Leadership คีย์แมนความสำเร็จ-ล้มเหลว ในการทำ Digital Transformation

แต่ละองค์กรมีเหตุผลที่ต่างกันออกไปกับการทำ Digital Transformation ไม่สำเร็จ แต่ปัญหาเจออยู่บ่อยๆ คือ Leadership หรือ ภาวะผู้นำ เรียกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะการ Transform องค์กรต้องใช้ระยะเวลานานหลายปี ถ้าผู้นำไม่เห็นภาพของปลายทางว่าจะเดินไปในทิศทางไหน สุดท้ายแล้วก็อาจจะทำให้เดินไปผิดทางและไม่ถึงจุดมุ่งหมายที่วางเอาไว้

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ SHiFT Your Future เรื่อง ภาวะผู้นำ กับการทำ Digital Transformation ว่า ผู้นำองค์กรที่ดีจะต้องเห็นภาพธุรกิจตัวเองให้ชัด เห็นทิศทางที่จะเดินไป อะไรที่ใช่ อะไรที่ไม่ใช่ จะต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับทีมงาน สื่อสารกับทีมงานให้เห็นภาพเดียวกัน จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะถ้าทำไม่ได้วันหนึ่งทีมก็จะสูญเสียความเชื่อมั่นไป และไม่พร้อมเดินไปในทิศทางเดียวกับองค์กร

นอกจากนี้ยังต้องหาวิธี Upskill, Reskill ให้พนักงานมีความพร้อมมากขึ้น ซึ่งถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็อาจจะทำให้ระหว่างทางการทำ Digital Transformation เกิดความขัดแย้งและติดขัดได้

Leadership ดี แต่วัฒนธรรมองค์กรไม่ดีก็ล่มได้
ถ้าองค์กรมีผู้นำเก่ง แต่วัฒนธรรมองค์กรไม่ดีล่ะ จะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นอีกปัญหาโลกแตกที่ทำให้หลายองค์กรใหญ่ไม่สามารถทำ Digital Transformation ได้สำเร็จ ซึ่ง พชร ให้ความเห็นว่าองค์กรขนาดใหญ่ส่วนมากการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะองค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อนในอดีต เมื่อองค์ประกอบทั้งสองอย่างคือ ความใหญ่ และ สำเร็จมาในอดีต มารวมกันก็จะทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้ยาก

“ถึงแม้เราจะมีผู้นำที่มีความสามารถ ก็มีโอกาสล้มเหลว”
พชร อารยะการกุล

พชร กล่าวต่อว่าการที่องค์กรมีผู้นำที่ดี จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำ Transformation แต่เมื่อความเสี่ยงน้อยลงก็ไม่ได้รับประกันว่าจะสามารถทำได้สำเร็จ ซึ่งความใหญ่ขององค์กร เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมา

เมื่อถามว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร องค์กรต้องเข้าใจก่อนว่าปกติพนักงานจะต่อต้านจากอะไรบ้าง?

1.ต่อต้านจากความไม่เชื่อ คือ ไม่เชื่อสิ่งที่ผู้นำพูดมาทั้งหมดว่าเป็นทางที่ถูกต้อง

2.ต่อต้านเพราะว่าเสียประโยชน์ เช่น บริษัทโกดัก เป็นกรณีศึกษาที่ดีมาก เพราะเป็นบริษัทแรกที่ทำกล้องดิจิทัลสำเร็จ แต่ก็โดนกล้องดิจิทัลเข้ามาดิสรัปต์ เพราะคนข้างในมองว่าสินค้าใหม่จะมาทำให้ฟิล์มหรือธุรกิจเดิมมียอดขายลดลง

3.ต่อต้านเพราะเขาไม่ได้มีความสามารถที่จะอยู่ในตำแหน่งงานนั้นๆ ได้ ขาดสกิลการทำงานใหม่ๆ เช่น เซลล์ที่ขายของเก่งมาก แต่วันนึงเมื่อบริษัทนำระบบใหม่เข้ามาใช้ และให้พนักงานคนนี้เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เมื่อพนักงานคนนี้ไม่รู้ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร ก็จะเกิดการต่อต้าน

 
“ซึ่งกรณีเหล่านี้ คือต้นตอของการต่อต้านทั้งหมด และจะนำไปสู่ความล้มเหลว ถ้าเราไม่สามารถทำให้คนหมู่มากเดินไปในทิศทางเดียวกันได้โอกาสล้มเหลวก็จะมีสูง”

 

แนะ 3 วิธี Leadership แก้ปัญหาวัฒนธรรมองค์กร
จากปัญหาวัฒนธรรมองค์กรข้างต้นที่ส่งผลให้องค์กรไม่สามารถก้าวข้ามการทำ Transformation พชร ได้แนะนำ 3 วิธี ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว

1.ผู้นำจะต้องคอยสร้างแรงผลักดันให้พนักงาน และเป็นตัวอย่างที่ดี สื่อสารให้พนักงานได้เห็นภาพเดียวกันกับที่องค์กรกำลังจะก้าวไป

2.การสร้างผลตอบแทนให้พนักงาน เมื่อพนักงานทำได้ดีก็ควรมีรางวัลให้ เพราะพนักงานแต่ละคนนั้นมีความสามารถไม่เท่ากัน และมีผลงานไม่เหมือนกัน 100% องค์กรควรจะให้รางวัลคนที่ทำได้ตามแผนงานโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

3.จะต้องทำให้ทีมมีความสามารถมากขึ้น หาวิธี Upskill, Reskill ให้พนักงานมีความพร้อมมากขึ้น

ทั้ง 3 วิธีนี้เป็นปัจจัยที่จะต้องเข้ามาแก้ให้ถูกจุด สามารถออกแบบใช้วิธีการต่างๆ เข้ามาช่วยปรับพนักงานให้เปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อเปลี่ยนพฤติกรรมได้ก็จะสามารถเปลี่ยนความคิดเป็นบวกได้ และส่งผลให้องค์กรสามารถ Transformation ได้สำเร็จ

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Agile Organization ไม่ใช่แค่กระแส แต่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในทุกวิกฤต
21 ปีกับแคนนอน ของ “ทรงพล สาหร่าย” เป้าหมายคือการส่งต่อวัฒนธรรมดีๆ ให้องค์กร
Created with