ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยแก้ได้ด้วยการตั้งเป้าหมายเพื่อสังคม

ทุกวันนี้ CEO และ ผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลหลายคนต่างคร่ำครวญถึงความยากลำบากในการจัดการกับปัญหาด้านบุคคล โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้นำที่อายุมากไม่อาจเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของพนักงานที่มีอายุน้อยกว่าได้ โดยเฉพาะคน Gen-Y หรือเรียกอีกอย่างว่า Millennials (คนที่เกิดในปี พ.ศ. ระหว่าง 2524-2539) จึงเกิดช่องว่างระหว่างวัย

ในที่นี้ เราจะมากล่าวถึงความแตกต่างระหว่างยุค Baby Boomer กับ Gen-Y ที่ใครๆ ก็ว่ามีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเหลือเกิน

ความคาดหวังของคนรุ่นเก่า
งานวิจัยส่วนใหญ่ได้ทำการแบ่งช่วงวัยของคนในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนี้ Gen-S (หรือ Silent Generation คนที่เกิดในปี 1920 ถึง 1945) Gen-B (หรือ Baby Boomers คนที่เกิดในปี 1946 ถึง 1964 ) Gen-X ( คนที่เกิดในปี 1965 ถึง 1980)  Gen-Y (หรือ Millennials คนที่เกิดในปี 1981 ถึง 1996) และ Gen-Z ( คนที่เกิดในปี 1997 เป็นต้นไป)

โดยมีคำนิยามว่าคน Gen-B คือบุคคลที่ซื่อสัตย์ ทุ่มเทกับงาน และมีความรับผิดชอบสูง พวกเขาต่างมีความคิดที่จะทุ่มเททำงานทั้งชีวิตให้กับบริษัทเดียวไปตลอด ถ้าพวกเขาทำงานดี ก็ย่อมคาดหวังที่จะให้บริษัทดูแลพวกเขาด้วยเงินบำนาญที่ดี ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ และการเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี  

แต่ในช่วงปี 1980 ถึง 1990 บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายต่างไม่อาจตอบสนองกับความคาดหวังเหล่านั้นได้ เพราะโลกได้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ซึ่งมีแรงกดดันจากการแข่งขันและต้องการมาตรฐานที่สูงขึ้น

บริษัทมากมายในประเทศสหรัฐอเมริกาต่างได้ปรับปรุงโครงสร้างใหม่ มีการโยกย้ายฐานผลิต หรือปิดตัวในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดกำไร เกิดเป็นปรากฎการณ์ของคลื่นผู้คนจำนวนมากที่ถูกลอยแพและต้องการหางานใหม่

คน Gen-B ได้ทำให้โลกเกิดการประท้วงทางการเมืองในช่วงสงครามเวียดนามและเหตุการณ์อื่นๆ ความเคลื่อนไหวทางสังคมในระหว่างทศวรรษ 1960-1970 และได้ส่งผลให้เกิดความคาดหวังในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ได้แก่ ความเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชน และสิทธิสตรีขึ้น

แต่ในช่วงปี 1980-1990  การประท้วงต่างๆ ถูกทำให้หยุดชะงัก และเราเห็นถึงความไม่เท่าเทียมท่ามกลางชนชั้นทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความคาดหวังของคน Gen-B จึงยิ่งห่างไกลออกไป   


ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่
เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะสิ่งประดิษฐ์และความนิยมของอินเทอร์เน็ต คนรุ่นใหม่ต่างเติบโตมาพร้อมกับโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ การสร้างประชาคมโลกไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดอีกต่อไป แต่มันเป็นเรื่องจริง จดหมายและโทรศัพท์ที่เคยเป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร (สมัยที่การโทรศัพท์ทางไกลมีค่าบริการที่แสนแพง) ตอนนี้กลับถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ผู้คนสามารถพูดคุย ส่งข้อความ หรือส่งอีเมลให้ใครก็ตามในโลกนี้ได้ด้วยโทรศัพท์เครื่องเดียว หรือแม้แต่นาฬิกา (Smart Watches) ของพวกเขาก็สามารถทำได้

สำหรับผู้คนในยุคดิจิทัลนี้ นโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (America First Policy) ไม่อาจมีอิทธิพลต่อผู้คนได้เหมือนเคยอีกต่อไป เพราะผู้คนต่างสัมผัสได้ว่าความจริงแล้วอเมริกาเป็นอย่างไร คนรุ่นใหม่ต่างถูกสอนว่าให้ช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือและด้อยโอกาสกว่า และคาดหวังว่าเงินที่พวกเขาหยิบยื่นให้จะสร้างจิตสำนึกในสังคมได้

คนรุ่นใหม่อย่าง Gen-Y ถูกดึงดูดให้เข้าร่วมงานในองค์กรที่พยายามจะช่วยเหลือผู้คน ถึงแม้ว่าจะเป็นการส่งอิทธิพลต่อจุดเล็กๆในสังคมก็ตาม เช่น บริษัทผลิตแว่นตา Warby Parker  และบริษัทผลิตถุงเท้า Bombas ทั้งสองบริษัทนี้มีนโยบาย “ซื้อ 1 คู่ เท่ากับ ให้ 1 คู่ ” นั่นคือการบริจาคแว่นตา และถุงเท้าให้กับผู้คนที่จำเป็นต้องใช้และไม่มีเงินพอที่จะซื้อ  บริษัทรองเท้า Toms ก็มีนโยบายว่า “ทุกๆ 3 ดอลลาร์ที่ได้มา เราจะบริจาค 1 ดอลลาร์” คน Gen-Y นั้นสรรเสริญการช่วยเหลือชุมชนผู้ด้อยโอกาสโดยไม่คำนึงว่าชุมชนเหล่านั้นจะตั้งอยู่ที่ไหนในโลก

มักกล่าวกันว่าคน Gen-Y อาจไม่มีความยึดมั่นในบริษัทเท่ากับคน Gen-B แต่ลองนึกดูว่า ถ้าพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของคุณถูกเลิกจ้าง จะด้วยการปรับขนาดองค์กรหรือการจ้างงานจากแหล่งภายนอกแทนก็ดี หรือการที่ต้องโตมาในสถานการณ์ที่มีคนนับพันถูกไล่ออกหรือโรงงานปิดตัว เผลอๆ คุณก็อาจจะเชื่อเหมือนกันว่า การภักดีในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่น่าจะเป็นแนวคิดที่ดีนัก
ช่องว่างระหว่างวัย คน Gen-B และคน Gen-Y สามารถเข้าใจตรงกันได้
ความแตกต่างระหว่างวัยนั้นมีมากมายก็จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักมาจากการสำรวจและวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ แต่อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่ามีความแตกต่างที่เกิดขึ้นภายในช่วงวัยเดียวกัน มากกว่าความแตกต่างระหว่างวัย (ช่องว่างระหว่างวัย) และยังพบว่าคนจำนวนมากมีความคิดไปในทางเดียวกัน ในช่วงอายุเท่าๆ กันด้วย  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรายังเป็นเด็ก เราอาจมีอุดมการณ์ในเรื่องธรรมชาติและมีความคาดหวังเกี่ยวกับงานที่จะทำ แต่เมื่อโตขึ้น เราต่างก็ยอมรับว่าอุดมการณ์ในการทำงาน มันไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้

สิ่งหนึ่งที่ค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้และยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักคือ ความคิดเห็นที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนักของคนแต่ละรุ่นเกี่ยวกับความยุติธรรมของระบบเศรษฐกิจ โดยศูนย์วิจัย PEW ได้รายงานว่า คน Gen-B ประมาณ 60% และคน Gen-Y ประมาณ 66% กล่าวว่าระบบเศรษฐกิจไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรม และกว่า  80% ของคนทั้งสองรุ่น ได้กล่าวว่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่

ว่าแต่ความเชื่อมั่นในทางการเมืองจะช่วยแก้ปัญหาได้หรือ? คำตอบพบว่า กว่า 2 ใน 3 ของคนทั้งสองรุ่น กล่าวว่าพวกเขาเชื่อมั่นในรัฐบาล “ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง” ในบางครั้งบางคราวเท่านั้น

ความจริงคือทั้งคน Gen-B และ Gen-Y ต่างต้องการให้ธุรกิจดีขึ้น ต้องการให้ธุรกิจเป็นแรงผลักดันด้านบวกให้สังคม สร้างชุมชนที่แข็งแรง สิ่งแวดล้อมที่สะอาด และสร้างอาชีพที่มีคุณค่าและดีกว่าเดิม

 เรายืนยันว่าความแตกต่างระหว่างรุ่นเป็นเพียงสิ่งที่ห่อหุ้มพวกเขา เช่น รสนิยมในการแต่งตัวตามยุคสมัยและเพลงที่พวกเขาชอบฟัง ความแตกต่างเหล่านี้อาจดูเหมือนยากที่จะทำให้พวกเขาเข้ากันได้ แต่มันไม่ได้หมายความว่าคนแต่ละรุ่นจะมีความนึกคิดที่ต่างกันไปซะทุกเรื่อง
สิ่งที่ต้องทำ
เราต้องสร้างเรื่องราวทางธุรกิจให้น่าสนใจขึ้น โดยใช้ปัญหาทางสังคมมาเป็นตัวจุดประกาย เพราะทั้งคน Gen-B และ Gen-Y มักจะไม่พอใจ ในการมองสังคมว่าเป็นเพียง “ส่วนเสริม” ที่ต้องช่วยเหลือ ในยามที่มีกำไรเหลือเท่านั้น

ธุรกิจต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเป้าหมายหรือการค้นพบใหม่ๆ ซึ่งเป้าหมายนั้นจะต้องมีความเป็นกลางเพื่อให้เข้าถึงทุกคนได้มากขึ้น จากที่คิดเพียงเพื่อสร้างเม็ดเงินให้ผู้ถือหุ้นเท่านั้น

การจะทำให้เป้าหมายเป็นกลางต้องเข้าใจว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งรวมไปถึงชุมชนและสังคมนั้นจะได้รับผลกระทบจากรูปแบบธุรกิจอย่างไร และพวกเขากำลังทำงานอย่างไรเพื่อนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการมากกว่าเพียงแค่การทุเลาเบาบางผลลัพธ์ที่ไม่ดีลงไป

พวกผู้นำต้องเข้าใจว่าพวกเขาเองก็อาศัยอยู่ในสังคมด้วย ไม่ใช่สนใจแค่การแข่งขันในตลาดเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าพวกผู้นำจะต้องจัดการกับปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะสิ่งที่มีความสำคัญต่อรูปแบบธุรกิจของพวกเขา

กุญแจสำคัญในการสร้างวิสัยทัศน์ของทุนนิยมที่ดีกว่าก็คือความตระหนักว่าธุรกิจเป็นพื้นฐานขององค์กรมนุษย์ เราต้องมองคนอื่นๆว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์ทั่วไป ไม่ใช่มองว่าเป็นตัวแทนทางธุรกิจที่แสวงหาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเอง

ให้มองธุรกิจอย่างมนุษย์ทั่วไปคนหนึ่ง การรวมธุรกิจและจริยธรรมเข้าด้วยกันเป็นรูปแบบธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนได้ แน่นอนการพูดนั้นง่ายกว่าการลงมือทำ แต่ถ้าเราสามารถใช้จินตนาการที่สร้างสรรค์ของเราได้ เราก็จะสามารถสร้างธุรกิจที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและสามารถสร้างโลกให้ดีกว่าได้เช่นกัน

ที่มา : https://sloanreview.mit.edu/article/is-there-a-generation-gap-in-business/
Created with