5 ความเปลี่ยนแปลงแบบ New Normal ในโลกการทำงานหลัง COVID-19

In Summary

  • โควิด-19 เปลี่ยนโลกการทำงานของเราไปมาก ทั้งสถานที่ทำงานที่ต้องเปลี่ยนไป กลายมาเป็นการทำงานทางไกลในบ้านของตนเอง เมื่อไม่ได้ไปเจอหน้ากันที่ออฟฟิศแล้ว การบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ในการทำงานก็ต้องเปลี่ยนตาม กลายเป็น New Normal
  • การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการทำงานเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในยะยะยาว ไม่ใช่แค่ชั่วคราวเหมือนที่คิดกัน โดยโลกการทำงานอาจเปลี่ยนแปลงไปดังนี้ เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นดิจิทัลอย่างเต็มตัว ด้วยการใช้พื้นที่ทำงานเสมือนจริง องค์กรจะสนใจเรื่องผลลัพธ์มากกว่าเวลาที่ใช้เข้างาน เมื่อบ้านกลายเป็นที่ทำงาน ต้องมีการเคารพการผสมผสานระหว่างเวลาส่วนตัวและเวลางาน
  • นอกจากนี้เมื่อไม่ได้เห็นหน้ากันทุกวันแล้วต้องมีการยกระดับการสื่อสารที่แข็งแรงขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องมีคือการเพิ่มความไว้วางใจ ความโปร่งใส และความเห็นอกเห็นใจต่อกัน จึงจะรับมือทุกการเปลี่ยนแปลงได้อย่างราบรื่น

หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ทุกคนคงเห็นกันแล้วว่าที่ทำงานจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป แม้กระทั่งคำว่า ‘ที่ทำงาน’ เองก็ถูกเปลี่ยนความหมายไปเยอะ จากเดิมที่ที่ทำงานเป็นออฟฟิศ ตอนนี้บ้านก็กลายมาเป็นที่ทำงานอีกแห่งของคนที่ต้องทำงานจากที่บ้าน ที่ทำงานผสมรวมไปกับที่นอนและที่พักผ่อนของเราไปซะอย่างนั้น

เดิมเราคิดว่าออฟฟิศคงไม่ยอมให้พนักงานทำงานที่บ้านง่ายๆ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เราคาดการณ์ไว้ว่าจะมาถึงในอีกสัก 10 ปีข้างหน้า กลับเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนเพราะมีวิกฤตินี้เป็นตัวเร่ง

สิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ใช่แค่สถานที่ทำงาน แต่การบริหารจัดการในองค์กรก็ต้องเปลี่ยนตาม ตอนนี้หลายองค์กรเริ่มปรับตัวได้ และการเปลี่ยนแปลงที่เราคิดว่าแค่ชั่วคราวกลับไม่เป็นแบบนั้น เพราะบางองค์กรก็มีแนวโน้มจะให้พนักงานทำงานที่บ้านต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

มาดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงการทำงานเข้าสู่ยุค New Normal นี้ จะส่งผลในระยะยาวไปในรูปแบบไหน และองค์กรควรจัดการอย่างไรถึงจะรองรับการเปลี่ยนแปลงได้เต็มตัว
1.  เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นดิจิทัลอย่างเต็มตัว ด้วยการใช้พื้นที่ทำงานเสมือนจริง
วิกฤติครั้งนี้บังคับให้บริษัทต้องแสวงหาแนวทางในการดูแลลูกค้าทางไกล และมันจะยังต้องเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกอุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบ ตั้งแต่โรงพยาบาลที่ต้องปรึกษาหมอทางวิดีโอคอล เด็กนักเรียนที่ต้องเรียนผ่านซูมจากที่บ้าน หรือเทรนเนอร์ฟิตเนสที่ต้องสอนผ่านไลฟ์สด ทุกๆ อุตสาหกรรมกำลังย้ายตัวเองเข้าสู่โลกดิจิทัล ดังนั้นข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์จะลดลง และแรงงานฝีมือดีที่อยู่ทั่วโลกจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการทำงานทางไกล

องค์กรควรเตรียมตัวเปลี่ยนการบริหารจัดการในเรื่องการจ้างคนทางไกล ควรหาผู้สมัครในวงที่กว้างขึ้น ไม่จำกัดแค่คนในจังหวัดหรือในประเทศ และควรดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้ใช้ประโยชน์จากการเปลี่นนแปลงนี้ในการหาผู้สมัครฝีมือดีที่ซ่อนอยู่อีกมุมโลก

2. สนใจเรื่องผลลัพธ์มากกว่าเวลางาน
การมาทำงานคนแรกและออกจากออฟฟิศคนสุดท้ายไม่ใช่สิ่งที่วัดผลการทำงานได้อีกต่อไป ในโลกหลังโควิด-19 ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ คุณภาพของพนักงานจะประเมินด้วยผลลัพธ์ที่พนักงานสร้างได้ มากกว่าเวลาทั้งหมดที่พนักงานใช้ทำงาน โอทีไม่ช่วยอะไร ถ้างานของคุณไม่ดี เพราะไม่มีใครรู้อีกแล้วว่าคุณนั่งทำงานตอนไหนบ้าง

ผู้นำองค์กรควรจะประเมินพนักงานจากผลงานมากกว่า และสร้างแรงกระตุ้นให้พนักงานทำผลงานให้ดีที่สุด โดยการใช้ระบบวัดผลที่ขึ้นกับผลลัพธ์ของงานเป็นหลัก นอกจากนี้ยังควรสร้างมาตรฐานใหม่ในการประเมินผลการทำงานด้วยการเน้นงานที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรมากกว่าวัดจำนวนงานที่ทำเสร็จ

3. เคารพการผสมผสานระหว่างเวลาส่วนตัวและเวลางาน
การทำงานแบบ “เข้า 9 ออก 5” แบบเดิมๆ ไม่สอดคล้องกับลักษณะการทำงานของโลกหลังโควิด-19 อีกต่อไป ถ้าผู้นำองค์กรสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการให้เวลาที่ยืดหยุ่น หาตรงกลางระหว่างเวลาที่พนักงานพร้อมที่สุด และเวลาที่บริษัทต้องการที่สุด องค์กรจะสามารถสร้างมาตรฐานในการประเมินการทำงานของพนักงานจากผลงานได้ ซึ่งนั่นจะทำให้บริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด

และที่สำคัญคือบริษัทควรจะสนับสนุนให้พนักงานใช้เวลาเพื่อตัวเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การทานอาหารที่ดี และการให้เวลากับครอบครัว นโยบายต่างๆ ควรสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และผู้นำควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อให้การให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ขององค์กร
4. ยกระดับการสื่อสารที่แข็งแรงขึ้น
เมื่อที่ทำงานเปลี่ยนเป็นการทำงานในพื้นที่เสมือนจริงทางออนไลน์ พนักงานจึงต้องมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพขึ้น และบ่อยครั้งมากขึ้น ทำให้ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับการสื่อสารในทุกช่องทาง

ผู้นำองค์กรควรทำให้การสื่อสารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นสำหรับพนักงานในองค์กร สร้างระบบการสื่อสาร ทำให้การตัดสินใจเป็นเรื่องง่าย ลดลำดับขั้นลง จัดการเทรนให้พนักงานในเรื่องการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้การสื่อสารลื่นไหล และการตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็ว
5. เพิ่มความไว้วางใจ ความโปร่งใส และความเห็นอกเห็นใจ
ในงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะการเป็นผู้นำของผู้บริหารกว่า 500 คน รายงานว่าความถ่อมตนและทักษะในการเป็นผู้ฟังที่ดีเป็นคุณสมบัติที่ผู้นำควรมี และผู้เชี่ยวชาญในด้านภาวะผู้นำทั้ง คิม สก็อต (Kim Scott) และ เบรเน่ บราวน์ (Brené Brown) ต่างก็เน้นย้ำถึงความสำคัยของการเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์และอ่อนโยน

ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ทั้งผู้นำและพนักงานควรดูแลกันและกันให้มากกว่าที่ผ่านมา หลายคนมักเริ่มแชร์เรื่องราวส่วนตัวกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งนำไปสู่ความคาดหวังเรื่องความเห็นอกเห็นใจ การเป็นผู้ฟังที่ดี แรงสนับสนุน และการเข้าใจกัน

ผู้นำที่มีคุณสมบัติเหล่านี้มักได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำที่ดี และได้รับความไว้วางใจและความภักดีกับพนักงานมากกว่า ผู้นำควรปรับแนวคิดและพฤติกรรมไปในแนวทางนี้ เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับพนักงานและเตรียมพร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และยอมรับเถอะว่ามีการเปลี่ยนแปลงอีกจำนวนมากรอเราอยู่ ผู้นำองค์ที่ดีไม่ควรเฉื่อยชาและรอแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ควรปรับตัวตามแนวทางใหม่เพื่อ เตรียมรับมาตรฐานในการทำงานใหม่ ตัวพนักงานเองก็ควรเตรียมรับอย่างยืดหยุ่นที่สุด เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์

Source

Created with