ชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานบุคคลแห่ง Gulf Energy ที่คัดคนด้วยการถามถึงความล้มเหลวก่อนความสำเร็จ

หลายครั้งที่เรามักจะได้ยินว่า การพัฒนาที่ยากและท้าทายที่สุด ไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาระบบอะไรที่ไหนไกลตัว หากแต่เป็นเรื่องของการพัฒนาคน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมสำหรับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ มายด์เซ็ตหรือกรอบความคิดของคนเรานั่นเองที่ทำให้เปลี่ยนยากที่สุด

จะว่าไปคนที่เข้าใจคำพูดนี้ได้อย่างลึกซึ้ง ก็น่าจะเป็นคนที่ทำงานในสายงานพัฒนาบุคคลนี่เอง

คุณชุ หรือ ชุติมา สีบำรุงสาสน์
คือชื่อในลำดับต้นๆ ที่เราคิดถึงเมื่อเรามองหาใครสักคนมาพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะ การบริหารบุคคล ซึ่งเหตุผลที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ก็เพราะว่า เธอคร่ำหวอดอยู่ในสายงานพัฒนาบุคคลมามากว่า 30 ปี โดยตำแหน่งล่าสุดของเธอในเวลานี้ก็คือ ผู้อำนวยการบริหารสายงานบริหารทรัพยากรบุคคลแห่ง Gulf Energy Development Public Company Limited

“Gulf เป็นองค์กรที่กำลังเจริญเติบโต และเป็นการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย งานที่เรารับผิดชอบก็คือต้องมองหาคนที่ใช่ ให้เจอกับงานที่ชอบ และพัฒนาให้เขามีความสามารถยิ่งขึ้น ทำยังไงให้เขาอยู่กับเรานานๆ เพราะสำหรับเรา คนที่ใช่คือคนที่พร้อมจะเรียนรู้ ต่อยอด เปลี่ยนแปลง เห็นสิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องท้าทาย เพื่อจะได้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร ที่สำคัญต้องเป็นคนมีทัศนคติที่ดี ทำงานเป็นทีม ใฝ่รู้ นี่แหละคือคนที่ใช่ของเรา”

Shift Your Future มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณชุ ในหลายเรื่องเท่าที่เวลาในวันนั้นจะเอื้ออำนวย คุยกันกระทั่งเรื่องที่ว่า คำถามที่ยากที่สุดที่เธอเคยถามตอนสัมภาษณ์งาน แล้วแคนดิเดตอึ้งไปตามๆ กันคืออะไร

บทสัมภาษณ์นี้ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีเป้าหมายในการพัฒนาตัวเอง และคนที่กำลังมีคำถามว่า บริษัทใหญ่ๆ เขารับคนแบบไหนเข้าทำงาน?
ตลอดระยะเวลาที่คุณทำงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลหรือ HR มาหลายสิบปี และยังทำงานมาในหลายบริษัท อยากรู้ว่าอะไรเป็นความต้องการที่เป็นจุดร่วมของพนักงานในแต่ละองค์กร

สิ่งที่ทุกคนต้องการเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเข้าไปทำงานในบริษัทไหนก็ตาม อันดับแรก เขาคงอยากรู้ว่าเขามาอยู่ที่นี่เพื่ออะไร เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดี ตัวของคนคนนั้นก็คงต้องตอบว่า Purpose หรือเป้าประสงค์ ที่เข้ามาทำงานนั้น เขาเข้ามาเพื่ออะไร และเมื่อเข้ามาแล้ว ได้ทำงานเพื่อตอบ Purposeของตัวเองไหม เช่น ถ้าเขาอยากทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หรืออยากใช้ความรู้ของเขาในการทำงาน เขาได้ทำมั้ย ถ้าได้ทำแล้ว เขาได้รับการยอมรับหรือมองเห็นมั้ย มีใครบอกเขาหรือเปล่าว่า ทำงานดีหรือไม่ดีอย่างไร เขาได้รับรางวัลจากสิ่งที่ทำหรือเปล่า ตรงนี้เป็นเรื่องปกติ ทำดีได้ดี ทำไม่ดีก็ต้องพัฒนาและปรับปรุง

เรื่องต่อไป เราเชื่อว่าทุกคนเวลาเข้ามาในองค์กรคงไม่ได้อยากหยุดอยู่ที่จุดเดียว แต่คงต้องอยากเรียนรู้ต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่พนักงานต้องการต่อไปก็คือ การพัฒนาศักยภาพ ต้องดูว่าบริษัทเห็นความสามารถของเขามั้ย บริษัทเตรียมความเพื่อให้เขาเติบโตได้แค่ไหน และที่สำคัญที่สุดสำหรับยุคนี้ ที่เราคิดว่าเป็นจุดขายในหลายบริษัทก็คือเรื่อง How I Belong -พนักงานรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทด้วยหรือไม่ เขาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการเจริญเติบโต เป็นองค์ประกอบเล็กๆ ที่ทำให้องค์ประกอบใหญ่ๆ ของบริษัทเจริญเติบโตได้ไหม ทั้งหมดทั้งมวล รวมกันเรียกว่า Employee Experience Journey นี่คือเรื่องพื้นฐานที่สุดที่ในทุกองค์กรต้องมี และพนักงานต้องการ

ทุกวันนี้ คนพูดถึง Soft Skill หรือแม้แต่ Future Skill กันเยอะมาก คุณมองเรื่องนี้ยังไงบ้าง

มันมีองค์ประกอบหลายองค์ประกอบนะคะ แต่สำหรับเรา คงยังไม่ได้เริ่มจากทักษะหรือ Skill ก่อน แต่มันเริ่มที่ Mindset ก่อน และสิ่งแรกที่คนพูดถึงเยอะมากก็คือ Growth Mindset ซึ่งเราอยากให้คำจำกัดความว่า คือคนที่เปิดกว้าง พร้อมจะเรียนรู้ พร้อมเจอสิ่งท้าทาย พร้อมจะยอมรับสิ่งที่ไม่รู้ และต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมิติต่างๆ จากนั้นค่อยมองไปที่ทักษะ หรือ Skillset ที่เขามี ทีนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมการทำงาน ความคาดหวังขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป Skillset ที่สำคัญสุดเลยในยุคปัจจุบัน ก็คือเรื่องการสื่อสาร เพราะด้วยสภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบัน เราต้องทำงานแบบ Remote Workplace มากขึ้น ดังนั้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป แทนที่จะได้เจอหน้าก็ไม่ได้เจอ การพูดคุย ก็อาจเป็นการแชทกัน เพราะฉะนั้นเราคงต้องมีมิติของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพให้มากขึ้น ต้องมีทักษะในการพูด การฟัง การเขียน เหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้

เรื่องที่สองคือความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม
ซึ่งเป็นเรื่องของการต่อยอด ทำใหม่ เรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพนักงานต้องมีแพสชั่นกับเรื่องพวกนี้ ต้องไม่รู้สึกว่า สิ่งที่ตัวเองทำอยู่ จะดีตลอดเวลา ตรงนี้จะช่วยให้เราสนุกกับงาน และช่วยต่อยอดองค์กรไปด้วย อย่าลืมว่า ทุกอย่างเป็น Evolving Journey of Change วันนี้เราทำดี พรุ่งนี้อาจไม่ใช่แล้วก็ได้ เพราะโลกมันเปลี่ยน ความคาดหวังก็ต้องเปลี่ยนไป ลูกค้า ธุรกิจ เศรษฐกิจ ล้วนเปลี่ยนไปหมด  

เรามองว่า การแข่งขันเรื่องต่อไปในอนาคตต้องเป็นเรื่อง Analytic Skill คนเราต้องเริ่มวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็น เพราะการแข่งขันในโลกยุคใหม่ จะชนะหรือแพ้อยู่ที่การตัดสินใจที่ถูกต้อง และการตัดสินใจที่ถูกต้องมันต้องมาจากพื้นฐานของการมีข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ใช่ ไม่ใช่แค่ข้อมูลดิบๆ แต่เป็นข้อมูลเชิงลึก ทำให้สามารถเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ข้อมูลนั้น เพื่อช่วยให้การตัดสินใจหรือวางแผนทำธุรกิจต่อไปได้ เด็กไทยต้องเริ่มฝึกการวิเคราะห์ ต้องรู้จักมองข้อมูลเป็น อ่านข้อมูลเชิงลึกหรือ ข้อมูล Insight ได้ ให้คำแนะนำได้ ถอดรหัสจากสิ่งที่เห็นเป็นข้อมูล แล้วตีโจทย์ออกมาเป็นแผน ทักษะตรงนี้ต้องใช้การวิเคราะห์และตีความนะคะ

ทักษะถัดไปก็คือ Digital Skill หรือทักษะด้านดิจิทัล ในโลกปัจจุบัน มันคือยุค Digital Transformation การไม่มีทักษะด้านดิจิทัล จึงไม่ใช่ข้ออ้างอีกต่อไป ตอนนี้เด็กเกิดมา แทบจะไถมือถือได้ก่อนพูดเสียอีก จริงมั้ย เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในโลกของการทำงาน ทักษะด้านดิจิทัลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมี เราต้องเริ่มคิดแล้วว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะ Robotic ไม่ว่าจะ AI หรืออะไรก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเข้ามาใช้งานร่วมกับเราได้ยังไง จะช่วยให้เราทำงานดีขึ้นได้ยังไง ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องรู้ไปถึงระดับการ Coding นะ แต่คุณต้องรู้ว่าควรจะหยิบเทคโนโลยีแต่ละตัว หรือแพลตฟอร์ม มาใช้กับงานของคุณได้ยังไงบ้าง

ยิ่งพอเราพูดถึงโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้เรามองการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส ทำยังไงให้เราพร้อมจะรับกับการเปลี่ยนแปลง เราต้องคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่เทรนด์ 
อีกเรื่องที่ไม่ถามไม่ได้ ในฐานะผู้บริหารระดับสูง ก็คือเรื่องทักษะเรื่องความเป็นผู้นำ ยุคนี้มีอะไรที่ต้องปรับกันไหม

อย่างที่บอกว่า พวกเราจะอยู่ในโลกของความไม่ชัดเจน มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน หลายๆ คนจึงมีความหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นทักษะที่สำคัญอีกเรื่องสำหรับคนเฉพาะกลุ่มก็คือLeadership Skill หรือทักษะความเป็นผู้นำ สมัยนี้ หัวหน้างานไม่ใช่แค่ทำให้คนทำงานได้นะคะ แต่จะทำยังไงให้คนเชื่อมั่น ทำยังไงให้คนเชื่อใจ ทำยังไงให้คนพร้อมจะวิ่งไปกับเรา ดังนั้นแม้แต่ทักษะการเป็นผู้นำก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย Leadership ต้องเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น Change Champion หรือ Transformational Leader คุณต้องพร้อม Transform เพื่อจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นเห็นว่า แม้กระทั่งเราเป็นหัวหน้า เรายัง Transform เลย แล้วคนอื่นๆ ล่ะ? ผู้นำต้องทำให้คนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเป็นโอกาส และเป็นหน้าที่ของคุณว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้อย่างไร

ขณะเดียวกันคำว่า Transformation ที่วันนี้ทุกคนพูดถึงกันเยอะมาก มันก็ไม่ใช่แค่โปรเจ็กต์ มันจึงไม่มีจุดตั้งต้นและไม่มีจุดจบ แต่มันคือ Journey มันคือการเดินทางที่ไปเรื่อยๆ คุณเริ่มต้นทำอะไรวันนี้ พรุ่งนี้พบว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่คุณเริ่มต้นมา ต้องเริ่มต้นใหม่อีกแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เรามักจะเจอคือพนักงานเริ่มเหนื่อย พนักงานจะรู้สึกว่าเมื่อไหร่การเปลี่ยนแปลงจะสิ้นสุดเสียที อะไรคือความสำเร็จกันแน่ ดังนั้นตรงนี้แหละที่ผู้นำหรือหัวหน้างานต้องทำหน้าที่กระตุ้นให้คนรู้สึกว่า สิ่งที่เขาทุ่มเททำไปมันมีคนเห็นคุณค่านะ มันมีความคืบหน้านะ แต่มันอาจไม่ได้ปรู๊ดปร๊าดเห็นผล แต่ทุกคนเห็นว่าคุณทุ่มเททำงานอยู่

ดังนั้น หัวหน้างานก็จะต้องมีทั้ง ทักษะในการให้กำลังใจ การเป็นโค้ช การสื่อสาร การมีอิทธิพลต่อคนอื่นหรือ Influencing Skill เพราะเดี๋ยวนี้มีลักษะของโครงสร้างงานหลายๆ อย่าง ที่เรียกกันว่า Agile Organization คนไม่ได้ทำงานกันด้วยตำแหน่งหน้าที่ชัดเจนแบบเดิมๆ แล้ว แต่เป็นลักษณะของการรุมสกรัมทำงาน มันจะมีคนบางคนถูกตั้งขึ้นมาให้กลายเป็นหัวหน้าทีม เจ้าของโปรเจ็กต์ แต่ไม่มีสิทธิ์ให้คุณให้โทษ แค่ต้องทำงานให้เกิด ซึ่งแปลว่าคนนั้นต้องมีทักษะการเป็นผู้นำเหมือนกัน ทั้งหมดนี้ คือทักษะที่คนทำงานต้องมี เพื่อจะได้ทำงานในองค์กรได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ในฐานะที่คุณทำงานอยู่ฝ่ายบริหารบุคคลมานานมาก อยากทราบว่ามีคำถามที่ยากที่สุดที่เคยถามคนที่มาสมัครงานไหม

โดยปกติคนเราชอบถามกันถึงความสำเร็จ แต่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นโลกแห่งการเรียนรู้  คิดว่าคำถามที่ยากคือ คุณเรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวบ้าง หรือเคยทำอะไรล้มเหลวไหม หรือกระทั่งเคยทำอะไรพิเรนทร์ๆ ไหม (หัวเราะ) เพราะที่ผ่านมา เรามักจะชอบเรียนรู้จากเรื่องดีๆ แต่ไม่ค่อยเรียนรู้จากความล้มเหลวแล้วเอามาต่อยอด ทุกวันนี้เราจึงต้อง Learn From Mistake แล้วก็ทำให้มันดีขึ้นจากความล้มเหลวนั้นๆ เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่า มันจึงเป็นคำถามที่คุณต้องทบทวนตัวเอง มันเป็น Self-Reflectionเป็นคำถามที่ทำให้คนถูกถามต้องเริ่มคิดนะ แล้วเวลาเราถามคำถามเหล่านี้ หลายครั้งเลยที่เจอแคนดิเดตอึ้งไปเลยว่า เอ๊ะ มีด้วยเหรอ เพราะเขาอาจจะเตรียมความพร้อมเพื่อมาบอกว่าประสบความสำเร็จอะไรมาบ้าง

ซึ่งคำถามแบบนี้ เราจะวัดได้ว่า คุณคนนี้มี Self-Awareness ไหม มีการเรียนรู้มั้ย มีการคิดทบทวนสิ่งที่เคยทำหรือมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมั้ย เราว่านี่จะเป็นคำถามที่ต่อไปจะถามกันมากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งถามเด็กๆ เรายังอยากถามเลยว่าเคยลอกการบ้านมั้ย มันเป็นคำถามที่เรารู้สึกว่าบางทีอาจจะทำให้เราได้เห็นอีกมิตินึงของเด็ก เช่น พูดเล่นๆ นี่อาจจะเป็นเรื่องของ Self-Survival เด็กคนนี้ อาจจะคิดนอกกรอบหรือเด็กคนนี้มีทักษะในการปรับตัวบางอย่างอยู่ พี่เป็นคนชอบเด็กที่ไม่อยู่ในกรอบมาก พวกที่เอาตัวรอดได้ดี จะเหมาะกับโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง

เมื่อกี้คุณพูดถึงเรื่องการหาแพสชั่น พอจะบอกได้ไหมว่า สำหรับตัวคุณเอง มีวิธีการหาแพสชั่นในการทำงานยังไงบ้าง

เราต้องชัดก่อนว่าเราถนัดอะไร  สำหรับเรา แพสชั่นคือการมีโอกาสช่วยให้คนอื่นประสบความสำเร็จ เราจะมีความสุขทุกครั้งที่ได้ยินว่าน้องคนนี้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เขาทำงานประสบความสำเร็จ หรือเขารู้สึกว่าตัวเองดีขึ้น แม้จะเป็นคำแนะนำแค่เล็กๆ น้อยๆ ของเรา หรือจากสิ่งที่เราให้เขาไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการฝึกอบรมต่างๆ เราจะรู้สึกมีความสุขมาก เพราะเราเชื่อว่าทุกคนพัฒนาได้

เราจะมีม็อตโต้ประจำตัวว่า Everything is Possible เราเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ เราก็ต้องหางานที่เหมาะกับแพสชั่นหรือความเชื่อของเรา และเลยพบว่างาน HR มันใช่ มันตอบโจทย์เรา เป็นงานที่ให้โอกาสเราในการช่วยให้ผู้บริหารกลายเป็น Good Leader เมื่อเราสร้าง Good Leader ได้หนึ่งคน ผู้นำคนนั้นก็จะไปสร้างคนดีๆ ได้อีกตั้งหลายคน เหมือนเราสร้างคนที่ดีหนึ่งคน คนคนนี้ก็อาจจะเป็นคุณพ่อที่ดี คุณแม่ที่ดี หรือกลายเป็นลูกที่ดีให้กับสังคมก็ได้ การที่เราทำให้บุคลากรในองค์กรพัฒนาตัวเอง เป็นคนดีมากขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น เจริญเติบโตมากขึ้นได้ มันก็เป็นการสร้างสังคมแบบองค์รวมนะ ดังนั้นนี่จึงเป็นงานที่เราทำมาตลอดชีวิต ไม่เคยย้ายออกนอกสายงานเลย แม้ว่ามิติที่ทำอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทขององค์กรที่เราเข้าไปอยู่ แต่ทุกๆ ครั้งเป้าหมายสำคัญของเรา หรือแพสชั่นของเราคือ ทำให้คนอื่นประสบความสำเร็จให้ได้  


แล้วนิยามความสำเร็จในการทำงานของคุณคืออะไร

ความสำเร็จของเราคือ ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เรามีโอกาสได้ทำ เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องย้อนกลับมามองแล้วต้องตอบหรือถามตัวเองว่า ตอนนั้นทำไมเราไม่ทำ แต่ถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว เราจะไม่กลับไปเสียใจว่าทำไมเราไม่ได้ทำ

ในแวดวงของ HR ความท้าทายหลังจากนี้ ไปจนถึงปีหน้า คืออะไรบ้าง

ความท้าทายของ HR จากนี้จนถึงปีหน้า เราว่าจะยิ่งมากขึ้น จากเดิมถ้าย้อนกลับไปก่อนเราจะเจอภาวะที่มีโควิดก็ยากอยู่แล้ว เพราะองค์กรเริ่มมีเรื่อง Transformation เข้ามา มีเรื่อง Digitalize เข้ามา เราพูดคุยกันเยอะมากเรื่องจะทำยังไงในการ Upskill Reskill คนเพื่อให้ทันกับธุรกิจ ทันกับโครงสร้างทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วปีนี้มาเจอโรคระบาด มันก็เลยต้องไปจัดการเรื่องวิกฤติต่างๆ ในชีวิต เปลี่ยนวิถีการทำงานให้ต้องอยู่บ้านมากขึ้น เมื่อก่อนเราพูดเรื่องนี้กันเยอะ เพราะดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก บริษัทที่จะทำ Remote Workplace ได้ต้องเติบโตพอสมควรแล้วถึงจะทำไหว แต่ตอนนี้ทุกคนต้องทำ มันไม่ใช่แฟชั่น ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นความท้าทายทางธุรกิจแล้ว HR ต้องเข้าใจเรื่องนี้ และต้องทำงานหนักขึ้น ใกล้ชิดกับผู้บริหารมากขึ้น

ตอนนี้ใกล้สิ้นปี เราต้องรู้แล้วว่าปีหน้าเราจะไปทางไหน เพราะแต่ละอุตสาหกรรมก็ได้ผลกระทบไม่เหมือนกัน ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้อยู่ต่อได้ หรือบางธุรกิจอาจได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้พนักงานเกิดความมั่นใจ ทำยังไงเพื่อเตรียมพนักงานให้มีทักษะที่พร้อมมากขึ้น เราต้องทำงานให้ลงลึกยิ่งขึ้น ต้องเข้าใจธุรกิจ ต้องเข้าใจ พนักงานของเราว่าตอนนี้คนของเราเป็นแบบไหน จะช่วยให้เขาเชื่อมั่นและวิ่งไปกับเราอย่างไร ภายใต้วิกฤติหรือความท้าทายที่เกิดจากปัจจัยภายนอก

มีคำแนะนำสำหรับคนที่มองหางาน หรือว่าคนที่กำลังเตรียมตัวจะสัมภาษณ์งานบ้างไหม สำหรับสถานการณ์แบบนี้

ถ้าเป็นบริษัทเรา อย่างแรกสุด แน่นอนเขาจะสมัครงานกับเรา เขาต้องชอบบริษัทเราก่อน แต่หลายๆ ครั้งที่เจอคือชอบบริษัท แต่ถามว่ารู้ไหมว่าบริษัทเป็นอย่างไร? คุณทำการบ้านมาหรือเปล่าว่าที่มาสมัครงานที่นี่ บริษัทนี้ทำธุรกิจอะไร แล้วเรามีอะไรที่เป็นไปด้วยกันกับบริษัทบ้าง Purpose ของเรากับPurpose ของบริษัทไปด้วยกันไหม Value ของเรากับ Value ของบริษัทไปด้วยกันไหม ทำการบ้านเรื่องนี้มาก่อนเลย ถัดมาคือ เมื่อเรามาสมัครงาน เรารู้ไหมว่างานนี้ต้องทำอะไร เราศึกษาไหมว่าเรามีศักยภาพหรือมีองค์ความรู้ใดๆ ที่จะเข้ามาทำงานนั้นมากแค่ไหน หลายๆ ครั้งเราเจอว่าผู้สมัครมาถึงแล้วเหมือน Take It For Granted คืออยากใช้คำนี้มากเลย เดี๋ยวนี้เหมือนคนมาสมัครงานไม่ค่อยทำการบ้าน ทั้งที่ปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกที่มีโอกาสดีกว่าเดิมเยอะมาก คุณสามารถหาข้อมูล สามารถทำความรู้จักบริษัท สามารถรู้จักคนสัมภาษณ์คุณด้วยซ้ำ คุณไปเสิร์ชได้เลย

เพราะฉะนั้นถ้าถามเรา สิ่งที่อยากแนะนำหลักๆ เลยคือ

1. Connect ตัวเองกับสิ่งที่ตัวเองกำลังหามองอยู่ว่า มันมีความเกี่ยวข้องบ้างหรือเปล่า

2. เตรียมความพร้อมในการนำเสนอตัวเองหรือไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนที่จะมาสัมภาษณ์คุณ เพื่อจะได้รู้ว่า สิ่งที่เรามี กับสิ่งที่เขาต้องการ มันตรงกันมั้ย

3. อย่าไปจำกัดตัวเองว่า เราจะมาสมัครงานตำแหน่งนี้เท่านั้น ถ้าไม่ใช่ก็ไม่เอา แต่อยากให้ลองเปิดใจกว้างๆ หรือลองดูก่อน เพราะนั่นอาจเป็นโอกาสที่บริษัทเห็นศักยภาพ หรือเห็นแววคุณในสิ่งที่คุณมองไม่เห็นก็ได้
Created with