็คือพนักงาน กับอีกกลุ่มหนึ่งที่จะช่วยเราเสมอก็คือ คนในชุมชน

สำหรับใครที่สนใสจจะเรียนรู้ แนวคิด ริเน็น เคล็ดลับบริหารธุรกิจ 100 ปี สามารถลงทะเบียนเรียนได้ที่นี่ คลิก
Created with