ศันสนา สุขะนันท์ ยึดหลัก Step 0.5 คิดให้รอบคอบก่อนนับหนึ่งและโฟกัสที่เป้าหมายไม่ใช่เสียงรอบตัว

ศันสนา สุขะนันท์ ยึดหลัก Step 0.5 คิดให้รอบคอบก่อนนับหนึ่งและโฟกัสที่เป้าหมายไม่ใช่เสียงรอบตัว

รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย (บริหารสายงานทรัพยากรบุคคล)  


คุณลี่ ศันสนา สุขะนันท์ทำงานกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มาแล้วกว่า 18 ปี โดยเธอบอกกับเราว่า เพราะตำแหน่งหน้าที่การงานตลอด 18 ปี เป็นการดูแลรับผิดชอบในสายงานที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้เกิดความท้าทายและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

ผู้บริหารแบบนี้แหละ ที่ Shift Your Future สนใจ เพราะเราเองก็สนใจในเรื่องของการพัฒนาตัวเองและการเติมทักษะแห่งอนาคตให้ตัวเองเพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ

สำหรับคุณลี่ ศันสนา ความท้าทายอย่างหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนสายงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินเครดิตความเสี่ยง และการทำงานด้านที่เกี่ยวข้องกับการเงินมาตลอด มาเป็นงานที่ดูแลทรัพย์สินสำคัญของบริษัทอีกแบบหนึ่งและเป็นแบบที่บริษัทขาดไม่ได้ นั่นก็คือ human asset หรือทรัพยากรบุคคลนั่นเอง

ทุกงานมีความท้าทาย แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่เคยทำแล้วเราจะทำไม่ได้ และการทำไม่ได้ในวันแรก ก็ไม่ได้หมายความวันต่อๆ ไปเราจะทำไม่ได้เลย

นั่นน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่เราเก็บตกได้จากการสนทนากัน รวมทั้งอีกหลายๆ เรื่อง เช่น step 0.5 หรือ แม้แต่เรื่องของคำถามสัมภาษณ์ ที่เธอมักจะใช้เป็นตัวชี้วัดทัศนคติคนสมัครงานกับกสิกรฯ ในวันนี้

ซึ่งนอกจากจะเป็นคำถามที่ดีแล้ว เรามองว่านั่นคือคำถามที่นำไปใช้ได้กับทุกเรื่องด้วยซ้ำไป…
อย่างที่ทราบว่า คุณศันสนา สุขะนันท์ เพิ่งเปลี่ยนสายงานมาดูแลเรื่องทรัพยากรบุคคล เลยอยากให้อธิบายว่ามีขอบเขตเรื่องที่ต้องดูแลรับผิดชอบยังไงบ้าง
จริงๆ บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสายงานทรัพยากรบุคคล ในขอบเขตและมุมมองของเรา สรุปออกมาได้เป็น 4 เรื่องหลัก เรื่องแรกจะเป็นเรื่อง organization นั่นคือทำยังไงจะออกแบบองค์กรให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเรื่องวิธีการทำงานทั้งหลาย เรื่องที่สอง  เป็นเรื่องของพนักงาน ที่เราจะไล่ดูตั้งแต่คนที่เป็น talent ขององค์กรจนถึงพนักงานทั่วไป ทำยังไงจะจัดคนให้อยู่ในที่ที่ถูกต้องแล้วให้เขา unlock potential หรือดึงศักยภาพของเขาให้ออกมาอย่างดีที่สุด

พร้อมกับดูแลในเรื่อง career ของเขาด้วย เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ทำยังไงให้วัฒนธรรม  ซึ่งเราถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นกลไก เป็นฟันเฟืองที่จะทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะมันต้องฝังอยู่ในทุกที่แล้วก็ในทุกคนด้วย เรื่องสุดท้ายอาจเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญคือเรื่องประสบการณ์ของพนักงาน เรื่องเซอร์วิสต่างๆ ที่เรามีให้เขา เพื่อทำให้เขารู้สึกสบายใจในการทำงานกับเราได้นานๆ

ตลอด 18 ปีของการทำงานในองค์กรเดียว เชื่อว่าน่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรมาแล้วมากมายหลายครั้ง อยากทราบว่า วัฒนธรรมหลักๆ ของความเป็นกสิกรไทยคืออะไร
วัฒนธรรมจริงๆ ในเชิงของ wording มันย่อมเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนถึงยุคปัจจุบัน แต่ถึงจะเปลี่ยนมายังไง แต่ essence หรือแก่นของมันก็จะเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่เราใช้อยู่ก็มีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง เรื่องแรกคือ customer at heart จริงๆ ถ้าในยุคก่อนเราคงได้ยินคำว่า “บริการทุกระดับประทับใจ” ซึ่งจริงๆ ความหมายนั้นก็คือ ลูกค้าเป็นที่ตั้งเหมือนกัน เรื่องที่สองคือ คือ agility แต่สำหรับเรา คงไม่ถึงกับว่าต้องทำงาน agile หมด แต่จะทำยังไง ถึงจะทำงานให้มันว่องไวคล่องตัว แล้วก็ตอบโจทย์ได้ เรื่องที่สามคือ collaboration หรือการร่วมมือกัน งานธนาคารอย่างที่เราทำกัน มันไม่ใช่งานที่ใครคนใดคนหนึ่งที่จะทำแล้วเสร็จ มันต้องเป็นทีมเวิร์ก เพราะฉะนั้น collaboration สำคัญมาก เรื่องสุดท้ายและคิดว่ามันเป็นคีย์ของกสิกรฯ หรือเป็นหัวใจเลยคือเรื่องของ innovativeness หรือการมีนวัตกรรม เพราะผู้บริโภคจะเห็นนวัตกรรมต่างๆ ที่ออกมาอยู่เสมอๆ ไม่หยุดนิ่ง นี่คือเป็นวัฒนธรรมการทำงานของกสิกรฯ ทั้งสี่เรื่องค่ะ

เมื่อกี้คุณลี่พูดถึงเรื่องของการ unlock potential ของพนักงาน  ที่นี่มีกลยุทธ์อะไร ที่สามารถ unlock พนักงานได้จริงๆ
จริงๆ เรานิยามตัวเอง as a core value ของพนักงานว่า นี่คือเป็นสถานที่ learning and grow คือได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน จริงๆ หลายคนที่ออกไปแล้วมักจะมองว่ากสิกรฯ เป็นที่เรียนรู้ หรือคนที่ยังทำงานอยู่ก็จะรู้สึกว่า ที่นี่เป็นโรงเรียนที่ดี ซึ่งอันนี้เป็นหัวใจสำคัญเลย เพราะฉะนั้นในเรื่องของการทำงาน แนวคิดต่างๆ learning จึงไม่ได้หมายถึง ​learning แต่เฉพาะเรื่องที่เราจัดเตรียมการฝึกอบรมที่เหมาะสม เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว เราต้องเติมทักษะให้พนักงานของเราอย่างสม่ำเสมอ

แต่สิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุดเลยก็คือ learning by doing หรือสิ่งที่พนักงานได้เรียนรู้จากสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาได้จากหัวหน้างาน จากเพื่อนร่วมงาน จากทีมงาน จากประสบการณ์ต่างๆ ที่มี  ทำงานที่นี่เราแชร์ไอเดียกันได้ เราคุยกันได้ ต่อให้เด็กที่ตัวเล็กที่สุดก็สามารถดีเบตได้ บอกได้ว่าตัวเองมีความคิดอะไร ทุกคนมีโอกาสที่จะเติบโต เรามีแพลตฟอร์มต่างๆ ให้คนสามารถเรียนรู้และสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ รูปแบบของ learning ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย แต่ก่อนเราก็จะพูดกันแต่ในห้องเรียน เดี๋ยวนี้เรามีออนไลน์ เรามีแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ใช้ได้ง่าย เพราะเราจะสนับสนุนให้พนักงานสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
อะไรคือความท้าทายในการบริหารคน โดยเฉพาะในยุคนี้ ไม่ว่าจะเรื่องวิกฤติ รวมทั้งความคาดหวังของพนักงาน
ความท้าทายของการบริหารคนมีมากจริงๆ นะคะ เพราะอย่างที่ทราบ ยุคสมัยมันเปลี่ยน เราก้เปลี่ยนจากยุคที่เป็นเหมือนอนาล็อกมาเป็นดิจิทัล แล้วในยุคดิจิทัล ความต้องการของลูกค้าก็เปลี่ยน วิธีการทำงานก็เปลี่ยน เพราะฉะนั้นจะทำยังไงให้คนรู้สึกว่าตัวเอง relevant แล้วก็มีทักษะที่ทำให้เขาทันโลกอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเวลาปรับเปลี่ยนอะไร มันต้องปรับเปลี่ยนกันตั้งแต่วิธีคิด หรือ mindset กันเลย

เพราะฉะนั้นวิธีคิดแบบ growth strategy จึงสำคัญมาก หมายความว่า คิดในเชิงที่ว่า หยุดการพัฒนาไม่ได้เลย ต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา ทำยังไงให้รู้สึกว่า ความรู้ที่เรามีอยู่ อาจจะไม่พอแล้วนะ ทำยังไงเราจะรู้สึกว่า สิ่งที่รออยู่ข้างหน้ามันมีอะไรที่น่าสนใจที่เราจะต้องเรียนรู้ไปกับโลกใหม่ๆ เราต้องอัพเดทตัวเองเพื่อให้ทันโลกตลอดเวลา นี่คือเรื่องที่ท้าทาย

เรื่องที่สอง นอกจากการคิดแล้ว ยังต้องเป็นเรื่องของวิธีการ เพราะว่าทุกวันนี้ทักษะอย่างใดอย่างเดียวคงไม่พอจริงๆ จะเรียกว่าเป็ดก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็ดมันดูเหมือนรู้กว้างแต่ไม่รู้ลึก แต่ในปัจจุบันรู้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้ในหลายๆ เรื่อง แล้วก็ต้องรู้ลึกด้วย เพื่อที่จะทำให้สร้างผลงานออกมาได้ เราจะทำยังไงให้คนมีทักษะที่จะทำได้ ไม่ใช่ได้แต่ วิธีคิดไปแต่ทำไม่เป็น ดังนั้นจึงต้องมีคอร์สการเรียนต่างๆ เพื่อ upskill reskill คนขึ้นมา

อาจจะต้องทำแม้กระทั่งการลืมทักษะเก่าๆ ไปเลย แล้วสร้างทักษะใหม่ขึ้นมา เพื่อให้คนสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ พอเข้าใจแล้ว ก็นำเรื่องนี้มาปฏิบัติได้ หาทางแก้ปัญหาเองได้ ดังนั้นจึงต้องมีเรื่อง design thinking เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่รวมทักษะเชิงเทคนิคที่เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ในสายงานของแต่ละคนอยู่แล้วเป็นปกติ

ทุกวันนี้ น่าจะหายากที่จะเจอคนทำงานที่ใดที่หนึ่งมานานๆ ถึง 18 ปี อยากทราบว่าการทำงานที่ใดที่หนึ่งนานๆ เมื่อเทียบกับยุคนี้ที่คนเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ อะไรคือข้อดีข้อเสีย
อะไรคือข้อดีข้อเสีย มันคงตอบไม่ได้ตรงๆ นัก เพราะเราว่ามันแล้วแต่คน เพราะการมองคุณค่าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  เพราะฉะนั้นข้อดีข้อเสียในมุมมองของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน มันก็แล้วแต่มุมมองของใครว่าจะคิดยังไง ในมุมเราคิดว่าจริงๆ การที่อยู่องค์กรมา 18 ปีได้ ก็เพราะเราไม่ได้อยู่กับสายงานเดิมตลอดเวลา

ดังนั้นมันเลยตอบโจทย์เราเพราะเป็นคนชอบเรียนรู้ ส่วนใหญ่คนอยู่ในองค์กรเดียวมานานๆ บางทีก็อยู่ในงานซ้ำเดิม แต่บังเอิญว่าเราเปลี่ยนสายงานด้วย อันนี้ก็ต้องขอบคุณทางพี่ๆ ผู้บริหารที่ดูแลเราด้วย เพราะทำให้เราได้ไปสัมผัสกับงานหลายๆ แบบ เพราะฉะนั้น ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตมันมีโอกาสได้เรียนรู้เสมอ แน่นอน เราอาจจะไม่ได้เรียนรู้จากคนภายนอกเหมือนคนที่ทำงานหลายๆ ที่  เราก็ต้องใช้วิธีอื่นเพื่อตอบโจทย์ตรงนั้น เช่นหา best practice คุยกับคนข้างนอก คุยกับผู้รู้ในเรื่องต่างๆ เพื่อตอบคำถามเราได้

เมื่อกี้บอกว่าชอบการเรียนรู้ มีวิธีเรียนรู้อย่างไรบ้าง เพื่อพัฒนาทักษะของตัวเองหรือเพื่อเรียนรู้ให้ดีขึ้น
มีหลายอย่างนะคะ อย่างมีช่วงหนึ่งมันเป็นแอเรียที่ไม่คิดเลยว่าตัวเองจะสามารถทำได้คือเรื่อง cyber risk เพราะตัวเองไม่ได้มีแบ็กกราวน์ไอทีมาก่อนเลย แล้วต้องมาฟังภาษาไอที ต้องมาเข้าใจว่าความเสี่ยงของเรื่องนี้มันคืออะไรนะ ซึ่งตอนที่เรียนรู้เรื่องนี้ เราก็จะมีคนที่เป็นกึ่งๆ พาร์ทเนอร์เรา หรือเป็น vendor เราที่คอยดูแลสนับสนุน เพราะมันเป็นความสัมพันธ์เชิงธุรกิจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราขอความรู้เขาได้

นอกจากนี้ ก็เป็นการเรียนรู้จากกูรูภายในเอง คนที่นี่ยินดีที่จะแชร์ความรู้อย่างยิ่ง คือถ้าเขามีเวลา เขาก็พร้อมที่จะแชร์ความรู้ให้กันและกันอยู่แล้ว เรื่องสุดท้ายก้คือการเรียนรู้ระหว่างการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เช่น เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าบางทีเราจะประชุมกันนานนิดนึง แต่จริงๆ ถ้าดูลึกๆ แล้ว เวลาที่เราใช้ในการประชุม เป็นช่วงที่บางทีพี่ๆ เขากำลังสอนเราอยู่ เขากำลังสอนว่าเรื่องนี้ต้องคิดแบบนี้ เรื่องนี้ต้องทำแบบนี้ มันจะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในตัวแล้วทำให้รู้ว่า ต่อไปเราต้องจัดการเรื่องนี้ยังไงดี
มีวิธีมาทำงานทุกวันยังไงให้มีความสุขมั้ย
คงยากนะ ที่จะทำงานทุกวันให้มีแต่ความสุข ที่สำคัญคือ เราต้องรู้ว่า เรารับผิดชอบเรื่องอะไร เราทำสิ่งนี้เพื่อตอบอะไร เรา contribute อะไร ให้กับองค์กร ให้กับทีมงาน ต้องพยายามคิดในสิ่งนี้ แล้วมันจะมี motivation ที่จะทำงานได้ เพราะฉะนั้นเราต้องลุกขึ้นมาทำ ถ้าเราไม่ทำ ไม่ทุ่มเท งานนั้นก็จะไม่เกิด คือเราเชื่อว่าทุกองค์กร มันคือการต่อจิ๊กซอว์ มันไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นทุกคนมีส่วนที่ทำให้จิ๊กซอว์สมบูรณ์ ถ้าตอบตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันต่อจิ๊กซอว์ตรงไหน ถ้าเราทำจิ๊กซอว์นี้ไม่เสร็จ รูปนี้ก็ไม่เสร็จ เพราะฉะนั้นมันจะมีเหตุให้กระตุ้นตัวเองไปเองว่า งั้นเราต้องทำมัน

เพราะมันคือความจริงของชีวิตน่ะ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่ตื่นขึ้นมาทุกวันแล้วจะเจอแต่เรื่องดีตลอดเวลา บางครั้งเราก็ต้องเจอเรื่องยากๆ เราต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ แต่ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของงานนะ คุณแม่ชอบบอกว่า ใครก็ตามที่ดูมีศักยภาพที่จะทำได้ ทุกคนจะได้โจทย์ยาก ไม่มีใครได้โจทย์ง่าย แต่อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับมันยังไง จะจัดการมันยังไง เพราะฉะนั้นตื่นเช้าขึ้นมาสิ่งที่สำคัญก็คือต้องมาด้วย positive energy แล้วก็มีสติ รู้ว่าเราจะรับมือแต่ละวันยังไง

เมื่อกี้คุณลี่บอกว่าตอนเรียน cyber security เป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย แต่ทำได้ในที่สุด คือแปลว่าต่อให้เป็นเรื่องยาก ไม่เคยรู้มาก่อนคนเราก็ unlock potential ตัวเองได้
ใช่ คือการเรียนรู้มันก็มีสเตจของมัน ช่วงเรียนใหม่ๆ มันก็จะอึดอัด ไม่โอเค เพราะภาษาก็ไม่ใช่แล้ว มีศัพท์เทคนิคเต็มไปหมด แต่จริงๆ ไม่จำเป็นว่าเราต้องรู้ศัพท์พวกนั้นทั้งหมด แค่เราต้องแปลง map กลับมาให้ได้ว่ามันแปลว่าอะไร มันใช้สำหรับจัดการเรื่องอะไรอยู่  เรากำลังตอบโจทย์อะไรขององค์กร แล้วเราก็ไปหาความรู้เพิ่ม เริ่มไปเทคคอร์สออนไลน์ของ MIT เราก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น รู้สึกว่ามันน่าจะใช่ มาถูกทาง น่าจะตอบโจทย์การจัดการที่เราต้องรู้ละ เพราะมันจะมีตัวชี้วัดบอก เราก็จะเริ่มโอเคกับการเรียนรู้ แต่เรื่องของการเรียนรู้มันไม่มีวันจบนะคะ พอเราเริ่มจะรับมือกับมันได้ ก็ไม่ได้แปลว่าความรู้และบริบทมันหยุดอยู่กับที่ เรื่องพวกนี้ไม่มีวันจบแน่นอน เรียนเรื่องไหนก็ไม่มีวันจบ จะเรื่อง growth mindset หรือ design thinking มันก็ไม่จบเหมือนกัน เรื่องพวกนี้มีอะไรให้เรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา

มีเทคนิคยังไงในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องยากหรือโจทย์ยากๆ ที่เข้ามา
อย่างแรกต้องชอบเรียนรู้ แล้วก็เซ็ตตัวเองว่า ในแต่ละการเรียนรู้ทุกสเต็ปเราค้นพบอะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เพราะฉะนั้นเวลาเจอว่าเรื่องนี้มันใหม่ เราก็จะเริ่มรู้สึกสนุกไปกับมัน ทำให้เรื่องการชอบเรียนรู้มันฝังเข้าไปในพฤติกรรมของเรา อย่าไปคิดแค่ว่าเพราะเราต้องเรียนอันนี้ เพราะเราต้องไปถึงอันนั้น มันจะเครียดมากและมันจะไม่สนุกเลย แต่ให้มันเป็นคล้ายๆ กิจวัตรประจำวันของเราในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ วัดความสำเร็จไป อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป รอจนถึงระยะหนึ่งก็ค่อยกลับมาดูว่าที่เราเรียนรู้แล้วมันเริ่มได้ผลได้อะไรบ้าง หรืออาจจะลองไปคุยกับคนที่รู้มากกว่าเรา ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเขา มันก็จะมีแรงขับ ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ และเราสนุกไปกับมันได้
ดูแลฝ่ายบริหารบุคคล ก็ต้องเจอการสัมภาษณ์คน  คำถามสำคัญที่จะเลือกรับคนเข้ามาทำงานคือคำถามอะไร
มีหลายคำถาม แต่อย่างหนึ่งที่คงจะถามแน่ๆ คือให้เขาเล่าเรื่องความล้มเหลวผิดพลาดของเขา ดูว่าเขาคิดยังไงบ้าง เพราะในแง่ทักษะ เขาน่าจะผ่านการตรวจสอบมาแล้วละ ถ้ามาถึงเรา คงต้องดูว่า เขาจะเข้ากับองค์กรได้มั้ย มันต้องดูหลายมุม หรือดูว่าเขาจะเข้ามาทำงานกับคนอื่นได้มั้ย การที่ให้เขาเล่าเรื่องความล้มเหลว เพราะอยากรู้ว่าเขาจะมีปฏิกิริยายังไง เพราะมันมีตั้งแต่คนที่รู้สึกว่าไม่อยากจะพูดเรื่องแบบนี้ แต่ก็มีคนที่ภูมิใจจะบอกได้ว่าฉันล้มเหลวแล้วฉันเรียนรู้อะไรกับมัน หรือมันอาจจะมีคนพร้อมที่จะบอกว่า ไม่ว่าฉันจะเฟลหรือมีอะไรเกิดขึ้น ฉันก็พร้อมที่จะลุกแล้วสู้ไปกับมัน

ทำงานมา 18 ปีคิดว่าคำแนะนำที่มีค่าที่สุดที่เคยได้ยินมาคืออะไร
จริงๆ มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกมีพี่ท่านหนึ่งบอกว่าให้ stay objective หมายถึงให้โฟกัสในสิ่งที่เราต้องทำ หรือสิ่งที่องค์กรมองว่าเป็น goal เพราะฉะนั้นเพื่อที่ให้ได้ goal  เราก็ต้องโฟกัส เพราะบางทีในเวลาทำงานมันจะมีเสียงจากคนนั้นคนนี้ ซึ่งจะทำให้หงุดหงิดหรือหลุดไปจากทางที่เราต้องไป

ดังนั้นให้มองไปที่เป้าหมาย อย่าหวั่นไหว ให้นิ่งๆ เพื่อไดรฟ์ไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เรื่องที่สองคือ สเต็ป 0.5 คือแปลว่ายังไม่ถึงกับนับหนึ่ง คือหมายความว่าก่อนจะลงมือทำอะไร คิดให้รอบคอบก่อน เราอาจจะใช้เวลาเรื่องนี้เยอะหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าถ้าเซ็ตมันถูกแล้ว เราจะเดินไปถูกทาง แต่ว่าถ้าไม่ทำสเต็ปนี้แล้วลงมือไปทำเลย มันก็อาจจะผิด พอผิดมันก็จะยาว วันหนึ่งผิด 1 องศา 2 องศา วันละนิดละหน่อย ผ่านไป 180 วันมันก็ไปอีกทิศหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นการทำสเต็ป 0.5  คือการเอาให้ชัดว่าเรื่องที่จะทำคืออะไร แล้วเราจะเดินยังไง น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญ

ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างเร็วที่สุดจะดีเสมอไป
ไม่ได้บอกว่ามันต้องเร็วแบบไหน ถ้าเร็วแบบครบถ้วนถูกต้อง That’s fine เรื่องนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับความเร็วเสียทีเดียว แต่เป็นการพยายามดูให้ครบทุกองค์ประกอบที่จะทำ

ในอนาคตอันใกล้คิดว่าคำแนะนำที่อยากจะให้กับคนทำงานในยุคนี้คืออะไร
ต้องอัพเดทตัวเองตลอดเวลา ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม เตรียมทักษะที่พร้อมจะไปกับโลกที่เป็นอยู่และโลกที่จะไปข้างหน้า เช่น การมี digital skill รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรเราก็มีการทำ agile way of work ไปบ้างแล้ว นอกจากนั้นก็คือการพัฒนาทักษะในการสื่อสารกับคนอื่น ทำงานร่วมกับคนอื่น หาเป้าหมายร่วมกันให้ได้ เรื่องนี้คือเรื่องสำคัญของคนทำงานยุคนี้เลย

 
Created with