ย้อนดู Microsoft ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ Windows กับการบริหารความสำเร็จ

การเปิดตัวของ Windows 11 เวอร์ชันล่าสุดในรอบ 6 ปี (24 มิ.ย. 2021) หลังรุ่นก่อนหน้า Windows 10 ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2015 สร้างความฮือฮาให้วงการไอทีอีกครั้งหนึ่ง และแน่นอนว่าผู้ใช้ต่างคาดหวังว่าจะได้ใช้ระบบปฏิบัติการที่ดียิ่งขึ้นไป ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น

แน่นอนว่า Microsoft เองก็ต้องพยายามอย่างมากตลอด 46 ปีที่ผ่านมา จนประสบความสำเร็จเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำโลกจนถึงวันนี้

เมื่อครั้งเริ่มต้น Windows 1.0. รุ่นแรก ถูกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1985 ในยุคนั้นบริษัท ใช้เวลาพัฒนาเกือบ 10 ปี แต่กลับไม่ได้รับความนิยม และกว่าจะได้รับความนิยมก็ต้องใช้เวลาอีก 10 ปีถัดมา ในยุคของ Windows 95 ที่เริ่มมีคนนิยมใช้มากขึ้น ก่อนจะกระโดดข้ามที่ Windows XP ในปี 2001 ที่เป็นจุดเริ่มต้นยุคทองเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นช่วงที่คนเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น และมีราคาถูกลง ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นว่า ไมโครซอฟท์ ไม่ได้มีแค่ระบบปฏิบัติการแล้ว แต่ยังมีคลาวด์ ซอฟท์แวร์สำหรับทำงาน รวมถึงเกมอีกด้วย

ในบทความนี้ SHiFT Your Future จะพาไปย้อนดูวิธีการพัฒนาองค์กรของ Microsoft และวิสัยทัศน์ของ Bill Gates กัน

ตั้งเป้าหมายธุรกิจ มุ่งสู่ดิจิทัล
Bill Gates ในฐานะผู้ก่อตั้ง เป็นหนึ่งในผู้เล่นชั้นนำของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีคู่แข่งอย่าง Amazon, Apple และ Google
ไมโครซอฟท์ มุ่งไปที่การเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด ทั้งช่องทางการขายและได้ปิดหน้าร้านจริงทั่วโลก นอกจากนี้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ยังแนะนำบริการที่หลากหลายเพื่อช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการดำเนินงานดิจิทัล

ซึ่งจากวิสัยทัศน์นี้ สร้างรายได้มากกว่า 38 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 และเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุด ในปี 2020 รายรับจากคลาวด์ (Azure) เพิ่มขึ้นมากกว่า 50 พันล้านดอลลาร์ ปัจจุบันตำแหน่งในอุตสาหกรรมคลาวด์ Azure  ขึ้นมาเป็นอันดับสองรองจาก AWS

“การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นช่วงเวลาของวิกฤตสำหรับบางคน และเป็นช่วงเวลาของโอกาสสำหรับคนอื่นๆ ผมเป็นผู้นำและยอมรับความเสี่ยงที่คำนวณได้ในด้านนวัตกรรม บริษัทที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมและการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่จะประสบความสำเร็จ ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ที่ล้มเหลวในการสร้างสรรค์และปรับตัวจะไม่รอด” Bill Gates กล่าว

เป้าหมายของ Microsoft คือคนทุกกลุ่ม
Microsoft เป็นธุรกิจที่มีเป้าหมายทั้งผู้ใช้รายบุคคลและลูกค้าธุรกิจ มีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย กำหนดเป้าหมายผู้ใช้จากทุกระดับชั้น ตั้งแต่คลาวด์ ซอฟต์แวร์เพื่อประสิทธิภาพการทำงาน ผลิตภัณฑ์ Windows และ MS Office ซึ่งลูกค้า Windows ส่วนใหญ่คือนักเรียนในทุกระดับชั้น และเกมเมอร์ กลุ่มอายุระหว่าง 15-50 ปี และมาจากทุกชนชั้น

ด้านโซเชียลมีเดีย ก็ได้เข้าซื้อกิจการ LinkedIn โซเชียลมีเดียที่มืออาชีพและคนทำธุรกิจนิยมใช้เพื่ออัพเดทโปรไฟล์งานส่วนตัว เป็นเครือข่ายในการหางานและแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอาชีพกับนายจ้าง มีสมาชิกมากกว่า 706 ล้านคนทั่วโลก

จะเห็นว่าบริษัทกำหนดเป้าหมายไปยังฐานผู้ใช้ที่หลากหลายทั่วโลก รวมถึงผู้คนจากทุกกลุ่มอายุตั้งแต่ 18-65 ปี ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียลที่มีนักศึกษามหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ เป็นผู้ใช้มืออาชีพที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์และผู้เชี่ยวชาญด้าน IT และผู้ใช้ทั่วไปและบุคคลทั่วไปที่ใช้พีซีเพื่อทำงานทั่วไปทางออนไลน์หรือออฟไลน์

ทั้งนี้จากข้อมูลของ Statscounter พบว่า Windows มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 77% ในระบบปฏิบัติการพีซีและแล็ปท็อปในเดือนกันยายน 2020 รองลงมาคือ Mac OS ที่ประมาณ 17.6% ส่วน Chrome OS ของ Google มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 1.52%


ปรับภาพลักษณ์องค์กร ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ทำ CSR คือ การตลาดแบบไมโครซอฟท์
การตลาดเป็นส่วนสำคัญสำหรับธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้เปลี่ยนตัวเองเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรม ที่ต้องการจะช่วยเหลือลูกค้าทั่วโลกให้เพิ่มผลผลิตโดยใช้เครื่องมือของไมโครซอฟท์ กลายเป็นหุ้นส่วนสำหรับบุคคลและธุรกิจทั่วโลก นำเสนอโซลูชันสำหรับผู้คนและบริษัท

นอกเหนือจากสื่อส่งเสริมการขายแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นที่ CSR (การกุศล) ช่วยให้บริษัทสร้างภาพลักษณ์ทางสังคมที่แข็งแกร่ง

อีกหนึ่งส่วนสำคัญการให้ความสำคัญกับตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก รวมทั้งอินเดียและเม็กซิโก เพราะตลาดเหล่านี้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์สำหรับบริษัท และมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์พีซี เกม และคลาวด์คอมพิวติ้ง

สุดท้ายนี้จะเห็นว่า Microsoft กลายเป็นผู้กำหนดมาตรฐานเทคโนโลยี มาตรฐานของไมโครซอฟท์กลายเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม ด้วยการเป็นเจ้าแรกที่พัฒนาซอฟท์แวร์ออกสู่ตลาด ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

อ้างอิง notesmatic hellostepchange

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

3 วิธีพัฒนาตนเองในยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน เมื่อการเพิ่มทักษะไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด
Remote Working จะยังเป็นเทรนด์ต่อไป แม้ผ่านวิกฤตโควิด
Created with