ทำงานหลายอย่างแบบ Multitasking ดีต่อใจ แต่เป็นภัยต่อสมอง

In Summary

  • ทักษะการทำหลายอย่างได้ในเวลาเดียว (Multitasking) กันเป็นทักษะที่หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นทักษะที่ดี และบางคนถึงกับใส่ทักษะนี้ไว้ในเรซูเมสมัครงาน
  • แต่แท้จริงแล้วการทำงานหลายอย่างพร้อมกันทำให้สมองเราต้องสลับฟังก์ชันไปมา และนั่นส่งผลเสียต่อสมองเรา และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงด้วย แต่สารโดปามีนที่หลั่งจากการทำงานเสร็จบ่อยๆ ทำให้คนเสพติดการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน
  • สิ่งที่กระตุ้นให้เราต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกันมากที่สุดคือกล่องข้อความอีเมลและการแจ้งเตือนแอปพลิเคชันแชทที่ดึดดูดความสนใจเรา ทางแก้คือการปิดการแจ้งเตือน จัดตารางการเช็คอีเมล และจดจ่อกับงานที่ทำแทน

หลายคนมักเชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่มีทักษะในเรื่องการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multitasking) ถึงขั้นที่ว่าเป็นทักษะที่ใส่ในเรซูเมเลยด้วยซ้ำ แต่จริงๆ แล้วเราทำได้อย่างที่เชื่อรึเปล่า เราจำข้อมูลทั้งหมดในหัวได้จริงหรือ?

เพราะสมองเราไม่ได้ถูกสร้างมาให้ทำหลายอย่างพร้อมกัน สมองของเราได้รับการออกแบบมาให้โฟกัสทีละอย่าง เพราะฉะนั้นการยัดข้อมูลอัดแน่นเข้าไปในหัว อาจทำให้สมองทำงานได้ช้าลง

เอิร์ล มิลเลอร์ (Earl Millers) นักประสาทวิทยาจาก MIT ได้ชี้แจงไว้ว่า “สมองของเราไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เวลาที่คนคิดว่าตัวเองกำลังทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เขาแค่กำลังเปลี่ยนจากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่งอย่างรวดเร็ว และทุกครั้งที่ทำแบบนั้นกับสมอง มันมีราคาที่ต้องแลกเสมอ”

การเปลี่ยนสิ่งที่กำลังทำไปมาสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับสมอง เมื่อเราทำงานเล็กๆ เสร็จ (เช่น ส่งอีเมล ตอบข้อความ หรือทวีตอะไรลงใน Twitter) เราจะรู้สึกได้ถึงสารโดปามีน (Dopamine) อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาเมื่อเราทำอะไรสำเร็จ สมองของเรารักโดปามีน เพราะฉะนั้นเราเลยเสพติดการเปลี่ยนไปเลี่ยนมา เพื่อให้สารโดปามีนหลั่งบ่อยๆ ให้เราได้ชื่นใจเล่น

และการทำแบบนี้ก่อให้เกิดลูปที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนว่าเราทำงานเสร็จไปเป็นกอง แต่จริงๆ แล้วเราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย (หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้มีงานไหนที่ให้เราได้ใช้ทักษะการคิดอย่างจริงจัง) นอกจากนี้ บางคนยังถึงขั้นมองว่าการเช็คอีเมล Twitter Facebook บ่อยๆ ก็ถือเป็นการเสพติดในลักษณะนี้

การทำงานหลายอย่างพร้อมกันลดประสิทธิภาพและคุณภาพในการทำงานของเรา ทำให้การจัดระเบียบความคิดและการกรองข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกทำได้ยาก และมันก็เลยทำให้ประสิทธิภาพ และคุณภาพของงานเราลดลง
งานวิจัยจาก the University of London แสดงให้เห็นว่า คนที่ทำงานประเภทการใช้ความคิดหลายอย่างพร้อมกันอาจทำให้ไอคิวลดลง ซึ่งอาการไอคิวลดเป็นอาการเช่นเดียวกับที่เกิดกับคนนอนน้อยหรือคนที่สูบกัญชา ซึ่งเป็นผลกระทบที่ค่อนข้างน่ากลัว

การทำงานหลายอย่างพร้อมกันอาจเพิ่มคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด เพราะการต้องเปลี่ยนเกียร์สมองอยู่ตลอดเวลาเป็นการเพิ่มความเครียดและทำให้เราเหนื่อยล้า และทำให้เรารู้สึกเหนื่อยใจตั้งแต่ยังไม่เริ่มวันทำงานเลยด้วยซ้ำ

สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เราทำงานหลายอย่างพร้อมกันคือกล่องข้อความของเรา งานวิจัยหลายงานถึงกับแสดงให้เห็นว่ากล่องข้อความนั่นแหละคือการทำให้เราต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เช่น การที่ได้รู้ว่าคุณมีอีเมลที่ไม่ได้อ่านอยู่ ความกังวลนี้สามารถลดไอคิวของคุณได้ถึง 10 ระดับเลยทีเดียว ความรู้สึกกังวลเกี่ยวกับอีเมลที่ค้างอยู่ในกล่องข้อความของเราทำให้เราไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน งานวิจัยของ McKinsey แสดงให้เห็นว่าพนักงานแต่ละคนใช้เวลากว่า 28 เปอร์เซ็นต์ของเวลาการทำงานตลอดสัปดาห์ในการเช็คอีเมล

อีเมลคือสิ่งที่ก่อปัญหาระดับหนึ่ง แต่การส่งข้อความกันไปมานั้นก่อปัญหามากกว่า เวลาข้อความเด้งมันดึงดูดความสนใจเราขึ้นมาแทบจะทันที และจบลงด้วยการต้องหยุดทำงานไปตอบ

การป้องกันตัวเองจากการปล่อยให้การทำงานหลายอย่างทำลายสมองของเราคือการจัดตารางเช็คอีเมล บังคับตัวเองให้เช็คอีเมลแค่ 3 ครั้งต่อวัน (อาจจะเป็นตอนเช้าตอนเข้างาน ตอนเที่ยง และก่อนเลิกงานในตอนเย็น) ปิดการแจ้งเตือนแอปพลิเคชันแชทต่างๆ และจัดตารางการเช็คโทรศัพท์ด้วยเช่นกัน

ไม่ใช่แค่ชั่วคราว แต่ส่งผลตลอดไป

งานวิจัยจาก The University of Sussex (UK) ทำการแสกน MRI กับผู้เข้าร่วมการทำลองที่ชอบทำหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน เช่น ดูโทรทัศน์ไปด้วยและตอบข้อความไปด้วย ซึ่งผลการแสกนแสดงให้เห็นว่าคนที่ชอบทำหลายอย่างไปพร้อมๆ กันมีความหนาแน่นของเซลล์สมองในส่วนที่ควบคุมอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจน้อยกว่า

หนึ่งในข้อบกพร่องของงานวิจัยนี้คือมันยังไม่สามารถบอกได้ว่าการทำงานหลายอย่างพร้อมกันทำให้เกิดปัญหานี้ หรือปัญในสมองนี้ส่งผลให้คนทำงานหลายอย่างพร้อมกัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การทำงานหลายอย่างพร้อมกันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีอยู่ดี

บทเรียนที่ได้คือการทำงานหลายอย่างพร้อมกันไม่ใช่ทักษะที่เราควรภูมิใจ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นนิสัยที่ส่งผลเสียที่เราควรจะหยุดซะ ปิดการแจ้งเตือน จัดตารางการเช็คอีเมล และเอาใจไปจดจ่อกับงานที่ทำอยู่ดีกว่าเพื่อตัวเรา และสมองที่แข็งแรงของเรา

Source

Created with