เรียนรู้ตลอดชีวิต หากไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง กับ วรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด SCB Academy

ในยุคที่แทบทุกองค์กรหันไปให้ความสำคัญกับเรื่อง Digital Transformation และคำว่า Reskill – Upskill เป็นหมุดหมายสำคัญในการปรับเปลี่ยนองค์กรและคนทำงาน เราเชื่อว่าหนึ่งในองค์กรที่ทุ่มทุนไปอย่างมหาศาลเพื่อนำเอาทักษะแห่งอนาคตมาพัฒนาพนักงานให้เติบโตไปพร้อมๆ กันได้อย่างน่าทึ่งและน่าศึกษาก็คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ – ธนาคารที่อยู่คู่กับคนไทยมานานถึง 113 ปี  

องค์กรที่ยืนหยัดผ่านวันเวลามาเกินร้อยปีนี่แหละ ที่ทุ่มทุนกว่า 900 ล้านบาทสร้าง SCB Academy ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับพนักงานในองค์กร เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างถูก Disrupt ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง  

เพื่อที่จะเป็นผู้นำ – การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องรับมือ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงกันวันนี้ บางทีอาจไม่เหลือเวลาเพียงพอให้กลับตัวได้ทัน  

วันนี้ Shift Your Future มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณบิ๊ก วรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด SCB Academy ในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ไม่เพียงแต่การทำให้เป็นเรื่องน่าสนุก แต่ยังเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ถ้าไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง  

ที่สำคัญ เขาย้ำด้วยว่า ก่อนจะเรียนรู้ เราต้องเชื่อมั่นก่อนว่า ตัวเราเองเป็นคนที่มีศักยภาพ ที่จะพัฒนาตัวเองได้มากกว่านี้ ดีกว่านี้เสมอ  

แนวคิดในการทำ SCB Academy เริ่มต้นจากตอนไหน แล้วใช้เวลาในการเตรียมตัวอย่างไรในการปั้นยูนิตนี้ขึ้นมา

จุดเริ่มต้นของ SCB Academy มาจากตอนที่ธนาคารเริ่มทำ Digital Transformation ครับ แล้วเราก็เชื่อว่ามันจะส่งผลกระทบกับคนในองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะงานส่วนหนึ่งอาจจะหายไป แล้วก็มีผลกระทบกับอาชีพของคนในองค์กร เราจึงคิดว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดูแลเรื่องการ Reskill – Upskill ให้พนักงาน เพื่อให้เขามีทักษะ ความรู้และมุมมองใหม่ๆ เพื่อที่จะสามารถย้ายงานไปทำงานอื่นๆ ภายในองค์กรได้ เพราะองค์กรที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตได้อย่างยั่งยืนนั้น คนในองค์กรควรจะต้องมีทักษะ มีความรู้ แล้วก็มีวิถีในการทำงานรูปแบบใหม่ เพื่อจะตอบโจทย์ในโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในขณะนี้  

โดยสิ่งที่เราเริ่มต้นในตอนแรกก็คือ เอาหน่วยงานเดิมที่เป็น Learning & Development ขององค์กรเป็นตัวตั้งต้น แล้วจากนั้นก็ต่อยอดเพื่อสร้าง Know how ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอนเทนต์ เรื่องของการพัฒนาแพลตฟอร์ม เรื่องของการเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งสถานที่ในการจัดการฝึกอบรม ที่จะต้องมีความแตกต่างออกไปจากรูปแบบที่ทำ Learning & Development เดิม เพราะฉะนั้นนั่นก็เป็นที่มาของสิ่งที่เราทำในปัจจุบัน

ใช้เวลาในการทำนานไหม และช่วงนั้นเจอความท้าทายอะไรที่คิดว่าน่าเรียนรู้บ้าง

จริงๆ ต้องบอกว่า เราพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา จึงไม่สามารถบอกว่าเราจะใช้เวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อจะสร้าง Academy ขึ้นมา ตอนนั้นเราต้องเริ่มทันทีครับ แต่เริ่มจากสิ่งที่เรามีอยู่ แล้วเราก็เรียนรู้ เพิ่มเติม พัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เรามีอยู่ให้มันตอบโจทย์ขึ้นไปเรื่อยๆ โดยต้องเข้าใจความต้องการขององค์กร ความต้องการของพนักงานในองค์กร ของผู้นำขององค์กร หรือแม้แต่ลูกค้าของเราว่าปัจจุบันเราต้องการคนที่มีทักษะหรือมีความสามารถแบบไหน รวมทั้งต้องคิดว่า การเรียนรู้ของคนเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จะต้องเป็นการเรียนรู้แบบไหน ในสถานที่ยังไง ลักษณะอย่างไร ใช้เวลานานเท่าไหร่ นี่สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาของเราให้มันสอดคล้องกับสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ทุกวันนี้เราก็ยังต้องพัฒนาและปรับปรุงต่อไปเรื่อยๆ เพราะเราก็เชื่อว่าเรายังมีอีกหลายจุดที่เราต้องทำให้ดีขึ้น

มีคำจำกัดความ หรือ นิยามของ Academy มั้ยว่าเป็นแบบไหน อย่างไร  

เรามีการตั้ง อิคิไก (IkigaI – เหตุผลและความหมายของการทำในสิ่งนั้น) ของหน่วยงานเราขึ้นมาตอนเริ่มทำครับว่า SCB Academy ต้องการที่จะสร้างโอกาส ให้ทุกคนมีความสุขในการค้นพบและพัฒนาศักยภาพตัวเอง เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นไปสร้างคุณค่าต่อให้กับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นตัวเอง องค์กร หรือสังคมที่เราอยู่ ด้วยความเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดมันไม่ใช่คอนเทนต์หรือแพลตฟอร์ม หรือกระบวนการเรียนรู้ เพราะผมคิดว่าเรื่องนั้นมีเยอะแยะมากมายในโลกปัจจุบันและหาไม่ยาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำยังไงให้คนเรามีความสุข หรือมีความรักในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาตัวเอง อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดของทุกสถาบันการศึกษา หรือว่าทุกองค์กรที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร เพราะมันคือการช่วยกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เป็น lifelong learning  เพื่อให้คนมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนเท่านั้น

จริงๆ แล้ว การทำงานคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด แต่ว่าการเรียนรู้จะเกิดในการทำงานได้ก็ต่อเมื่อคนเรามี mindset ที่ดี แล้วก็มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วย หรือมีสภาวะแวดล้อมที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในการทำงานได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น SCB Academy จะไม่ใช่แค่คนที่จัดการเรียนรู้ในห้องเรียน หรือในโปรแกรมเท่านั้น แต่ว่าต้องเข้าไปดูถึงชีวิตของพนักงานว่าแต่ละวันเขาเจอปัญหาอะไรบ้าง และเขาต้องการเรียนรู้ตอนไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำเอาการเรียนรู้เข้าไปอยู่ในชีวิตเขาเลย ตรงนั้นต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นความท้าทาย แต่ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามจะเดินหน้าไปสู่จุดนั้นให้ได้ครับ

สำหรับพนักงานแล้ว พอเขาได้เข้ามาเรียนรู้ ความคาดหวังในสิ่งที่จะให้เขาเป็นต่อไปคืออะไร หรือสเต็ปต่อไปสำหรับพวกเขาคืออะไร  

มี 2 เรื่องใหญ่ๆ ครับ เราคาดหวังว่าในช่วงของการเรียนรู้ พนักงานจะได้ความรู้ใหม่ๆ ได้เพิ่มทักษะ มุมมองใหม่ๆ ในการทำงาน แล้วเขาจะได้นำสิ่งเหล่านั้นมาลองประยุกต์ใช้จริงๆ เป็น Action Learning คือได้ทำกับงานของเขาเองจริงๆ  ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เมื่อเขากลับไปที่หน่วยงานของตัวเองแล้ว ทำยังไงให้เขายังสามารถนำทักษะหรือความรู้ใหม่ไปใช้กับงานของเขาในแต่ละวันให้ได้ ตรงนี้เป็นความท้าทาย เพราะว่าส่วนใหญ่ที่ผ่านมา เราก็จะลงทุนในการส่งคนไปเรียน ใช้เวลาไปมากมาย แต่สุดท้ายเวลากลับไปทำงานจริงๆ สิ่งที่เรียนรู้มาก็มักจะหายไป น้อยมากที่คนจะเก็บความรู้หรือทักษะนี้ไปใช้ต่อได้  

เพราะฉะนั้นหน้าที่ของ Academy จะต้องไม่จบที่การทำโปรแกรม แต่ว่าเราจะต้องเข้าไปถึงในชีวิตการทำงานของพนักงาน เราต้องคิดว่าจะทำยังไงเราถึงจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อม หรือ Ecosystem ในการทำงานของเขา ให้เอื้อต่อการที่จะนำทักษะที่ได้มาใหม่ไปประยุกต์ใช้กับงานจริงๆ  ได้ ซึ่งผมว่ามันมีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น  Leadership หรือผู้นำในหน่วยงานนั้นก็มีส่วน  เพราะการที่พนักงานจะนำทักษะใหม่ไปใช้ในการทำงาน ผู้นำของเขาจะต้องเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ใหม่ๆ ด้วย ผู้นำจะต้องเป็นคนที่หมั่นคอยถาม คอยให้กำลังใจ หรือแนะนำ เรียกว่าต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นเรื่องนี้ก็จะไม่ใช่เรื่องสำคัญของหน่วยงานนั้นอีกต่อไป  

หรือแม้แต่เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่พนักงานได้เรียนรู้ไปแล้ว เราต้องคิดว่า จะทำยังไงให้เขาพร้อมสำหรับการใช้เครื่องไม้เครื่องมือให้สอดคล้องกับงาน เมื่อทำแล้วได้ผลดี เขาจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง เช่น มันควรต้องมีผลต่อการประเมินperformance หรือการทำงานของเขามั้ย เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะต้องอยู่ในการประเมินผลด้วย ไม่ใช่ว่าเราประเมินแต่ผลลัพธ์ที่เราได้อย่างเดียว แต่ควรจะประเมินด้วยว่า พนักงานได้นำทักษะ ความรู้ใหม่ หรือประสบการณ์ไปใช้จริงในงานหรือเปล่า ทั้งหมดนี้เป็นส่วนแรกที่เราคาดหวัง

ที่สำคัญที่สุดคือ การนำทักษะไปใช้อย่างต่อเนื่องในการทำงาน การต้องกลับไปเป็น role model หรือเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ ในหน่วยงานของเขาที่อาจจะยังไม่มีโอกาสเข้ามารับการฝึกอบรม หรือเข้ามาในโปรแกรม ต้องคิดว่าทำยังไงให้เขาได้มีโอกาสส่งต่อความรู้ที่เรียนมาให้คนอื่นได้รับทราบ แล้วก็มีความสนใจจะนำไปปรับใช้ หรือมีความสนใจที่จะเข้ามาในโปรแกรมนี้ต่อ เพื่อให้เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกันด้วย ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราคาดหวังอย่างที่สองครับ
คนแบบไหน หรือพนักงานแบบไหน คือแบบอย่างในอนาคตที่ SCB ต้องการที่จะมี

ผมคิดว่ามีหลายเรื่องนะครับ แต่ว่าเรื่องที่สำคัญจริงๆ ก็คือต้องเป็นคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดเวลา สามารถนำความรู้ใหม่ ประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับมาปรับเปลี่ยน และปรับปรุง เพื่อช่วยในกระบวนการทำงานของเขา ทำให้ product หรือ solution ที่จะนำเสนอให้ลูกค้า สามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคนที่จะประสบความสำเร็จได้ในอนาคตก็คือ คนที่เมื่อเรียนรู้แล้ว ต้องทดลองทำ ลงมือจริง ลองไปเจ็บจริง พลาดกับมัน แล้วก็เรียนรู้จากมัน แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ปรับปรุงในการทำงานครั้งต่อไปเรื่อยๆ  

เพราะในปัจจุบันหรือโลกในวันข้างหน้าจะไม่มีสูตรตายตัวหรือสูตรสำเร็จว่า ถ้าทำแบบนี้แล้วเราจะสำเร็จ 100% เพราะฉะนั้น เมื่อโลกมันเป็นแบบนี้ มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เข้ามามากมาย การเรียนรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ การเรียนรู้ในห้องเรียนอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่อาจจะเป็นตัวช่วย ขณะเดียวกัน การเรียนรู้ในการทำงานจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แล้วถ้าเรามีกระบวนการที่ดี หรือมีเครื่องมือที่สามารถทำให้คนๆ หนึ่งสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ตรงนั้นจะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของเขาเลย  

คุณคิดว่าทักษะอะไรบ้าง ที่ผู้นำควรมี โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการ Training  หรือการดูแลพนักงาน   

จริงๆ มีหลายเรื่อง แต่อาจจะเอา 2 เรื่องสำคัญสำหรับช่วงเวลานี้ก็ได้ครับ เรื่องแรกผมคิดว่าเป็นเรื่องของการบริหารการเปลี่ยนแปลงหรือ Change Management  ครับ เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเยอะมาก จำเป็นที่คนของเราต้องปรับตัวแล้วก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ผู้นำที่ดีจะต้องเป็นคนที่สามารถสร้างบรรยากาศ หรือสภาพแวดล้อมให้คนพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่เราต้องการให้ได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนที่จะประสบความสำเร็จก็มีหลายองค์ประกอบด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องของการสื่อสาร หรือ Communication เพราะมันเป็นเรื่องแรกๆ ที่สำคัญเลย เช่น เวลาเราต้องการจะเปลี่ยนเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราทำให้คนเข้าใจหรือยังว่า เขาจะเปลี่ยนยังไง เปลี่ยนทำไม มันต้อง Start with Why ทำไมคุณถึงต้องเปลี่ยน   

เมื่อสื่อสารให้ชัดแล้วว่าเราจะเปลี่ยนยังไง ทำไมต้องเปลี่ยน มันก็มักจะมีคำถามตามมาจากคนที่เราต้องการเปลี่ยนว่า เปลี่ยนแล้วเขาจะได้อะไร เปลี่ยนแล้วชีวิตเขาจะดีขึ้นยังไง มีผลประโยชน์กับเขายังไง เราต้องทำให้เขาเห็น ให้เขารู้สึกว่า อยากจะเปลี่ยน หลังจากนั้น เราก็ต้องสร้างให้เขามีความรู้ใหม่ว่า การจะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานแบบนี้หรือทักษะแบบนี้ เขาควรมีความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง แล้วความรู้ตัวนี้สามารถเปลี่ยนให้มันเป็นทักษะ หรือความสามารถใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการทำงานได้ยังไง เพราะฉะนั้น คนเป็นผู้นำก็ต้องมีส่วนช่วยในการให้พนักงาน มีเวทีหรือมีโอกาสในการนำความรู้นี้ไปทดลองใช้ ทดลองปฏิบัติจริงให้เป็นความสามารถใหม่ขึ้นมา  

งานสุดท้าย ในหน้าที่ของผู้นำก็คือ Reinforcement นั่นคือการคอยกระตุ้นตลอดเวลา ว่าจะทำยังไงให้พนักงาน หรือลูกน้องตื่นตัวที่จะใช้ทักษะใหม่ หรือปรับพฤติกรรมใหม่ในการทำงาน เพราะฉะนั้น ก็จำเป็นจะต้องมีการสื่อสารและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง มีการพูดคุยซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอดเวลา มีการให้รางวัลต่างๆ ที่มันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ให้คนรู้สึกว่า ผู้นำเอาจริง ผมถึงได้บอกว่า การบริหารการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าทุกองค์กรต้องเปลี่ยนหมด การเป็นผู้นำที่มีความสามารถที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือหัวใจสำคัญของผู้นำในยุคนี้เลย   

อีกเรื่องก็คือ ถ้าผู้นำอยากจะสร้างให้องค์กร หรือว่าหน่วยงานของตัวเองเป็นหน่วยงานแห่งการเรียนรู้จริงๆ อีกสิ่งที่สำคัญก็คือผู้นำจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นผู้ที่เปิดโอกาส ให้โอกาสคนในทีมได้ทดลอง ได้ลองผิดลองถูกจริงๆ ต้องสร้างบรรยากาศแห่งความปลอดภัย ที่คนจะกล้าลอง กล้าถาม กล้าเสี่ยงกับสิ่งใหม่ๆ ไม่งั้นมันจะไม่มีทางให้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราได้แต่พูดว่า อยากให้คนลองผิดลองถูก แต่เมื่อไหร่ที่ลูกน้องทำอะไรที่มันไม่เข้าท่า แล้วเราตีมันตกไปทันทีโดยที่เขายังไม่ได้ทดลองเลย ผมเชื่อว่าสักพัก ความคิดใหม่ๆ หรือความต้องการที่อยากจะทำอะไรใหม่ๆ มันจะค่อยๆ หายไป ดังนั้นผู้นำจึงมีส่วนที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้คนเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ให้รู้สึกว่ามันปลอดภัย สามารถที่จะทำอะไรใหม่ๆ ได้ ทำ 10 ครั้ง มันจะเฟลไป 8-9 ครั้งก็ไม่เป็นไร สักวันเราจะเจอความสำเร็จเอง หรือถ้ายังไม่เจอ เราก็ยังสามารถนำสิ่งที่เราผิดพลาดหรือล้มเหลวไปเป็นบทเรียนที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคตได้ ผมเชื่อว่านี่เป็นอีกเรื่องที่สำคัญควบคู่ไปกับ Change Management  

พูดถึงเรื่อง Future Workplace บ้างดีกว่า ในมุมของคุณ มองว่าที่ทำงานในอนาคตจะเป็นแบบไหน แล้วการรักษา Human asset ในองค์กรจะเป็นอย่างไรกันต่อไป  

จริงๆ ตอนนี้เราเริ่มเห็นรูปแบบการทำงานในอนาคตบ้างแล้วนะครับ เช่น จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เห็นชัดเจนว่าหลายๆ องค์กรจะเริ่มใช้ Flexible workplace เปิดโอกาสให้คนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องอยู่ในออฟฟิศตลอดเวลา ทำเวลาไหนก็ได้ เพื่อให้มันสอดคล้องหรือเหมาะสมกับชีวิตของเขา ซึ่งตรงนี้ผมเชื่อว่าจะตอบโจทย์ทั้งกับคนในรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เขาสามารถบริหารชีวิตตัวเองได้ แล้วผมเชื่อว่าการทำงานแบบนี้ มันทำให้คนเรามีอิสระในการคิด ในการทดลองสิ่งใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องมาติดกรอบอยู่กับการทำงานในออฟฟิศครับ อนาคตเราน่าจะมีรูปแบบการทำงานแบบนี้ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ  

นอกจากนั้น ที่ทำงานในอนาคต ต้องเปิดให้คนได้ทดลอง ได้เรียนรู้ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอีกเหมือนกันว่า workplace จะไม่ใช่สิ่งที่เหมือนในอดีต ที่เราคิดว่าเรียนจบมหาวิทยาลัยมาแล้ว องค์กรเทรนเขาให้ได้ทักษะใดทักษะหนึ่ง แล้วให้เขาทำงาน โดยคาดหวังว่าเขาจะทำงานไปได้ 5 ปี 10 ปี โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม แค่มีประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งในยุคปัจจุบันอาจจะเป็นไปไม่ได้แล้ว Workplace ต้องเป็นพื้นที่ให้พนักงานสามารถเรียนรู้ได้ทุกวัน ตลอดเวลา เราจะต้องออกแบบการเรียนรู้ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน รวมทั้งมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ ไม่ว่าพนักงานอยากเรียนรู้อะไรก็สามารถเข้าไปเรียนรู้บนโลกของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตลอดเวลา  

หรือแม้แต่กระบวนการที่เราเรียกว่า Coaching Culture วัฒนธรรมการโค้ช ก็เป็นอีกรูปแบบของการเรียนรู้ ที่เราต้องการสร้างผู้นำให้เป็นโค้ช ผู้นำที่ต้องรับฟังปัญหา ความคิด หรือข้อกังวลต่างๆ ของคนในทีมหรือพนักงาน แล้วเราช่วยเขา ให้ใช้คำถามแบบ Powerful question ให้เกิดกระบวนการคิดเอง พัฒนาในตัวเอง ต่างกับผู้นำในยุคก่อน ที่ตอบคำถามพนักงานด้วยประสบการณ์ เช่น ถ้ามีปัญหาแบบนี้จะต้องเอาวิธี 1 2 3 นี้ไปใช้ เพราะผมเคยใช้มาแล้วในอดีต มันประสบความสำเร็จ  

เพราะโลกปัจจุบัน คำตอบที่เรามีมันอาจจะใช้ไม่ได้แล้วก็ได้ คำตอบที่เรามีมันอาจจะไม่ได้ถูกต้องเสมอไปก็ได้  หรือต่อให้คำตอบแบบนั้นถูกต้อง ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการพัฒนา เพราะฉะนั้น เราต้องเปลี่ยนจากการให้ Solution มาเป็นการใช้คำถาม เพื่อให้กระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดหาคำตอบเอง เพื่อที่คราวหน้าเขาจะได้ไม่จำเป็นต้องกลับมาหาเราเวลาที่เขาเจอปัญหา เขาก็สามารถใช้กระบวนการคิดเพื่อตอบปัญหาของตัวเองได้ พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น คำตอบก็คือ หนึ่ง  Workplace ในยุคนี้หรือในยุคอนาคต จะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งสถานที่ และเวลาต่างๆ  ประเด็นที่สองก็คือ เป็น Workplace ที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งจากสภาพแวดล้อม จากผู้นำและจากแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ด้วย  

อยากให้คุณแชร์วิธีคิด กระบวนการคิดในการสร้างหลักสูตรที่ทำ SCB Academy ให้โดดเด่น เป็น Success story ขององค์กรก็ได้  

ตอนนี้เราบอกว่า คนของเราต้องมีทักษะอนาคต หรือ Future skills ซึ่งในปีนี้ เราให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องนะครับ เรื่องของ Data Analytics เรื่องของ Customer Centric จะเป็น Design Thinking หรือ Design Sprint ก็ตาม เรื่องที่ 3 คือ Lean กับ Agile ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องการให้คนทั้งธนาคารมีทักษะนี้ในการทำงานแต่ละวัน ยกตัวอย่างโครงการของ Lean ก็ได้ เราใช้ชื่อว่า Lean Out Loud เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเรียน พร้อมกันทั้งหน่วยงาน มีการเอาโปรเจ็กต์ของหน่วยงานตัวเอง หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในหน่วยงานตัวเองขึ้นมาตั้งเป็นโจทย์ ระหว่างการเรียนเขาจะได้เรียนเครื่องมือของการ Lean ติดอาวุธให้เขารู้ว่า เขาสามารถนำอะไรไปใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน หรือลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ หรือลด waste ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคือเขาจะสามารถเอาสิ่งที่เรียนรู้จากในห้องเรียนมา apply กับปัญหาของเขา หรือโปรเจ็กต์ของเขาได้ทันที ณ ตอนนั้น

โดยสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ระหว่างทางที่เขาทำโปรเจ็กต์นั้น เราจะมีโค้ชให้ ซึ่งเป็นพนักงานของเรานี่แหละ แต่เป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ เกี่ยวกับเรื่อง Lean ได้ certificate เป็นที่ยอมรับในสากล แล้วเขาจะเป็นคนคอยให้คำแนะนำ ชี้ทางให้ตลอดระยะเวลาที่ทำโปรเจ็กต์ แล้วที่สำคัญคือ เอาหัวหน้าหรือผู้นำในหน่วยงานของเขา เข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจบจน ให้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ มาคอยให้คำแนะนำอีกทางหนึ่ง มาคอยให้ฟีดแบ็ก แล้วก็มีส่วนในการเรียนรู้ร่วมกันไปด้วย ระหว่างทางเราก็มีกิจกรรมที่เรียกว่า Show & Share ให้แต่ละคนได้กลับมาเสนอไอเดีย เสนอผลงานที่ตัวเองทำ จนกระทั่งจบกระบวนการ แล้วหลังจากนั้นเราก็ให้เขาเอาไปลงมือทำจริง ๆ เพื่อให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงกับหน่วยงานนั้นจริงๆ   

หลังจากนั้น ระหว่างทางในโปรแกรมเราก็มีการสร้าง Community หรือสร้างสังคมของการเรียนรู้ ด้วยการมีแพลตฟอร์มที่เป็นออนไลน์ มีกิจกรรมต่างๆ เช่น พอดแคสต์ หรือมีไลฟ์ ที่เป็นลักษณะของการให้ความรู้ทั้งจากคนในองค์กรเอง หรือผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดเวลาได้  

สิ่งที่สำคัญนอกจากนี้ก็คือ เราใช้หลักสูตรของต่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริหารระดับกลางได้เรียนออนไลน์ ได้พัฒนาทักษะการเป็นหัวหน้าหรือความเป็นผู้นำของเขา แต่จุดที่สำคัญของโปรแกรมนี้ก็คือ เราจะให้คนข้างนอก ซึ่งเป็นระดับ Professor มาสอนผ่านระบบออนไลน์ แต่การสอนในห้องเรียนของเรา เราจะให้ผู้บริหารของเรามาสอนเอง การให้ผู้บริหารมาสอนเองทำให้เขาสามารถสอนในบริบทหรือสถานการณ์ขององค์กรจริงๆ ทำให้คนที่มาเรียนสามารถเชื่อมโยงได้มากกว่าการให้ Professor ที่ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับองค์กรเรามาสอน  

ระหว่างการเรียนออนไลน์เรามีโค้ชให้ด้วย โค้ชของเราก็คือผู้บริหารเหมือนกัน เราให้ผู้บริหารมาเป็นโค้ชให้คนเรียนโปรแกรมนี้ โดยนัดเจอกันทุก 2 อาทิตย์ หรือ 3 อาทิตย์ มีแบบฝึกหัดให้ทำระหว่างทาง โดยจะต้องนัดเจอกัน นัดคุยกัน ซึ่งผมว่ามันมีประโยชน์ทั้งสองฝั่ง น้องๆ หรือผู้บริหารระดับกลางก็จะมีความรู้สึกดีที่ได้มีโอกาสเข้าไปรับคำปรึกษา ได้คุยกับผู้บริหารระดับสูง เรื่องการเป็นผู้นำ หรือทักษะในการบริหารจัดการต่างๆ ในขณะเดียวกัน เราอยากให้มีการสร้างวัฒนธรรมของการโค้ช เพื่อเปิดเวทีให้ผู้บริหารระดับสูงได้ฝึกทักษะการโค้ชของตัวเอง เพื่อให้เขาได้เข้าใจปัญหาหรือบริบทของผู้บริหารระดับรองๆ ลงมา ว่ากำลังเจอสถานการณ์อะไรอยู่ ทำให้เขาสามารถปรับปรุงภาวะผู้นำของเขาได้ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งเราเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับองค์กรในอนาคตครับ
ในอนาคต SCB Academy จะมีการพัฒนาอะไรอีกบ้าง เช่นเรื่องแพลตฟอร์มที่ทราบว่ามีการลงทุนและพัฒนาไปมาก  

ผมแบ่งเป็น 2 เรื่องครับ เรื่องแรกคือเรื่องแพลตฟอร์ม กับ เรื่องของการเรียนรู้ในองค์กรเอง อันนี้ผมเชื่อว่าทุกองค์กรกำลังทำอยู่ หลายๆ องค์กรก็น่าจะทำได้อย่างประสบความสำเร็จ เพราะว่าอย่างที่บอก ในโลกของการเรียนรู้ในปัจจุบัน คนจะไม่มีเวลามากพอที่จะเอาเวลามาเรียนในห้องเรียน หรือเรียนเป็นโปรแกรมยาวๆ จึงเป็นความจำเป็นที่องค์กรต้องสร้างแพลตฟอร์มที่ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง สามารถวางแผน หรือออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองในอนาคต การทำคอนเทนต์เพื่อการเรียนรู้เรื่องพวกนี้จะต้องทำเป็นแบบ Micro learning  คือมันไม่ควรใช้เวลานานมาก แต่ใช้เวลาเรียนแค่ 5 นาที หรือ 10 นาที ก็ควรจะได้ทักษะใหม่ ความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที  

ตอนนี้เทรนด์การเรียนรู้คือ Learning in the flow of work หรือ Learning in the flow of life คือทำงานไป ใช้ชีวิตไปแล้วก็เรียนรู้ไป เพราะฉะนั้น เราจะทำยังไงที่จะออกแบบแพลตฟอร์มให้มันตอบโจทย์เรื่องนี้ที่สุด เมื่อเกิดปัญหาหน้างาน เมื่อต้องไปคุยกับลูกค้า แต่ไม่รู้จะคุยกับลูกค้าเรื่องนี้ยังไง สามารถเข้าไปแพลตฟอร์มนี้ ค้นหาเรื่องที่เราต้องการรู้ เรียนรู้ได้ใน 5 นาที 10 นาที แล้วสามารถเอาไปใช้ได้ทันที ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญของแพลตฟอร์มในอนาคต อีกเรื่องหนึ่งก็คือสำหรับในองค์กรเอง ผมเชื่อในเรื่องของการสร้าง Active community หรือแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดสังคมที่คนมาแบ่งปันองค์ความรู้กัน คนที่มีความรู้เรื่องนี้มากกว่าคนอื่น สามารถมาแชร์ความรู้ ประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะล้มเหลวหรือสำเร็จ  เพื่อช่วยทำให้คนอื่นได้เรียนรู้ไปด้วย หรือใครต้องการความรู้ ต้องการความช่วยเหลือ สามารถมาแพลตฟอร์มนี้แล้วขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ มันจะเป็นสังคมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างยั่งยืน  

ส่วนอีกเรื่อง เป็นเรื่องเพื่อคนข้างนอก เพื่อสังคม คือมันมีความคิดของทีมเราว่า หลังจากลองทำงานกันมา 3-4 ปี มีทั้งประสบความสำเร็จ มีทั้งความล้มเหลว แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้มา เราก็เชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะกับคนในองค์กรแต่กับสังคมรอบข้างด้วย เราคิดว่า ปัจจุบันประเทศเราต้องการแพลตฟอร์มที่ช่วยในการพัฒนาคนเพื่อรองรับกับโลกของอนาคต ตอนนี้เราเลยสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาชื่อ พลเมืองดี ชื่อเต็มคือ พลเมืองดิจิทัล แต่ว่าชื่อย่อคือพลเมืองดี หรือ PMD ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้หลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวกับทักษะอนาคต เช่น Customer Centric  Data Analytics  Agile หรือ Digital Technology ต่างๆ  

หลังจากทดลองทำมาได้ 4-5 เดือน เราก็อยากให้มันไปถึงระดับของการสร้างโอกาสให้คนทั่วไป เช่น เพื่อช่วยคนตกงานให้เขามีโอกาสได้งานใหม่ หรือให้เขาได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น  แต่ทั้งหมดนี้ เราทำด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ แต่เราต้องมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์ดีๆ เป็น specialist ในสาขาต่างๆ มาช่วยกันให้ได้มากที่สุด เราจึงออกไปคุยกับพาร์ตเนอร์หลากหลายทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐบาล องค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนใหญ่ทุกคนมีแพสชันอยากช่วยเหลือกันทั้งนั้น เราก็ไปชวนให้เขานำคอนเทนต์ของเขาเข้ามา เอาโปรแกรมของเขาเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มของเรา แล้วเราก็พยายามไปหาคนที่มีความสนใจอยากจะพัฒนาตัวเองมาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ เป็นการดึงดูดคนทั้งสองกลุ่มมาอยู่ในแพลตฟอร์มการเรียนรู้นี้ด้วยกัน โดยที่แพลตฟอร์มนี้จะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร ทุกคนเรียนฟรี พาร์ตเนอร์ที่เข้ามา ก็มาด้วยใจจริงๆ ไม่คิดค่าใช้จ่ายอะไร แล้วมาพัฒนาทักษะของโลกของอนาคตด้วยกันครับ  

โครงการนี้ จะใช้ชื่อ PMD 47 ซึ่งจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ ก่อนหน้านี้เราทดลอง Launch โปรแกรมที่เป็น Special track ของ PMD 47 อยู่ 2 โปรแกรม คือ Data Analytics for Upskilling เป็นโปรแกรมพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นให้กับประชาชนทั่วไป โดยร่วมมือกับสถาบัน AIT ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลคือ DEPA ทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา ตอนแรกเราตั้งใจว่าจะมีคนเข้ามาเรียนสักประมาณ 400-500 คน แต่ตอนนี้มีคนเรียนกว่า 5,000 คน แล้ว มาเรียนฟรี ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไร คนที่มาเรียนรู้ 5,000 คน ก็มีทั้งคนที่มีความสามารถในระดับหนึ่งแล้ว และคนที่เริ่มจากศูนย์ ทุกคนแลกเปลี่ยนกัน ช่วยเหลือกันใน Community แล้วระหว่างทางก็มีอาจารย์คอยให้คำแนะนำ ตลอดทางมีการตรวจการบ้านให้ จนกระทั่งเขาเรียนจบ มี Certification รับรอง

อีกเรื่อง ก็คือเรื่องของ Coding ทักษะในการเขียนโปรแกรม เราใช้ชื่อว่า Coding The Future เราร่วมกับสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ร่วมกับ Microsoft เปิดรับประชาชนทั่วไปตั้งแต่คนที่ไม่มีประสบการณ์ เริ่มจากศูนย์เลยก็ได้ หรือจะพอมีประสบการณ์ก็ได้ แต่อยากมีความสามารถในการเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือเขียนโค้ดได้ หลักสูตรนี้ใช้เวลา 6 เดือน ใช้เวลาค่อนข้างเยอะนะครับ หลักสูตรนี้ก็เป็นออนไลน์เช่นเดียวกัน แต่ระหว่างทางก็มี Teacher Assistant คอยให้คำแนะนำ ปรึกษา และต้องทำโปรเจ็กต์จริง ลงมือปฏิบัติจริง เชื่อว่าถ้าจบตรงนี้ไป ถ้าเขาจบสามารถสอบผ่าน ทำโปรเจ็กต์สำเร็จ เขาสามารถนำประสบการณ์ตรงนี้ไปสมัครงาน หางานได้ทันที อนาคตก็คิดว่า PMD 47 จะสามารถตอบโจทย์กับสังคมในวงกว้างได้มากขึ้น ทางไทยพาณิชย์เชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นการรวมพลังกับพาร์ตเนอร์ของเรา เพื่อสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาช่วยสังคมไทย ให้เตรียมความพร้อมสำหรับโลกอนาคตให้ได้

มาถึงตรงนี้ คุณคิดว่า mindset แบบไหน ที่สำคัญ สำหรับคนคนหนึ่ง ที่จะช่วยในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้  

ก็ต้องเป็นความเชื่อว่าตัวเขาเองยังพัฒนาต่อไปได้ครับ คือ ถ้าคนเราเชื่อว่า เรายังมีศักยภาพที่จะขุดความสามารถขึ้นมาจากตัวเราเอง และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ได้ ผมว่าถ้ามี Mindset แบบนั้นแล้ว เมื่อเขาเจอสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ เรื่องใหม่ๆ เขาก็จะมีความพร้อมที่จะลงไปลุยกับมัน ไปเรียนรู้กับมัน หยิบมันขึ้นมาใช้เพื่อพัฒนาตัวเองต่อไปได้เอง

ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรต้องมีความเชื่อนั้น ก่อนจะไปที่เรื่องของการเรียนรู้ด้วยซ้ำ 
Created with