Lean Learning เรียนเท่าที่ต้องเรียน ทางเลือกใหม่ของโปรแกรมอบรมและพัฒนาพนักงาน

In Summary

  • โปรแกรมการอบรมและพัฒนาพนักงานแบบเดิมๆ ที่องค์กรทุ่มทุนมากมายมีข้อเสียหลายอย่างที่ทำให้การลงทุนไปนั้นเสียเปล่า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเวลาและหัวข้อที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการลืมเมื่อไม่ได้นำไปปรับใช้
  • โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกวัน มีกระแสใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย การเรียนรู้ต้องปรับตัวให้ทันโลก ดังนั้นการเรียนรู้แบบ Lean Learning ที่เน้นการเรียรู้แต่หัวใจสำคัญ ปรับใช้กับสถานการณ์ และแก้ไขตามฟีดแบคให้เร็วคือสิ่งที่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน
  • แนวทางการเรียนรู้แบบนี้ สามารถปรับใช้กับการจัดโปรแกรมอบรมและพัฒนาพนักงานได้ โดยวิธีต่อไปนี้ คิดแบบ 80/20 ปรับใช้สิ่งที่เรียนกับสถานการณ์จริงพยายามหาตัวอย่างจากชีวิตจริง ใช้เนื้อหาการเรียนที่ออกแบบมาเฉพาะ สนับสนุนพนักงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากจบหลักสูตร ใช้เทคนิคการเรียนรู้แบบกลุ่มเพื่อนช่วยสอน (Peer Learning) จัดคอร์สระยะสั้น

ครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงปัญหาในการสร้างโปรแกรมการเรียนรู้และพัฒนาของพนักงานในองค์กรต่างๆ กันไปแล้ว โดยถึงแม้ว่าองค์กรจะทุ่มเงินหลายล้านในการพัฒนาโปรแกรมเหล่านี้ แต่พนักงานเองกลับไม่ได้อะไรเลยจากการเรียน เรียกว่าเรียนแล้วก็ลืม และไม่ได้นำไปปรับใช้ด้วยซ้ำ ปัญหานี้เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเวลาและหัวข้อในการเรียนที่ไม่เหมาะสม หรือกลไกของสมองเองที่ทำให้เราลืมสิ่งที่เรียนไปเมื่อไม่ได้ปรับใช้

เมื่อเรารู้ปัญหาแล้ว คำถามต่อมาคือเราจะแก้ไขมันอย่างไร? เพราะไม่ว่าอย่างไรการเรียนก็สำคัญ เนื่องจากวงการธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้องค์กรและบุคลากรต้องปรับตัวตามให้ทัน และต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เหมือนที่ เควิน เคลลี (Kevin Kelly) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Wired  กล่าวไว้ว่าสิ่งที่พนักงานควรมีคือ

“ปรับโหมดตัวเองให้เป็นโหมด beginner กล้าถามคำถามโง่ๆ กล้าทำผิดพลาดแบบเฉิ่มๆ และสอนคนอื่นในสิ่งที่คุณได้เรียนรู้มา”

นอกจากนี้ทางแก้ที่ตอบโจทย์การพัฒนาโปรแกรมเทรนที่เข้ากับปัจจุบันคือ การเรียนรู้แบบ Lean Learning หรือการเรียนรู้แบบฉับไวและเท่าที่จำเป็น ซึ่งอ้างอิงมาจากระบบการผลิตแบบลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกของ Toyota

การเรียนรู้แบบนี้เป็นแนวทางที่ยึดถือว่าความเครียดและความกดดันควรมีแค่เท่าที่จำเป็น และในเวลาที่จำเป็นเท่านั้น นั่นช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และช่วยลดสิ่งที่เกิดความจำเป็น เป็นระบบการเรียนรู้ที่ระยะสั้น เข้าถึงง่าย และพัฒนาองค์กรและพนักงานให้มีทักษะที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วทันเวลา

การเรียนรู้แบบ Lean (ลีน) Learning มีคุณสมบัติหลักๆ ดังนี้


  1. เลือกเรียนรู้หัวใจสำคัญของสิ่งที่เราต้องเรียน
  2. พยายามปรับใช้สิ่งที่เรียนกับสถานการณ์ในชีวิตจริงให้เร็วที่สุด
  3. พยายามขอฟีดแบคทันทีและปรับตัวเองใหม่ตามฟีดแบคให้เร็ว
  4. ทำทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นซ้ำให้เป็นประจำ


การเรียนรู้แบบนี้ ก็เหมือนกับการผลิตแบบ Lean Manufacturing และบริษัทแบบ Lean Startup พวกเราต้องการแค่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ และการเรียนรู้แนวทางนี้ทำให้องค์กรสามารถตามทันโลก มีความสามารถในการแข่งขันกับเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันได้
วิธีใช้ Lean Learning
คิดแบบ 80/20
การคิดแบบ 80/20 หรือการคิดแบบหลักการ Pareto Principle คือการรู้อยู่เสมอว่าผลลัพธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เกิดจากการลงแรง 100 เปอร์เซ็นต์เสมอไป แต่ผลลัพธ์ส่วนมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์นั้นอาจเกิดจากการลงแรงส่วนที่สำคัญๆ เพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแนวคิดนี้สามารถปรับใช้กับระบบการเรียนได้ เช่น ถ้าคุณอยากพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ให้เลือกโฟกัสไปทีคำและวลี 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดซึ่งเป็นส่วนที่ถูกใช้บ่อยๆ ในประโยคสนทนาที่ใช้ในชีวิตจริง และพยายามพูดใช้สิ่งที่เรียนมาในการสนทนาให้เยอะที่สุด หากใครอยากเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการ 80/20 แบบเต็มๆ ไปเรียนรู้กันที่นี่เลย

ปรับใช้สิ่งที่เรียนกับสถานการณ์จริง
อย่าเรียนรู้แค่ทฤษฎี เพื่อที่จะจำมาแล้วลืมไป ในทุกการเรียนรู้ต้องมั่นใจได้ว่าเราจะสามารถปรับใช้สิ่งที่เรียนมากับสถานการณ์ในชีวิตจริงได้ พยายามหาตัวอย่างจากชีวิตจริง ฝึกฝนและปรับใช้เข้ากับสถานการณ์จริงให้บ่อยที่สุด และเมื่อได้รับฟีดแบคมาก็ปรับตัวให้เร็ว ยิ่งในการเรียนธุรกิจยิ่งต้องเน้นการใช้จริงให้มาก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และอย่าลืมพยายามฝึกตัวเองให้คิดไอเดียใหม่ๆ ลองวิธีใหม่ๆ ตลอดเวลา

ใช้เนื้อหาการเรียนที่ออกแบบมาเฉพาะ
ใช้เทคโนโลยีทุกวันนี้ให้เป็นประโยชน์ การเทรนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถออกแบบเนื้อหาได้เฉพาะตัวจากการเก็บข้อมูลการประสิทธิภาพและพฤติกรรมการทำงานของพนักงาน ออกแบบเนื้อหา รูปแบบการเรียน และรูปแบบการถ่ายทอดให้แตกต่างไปตามความต้องการของแต่ละบุคคล
สนับสนุนพนักงานอย่างต่อเนื่อง
หลังจากจบหลักสูตร ควรมีการสนับสนุนพนักงานให้เรียนรู้ต่อยอดต่อหลักสูตรต่อไปได้ ด้วยการมีบริการให้พนักงานสามารถส่งข้อความสอบถามเรื่องที่ไม่เข้าใจได้ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อต้องเจอสถานการณ์จริงหลังจากนี้ที่ท้าทายขึ้น พนักงานจะยังมีตัวช่วยจนกว่าพวกเขาจะนำสิ่งที่เรียนมาไปใช้ได้อย่างไม่ต้องกังวลจริงๆ

ใช้เทคนิคการเรียนรู้แบบกลุ่มเพื่อนช่วยสอน (Peer Learning)
เวลาที่คนเราอยากเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่าเรามักจะไม่ค่อย Google อย่างจริงจังหรือเข้าใช้ระบบการเรียนของบริษัท แต่คนกว่า 55 เปอร์เซ็นต์มักจะเริ่มจากการถามเพื่อนมากกว่า และจากข้อเท็จจริงที่ว่าการสอนคนอื่นจะทำให้เราได้เรียนรู้ไปด้วย ทำให้การเรียนรู้แบบให้กลุ่มเพื่อนช่วยสอนจะตอบโจทย์ความต้องการในการเรียนรู้ให้รวดเร็วและทันเวลา ในขณะที่ยังช่วยให้เพื่อนที่เป็นคนสอนเข้าใจในสิ่งที่สอนมากขึ้นไปอีก

การปรับใช้กลยุทธ์นี้ทำได้ไม่ยาก เช่นการสร้างมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ในการแลกเปลี่ยนความรู้ จัดเวิร์กชอป สร้างเครือข่ายระหว่างพนักงานที่อยากสอนและพนักงานที่อยากเรียน นอกจากนี้ลองบอกพยักงานว่าการเรียนรู้ในมาร์เก็ตเพลสจะเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน จะช่วยให้พนักงานมีความกระตือรือร้นในการเรียนมากยิ่งขึ้น

จัดคอร์สระยะสั้น
การจัดคอร์สระยะสั้นกับเนื้อหาที่เรียนรู้ได้เร็ว เข้าใจได้ไม่ยากช่วยกระตุ้นให้การเทรนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจจะเลือกหัวข้อเล็กๆ ที่คาดว่าจะเป็นความท้าทายหรือสร้างโอกาสใหม่ในสายการทำงานก็ได้

โลกยุคปัจจุบันนี้ เป็นไปเหมือนที่ อีริค รีส์ (Eric Ries) ผู้เขียนหนังสือ The Lean Startup กล่าว “ทางเดียวที่จะชนะได้คือการเรียนรู้ให้ไวกว่าคนอื่น”

คงไม่มียุคไหนในประวัติศาสตร์ที่คำพูดนี้จะจริงเท่ายุคนี้แล้ว

Source

Created with