{{ 'component_1597072629098_21' | dynamic }}
ก่อนที่เราจะแนะนำบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่คลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีบล็อกเชน จนกลายเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของวงการไปแล้วนั้น เราอยากให้คุณอดใจไว้สักครู่

และขอพาทุกท่านย้อนกลับไปยังข่าวสำคัญข่าวหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือข่าวในแวดวงการเงินการธนาคาร ที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับ Thailand Blockchain Community Initiative ว่า “มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชนและนำมาพัฒนาเป็นบริการที่จับต้องได้จริงในภาคการเงินและภาคธุรกิจ ซึ่งเริ่มต้นจากธนาคารพาณิชย์ 14 ราย ร่วมกับรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจขนาดใหญ่ในปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมเพิ่มเติมเป็น 22 ราย และมีการจัดตั้งบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนเป็นบริการแรก”

พูดง่ายๆ ก็คือวันนี้เทคโนโลยีสำคัญอย่างบล็อกเชน กำลังเข้ามาปฏิวัติระบบการให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ ที่เดิมทีมีระบบคนกลางเป็นผู้ผูกขาดการทำธุรกรรมที่ว่า และผู้ประกอบการและองค์กรขนาดใหญ่มากมายก็ต้องทุ่มค่าใช้จ่ายไปกับการเก็บรักษาข้อมูล ยังไม่นับความยุ่งยากของขั้นตอนอีกมากมายระหว่างทาง แต่วันนี้บล็อกเชนเข้ามาช่วยทำให้ระบบมีความซับซ้อนน้อยลง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แถมยังโปร่งใส เชื่อถือได้มากขึ้น

เรื่องนี้เราว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบมากมายต่อฝั่งการเงินการธนาคารรวมทั้งการบริหารจัดการธุรกิจด้วย พูดมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะได้เข้าสู่การสนทนาอย่างเป็นทางการกับ คุณ สิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) ที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของบล็อกเชนมากขึ้น รวมทั้งหยิบยกกรณีศึกษาที่พิสูจน์ได้ว่า บล็อกเชนเข้ามาเปลี่ยนโลกและทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นจริงๆ

แน่นอนว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนยังต้องมีการพัฒนาอีกมากมายและส่งผลต่ออีกหลากหลายอุตสาหกรรม จึงมีทั้งโอกาสใหม่ๆ และความต้องการของตลาดที่หลายคนอาจมองข้ามไป ความเชี่ยวชาญด้านการทำบล็อกเชน จึงเป็นทักษะแห่งอนาคตที่ไม่ได้อยู่ห่างไกลอีกต่อไปแล้ว

และที่ห้ามพลาดคือ คุณสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ตอบรับมาเป็นวิทยากรอีกหนึ่งท่าน ในหลักสูตรบล็อกเชน ที่จะเปิดสอนที่ Shift ACADEMY อีกด้วย
1.ถ้าให้กล่าวโดยสรุป สิ่งที่บริษัท BCI ทำอยู่คืออะไรบ้างและเทคโนโลยีบล็อกเชนของที่นี่คืออะไร
ถ้าให้พูดว่า ผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจของเราคืออะไร ผมมองว่า จริง ๆ แล้วเราคือคนที่เข้ามาแก้ปัญหามากกว่า ทุกวันนี้ เราเห็นเลยว่า ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายของธนาคารที่ทำให้ผู้ประกอบการ พนักงานบริษัทเสียเวลาไปกับการเดินเอกสาร ต้องนำเอกสารมา วิ่งไปตรวจสอบกับอีกหน่วยงานหนึ่งเพื่อยืนยันความถูกต้อง เพราะทุกอย่างต้องผ่านมือคนกลาง และความที่ทุกอย่างยังเป็นกระดาษ ก็อาจจะเสี่ยงกับการถูกปลอมแปลง เพราะกระดาษผ่านมือคนกลางมันก็ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น แล้วยังต้องมีระบบตรวจสอบอีกว่าจริงหรือไม่จริง พอเรานำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าไปช่วย มันก็ช่วยตัดคนกลางออกจากระบบเลย เพราะเรากำลังสร้างระบบที่เรียกว่าเป็นแพลตฟอร์มกลางครับ แต่ไม่ใช่คนกลาง คำว่า “คนกลาง” คือเห็นข้อมูล แต่แพลตฟอร์มกลางจะไม่ได้เห็นข้อมูลอะไร

เหมือนผมเป็นคนดูแลระบบการเชื่อมต่อของทุกธนาคารให้ แต่มันจะต่างกับสมัยก่อนที่คนกลางเห็นข้อมูลหมด  แต่ข้อดีของแพลตฟอร์มกลางที่เป็นบล็อกเชนคือทุกคนจะรู้พร้อมกันหมดทันทีหากมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล

ทีนี้ ถ้าลงรายละเอียดอีกนิด ในสิ่งที่ BCI ทำในเรื่องหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ELG (Electronic Letter of Guarantee) มันเป็นเรื่องของ 3 ฝ่ายคือ ผู้ค้า ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ซื้อเลือกได้ว่าจะเอาของจากนาย A และนาย A จะเอาของมาส่ง ผู้ซื้อก็บอกว่าวางหนังสือค้ำประกันหน่อยดีไหม ทีนี้ สมัยก่อนต้องไปธนาคาร แล้วก็มีวงเงินค้ำประกัน (ถ้าลูกค้าผิดสัญญา ธนาคารต้องจ่ายเงินแทน) พอมีวงเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เขาไม่อยากให้คนกลางเห็น เรื่องนี้เลยเป็นโลกของกระดาษมายาวนาน 20-30 ปีครับ เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และต้องมีคนนำหนังสือค้ำประกันไปเก็บรักษาให้ดี ห้ามหาย

หนังสือค้ำประกันจริง ๆ มีมานานมากนะครับ แต่ไม่เคยมีใครทำแบบอิเล็กทรอนิกส์ แล้วเป็น Multi-bank ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธนาคารกับลูกค้าเป็นคู่ ๆ ไป พอบล็อกเชนเข้ามา เราลองนำมาใช้ดู ปรากฏว่าแก้ปัญหาได้จริง ๆ เพราะบล็อกเชนมันคือแพลตฟอร์มกลาง แต่ข้อมูลในนั้นจะเก็บแค่ของธนาคารที่เป็นคู่ค้ากับบริษัทเท่านั้น แพลตฟอร์มอย่างผมไม่เห็นข้อมูล เพราะเป็นแค่แพลตฟอร์ม

2.การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างไรในกรณีของคุณ

Use case ที่ทำประสบแล้วความสำเร็จก็คือว่า ตอนที่ออกหนังสือค้ำประกัน เราแก้ปัญหาหลายเรื่องมากเลย คืออันดับแรก เราตัดคนกลางออก อันดับต่อมา เราทำงานได้เร็วขึ้นจากระดับที่ต้องรออนุมัติ 15 วัน กว่าจะทำสัญญาได้ กว่าจะได้เงินงวดแรกไปหมุนเวียนทำธุรกิจ ตอนนี้ใช้เวลารอแค่ 15 นาที เพราะขั้นตอนใหญ่ที่หายไปเลยอย่างน้อยหนึ่งขั้นตอนก็คือ ขั้นตอนที่ต้องมาถามว่า หนังสือค้ำประกันนี้ออกโดยธนาคารจริงหรือเปล่า เพราะมันมีระบบที่ตรวจสอบได้โดยบล็อกเชน ดังนั้นกระบวนการสอบถามก็จะหายไปเลย แปลว่ามันเชื่อถือได้นะครับ สรุปง่ายๆ ก็คือว่า ระบบนี้โปร่งใส แม่นยำ ลดปัญหาการโกงที่จะเกิดขึ้นได้ และลดขั้นตอนการทำงานของสาขาเพราะว่า เราไม่จำเป็นต้องไปรับหนังสือค้ำประกันที่สาขา แล้วเอามายื่นให้บริษัทคู่ค้าขนาดใหญ่อีกแล้ว
3.ผลที่จับต้องได้ในแง่ของการประหยัดค่าใช้จ่าย
เรื่องนี้ จริง ๆ เราเคยจ้างที่ปรึกษาระดับ Big 4 ในวงการ มาทำวิเคราะห์ให้โครงการที่เราทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เอาแค่เรื่องการทำหนังสือค้ำประกันแบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว เราลดการใช้กระดาษไป 80% ลดการตัดต้นไม้ไปประมาณ 6,000 ต้นต่อปี อันนี้ประมาณการนะครับ แล้วก็ลดคาร์บอนเครดิตไปหลายพันตัน เพราะว่าหนังสือค้ำประกันนี่ โดยพฤติกรรมเมื่อมีการออกแล้ว ก็จะมีการแก้ พิมพ์ใหม่ เดี๋ยวเพิ่มวงเงิน เดี๋ยวลดวงเงิน เดี๋ยวเซ็นชื่อใหม่

สมมติเวลาผู้รับเหมาทำไม่เสร็จตามเวลา ก็ต้องไปขยายเวลาในหนังสือสัญญา มีการแก้ไข พิมพ์ใหม่อย่างนี้เรื่อย ๆ มอเตอร์ไซค์ก็วิ่งไปส่งเอกสารอยู่อย่างนั้น ยิ่งเป็นหนังสือค้ำประกันวงเงินสูง เช่น บางเล่มวงเงินเป็นหมื่นล้านนะครับ เพราะเป็นโครงการใหญ่ ทีนี้ก็จะมีผังช่วงเวลาส่งงาน มีการเลื่อนการทำงาน พอเลื่อนก็ต้องมาแก้เอกสารใหม่อยู่ตลอดเวลา แล้วเล่มหนึ่ง ถ้าต้องแก้หลายรอบ กระดาษรีมหนึ่งก็เอาไม่อยู่ นี่พูดถึงเล่มเดียวนะ แล้วทั้งตลาดจริงเรามีหนังสือค้ำประกันเฉลี่ยบวกลบนะครับ ประมาณปีละ 800,000 ฉบับต่อปี แล้วบางปีอาจจะขึ้นไป 1,200,000 ฉบับ  เพราะมันขึ้นอยู่กับโครงการซื้อขายผู้รับเหมากันแต่ละปี

ทีนี้พอหนังสือค้ำประกันในแต่ละโครงการเสร็จ ต้องเอาไปเก็บรักษาอีก เช่น บริษัทมหาชนแห่งหนึ่งในประเทศเราที่ให้เกียรติเป็นองค์กรรายแรกๆ ที่เข้ามาอยู่ในโครงการ เขาก็ลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บไปเยอะมาก เพราะต้องอย่าลืมว่า หนังสือค้ำประกันมันสำคัญมาก เพราะเป็นหนังสือค้ำประกันตามกฎหมาย มันจะไม่มีการคัดลอก มันจะมีเล่มเดียวเท่านั้นต่อหนึ่งโครงการ แล้วองค์กรนี้มีบริษัทในเครือเยอะมาก ๆ พอออกหนังสือค้ำประกันเสร็จต้องส่งไปเก็บที่บริษัทใหญ่ ซึ่งต้องทำห้องเหมือนกับห้องเก็บหนังสือค้ำประกัน

สมมติเวลาที่มีไฟไหม้ตึกนี้ ต้องห้ามพ่นน้ำ เดี๋ยวหนังสือค้ำประกันพัง ต้องพ่นเป็นเครื่องยิงทำลายออกซิเจน แล้วก็หนังสือค้ำประกันไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียวทั้งหมด ก็จะมีชั้นวาง มีการจัดประเภทต่าง ๆ ว่าอันนี้เป็นหนังสือค้ำประกันของเดือนที่แล้ว เดือนนี้อะไรจะหมดอายุ หมดอายุต้องไปต่ออีก

ดังนั้นห้องจะใหญ่มากและมีกระบวนการทำงานที่จุกจิกมาก แล้วหนังสือค้ำประกันนี้มันสำคัญมาก ๆ ในมุมของผู้ประกอบการรายใหญ่ ถ้าหายไปก็เป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ เพราะมูลค่าเป็นหมื่นล้าน ถ้างานไม่ตรงตามกำหนด แล้วหนังสือค้ำประกันไม่อยู่ เขาจะฟ้องร้องกับใคร เหมือนธนาคารมาค้ำประกันให้ แล้วธนาคารเชื่อว่าจะฟ้องร้องได้ ก็ต่อเมื่อมีหนังสือค้ำประกัน

หรือแม้แต่การต่ออายุหนังสือค้ำประกันไม่ทันก็เสียสิทธิฟ้องร้องนะครับ เพราะการเก็บเป็นกระดาษมันเตือนไม่ได้ ต้องมีการวางระบบไอที ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เวลาหนังสือค้ำประกันใกล้หมดอายุ เขาต้องให้คนมานั่งกรอกในระบบให้มันเตือน ถ้ากรอกผิดหรือเกิดความผิดพลาด (Human error) ไม่เตือนหนังสือค้ำประกันหมดอายุ ก็เสียสิทธิเลย แล้วถ้าเสียสิทธิกับโครงการใหญ่นี่ ถึงขั้นเสียโอกาสไปเยอะมาก อันนี้ก็คือหลักของหนังสือค้ำประกัน
4.คุณสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสินคิดว่า แล้วใครควรเรียนคอร์สบล็อกเชน
คนที่เหมาะคือ คนที่ในกระบวนการทำงานต้องมีการตรวจสอบเอกสารเยอะๆ และมักจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเช่น  Human Error ซึ่งควรจะเป็นคนที่อยู่ระหว่างองค์กร ไม่ใช่ภายในองค์กร หรือถ้าเป็นภายในองค์กร ก็ต้องเป็นหน่วยงานที่กำลังหาทางออกร่วมกัน หรือเคยขัดแย้งกันมาก่อน แล้วต้องมีคนกลางมาคอยตรวจสอบตลอดเวลา เราต้องการตัดระบบคนกลางนี้ออกไป เพราะบล็อกเชน มันเป็น Network of Trust สร้างระบบให้ทุกฝ่ายเชื่อใจ  

ถ้าโดยปกติ คนเชื่อใจกันอยู่แล้ว บล็อกเชน จะไม่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์เท่าไหร่ ดังนั้นบล็อกเชนจึงเก่งเรื่องการสร้างระบบแบบข้ามองค์กรมาก ๆ  อย่างวันนี้ผมทำเรื่องของการเอาธนาคารทุกธนาคารมาอยู่บนแพล็ตฟอร์มเดียวกัน ก็คือการทำงานแบบข้ามองค์กร แต่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือร่วมกันให้ได้ จากที่เมื่อก่อนธนาคารไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ขนาดนี้ เพราะแต่ละธนาคารก็มีข้อมูลที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับ แล้วเขากลัวการแย่งลูกค้ากันมาก ๆ แต่วันนี้ เขาไม่ต้องกลัวข้อมูลรั่วไหลและลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการทำงานไปเยอะมาก เขาเลยมาร่วมมือกันได้ มีที่ปรึกษาเคยบอกว่า BCI น่าจะเป็นบริษัท 1 ใน 12 ของโลกที่นำบริษัทคู่แข่งกัน หรือไม่เชื่อใจกัน มาอยู่บนเน็ตเวิร์กได้เยอะที่สุด

5.ถ้าถามในมุมคนเรียน คิดว่าเขาเรียนไปเพื่อทำอะไรได้บ้าง
จริง ๆ บล็อกเชน มี 2 ด้านนะครับ คือด้านของธุรกิจกับด้านที่เป็นเทคนิค การเรียนรู้เรื่องบล็อกเชน ก็เพื่อ Digital Transformation โดยหลักๆ ก็คือเพื่อคน 2 กลุ่ม คือ 1.คนที่เป็นบริษัท ซอฟต์แวร์เฮาส์  คือทำงานด้านเทคนิคด้านโปรแกรมให้คนอื่น คนกลุ่มนี้ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ เพราะเวลาเข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กำลังจะเปลี่ยนไปใช้ระบบบล็อกเชน  บริษัทที่ต้องทำซอฟท์แวร์ก็ต้องมีคีย์เวิร์ดในการสอบถาม ให้คำปรึกษาหารือในเรื่องต่าง ๆ  เพราะการไปรับดำเนินการทำระบบบล็อกเชน ก็ต้องรู้หลักการว่าจะไปถามอะไร เพื่อเอาไว้ตัดสินใจว่ามันอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับการทำบล็อกเชนหรือเปล่า 2.คือคนในองค์กรเอง ที่ได้รับโปรเจ็กต์ให้แก้ปัญหา แล้วคิดว่าบล็อกเชนน่าจะเป็นทางออกได้ ก็ยิ่งจำเป็น แล้วก็ค่อยขยับไปคิดเรื่องการออกแบบระบบต่าง ๆ เพื่อทำให้โปร่งใส เชื่อใจกันได้ทุกฝ่าย ลดขั้นตอนการทำงานมากมายลงไป

นอกจากนั้น ผมอยากสอนบล็อกเชนในมุมของการเลือกใช้ปัจจัยที่ควรนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อให้ส่งผลสูงสุด เพราะบล็อกเชนไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่าง ผมจะมี Use Case หรือเคสที่นำบล็อกเชนไปใช้แล้วได้ผลมาเล่าให้ฟังในห้อง เพราะเราต้องเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละเรื่อง และเข้าใจความเก่งกาจของบล็อกเชนว่าอะไรทำให้การใช้บล็อกเชนจึงประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้มีหลายองค์กรนะครับที่เอะอะก็ทำบล็อกเชน หรือหน่วยงานราชการหลายแห่งพอมีคำว่าบล็อกเชนแล้วจะได้รับการอนุมัติงบง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ใช้ความเก่งกาจของบล็อกเชนให้เกิดประโยชน์ก็เหมือนการจ้างคนเงินเดือนแพง ๆ มาทำ IT Replacement อะไรบางอย่าง คุณจึงต้องรู้ว่า การเลือกใช้บล็อกเชน มีปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่คุณต้องพิจารณา

ผู้ที่สนใจคอร์สบล็อกเชนของคุณสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสินที่พัฒนาหลักสูตรร่วมกับ Shift ACADEMY ติดตามข้อมูลและรายละเอียดของคอร์สได้ที่นี่ [เร็วๆนี้]
Created with