เคล็ดลับความสำเร็จของร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry ที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย “Data” และ “หัวใจ”

“ธุรกิจร้านสะดวกซัก” หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า “ร้านซักผ้าหยอดเหรียญ” กำลังเป็นที่สนใจในหมู่คนที่อยากจะเริ่มต้นมีธุรกิจเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง เนื่องจากธุรกิจร้านสะดวกซักแบบนี้ ไม่ต้องใช้แรง ไม่ต้องใช้เวลาทั้งวันไปนั่งเฝ้า แถมรายได้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

SHiFT Your Future มีโอกาสพูดคุยกับ คุณกวิน นิทัศนจารุกุล ผู้บริหารธุรกิจร้านสะดวกซัก อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย (Otteri Wash & Dry) แฟรนไชส์ร้านซักผ้าหยอดเหรียญ ที่กำลังมาแรงในยุคนี้ ที่น่าสนใจก็คือแนวคิดการทำธุรกิจของคุณกวิน ไม่ใช่แค่การหากำไรจากการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้นเพื่อเป็นการตอบแทนสังคม

จุดเริ่มต้นของ Otteri มาจากการขยับขยายธุรกิจขายเครื่องซักผ้าอุตสาหกรรม โรงแรม และโรงพยาบาล ซึ่งเป็นแบบ B2B ลงมาเล่นในตลาด B2C หลังจากที่เห็นตัวอย่างธุรกิจ Laundromat ในต่างประเทศได้รับความนิยมและเติบโตได้ดี จึงตัดสินใจเปิดธุรกิจนี้ในประเทศไทยทันที ​และใช้เวลาทำร้านเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น โดยไม่ได้มีการทำ Market research ก่อน เนื่องจากคิดว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ น่าจะเป็นคนมีรายได้น้อย จึงเลือกไปเปิดร้านแรกที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร แต่ปรากฎว่าธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง เพราะคนมีรายได้น้อยส่วนใหญ่ยังคงซักผ้าด้วยมือ!!!
บทเรียนที่ได้จากความล้มเหลว
คุณกวิน ยอมรับว่า ความล้มเหลวจากการเปิดร้านสาขาแรก ให้บทเรียนราคาแพงกับการทำธุรกิจนี้ แต่เขาก็ได้เรียนรู้ว่า “การมีไอเดียที่ดี แต่ไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลและทำอะไรตัดสินใจตามอารมณ์ ไม่อาจทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ” และความล้มเหลวครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้คุณกวิน ถอดใจ แต่กลับทำให้เขาหันมามองตัวเองว่า ที่ผ่านมามีอะไรที่ผิดพลาด ทำให้ได้เห็นจุดบอดของตัวเอง และเข้าใจว่า เรื่องธุรกิจ จะคิดเอาเอง โดยไม่มีข้อมูลสนับสนุนไม่ได้

บทเรียนครั้งนั้นทำให้คุณกวิน มองว่า ตัวเองอาจยังมีความรู้ไม่พอ จึงเริ่มไปศึกษาเรื่องโปรแกรมแฟรนไชส์ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่า แท้จริงแล้วเรื่องของการซักผ้า เป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ เป็นเรื่องของความเร็ว และ เวลา ดังนั้นความต้องการหลักของผู้ที่มาใช้บริการเครื่องซักผ้าที่เห็นได้ชัดคือ ไม่ต้องการเสียเวลานานกับการซักผ้า อยากได้เวลาที่เร็วขึ้น เปรียบเทียบให้ชัด คือ สำหรับ “คนมีรายได้น้อย” เงินสำคัญสำหรับเขามากกว่า และคนกลุ่มนี้มีเวลาเหลือเฟือสำหรับการซักผ้าเอง ส่วน “คนชั้นกลาง หรือ พนักงานออฟฟิศ” จะเลือกประหยัดเวลา ด้วยการใช้เงินซื้อเวลา

เมื่อเริ่มเปิดสาขา 2 คุณกวิน เริ่มให้ความเรื่องของ Market segment มากขึ้น แล้วศึกษาผู้บริโภคมากขึ้น โดยพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่มีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องของการมาซักผ้ามากกว่าผู้ชาย จึงเป็นที่มาของการนำการ์ตูนรูปสัตว์น่ารัก อย่างตัว “นาก” มาเป็นโลโก้เพื่อสร้างการจดจำ และใช้สไตล์การตกแต่งร้านแบบญี่ปุ่น ทำให้ดู “สวย” และ ดู “แพง” ทั้งที่ราคาเริ่มต้นแค่ 10 บาท พร้อมจัดโปรโมชั่นทดลองซักฟรี เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ซึ่งได้ผลดี โดยผลตอบรับจากผู้ใช้บริการอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แม้โปรโมชั่นซักฟรี จะมีเพียงช่วง 10 วันแรกของการเปิดร้าน แต่หลังจากนั้นก็พบว่า มีผู้มาใช้บริการต่อเนื่อง จากสร้างรายได้จาก 0 บาทในวันแรก ขยับขึ้นมาเป็นเดือนละ 600,000 บาท ภายในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน


ความสำเร็จจากการทำร้านสาขา 2 ทำให้คุณกวิน รุกเกมธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น ในปีแรกสามารถขยายไปได้ 12 หรือ 13 สาขา โดยเป็นสาขาที่คุณกวินเปิดเอง 3 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นแฟรนไชส์ตามหัวเมืองต่าง ๆ

“ธุรกิจแฟรนไชส์” กับ “Business Partner”
คุณกวิน ให้แนวคิดการพิจารณาพาร์ทเนอร์เข้าร่วมแฟรนไชส์ ว่าเปรียบเสมือนการ “แต่งงาน”

เพราะว่าตัวแฟรนไชส์ที่ทำนั้นเปรียบเสมือนลูกสาว มันไม่ใช่ว่ามีตังค์อยู่ 2-3 ล้าน โยนตังค์ให้แล้วเอาลูกสาวไปปู้ยี่ปู้ยำยังไงก็ได้

คุณกวิน นิทัศนจารุกุล ผู้บริหารธุรกิจร้านสะดวกซัก อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย
นั่นก็เพราะขายแฟรนไชส์ ไม่ใช่การขายทิ้งขายขว้าง เจ้าของแฟรนไชส์ จะต้องอยู่กับพาร์ทเนอร์ไปอีกหลายปี เพราะฉะนั้น “Mindset” ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

“อันดับแรกเราต้องรู้ก่อนว่า ธุรกิจตัวนี้มันไม่ใช่ Passive income แต่มันเป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่คุณจะต้องไปดูแลมัน มันอาจจะเป็น Part-time job ได้ คุณไม่ต้องไปใช้เวลา Full-time เพื่อที่จะดูแลมัน แล้วก็ดูว่าเขามี mindset เกี่ยวกับเรื่องของมี service mind ไหม” คุณกวิน กล่าวเพิ่มเติม

ที่บอกว่า ธุรกิจตัวนี้ ไม่ใช่ Passive income ก็เพราะว่า หลายคนมักเข้าใจว่า ธุรกิจนี้ เป็นธุรกิจที่ปล่อยให้เครื่องจักรทำงาน เมื่อถึงเวลาก็ไปเก็บเงิน แต่ในความจริงแล้วจะต้องมีทั้งเรื่องการทำความสะอาด การดูแลรักษาเครื่องให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน แม้ธุรกิจจะเป็นธุรกิจที่เกือบทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ (automate) แต่สุดท้ายคนก็ยังอยากคุยกับคน เพราะฉะนั้นต้องมี Human touch ที่เจ้าของร้านต้องเข้าไปจัดการ ไปพูดคุยสร้างความสนิทสนมกับผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำการใช้งานเครื่องซักผ้า หรือให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ใช้บริการด้วยใจบริการ  

ปัจจุบัน Otteri มี 255 สาขา แบ่งเป็นแฟรนไชส์ 210 สาขา ส่วนอีก 30-40 สาขา เป็นของคุณกวินเอง เมื่อดูลูกค้าหลักเป็นกลุ่มคนที่ทำงานแล้วยังมีงานประจำอยู่แล้วอยากหาอาชีพเสริม (Second job) อยู่ในวัยประมาณ 30 ถึง 45 เริ่มมีครอบครัวแล้ว รู้สึกว่าชีวิตเงินเดือนอย่างเดียว กับการเก็บออมมันไม่พอ อยากที่จะลงทุนเพื่อที่จะหารายได้เพิ่ม กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีความรู้ แต่เป็นความรู้เฉพาะทาง ทำให้บางครั้งต้องมีการฝึกกันใหม่ทั้งหมด​ โดยจะมองแฟรนไชน์ซี เป็นเหมือนคู่ค้าซึ่งพวกเขาจะเป็นด่านแรกที่ต้องเจอกับลูกค้า

3 ปัจจัยหลักที่ทำให้ Otteri ประสบความสำเร็จ
1) สถานที่ ต้องอยู่ในทำเลที่เหมาะสม
2) เครื่องจักร ต้องพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
3) ความมีอัธยาศัยดีของเจ้าของร้าน

ระบบหลังบ้านของ Otteri

คุณกวิน กล่าวว่า 2 ข้อหลักที่ทำให้เกิดการก่อตั้งบริษัทนี้มาก็คือ

1. เราต้องการที่จะเป็น Technology-driven company  นำเทคโนโลยีมาช่วยให้การซักผ้าเป็นเรื่องสนุก และตอบสนองความต้องการของแฟรนไชส์ซีและลูกค้า โดยเฉพาะเรื่องความสะดวก และ ไม่เสียเวลารอนาน โดยการมีแอปพลิเคชั่นให้ตรวจสอบได้ว่าเครื่องว่างอยู่หรือไม่ รออีกนานแค่ไหน และเรื่องการจ่ายเงินออนไลน์ผ่าน แอปพลิเคชั่น เป็นต้น ซึ่งเป็นการพัฒนาขึ้นมาจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยสิ่งที่เราทำคือฝึกคนที่เป็นแฟรนไชน์ซีทุกคน ให้สามารถซ่อมเครื่องได้เบื้องต้น และ​ เมื่อมีการแจ้งซ่อม ทาง Otteri จะเป็น Partner กับ “ขวัญใจ” (บริษัทย่อยของบิลค์วันกรุ๊ป)รวมกันแจ้งซ่อมออนไลน์ ซึ่งทำให้สามารถติดตามความคืบหน้างานซ่อมเครื่องได้อย่างละเอียด และก็สามารถใช้เป็น KPI ที่จะมาพัฒนาตัวบริษัทได้

2. เราไม่ได้จะเป็นบริษัทที่แสวงหาผลกำไรอย่างเดียว แต่ต้องมีอะไรตอบแทนสังคมด้วย สิ่งที่ทำคือ 
  1. Otteri ยึดหลักที่ว่าต้องสร้างความรักให้คนในชุมชน และจะไม่ทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและชุมชนในพื้นที่
  2. Otteri มีโครงการที่ทำเป็นประจำชื่อว่า ‘Otteri Care’ สิ่งที่ทำคือ เราซักผ้าฟรีให้คนรายได้น้อย เดือนละครั้งทุกเดือน
  3. Otteri จะรับบริจาคเสื้อผ้า ซักอบแล้วเอาไปบริจาคต่อ

“ชื่อ otteri ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย”
ชื่อ ร้าน “Otteri” มีที่มาง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เนื่องด้วยสัญลักษณ์ของร้านเป็นการ์ตูนตัวนาก ก็เลยใช้ชื่อ otter ที่แปลว่า ตัวนาก ซึ่งได้เติม i (อิ) เข้ามา เพื่อให้มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น เล็ก ๆ จึงเป็นที่มาของ Otteri แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ก่อนหน้านี้ ธุรกิจร้านสะดวกซักนี้ มีชื่อตรงตัวเข้าใจง่ายว่า ‘Coin Laundry’ หรือซักผ้าหยอดเหรียญ แต่เมื่อพ้องกับคำในภาษาไทยแล้ว สื่อความหมายได้ไม่ดีนัก (คอย=รอนาน) จึงมีการรีแบรนด์ใหม่จนมาเป็น Otteri
ประสบการณ์อยากแชร์
คุณกวิน เล่าว่า ธุรกิจทุกอย่าง จะถูกขับเคลื่อนด้วย “Data” ไม่ใช่เรื่องของ “Emotional” อย่างเดียว ถ้ามันไม่มีข้อมูลรองรับก็อย่าไปทำ

คุณกวิน แบ่งปันความรู้ที่น่าสนใจกับเราว่า ประเภทธุรกิจ “Laundry” จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ธุรกิจ Hand-on กับ Hand-off ซึ่งธุรกิจ Hand-off คือธุรกิจที่มือไม่เปื้อน คือลูกค้าจะไปส่งร้านซักอบรีด 100% เลย อาจเป็นร้านดังมีสาขาใหญ่ๆตามโรงแรม เป็นร้านซักผ้าทั่วไปก็ได้ ถือว่าเป็นธุรกิจ Hand-off หมด ซึ่งราคาจะค่อนข้างสูง ส่วนธุรกิจ Hand-on ที่ส่งที่ลูกค้าคุณต้องเอาไปทำเอง เช่น เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ

ซึ่งคนส่วนใหญ่จะตัดสินใจเรื่องการซักผ้า จาก 2 ส่วนหลัก คือ ราคา และ ความสะดวกสบาย

ในฟากของธุรกิจ Hand-off ความสะดวกสบายคิดเป็น 100% แต่ราคาจะสูง ในขณะที่ธุรกิจ Hand-on ที่เดิมมีร้านซักผ้าหยอดเหรียญฝาบนแบบเดิมอยู่ ก็พบว่าปัญหาคือ ความไม่สะดวก ซักไม่สะอาด และยังต้องแบกผ้าเปียกๆกลับไปตากที่ห้อง ทำให้เกิดช่องว่างให้ธุรกิจใหม่ ที่สามารถซัก-อบ จบภายใน 1 ชั่วโมง ในราคาไม่ถึง 80 บาท เป็นการแชร์ส่วนแบ่งตลาดเดิมออกมาได้บางส่วน

เมื่อเปรียบเทียบโอกาสและช่องว่างทางการตลาดของธุรกิจนี้ โดยยกตัวอย่างจากประเทศมาเลเซียมาเทียบเคียง นั่นคือ จำนวนประชากรของมาเลเซีย มีประมาณ 33 ล้านคนทั่วประเทศ ตัวร้าน Laudromat ที่มาเลเซียมีประมาณ 5,000 สาขา เพราะฉะนั้นถ้าเปรียบเทียบอัตราส่วนของประชากรระหว่าง ไทยกับมาเลเซีย มันคือ 5,000 คนต่อ 1 ร้าน หมายความว่า ถ้าเอาอัตราส่วนนี้มาเทียบกับเมืองไทย จะสามารถมีได้ถึง 10,000 สาขา ซึ่งเมื่อประมาณปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ถ้าดูจากทุกแบรนด์รวมกัน ทั้งของ Otteri และของคู่แข่ง มีประมาณ 500 สาขาเท่านั้น ถือว่าช่องว่างของตลาดยังมีอีกเยอะมาก

แข่งอย่างไรให้ชนะ!
ส่วนในเรื่องของการแข่งขัน คุณกวินอธิบายว่า ก็ต้องหาจุดที่ Otteri จะเป็นผู้นำได้ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี การนำแอปพลิเคชั่นมาใช้ การทำระบบ CRM หรือ Consumer Relationship Management และ การใช้ระบบ Cashless ซึ่งถือว่า Otteri ค่อนข้างเป็นผู้นำ แต่ก็ต้องดูเพิ่มเติมว่ายังมี Pain point อื่นอีกหรือไม่

“สิ่งที่ลูกค้าฟีดแบกกลับมาเขาบอกว่า “ การที่คุณมี WiFi ให้มันก็ดีนะ แต่ฉันอยากจะทำกิจกรรมที่มันมีประโยชน์ มากกว่าแค่การนั่งไถมือถือไปเรื่อยๆ.. ทำให้เราก็ต้องนั่งคิดต่อไปว่า ในอนาคตเราอาจจะมี On-wash Entertainment เหมือน On-flight Entertainment ขึ้นเครื่องบินคุณมีหนังดู คุณมาซักผ้าแล้ว คุณ login เข้า Netflix ได้เลย”

“ผมเชื่อว่าปัจจุบันนี้ สิ่งที่เราต้องการคือ เวลาของลูกค้ามากกว่า ถ้าดึงเวลาของเขามาได้ สักพักเดี๋ยวเขาซื้อของเราต่อเองแน่นอน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำ เรารู้ว่าตัวธุรกิจของเรามันเป็นตัวนำไม่ได้ แต่มันเป็นธุรกิจเสริม เพื่อให้อันอื่นดูดีได้ เช่น เราสามารถเสริมให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมันน่าเข้าได้ เราก็เลยไปเปิดคู่กัน ก็จะเห็นว่าเรามีไปเปิดคู่กับ 7-Eleven Tops Daily Family Mart Tesco Lotus ซึ่งกลยุทธ์นี้ ช่วยให้เกิดผลแบบ Win-Win เพราะทันทีที่ลูกค้า มาใช้เวลาที่ร้านเรา เขาก็จะเดินไปหาอะไรกิน เพราะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1 ชั่วโมง เราอยากให้พื้นที่นี้เกิดเป็น community ในอนาคตด้วย เช่น มานั่งกินข้าว หรือ มานั่งคุยกัน” คุณกวิน กล่าว

คำแนะนำ ฟื้นจากความล้มเหลว สู่ความสำเร็จ จาก Otteri
การทำธุรกิจเวลานี้ อย่าคิดถึงแต่ตัวเอง เพราะเราอยู่ในกลุ่มสังคมที่เราต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน เราไม่จำเป็นต้องได้กำไรสูงสุดก็ได้  แต่เราสามารถทำกำไรพอให้เราอยู่รอด ช่วยให้เพื่อนๆ หรือคนที่เป็นลูกค้าเรา อยู่รอดไปด้วยกัน แล้วเขาจะเป็นลูกค้าเราต่อไป อันนี้ในสภาวะนี้ผมว่าสำคัญ

คุณกวิน นิทัศนจารุกุล ผู้บริหารธุรกิจร้านสะดวกซัก อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย (OTTERI WASH & DRY)

ส่วนคนที่อยากร่วมธุรกิจกับ Otteri ควรมี Mindset อย่างไร?
Otteri เป็นธุรกิจที่ต้องเอาใจใส่ เพราะมันคือการทำให้ชุมชนดีขึ้น ต้องคิดตั้งแต่แรกว่า เมื่อร้านเปิดจะช่วยให้ชุมชนนั้นจะได้ประโยชน์อะไรจากร้านเรา ต้องคิดถึงคนอื่น มากกว่าที่จะมองเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว

Otteri ตั้งเป้าขยายสาขาให้ได้ 500 สาขา ภายในปีหน้านี้ จากปัจจุบันมี 255 สาขา ส่วนคนที่สนใจปัจจุบันค่าแฟรนไชส์สำหรับ Otteri เริ่มต้นที่ประมาณ 2.2 ล้านบาท

จากบทสัมภาษณ์ คุณกวิน นิทัศนจารุกุล ผู้บริหารธุรกิจร้านสะดวกซัก อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย (Otteri Wash & Dry)
Created with