วิธีตัดสินใจทางการเงินในช่วงที่อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน

In Summary

  • การตัดสินใจทางการเงินในสถานการณ์แบบนี้เป็นไปได้ยากมาก หลายคนไม่กล้าแม้แต่จะเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเพราะยังอยากหลอกตัวเองว่าทุกอย่างยังดีอยู่
  • ในช่วงที่การเกิดโรคระบาดทำให้อะไรๆ ก็ไม่แน่นอนแบบนี้ หลายคนไม่กล้าขยับตัวทำอะไร โดยเฉพาะการขยับตัวทางด้านการเงิน เพราะไม่มีใครรู้ว่าโรคระบาดครั้งนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน
  • เทคนิคที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจทางการเงินได้อีกครั้งคือการเริ่มเปิดอกพูดคุยถึงปัญหาอย่างจริงจัง หากอยากลงทุนให้ประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงว่าเราสามารถทำได้มั้ย และหากประสบปัญหาอยู่ในภาวะตกงานควรหันกลับมามองความจริงและประเมินสถานการณ์อย่างมีเหตุผล และที่สำคัญที่สุดคือ อย่ากลัวว่าจะตัดสินใจผิด เพราะไม่ว่าอย่างไรคุณก็ไม่มีทางทำถูกไปซะทุกเรื่องหรอก

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดจากวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ในต้นปีที่ผ่านมานี้ สร้างผลกระทบมากมาย ทั้งทำให้ผู้คนตกงาน ทำให้เป้าหมายที่เราวาดฝันไว้ เช่น การไปเรียนต่อต่างประเทศ ต้องถูกเลื่อนออกไป ทั้งยังทำให้บางคนต้องถอนเงินออมฉุกเฉินที่เก็บไว้มาใช้จนหมดเกลี้ยงเพราะขาดรายได้ หากพูดถึงภาพอนาคตในตอนนี้ ในหัวเราต่างมีแต่ความไม่แน่นอน เราไม่รู้เลยว่าวิกฤติครั้งนี้จะจบลงเมื่อไหร่ หรือจะมีการระบาดระลอกสองหรือไม่

ความไม่แน่นอนนี้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเรื่องการเงิน หลายคนไม่กล้าลงทุนในหุ้น บางคนที่ประหยัดอย่างหนักเพื่อไม่ให้กระทบกับเงินออมฉุกเฉินก็เหนื่อยล้าจนอยากจะเอาเงินออกมาใช้ให้จบๆ ไป แต่ก็กลัวว่าจะมีเหตุให้ต้องใช้เงินอย่างฉุกเฉินในอนาคต

“การที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปัญหานี้จะจบลงเมื่อไหร่ มันยิ่งทำให้เราเสียความสามารถในการกล้าที่จะตัดสินใจ”
เมแกน เลิร์ทซ์ (MEGHAAN LURTZ) อาจารย์จากสถาบันวางแผนการเงินส่วนบุคคล มหาวิทยาลัยรัฐแคนซัส

วันนี้เราจึงหยิบเอาทริคที่จะช่วยให้การตัดสินใจทางการเงินในช่วงที่ไม่มีอะไรแน่นอนแบบนี้ทำได้ง่ายขึ้น วิธีที่เรานำมาฝากต่อไปนี้จะช่วยให้คุณก้าวข้ามความกลัวและความกังวลได้ แม้จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม

บทความนี้จะไม่บอกคุณว่าคุณควรซื้อรถ กู้เงิน หรือขายบ้านมั้ย แต่จะให้ทริคที่ช่วยเตือนสติ ให้คุณกลับมานั่งทบทวนตัวเอง เอาตัวเองออกจากปัญหาที่สุมรอบตัว และมองตามความเป็นจริงว่าจะทำอย่างไรถึงจะตัดสินใจเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้ได้
ทำไมถึงรู้สึกไม่กล้าทำอะไรเลย?
ซูซาน ชู (Suzanne Shu) อาจารย์สาขาการตลาดที่กำลังศึกษาเรื่องกระบวนการการตัดสินใจที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลอธิบายว่า ความไม่แน่นอนของวิกฤติครั้งนี้ และการขาดการชี้แนะว่าจะก้าวข้ามมันไปอย่างไร (จริงๆ แทบไม่มีใครรู้หรอกว่าจะต้องทำอย่างไร) ก่อให้เกิดความเครียดที่ทำให้หลายคนไม่กล้าขยับตัวทางการเงิน

การตัดสินใจด้านการเงินหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินลงทุนเพื่อการเกษียณ หรือตัดสินใจเก็บเงิน ล้วนกระตุ้นให้คนต้องคาดการณ์อนาคต แต่ใครจะทำไหวในเวลาที่ทุกอย่างไม่แน่นอนเอาเสียเลย แถมการเดินตามเป้าหมายทางการเงินเหล่านี้ทำให้เราต้องยอมเสียสละเก็บเงินปัจจุบันไว้เพื่ออนาคต ในขณะที่ชีวิตทุกวันนี้ หลายคนอาจพยายามเอาตัวรอดไปวันต่อวันด้วยซ้ำ

“มันเป็นความกลัวรูปแบบที่รู้สึกเหมือนมันจะต้องมีเรื่องใหญ่ที่คาดการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นในอนาคต และมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน ในทางตรงกันข้าม กลับทำให้คนจะรู้สึกไม่อยากเก็บหอมรอมริบ” ซูซานกล่าว

การเก็บเงินสำรองฉุกเฉินก็เป็นหนึ่งในนั้น หลายคนที่ไม่กล้าเริ่มเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเพราะกำลังหลอกตัวเองอย่างไม่รู้ตัวว่าสถานการณ์ยังดีอยู่ และเขาควบคุมมันได้ ไม่มีอะไรน่ากลัวหรอก และนั่นอันตรายมากในสถานการณ์แบบนี้ ดังนั้นถึงแม้ว่าคุณจะไม่กล้าขยับตัวมากขนาดไหน คุยกับคนในครอบครัวซะ ดูว่าคุณควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ นี่คือการตัดสินใจทางการเงินที่สำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์แบบนี้

ถ้าอยากตัดสินใจทางการเงินในสถานการณ์แบบนี้ ควรเริ่มตรงไหน?
ลองเริ่มจากการคุยกับคนที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันดู นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวกันแล้ว คุณอาจได้มุมมองที่ต่างไปในเรื่องที่คุณกำลังจะตัดสินใจ

หรือลองลิสต์ข้อดีข้อเสียของสิ่งที่คุณกำลังจะทำ จะทำให้สมองของคุณโล่ง และจัดลำดับความคิดได้อย่างเป็นระเบียบมากขึ้น หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ลองคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักให้คำปรึกษาด้านการเงินก็ได้นะ

อีกช่องทางที่ทำได้คือการค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากก้าวเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยคิดถึงก้าวต่อไป เอาแบบวันต่อวัน เช่น ถ้าคุณอยากขายบ้าน เริ่มจากหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรหานายหน้าก่อนเลย และอย่าลืมบอกทุกขั้นตอนกับเพื่อนสนิทและครอบครัว พวกเขาจะได้ค่อยเตือนสติและแนะนำคุณไปด้วยได้
มีเงินสดกองโต แต่ก็รู้ว่าตอนนี้ตลาดหุ้นดูท่าไม่ดี ควรลงทุนตอนไหนดี?
เริ่มจากระบุเป้าหมายทางการเงินทั้งระยะสั้นและยาวของคุณก่อน เพราะมันเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าคุณจะเสี่ยงกับการลงทุนได้มากแค่ไหน

“ตอนนี้ตลาดหุ้นผันผัวนมาก แต่มันก็ไม่ถึงกับว่าไม่เคยผันผวนหนักขนาดนี้มาก่อน ดังนั้นสิ่งที่ควรคำนึงถึงที่สุดในการลงทุนก็คือคุณมีเป้าหมายอะไร และถ้าลงทุนไปจะกระทบชีวิตคุณมากแค่ไหน” แมต เซนฮอลต์ (Matt Saneholtz) ประธานบริษัท Tobias Financial Advisor แนะนำ

เช่น ถามตัวเองก่อนว่าอยากลงทุนเพราะคุณจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน หรือต้องการเก็บเงินไว้ให้สำหรับลูกหลาน ดูก่อนว่าคุณมีเงินสำรองฉุกเฉินพอรึเปล่า คุณมีความมั่นคงทางอาชีพการงานมั้ย มีโอกาสที่จะถูกไล่ออกรึเปล่า มีโอกาสที่จะต้องให้เงินในอนาคตใกล้ๆ นี้มั้ย เช่น กำลังจะคลอดลูกรึเปล่า

ถ้าคุณจำเป็นต้องใช้เงินเร็วๆ นี้ มันสำคัญมากที่จะเก็บเงินสดไว้ในมือ หรือถ้าลงทุนก็ควรเป็นแบบที่ความเสี่ยงต่ำ จำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องทุ่มหมดตัวไปกับการลงทุน ลองลงทุนกับกองทุนแบบรวมสม่ำเสมอ (DCA) (หากใครไม่รู้จักกองทุนรวมแบบสม่ำเสมอ อ่านได้ที่นี่) วิธีนี้จะช่วยกระจายถัวเฉลี่ยต้นทุน ทยอยซื้อเป็นงวดๆ ไม่ต้องลงทุนก้อนใหญ่

ตกงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ควรต้องย้ายที่อยู่มั้ย?
ถ้าหากคุณเจอปัญหานี้ สิ่งแรกที่ควรทำคือบอกผู้ให้เช่าก่อน บางครั้งคุณอาจจะเจอผู้ให้เช่าที่เข้าอกเข้าใจ และอาจยอมให้จ่ายค่าเช่าช้า หรือไม่จ่ายสักเดือน  ซึ่งจะเป็นวิธีที่ทำให้คุณเหลือเงินสดในมือในระหว่างที่กำลังหางานใหม่

และถ้าไม่อยากย้ายที่อยู่ ลองดูเงินที่เหลือของคุณว่าคุณจะสามารถจ่ายค่าเช่าต่อไปได้อีกกี่เดือนก่อนที่เงินจะหมดบัญชี แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะยื้อต่อหรือจะยอมย้าย หรืออีกทางคือลองไปหากู้เงินจากธนาคาร เพราะในยามฉุกเฉินแบบนี้ การให้กู้หรือผ่อนผันหนี้เป็นทางเลือกที่ธนาคารเตรียมไว้ช่วยเหลือคุณ
ถ้าไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลยเพราะกลัวว่าจะตัดสินใจผิดล่ะ?
คุณทำอะไรไม่ได้นอกจากจะยอมให้ตัวเองทำผิดพลาดบ้าง อาจฟังดูพูดง่ายแต่ทำยาก แต่คุณไม่สามารถถูกไปซะทุกเรื่องได้หรอก

เราเข้าใจว่าการตัดสินใจอะไรๆ ในช่วงนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก แต่นี่คือสิ่งที่คุณต้องฝืนทำ และเริ่มวางแผนทางการเงินให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหาที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคตให้ได้มากที่สุด

หากไม่รู้จะเริ่มวางแผนยังไง มีความรู้เป็นศูนย์ทางด้านการเงิน มาเริ่มเรียนรู้เรื่องของการบริหารจัดการเงิน และการลงทุนเพิ่มเติมแบบเป็นขั้นตอน ตั้งแต่รู้หลักการออมเงิน รู้วิธีการลงทุนที่ถูกต้อง ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการเตรียมพร้อมก่อนเกษียณอายุ ต้องไม่พลาดที่จะเลือกเรียนรู้

กับหลักสูตร ‘Personal Finance บริหารเงินเป็น เห็นเงินล้าน’ โดย น.สพ. ธนัฐ ศิริวรางกูร หรือ หมอนัท คลินิกกองทุน นักวางแผนกองทุนชื่อดัง และวิทยากรพิเศษของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นผู้ที่ทำข้อมูลหนังสือชี้ชวนการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

สามารถเรียนผ่านระบบการเรียนออนไลน์ของ SHiFT ACADEMY ที่มาพร้อมรูปแบบการเรียนที่เข้าใจง่าย เรียนออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

Source

Created with