อยากเป็น CEO ที่ยอดเยี่ยม ต้องคิดและทำอย่างไร

In Summary

  • CEO เป็นตำแหน่งที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่แท้จริงแล้วมันมาพร้อมภาระอันหนักอึ้งและความกดดันจากการเป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารจัดการทุกอย่างในองค์กร
  • การมีโมเดลสิ่งที่ควรทำเพื่อเป็น CEO ที่เก่งจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยได้เยอะมาก โดยโมเดลจาก McKinsey & Company นี้เก็บรวบรวมจาก CEO หลายพันคนในหลายอุตสาหกรรมเพื่อดูว่าการเป็น CEO ที่ประสบความสำเร็จมีแนวคิดและวิธีปฏิบัติตัวอย่างได้
  • โมเดลนี้นำเสนอแนวคิดและวิธีปฏิบัติตัวในการทำงานแต่ละด้านของ CEO ตั้งแต่การวงกลยุทธ์ในองค์กร การจัดวางโครงสร้าง กระบวนการทำงาน การสร้างสัมพันธ์กับบอร์ดบริหาร การสร้างสัมพันธ์กับคนภายนอก และการจัดการตัวเอง

‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ คือชีวิตของซีอีโอ (CEO, Chief Executive Officer) ถึงแม้จะเป็นตำแหน่งทรงอำนาจที่ใครๆ ก็อยากเป็น แต่เมื่อมาอยู่จริงๆ แล้วจะพบว่ามันมาพร้อมกับภาระอันหนึกอึ้ง ความโดดเดี่ยว และความเครียดสุดจะบรรยาย ซีอีโอคือตำแหน่งที่ทั้งสมาชิกในบอร์ดบริหาร ผู้ถือหุ้น พนักงาน หรือแม้กระทั่งลูกค้าฝากความหวังไว้ และนั่นทำให้ทุกคนจะจับตามองและกดดันซีอีโอเสมอ ซึ่งในภาวะแบบนี้ ถ้าประสำความสำเร็จก็จะพุ่งทะยานสูงสุด แต่ถ้าไม่ก็อาจพังย่อยยับกันเลยทีเดียว

บางครั้งการเป็นซีอีโอจึงเหมือนการเดิมพันด้วยชีวิต และมันมักจะไม่มีกฎตายตัวที่ลิสต์มาให้ว่าซีอีโอควรปฏิบัติตัวอย่างไร หากลองไปถามซีอีโอที่ประสบความสำเร็จ ในส่วนของภาพกว้างเช่นการเป็นคนยืดหยุ่น กล้าเสี่ยง มีแรงบันดาลใจ ตรงนี้ทุกคนอาจจะมีเหมือนกัน แต่สูตรสำเร็จของการเป็นซีอีโอที่ประสบความสำเร็จนั้นหาได้ยาก เพราะแต่ละธุรกิจใช้วิธีคิดไม่เหมือนกัน และนี่ทำให้ซีอีโอหลายคนต้องเดินอย่างเคว้งคว้าง
แต่ทางออกอยู่ตรงนี้แล้ว เพราะงานวิจัย The Mindsets And Practices Of Excellence CEOs จาก McKinsey & Company ได้นำเสนอโมเดลของการเป็นซีอีโอที่เก่งในแง่วิธีคิดและการกระทำ ซึ่งจะช่วยไกด์คุณว่าควรคิดและทำอย่างไร จึงจะเป็นซีอีโอที่สุดยอด และอยู่รอดได้

โมเดลนี้ผ่านการค้นคว้าและวิจัยจากฐานข้อมูลบันทึกการทำงานของซีอีโอ 7,800 คนจาก 3,500 บริษัท จาก 70 ประเทศ และ 24 อุตสาหกรรมซึ่งเก็บมาเป็นระยะเวลา 25 ปี โดยคัดเลือกจากข้อมูลว่าซีอีโอที่โดดเด่นมีมายด์เซ็ทอย่างไร มีแนวคิดในการเตรียมงาน และรับมืออย่างไรเมื่อเจอการตัดสินใจที่ยากลำบาก และส่งต่องานให้คนอื่นอย่างไร

โมเดลนี้แยกหัวข้อใหญ่ตามความรับผิดชอบ 6 ส่วนของซีอีโอ และในแต่ละหัวข้อประกอบไปด้วยแนวคิดและแนวทางการปฏิบัติตัวแบบที่ซีอีโอควรทำ ซึ่งอาจทำให้ซีอีโอหลายคนมีเส้นทางการทำงานที่ยากลำบากน้อยลง และมีแนวโน้มประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

Photo from: Unsplash

1. การวางกลยุทธ์ในองค์กร
พุ่งเป้าไปที่การทำสิ่งที่ยากให้ประสบความสำเร็จ

ปกติแล้วเมื่อองค์กรต้องเจอความไม่แน่นอน ซีอีโอมักจะเลือกทางที่ปลอดภัยที่สุด และคิดว่าค่อยสร้างความสำเร็จอย่างแตกต่างที่หลัง แต่ความสำเร็จนั้นไม่เคยมาถึง ในความจริงแล้วกำไรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในตลาดมาจากแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของบริษัททั้งหมดเท่านั้น และมีบริษัทแค่ 12 บริษัทเท่านั้นที่ดันตัวเองจากบริษัทธรรมดามาเป็นบริษัทที่มีกำไรสูงสุดได้ และทั้งหมดนี้มาจากการยอมเสี่ยงทำสิ่งที่ยากให้สำเร็จนี่แหละ ซึ่งจะทำได้ด้วยแนวคิดและวิธีปฏิบัติต่อไปนี้

นิยามคำว่าชนะใหม่

ไปให้สุดอีกขั้น เช่น อาจไม่ใช่แค่เป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมตนเอง แต่ให้อยากเป็นที่หนึ่งในทุกอุสาหกรรม

เสี่ยงก่อนได้ก่อน

ความสำเร็จมักมาพร้อมกับการเริ่มเดินเกมอย่างกล้าหาญตั้งแต่ช่วงต้น ซึ่งคือการกล้าเปลี่ยนแบบที่ไม่ใช่ทีละนิด แต่ยอมเสี่ยงหน้ามือเป็นหลังมือไปเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผนงาน หรือเรื่องวัฒนธรรมองค์กร กล้าคิดนอกกรอบและกล้าปรับใช้ซะ

ตื่นตัวอยู่เสมอ

การจัดสรรทรัพยากรคือฟันเฟืองหลักที่ทำให้บริษัทดำเนินการและก้าวหน้าไปได้ กล้าจัดสรรเงินลงทุน กล้าจัดสรรทรัพยากรคน และตื่นตัวพร้อมเปลี่ยนแปลงการจัดสรรเสมอ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทเดินไปได้เร็ว

2. การจัดวางโครงสร้างองค์กร
คำนึงถึงทั้งประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาพองค์กร จัดการอย่างเท่าเทียมและเข้มงวด ซีอีโอหลายคนในงานวิจัยนี้กล่าวว่าสิ่งที่พวกเขาเสียใจ คือการเก็บคนที่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพไว้นานเกินไป ไม่จัดการอย่างเป็นระบบ หรือปล่อยให้พนักงานที่ดูธรรมดาคนนึงทำงานไปอย่างนั้น โดยไม่มองหาความสามารถอื่นที่ซ่อนอยู่ในตัวพวกเขา นี่คือความผิดพลาดในการจัดวางโครงสร้างองค์กร ซึ่งเป็นอุปสรรคหนึ่งในการประสบความสำเร็จของทั้งองค์กรและซีอีโอ สามารถแก้ไขได้ตามวิธีต่อไปนี้

จับคู่พรสวรรค์กับคุณค่า

ซีอีโอที่ดีจะเลือกได้ถูกต้องว่าพนักงานคนไหนควรทำงานไหน การเลือกให้ถูกเริ่มจากขั้นตอนง่ายๆ คือจัดลำดับความสำคัญของตำแหน่งก่อน จากนั้นจึงวิเคราะห์พนักงานอย่างละเอียด ดังนั้นซีอีโอต้องก้าวลงไปและวิเคราะห์ให้ดี หากเจอใครที่ควรเป็นซีอีโอต่อก็ควรอย่างยิ่งที่จะจับตามองเขาไว้ด้วย

ไปให้ไกลกว่าแค่วัดความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อองค์กร

การวัดความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อองค์กรครอบคลุมแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของตัวชี้วัดด้านสุขภาพองค์กรที่จำเป็นต่อการสร้างคุณค่าให้องค์กร หากจะวัดตรงนี้ให้สำเร็จควรวัดทุกอย่างตั้งแต่การจัดตำแหน่ง คุณภาพของการทำงาน และความสามารถในการเรียนรู้และปรับใช้ของพนักงาน

รวมความเร็วและความมั่นคงเข้าด้วยกัน

แนวคิดแบบ ‘Agile’ ยอดฮิตที่พิ่มความเร็วในการตัดสินใจในองค์กร ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงข้ามกับการตัดสินใจช้าๆ อย่างมั่นคงเสมอไป องค์กรไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซีอีโอสามารถตัดสินได้ว่าการทำงานส่วนไหนในองค์กรที่ควรทำอย่างช้าๆ และมั่นคง เช่น การเซ็นอนุมัติของผู้บริหารระดับสูงบางกรณี และส่วนไหนที่ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และพนักงานมีอำนาจในการตัดสินใจเอง เช่น การปรับโฟลวการทำงาน


Photo from: Unsplash

3. กระบวนการและการทำงานเป็นทีม
ให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีพลวัตมากกว่าการทำงานตามระบบ

ทีมเก่งๆ ที่ทำงานอย่างมีพลวัตหรือการทำงานแบบกระตือรือร้น พร้อมเปลี่ยนแปลง พร้อมรับมือกับอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาคือกุญแจสำคัญที่นำบริษัทไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งปัญหาคือซีอีโอมักไม่ได้ลงมาจัดการตรงนี้ และมักปล่อยให้ทีมทำงานไปตามระบบ ทางแก้คือซีอีโอควรจะลงมาควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้แนวทางต่อไปนี้

แบ่งขอบเขตชัดเจน

การจัดการทีมที่ดีเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ ซีอีโอที่ดีรู้ว่าเมื่อไหร่ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างทีม และกล้าที่จะปรับเปลี่ยน ย้ายพนักงานที่เป็นที่รักแต่ทำงานไม่เก่งออก กล้าปรับตำแหน่งงานให้พนักงานที่ทำงานเก่งแต่ไม่เป็นที่รัก รักษาระดับความสัมพันธ์ของทีมให้ใกล้ชิดแต่ยังมีช่องว่างให้ความเคารพและให้เกียรติ เป็นต้น

เอาชนะอคติให้ได้

ซีอีโอหลายคนมักคิดว่าตัวเองไม่มีอคติในการตัดสินใจหรอก ไม่งั้นจะมาอยู่สูงขนาดนี้ได้ยังไง ซึ่งก็อาจจะจริง แต่ทุกอย่างควรกันไว้ดีกว่าแก้ ซีอีโอที่ดีจะพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้อคติของตัวเองนำไปสู่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมทางแก้ไว้ล่วงหน้า การแต่งตั้งทีมที่จะมาคอยตรวจสอบ และมั่นใจว่าตนเองมีสมาชิกในทีมที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบมากขึ้น

เน้นความสอดคล้องกัน

ซีอีโอส่วนใหญ่มักมอบหมายงานแต่ละส่วนให้ตำแหน่งอื่นควบคุม เช่นซีเอฟโอดูเรื่องการเงิน ซึ่งนั่นก็ดีในระดับหนึ่ง แต่การตัดสินใจแยกกันอาจทำให้กระบวนการทำงานไม่สอดคล้อง และอาจขัดกันเองในอนาคต เช่นโปรเจ็กต์หนึ่งอาจได้รับการอนุมัติแล้วแต่สุดท้ายก็ติดขัดเพราะเรื่องเทคโนโลยีที่ไม่สอดคล้อง ซีอีโอที่ดีจะต้องมองภาพกว้างให้ออก ควบคุมและจับตามองกระบวนการตัดสินใจของแต่ละฝ่ายด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างจะสอดคล้องกัน

4. การสร้างความผูกพันธ์กับบอร์ดบริหาร
สนับสนุนกรรมการเท่ากับสนับสนุนกิจการ

หน้าที่ของบอร์ดบริหารคือการคาดการณ์และวางแนวทางการบริหาร ซึ่งซีอีโอคือคนรับหน้าที่หลักต่อจากบอร์ด ทำให้ซีอีโอหลายคนอาจรู้สึกไม่ค่อยดีกับบอร์ดบริหารเพราะความกดดันที่มี แต่การมีบอร์ดบริหารที่ดีทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น และมูลค่าตลาดเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องกังวลใจไป ลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ คุณจะเป็นซีอีโอที่ใช้ประโยชน์จากคำแนะนำของบอร์ดบริหารได้ดีเยี่ยม

ใช้อเจนดาการประชุมที่มองเรื่องอนาคตเป็นหลัก

การจะใช้เวลาในการประชุมบอร์ดให้คุ้มค่าที่สุดคือการใช้อเจนดาการประชุมที่มองอนาคตเป็นหลัก คิดเรื่องการวางกลยุทธ์ การใช้เทคโนโลยี การปรับโครงสร้างให้ยืดหยุ่น เป็นต้น สมาชิกบอร์ดบริหารถือเป็นคนนอกที่อาจไม่ได้ใกล้ชิดกับเรื่องในองค์กรมาก สิ่งนี้จะทำให้ซีอีโอได้รับมุมมองแบบคนนอกที่กว้างขวางขึ้น และทันโลกมากขึ้น

ไปให้ไกลกว่าแค่รู้จักกันในการประชุม

ซีอีโอที่เก่งจะพยายามสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับสมาชิกในบอร์ดบริหาร การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและแสดงให้บอร์ดเห็นการทำงานที่โปร่งใส จะทำให้ซีอีโอได้รับความไว้วางใจ การสนิทสนมกับสมาชิกบอร์ดยังทำให้ซีอีโอได้รับประโยชน์จากมุมมองใหม่ๆ และความสามารถของสมาชิกบอร์ด สามารถปรึกษาเรื่องต่างๆ โดยไม่ต้องเป็นทางการได้

พัฒนาบอร์ดเสมอ

ซีอีโอที่ดีจะคอยให้ข้อมูลใหม่ๆ กับบอร์ดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรม ประสบการณ์ใหม่ๆ หรือแนวคิดใหม่ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้บอร์ดมีมุมมองกว้างขวางขึ้นและตัดสินใจได้ดีขึ้น อีกหน้าที่ของซีอีโอที่ดีคือการดูแลสมาชิกใหม่ในบอร์ด คอยให้ข้อมูล แนะนำโครงสร้าง ตอบปัญหา นั่นจะทำให้สมาชิกใหม่พัฒนาได้ทัน และการบริหารของบอร์ดก็จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
Photo from: Unsplash

5. ความสัมพันธ์กับคนภายนอก
มีวิสัยทัศน์และจุดประสงค์ระยะยาว

ซีอีโอส่วนมากจะคุ้นเคยกับวิสัยทัศน์และคุณค่าของบริษัทดีอยู่แล้ว แต่การจะสื่อสารสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่คิดสโลแกนหรือแปะไว้บนโปสเตอร์ของบริษัท ซีอีโอที่ดีจะมองจุดประสงค์ระยะยาวที่ให้อะไรมากว่าแค่กำไร แต่เป็นการทำผลประโยชน์ต่อสังคม แล้วจะต้องลงมือทำให้ได้ตามนั้นจริงๆ การสร้างจุดประสงค์ที่ดีและการให้ความสำคัญกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทั้งผู้ถือหุ้น และลูกค้าเป็นหลัก จะทำให้บริษัทลดความเสี่ยงในการเจอผลกระทบด้านนี้ลงได้ โดยวิธีต่อไปนี้

สร้างงานเพื่อสังคมโดยมองภาพกว้างเป็นหลัก

การทำเพื่อสังคมของบริษัทหลายบริษัทมักเป็นแค่การลงมือเล็กๆ น้อยๆ ที่ให้ความรู้สึกดี แต่ไม่ได้ให้ผลดีในระยะยาว ซีอีโอที่ดีจะมองเรื่องนี้เป็นหลัก จะต้องคิด วิเคราะห์ และค้นหาจนกว่าจะเจอแนวทางที่สร้างผลกระทบในระยะยาวได้ เช่น เปิดโอกาสทางด้านอาชีพให้กลุ่มแรงงาน พัฒนาสินค้าที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการวิจัยพบว่าลูกค้าหลายคนพร้อมจะซื้อสินค้าจากบริษัทที่ใส่ใจเรื่องเหล่านี้

จัดลำดับความสำคัญในการปฏิสัมพันธ์ให้ดี

ซีอีโอที่เก่งจะรู้ว่าควรสื่อสารอะไรกับใครเมื่อไหร่ ควรให้ความสำคัญกับการไปปฏิสัมพันธ์กับส่วนไหนก่อน และคาดหวังผลอะไรจากการปฏิสัมพันธ์นั้น กลุ่มคนภายนอกที่ซีอีโอควรมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาครัฐ สมาพันธ์ หรือองค์กรเพื่อสังคมต่างๆ ซีอีโอที่เก่งจะถ่ายทอดจุดประสงค์และวิสัยทัศน์ขององค์กรกับแต่ละกลุ่มด้วยสารที่ออกแบบมาเฉพาะเพื่อให้เข้ากับสถานะและเงื่อนไขของแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้เมื่อเกิดปัญหา ซีอีโอที่เก่งจะรับฟังอย่างตั้งใจและหาทางออกร่วมกันกับฝ่ายตรงข้าม

ทำตัวให้ยืดหยุ่นเป็นฟูกรองรับวิกฤติไว้เลย

ซีอีโอที่เก่งจะวางแผนรองรับวิกฤติไว้ก่อนเลย โดยเน้นความยืดหยุ่นในการรองรับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติขนาดเล็กของบริษัทเอง หรือวิกฤติระดับเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่าวิกฤติแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นจะดูมีความแตกต่างเฉพาะตัวสูง แต่ยังไงก็ยังมีรูปแบบเดียวกัน ทำให้การวางแผนไว้ไม่ยากเกินความสามารถ ซีอีโอควรรู้เสมอว่าไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร ผู้บริโภคและผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดจะพุ่งตรงมาที่พวกเขาก่อนเสมอ เพราะฉะนั้นจึงต้องเตรียมรองรับให้ดี
Photo from: Unsplash

6. คติในการทำงานของตนเอง
ทำในสิ่งที่ทำได้เท่านั้น

การเป็นซีอีโอสามารถสร้างความกดดันแบบสูงเกินบรรยายได้ง่ายมาก ต้องจมอยู่กับประชุมที่ไม่สิ้นสุด ต้องบริหารจัดการแทบทุกอย่าง ซีอีโอส่วนใหญ่เกิดความเครียด เหนื่อยล้า และกดดัน และความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้นำคุณไปสู่การเป็นซีอีโอที่ดี แต่การดูแลสุขภาพจิตและสร้างสมดุลให้ชีวิตของคุณเองต่างหากที่เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ

จัดการเวลาและพลังงานให้ดี

ซีอีโอควรมีผู้ช่วยฝีมือดีสักคนสองคนที่จะรับช่วงต่อในงานบางชิ้นได้ และเหลือแค่งานที่มีแค่ซีอีโอเท่านั้นที่ทำได้จริงๆ ไว้ให้ซีอีโอดูแล ท่ามกลางการประชุมอัดแน่นตลอดวัน ซีอีโอควรมีเวลาอยู่นิ่งๆ คนเดียวเพื่อทบทวน ซีอีโอที่เก่งจะไม่รับงานมาในมือทั้งหมด แต่จะรู้จักแจกจ่ายงานและเก็บแรงไว้ให้งานที่สำคัญจริงๆ และควรจัดสรรเวลาให้ส่วนอื่นในชีวิตบ้าง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ

ซีอีโอที่ดีต้องคิดให้รอบคอบเรื่องภาพลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่เล็กน้อยแค่ไหน แต่ถ้าพลาดไปก็อาจส่งเสียงดังในวงกว้างออกมาได้ ตั้งคำถามกับตัวเองว่าอยากให้คนจดจำอะไร อยากให้คนพูดถึงคุณในฐานะผู้นำอย่างไร คุณยอมรับอะไรได้และไม่ได้บ้าง แล้วปฏิบัติตัวในบทบาทของซีอีโอให้ครอบคลุมตามที่ตั้งไว้ทั้งหมด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือสูงสุดให้กับพนักงานและผู้มีส่วนร่วมที่จะเป็นกระบอกเสียงให้คุณเอง

อย่าอีโก้สูง

การเป็นซีอีโอมักตามมาด้วยความมั่นใจที่มากเกินไป หลายครั้งที่ซีอีโอดันทุรังทำในสิ่งที่ต้องการทั้งๆ ที่มีคนคัดค้าน พนักงานก็พยายามอย่างมากไม่ให้ซีอีโอขัดใจ สุดท้ายซีอีโอส่วนมากจบด้วยอีโก้ที่สูงจนไม่กล้าขอความช่วยเหลือหรือแม้แต่ยอมรับว่าตัวเองไม่ชำนาญ ซีอีโอที่เก่งจะจัดทีมของคนที่ตนเองใกล้ชิดและเชื่อใจ เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้คอยแนะนำอย่างจริงใจ และตรงไปตรงมา “เรียนรู้และถ่อมตัวอยู่เสมอ” นี่คือสิ่งที่ซีอีโอควรทำ

จบไปแล้วสำหรับโมเดลของการเป็นซีอีโอที่เก่งและดีฉบับละเอียด ลองฝึกฝนตามขั้นตอนเหล่านี้ทีละนิด เราเชื่อว่าสุดท้ายคุณจะกลายเป็นซีอีโอที่เก่ง น่าจดจำ และพาบริษัทไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

Source

Created with