5 ขั้นตอน วางแผนการเงินระยะยาว เมื่อไม่รู้ว่าวิกฤตจะจบเมื่อไร

ยิ่งติดตามข่าวก็ยิ่งกังวล เมื่อตัวเลขของผู้ติดเชื้อกับวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย ณ เดือน ก.ค. ปี 2564 ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง หลายคนยังต้องดิ้นรนต่อไปเพื่อให้รอดไปได้ ขณะที่การเงินในครัวเรือนยังไม่นิ่ง และคาดการณ์รายได้ในอนาคตไม่ได้ เพราะฉะนั้นการวางแผนการเงินที่ดีจึงจำเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤต

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ หลายคนไม่เคยทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนตัวเลย ไม่เคยแยกเงินออกมาหลายๆ ก้อน เพื่อใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ และไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร

ในบทความนี้ SHiFT Your Future จะมาแนะนำวิธีวางแผนการเงินในระยะยาวในช่วงที่ไม่รู้ว่าวิกฤตจะจบเมื่อไร

ทำบัญชี “รายรับ” และ “รายจ่าย”
การเข้าใจสถานะทางการเงินของตัวเองนั้นสำคัญเป็นอันดับแรก เราต้องรู้ว่าในแต่ละเดือนเรามีรายรับเข้ามาเท่าไร และรายจ่ายเท่าไร สำหรับมนุษย์เงินเดือนจะคาดการณ์ได้ง่าย ส่วนคนที่ทำธุรกิจ สามารถนำรายรับในรอบ 1 ปี ย้อนหลัง และลองหาค่าเฉลี่ยออกมาเป็นรายเดือนได้ หรืออาจจะเลือกเดือนที่รายรับน้อยที่สุดเป็นฐานก็ได้

ด้านรายจ่าย ลองแบ่งเงินออกมาหลายๆ บัญชี ตามสิ่งที่ต้องจ่าย เช่น บัญชีสำหรับค่าผ่อนบ้านหรือค่าเช่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน เมื่อเห็นรายจ่ายที่แน่นอนแล้ว เราจะรู้ว่าแต่ละเดือนเหลือเงินสำหรับใช้จริงเท่าไร
สำรองเงินอย่างน้อย 3 เดือน รองรับเหตุฉุกเฉินระยะยาว
เมื่อจัดการบัญชีรายรับรายจ่ายเสร็จแล้ว ก็ลองดูกันว่า เรายังมีเงินสำรองกรณีที่อาจจะตกงาน หรือเกิดปัญหาต่างๆ กับธุรกิจที่ทำอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งในทุกๆ เดือน มาสำรองไว้กรณีฉุกเฉินให้มีเงินสำรองอย่างน้อยที่สุด 3 เดือน

ซึ่งเงินสำรองนั้นสามารถเก็บได้หลายรูปแบบ ทั้งการฝากธนาคาร ลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำที่พร้อมจะขายทิ้งได้เมื่อต้องการใช้เงิน

ซื้อประกันระยะสั้น โอนย้ายความเสี่ยง
ในยุคนี้เราสามารถเข้าถึงประกันภัยระยะสั้นได้ในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น เช่น ประกันภัยโควิด-19 ในสถานการณ์ที่เราไม่รู้แน่ว่าโรคระบาดจะจบลงเมื่อไร และไม่รู้ว่าเราอาจจะไปติดจากใครมาหรือไม่ การมีประกันระยะสั้น จะช่วยให้เราสบายใจมากขึ้นกับการรักษาตัวจนไม่สามารถทำงานต่อได้ในระยะหนึ่ง
เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ทั้ง Active และ Passive
หันกลับมาดูตัวเอง ว่าเรามีความสามารถอะไรอีกบ้างที่จะช่วยเพิ่มรายรับให้กับตัวเองได้ ทั้งรูปแบบ Active หรือการลงมือทำ เช่น ซื้อมาขายไป ทำอาหารส่งเพื่อนๆ หรือการรับจ้างทำงาน และแบบ Passive เช่นการลงทุนในหุ้น กองทุน หรือทำ Affiliate Marketing (การนำลิงก์ขายของมาแปะที่โซเชียลมีเดียของตนเอง)

อย่าสร้างหนี้ใหม่ หรือใช้เงินก้อนใหญ่โดยไม่จำเป็น
ใน 4 ข้อแรกนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ข้อสุดท้ายนี้ คือสิ่งที่ไม่ควรทำในช่วงวิกฤต เพราะหากเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์รายได้หดหาย แต่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้เราสูญเสียสินทรัพย์อื่นตามไปด้วย การเอาชนะจากความอยากได้ หรือของมันต้องมี ในช่วงนี้มีความสำคัญกับความอยู่รอดในอนาคตเป็นอย่างมาก เราจะต้องมีวินัยกับการเงินให้มากที่สุด

ส่วนคนที่ต้องใช้เงินเพื่อลงทุนกับธุรกิจใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ในช่วงนี้ ก็จะต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วน รอบคอบมากที่สุด ว่าจะมีรายรับเข้ามาทำให้ธุรกิจสามารถประคองตัวไปได้ อยู่รอดได้หรือไม่

สุดท้ายนี้ ก็หวังว่าเพื่อนๆ ทุกคนจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วย และไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรในอนาคตอีกนั้น การวางแผนทางการเงินที่ดีจะช่วยให้เรารอดไปได้เสมอ

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

4 วิธี สร้าง Passive Income ง่ายๆ เริ่มต้นจากทุนหลักพันบาท
4 ขั้นตอนจัดการหนี้ ให้ตรงจุด และมีเงินออมหลังปลดหนี้

ภาพประกอบจาก freepik
Created with