5 คำถามกับ หมอนัท คลินิกกองทุน | สุขภาพทางการเงินหายได้ถ้ารีบรักษา

Written by WILAIRAT AIMAIEM


หมอนัท คลินิกกองทุน-ธนัฐ ศิริวรางกูร หรือที่ใคร ๆ รู้จักกันดีในชื่อ หมอนัท คลินิกกองทุน ที่นำเสนอเนื้อหาสาระที่สนุก เข้าใจง่ายเกี่ยวกับการลงทุนและการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เจ้าของหนังสือชื่อ กองทุนเปลี่ยนชีวิต เพื่อชีวิตอิสระ และ ฉลาดทุกเรื่องยกเว้นเรื่องเงิน แน่นอนว่าคำว่าหมอไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

แต่เป็นเพราะก่อนหน้านี้หมอนัท จบการศึกษาด้านสัตวแพทย์ และเคยทำงานในแวดวงสัตวแพทย์อยู่พักหนึ่ง แต่ด้วยความสนใจส่วนตัวด้านการเงิน เจ้าตัวก็เลยแบ่งเวลาไปเรียนปริญญาโทด้านการเงินมาอีกใบ สนุกกับความรู้ด้านการเงินมากจนกระทั่งไปสอบ CFP หรือคุณวุฒิรับรองด้านการเป็นนักวางแผนทางการเงินอย่างเต็มตัว หันหลังให้อาชีพสัตว์แพทย์ มาดูแลสุขภาพทางการเงินของลูกค้าแทน
วันนี้เอ่ยชื่อ หมอนัท คลินิกกองทุน คงต้องยอมรับว่า เป็นชื่อของวิทยากรสายการเงินลำดับต้นๆ ในวงการที่หลายหน่วยงานมักชวนไปบรรยายอย่างสม่ำเสมอ และแน่นอน เขาตกปากรับคำมาสอนคอร์สบริหารการเงินส่วนบุคคลกับ Shift ACADEMY ด้วยเนื้อหาเข้าใจง่ายอันเป็นเอกลักษณ์ แต่เข้มข้นและเน้นการฝึกฝนให้ทำได้จริง ซึ่งคุณอาจไม่เคยเรียนที่ไหนมาก่อน ไปทำความรู้จักหมอนัท ก่อนลงเรียนกับเขาได้เลย

1. หมอนัท คลินิกกองทุนคิดว่าอะไรคือปัญหาการจัดการเงินส่วนบุคคลที่เห็นได้กับคนทั่วไป หรือมีปัญหาอะไรที่ควรแก้ไขเพื่อให้คนมี money literacy (ความฉลาดทางการเงิน) ให้มากกว่านี้
ปัญหาหนึ่งที่ผมพบบ่อย ๆ ในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ก็คือ คนจำนวนมาก ไม่ค่อยมองภาพระยะยาว ได้เงินมาก็ใช้ อีกนิสัยหนึ่ง ที่น่าจะเป็นนิสัยของคนไทยคือ ต้องมีคนบังคับ ถ้าไม่มีคนบังคับ ก็ไม่ค่อยทำ เช่น ต้องบอกเลยว่าให้ทำอะไรบ้าง 1 2 3 4 5 เพราะบางทีเขาก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าต้องทำอะไร บางคนเรียนจบทำงานใหม่ๆ ยังไม่รู้เลยว่าต้องยื่นภาษี ยังไม่รู้เลยว่าเงินเดือนที่ได้มา ต้องยื่นแบบเข้าไปในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรเพราะว่าหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ได้เงินมาตัดภาษีไปแล้ว แปลว่าเราจ่ายภาษีไปแล้ว ไม่ต้องไปยื่นแบบกับกรมสรรพากรก็ได้

แต่ประเด็นคือ เราคนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี อย่างนี้เขาก็ไม่รู้เพราะว่าไม่มีใครบอกเขา พอไม่มีความรู้ ก็ไม่มีวินัยทางการเงิน อย่างสิงคโปร์เขามีวินัยดีมากนะ คือเวลาได้เงินเดือนมา บริษัทจะหักค่าใช้จ่ายไว้เยอะมากเลย จำอัตราส่วนไม่ได้แน่นอนว่ากี่เปอร์เซ็นต์ แต่จะมีการหักเงินไปออมในระยะยาว เช่น ก้อนที่หนึ่งเพื่อการเกษียณ ห้ามถอนจนกว่าจะเกษียณ ก้อนที่ 2 หักเพื่อให้เก็บออมไว้ซื้อบ้าน ก้อนที่ 3 เงินเพื่อรักษาพยาบาล ก้อนที่ 4 เงินเบ็ดเตล็ด ใครจะซื้อโน้ตบุ๊ค ก็ถอนออกมาใช้ได้

การบริหารจัดการเงินเขาค่อนข้างดี เพราะเขารู้ว่าเขาเหลือเงินเดือนเท่าไหร่แน่ต่อเดือน ถึงจุดที่เขาจะซื้อบ้านหรือทำอะไร เขาก็จะมีเงินของเขา เป็นวินัยที่เกิดจากการบังคับ ซึ่งผมว่าบ้านเราก็ควรทำแบบนั้น เพราะว่าไม่งั้นเก็บเงินไม่อยู่

2.จากประสบการณ์เป็นนักวางแผนการเงิน หรือที่ปรึกษาทางการเงิน คุณคิดว่านิสัยการเงินที่ไม่ดีคืออะไร
มีคนจำนวนมากที่ประเมินรายรับมากกว่ารายจ่ายที่ควรจะเป็น เรื่องแบบนี้มีสาเหตุครับ ยกตัวอย่างเคสที่มักเจอบ่อย ๆ คือคนทำงานในโรงงาน ที่ได้เงินเดือนประมาณ 13,000–15,000 แต่ได้ค่าล่วงเวลาหรือโอทีประมาณ 20,000 บาท แต่พอไปซื้อผ่อนของ ก็จะคิดว่ามีเงินเดือน 35,000 ซึ่งมันไม่ใช่ เงินเดือนเขาแค่ 15,000 พอช่วงไหน โอทีหาย บริษัทไม่ให้ทำ รายได้หาย ก็จะเริ่มกลายเป็นหนี้

ซึ่งปัญหานี้เกิดกับคนทำงานทั่วไปที่มีค่าโอทีด้วยนะครับ ปัญหาคือ จริง ๆ แล้วเราไม่เคยรู้หรอกว่า เราเหลือเงินเท่าไหร่ เราไม่เคยทำบัญชีค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เวลาผมไปบรรยาย “ยกมือใครทำบัญชีค่าใช้จ่ายบ้าง” ผมกล้าพูดว่าแต่ละบริษัทมีไม่เกิน 10 คน สมมติว่าผมบรรยาย 60 คน บางบริษัทไม่มีเลย บางบริษัทมี 2 คน ทั้งที่การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยให้คุณรอด และช่วยในการปลดหนี้ได้ด้วย

ผมเคยทำเคสหนึ่ง เป็นวิจัยเรื่องหนี้ พนักงานเงินเดือน 45,000 ปัจจุบันก็ถือว่าอยู่ได้ เขาสามารถเที่ยวต่างประเทศได้ทุกเดือน แล้วมีบัตร 8 ใบเพื่อใช้วน ผมบอกเลยว่าอันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ยอดหนี้เกือบหลักล้าน แต่มีเงินเดือนไม่กี่หมื่น เพราะบัตรหนึ่งได้ 5 เท่าเข้าไปแล้ว ผมก็ถามเขาในงานวิจัยว่าอะไรทำให้เขาสร้างหนี้ได้ขนาดนั้น เขาบอกว่า ก็เงินที่มีในบัตรถือเป็นเงินของเขา

ซึ่งคิดแบบนี้มันผิดตั้งแต่ mindset แรกแล้วว่าคือเงินของเขา พูดง่ายๆ ว่าคุณมีบัตรเครดิต 1 ใบ ซึ่งกู้ได้ 5 เท่า 5 เท่านี้เป็นเงินที่คุณมีสิทธิจะใช้ ก็เลยคิดว่าฉันมีเงินหมุนอยู่ประมาณ 200,000 แล้วก็คิดว่า 200,000 นี้เป็นของฉัน เก็เลยใช้ให้เต็ม ทีนี้ผมก็ถามว่า ถ้ามีเงินก้อนหนึ่ง จะเอาไปทำอะไร เขาบอกว่าก็โปะหนี้สักครึ่งหนึ่ง ที่เหลือก็เอาไปใช้ ผมก็เลยว่าไม่แปลก ที่เขาติดอยู่ในวงจรของการเป็นหนี้อยู่อย่างนี้

3.การจัดการเงินส่วนบุคคล จะมาช่วยอะไรได้บ้าง บางคนอยากจะเรียนมาก เพราะกลุ้มใจกับปัญหาการเงิน ทั้งที่จริง ๆ มันไม่ใช่เรียนแล้ว ปลดหนี้ได้ทันที
จริง ๆ แล้ว มันคือการเรียนเพื่อจะได้การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ยกตัวอย่างเช่น เงินเรามีจำกัดอยู่แล้ว ที่สำคัญคือเราจะแบ่งยังไง ให้มันไปถึงแต่ละเป้าหมายได้ โดยที่มันไม่รบกวนการเงินในชีวิตประจำวันของเรา ยกตัวอย่างเช่น ผ่อนบ้าน ปัจจุบันบ้านราคา 1 ล้านต้องผ่อนเดือนละ 5,000–7,000 บาทต่อเดือน สมมุติว่าเราซื้อบ้านราคา 3 ล้าน ต้องมีอย่างน้อย 15,000–20,000 ต้องมีไว้ผ่อนต่อเดือน ยังไม่รวมค่าอื่น ๆ อีก ไหนจะค่าส่วนกลาง ค่าบำรุงดูแลรักษา คราวนี้บางคนบอกว่ามีเงินเดือน 40,000 ผ่อนบ้านประมาณ 15,000–20,000 ไหว สบาย

แต่ต่อไปคราวนี้มีบ้านแล้วต้อง มีรถด้วย คือถ้าเราไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเราจะไม่รู้ เอ้ย! เงินเดือน 40,000 เราผ่อนรถอีกสักคันหนึ่งก็ไหว ซื้ออีโคคาร์เลยสักคันหนึ่ง ผ่อนต่อเดือนประมาณ 7,000–8,000 นี่ยังไม่ได้รวมค่าน้ำมัน คิดเฉพาะค่าผ่อน ถ้ารวมค่าน้ำมันอีก 5,000 กว่าบาท ไม่รวมค่าดูแลรักษา

คือจริง ๆ ถ้าสองเป้าหมายนี้ทำพร้อมกัน ต้องใช้เงินประมาณสัก 30,000 มีเงินเดือน 40,000 ก็ไม่พอแล้ว แต่เพราะเราไม่ได้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เราเลยไม่เห็นจำนวนที่แท้จริง ถ้าเราทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะเห็นว่ามันไม่ไหวที่จะทำสองเป้าหมายนี้พร้อมกัน เราต้องเลือก ต้องลำดับความสำคัญของเป้าหมายเรา แต่เพราะเราไม่เคยทำ ไม่เคยฝึกทำมาก่อน ยิ่งมีบัตรเครดิตด้วยก็สบายเลย

บางบริษัทมีสวัสดิการด้วยผมเคยเจอ บริษัทสวัสดิการดีมาก ให้กู้ค่าใช้จ่ายธรรมดา ดอกเบี้ย 2% พนักงานทุกคนคิดว่านี่เป็นสิทธิที่ตนเองต้องกู้ เป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว บางทีรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง เฮ้ย! เอ็งเข้ามาบริษัทนี้ สิ่งแรกที่จะต้องทำคือเตรียมเอกสารกู้เงินเลย มันเป็นสิทธิของเรา แต่ผมอยากบอกว่าต้องเข้าใจก่อนว่า สิทธิของเรามันคือเงินของคนอื่นนะ ทุกคนไม่ได้คิดว่า แล้วอยู่ ๆ จะไปนั่งจ่ายดอกเบี้ยทำไม คือไม่มีวัตถุประสงค์ของการกู้ด้วย ถ้าเราไม่ฉุกคิด แต่ทำไปเพราะเพื่อนบอก ก็จะลำบาก

4. เคสที่คุณภูมิใจ ที่สามารถช่วยคนแก้ปัญหาทางการเงินได้
มีน้องคนหนึ่งเขาหลังไมค์มา บอกว่าเขามีเป้าหมายหลายอย่างมาก เขาก็ปรึกษาว่าจะทำยังไงดี หนึ่งในนั้นคืออยากเปิดร้านขนม เราก็บอกว่าทำแบบนี้นะ ลงทุนตามนี้ เขาก็ไปทำ แล้วก็หายไปเป็นปี แล้วก็กลับมาบอกว่าพี่นัท ที่หนูบอกไว้ตอนแรก เป้าหมายไม่ได้ทำแบบนั้นเลยนะพี่

แต่เขาบอกว่าเขามีเงินเก็บมากกว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน และจะเอาเงินเก็บก้อนนี้ไปทำอย่างอื่น อย่างที่เพื่อนในรุ่นเดียวกันทำไม่ได้ ผมก็โอเค ไม่มีปัญหา ผิดแผนก็จริงแต่อย่างน้อยมีเงินไปทำอย่างอื่นต่อ จากนั้นหายไปอีก แล้วเขาก็ทักมาในเฟสบุ๊ก ส่วนตัวผมเลย พี่นัทจำหนูได้ไหม ตอนนี้ล่าสุดเลิกกับแฟน แล้วเอาเงินที่เก็บไว้ทั้งหมด ที่เคยคิดว่าจะทำหลายเป้าหมาย เอาไปเที่ยวรอบโลกแทน หมายความว่าได้ใช้ชีวิตที่ตัวเองอยากทำแล้ว

เขาก็บอกว่าถ้าไม่มีพี่นัทในวันนั้น หนูทำอะไรแบบนี้ไม่ได้จริง ๆ เคสนี้ความภูมิใจของผม มันไม่ได้อยู่ที่ช่วยให้คนอื่นทำตามเป้าหมายไปมากน้อยแค่ไหน แต่มันคือการทำให้คนๆ หนึ่งรู้วิธีบริหารจัดการเงินได้ในระยะยาว และในที่สุดเขาก็ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เขาอยากทำ
5.หลักสูตรที่หมอนัทจะสอนที่ Shift Academy มีความแตกต่างหรือมีอะไรที่พิเศษกว่าหลักสูตรที่เคยสอนมาบ้าง
ที่ Shift Academy ผมจะเน้นเวิร์กช้อป เป็นหลัก ให้นั่งทำแบบฝึกหัด ลองเขียนแผนทางการเงิน เพราะถ้าเขาไม่เคยลองทำ กลับไปทำเองก็จะยาก ถ้าเราให้ลองทำแล้วมาส่งงาน เพื่อให้เป็นเค้าโครงกลับไปทำที่บ้านต่อ อันนี้ผมว่าดี ดีกว่าการไปสอนอย่างเดียว เสร็จแล้วจะลองให้ทุกคนลงทุน สอนเปิดพอร์ต แล้วผมจะไม่ได้ให้ลงทุนเปิดพอร์ตธรรมดา เช่น ซื้อกองทุนรวมหรือซื้อหุ้นธรรมดา

แต่เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล ทุกอย่างลงทุนในต่างประเทศได้ ผมจะพาทุกคนเปิดพอร์ตที่ต่างประเทศจริง เปิดบัญชีออนไลน์ ซื้อขายเงินดิจิตัลให้เป็น พวกนี้เขาเรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Exotic product) คือพวกค่าเงิน แล้วพอเปิดพอร์ตเสร็จ ให้คุณลงทุนตั้งแต่บาทแรกเลย ความรู้สึกการลงทุนนี้เป็นอย่างไร อาจารย์ที่ผมเชิญมาจะเก่งในเรื่องนี้มาก คุณจะได้ลองขาดทุนจริง ฝึกจากเรื่องจริง เจ็บจริง ได้รู้ความรู้สึกจริง ๆ พอไปเปิดพอร์ตทำเองจริงๆ จะได้ไม่กลัวf

“ผมไม่สอนแต่วิธีการอย่างเดียว เพราะถ้าสอนให้เขาทำได้จริงในห้องแล้ว เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้น อาจารย์ก็อยู่ตรงนั้น อาจารย์เล่าให้ฟังได้ว่าเพราะอะไรทำไมตัวเลขเปลี่ยนเป็นแบบนี้ นี่เป็นครั้งแรกเลยที่จะสอนแบบนี้”

สนใจเรียนคอร์สการเงินส่วนบุคคลกับหมอนัท เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่นี่ คลิก

ขอบคุณ CSO (Corporate Serviced Offices) เอื้อเฟื้อสถานที่ในสัมภาษณ์ www.CSOThailand.co.th
Created with