คุยกับ HR: การสมัครและสัมภาษณ์งานในยุค New Normal ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

In Summary

  • ไม่ว่าผู้สัมภาษณ์งานจะผ่านประสบการณ์มาเยอะแค่ไหน แต่คำถามหลักๆ ที่เกิดขึ้นในการพิจารณาผู้สมัครแต่ละคน จะไม่หนีไปจาก 4 ข้อคือ ประสบการณ์, บุคลิกภาพ, เป้าหมาย และความคาดหวัง
  • COVID-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ Digital Disruption รุนแรงยิ่งขึ้น
  • ไม่ว่าผู้สัมภาษณ์งานจะผ่านประสบการณ์มาเยอะแค่ไหน แต่คำถามหลักๆ ที่เกิดขึ้นในการพิจารณาผู้สมัครแต่ละคน จะไม่หนีไปจาก 4 ข้อคือ ประสบการณ์, บุคลิกภาพ, เป้าหมาย และความคาดหวัง
  • ฉะนั้นการสมัครงานควรมีการสร้างคอนเน็คชันมากขึ้น ส่วนการสัมภาษณ์งาน ต้องมีความชัดเจนกับตัวเองนั่นเอง

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า COVID-19 ไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ COVID-19 เป็นเพียงตัวเร่งปฏิกิริยาของการเปลี่ยนแปลงต่างหาก สิ่งที่จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ คือ Digital Disruption ที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว

COVID-19 มาเพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงทั้งในการสมัครและสัมภาษณ์งานนั้น เข้าสู่ ‘มาตรฐานปกติแบบใหม่’ หรือ New Normal นั่นเอง

ตัวอย่างของสิ่งที่ New Normal ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม

  • Location-Free Tasks คือเราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศตลอดเวลา
  • Automated Repetitive Tasks คืองานที่ซ้ำๆ เดิมๆ จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ คนงานก็ลดลง
  • การศึกษาในระบบดั้งเดิม เริ่มไม่ได้ผล และงานที่เหมาะสมเริ่มหดหายไป


สมัครงาน
แต่ก่อน (ไม่นานมานี้) การสมัครงานก็คงหนีไม่พ้นการเขียน Resume แล้วก็สมัครผ่าน Internet หรือฝากเพื่อน/รุ่นพี่แนะนำงานให้ แล้วก็ รอ รอ รอ พอถูกเรียกก็ไปสัมภาษณ์

วิธีการที่ว่ามานี้ ไม่ค่อยเปลี่ยนไปนัก สิ่งที่จะต่างออกไปหลังจาก New Normal คือ ช่องทางการสมัครงานที่มากขึ้น เช่น Facebook เป็นต้น รวมไปถึงคู่แข่งที่มากขึ้น (ก็ตกงานกันเยอะอะนะ)

แนวทางการเตรียมตัว

สิ่งที่ควรเตรียมตัวคือการสร้างคอนเน็คชันให้แน่นแฟ้นและหลากหลาย คือไม่ต้องเยอะ แต่ต้องแน่น ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบคือ

  1. ทำความรู้จักคนให้มากขึ้น เพื่อรองรับหนึ่งในช่องทางการสมัครงานที่ได้ผลที่สุดคือ Employee Referral หรือการแนะนำคนรู้จักมา เรื่องนี้ไม่ว่า Recruiter คนไหนก็แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันรวมทั้งสถิติบางสำนักด้วย
  2. ใช้ช่องทางโซเชียลให้มากขึ้น เพราะการโพสต์ตำแหน่งของงาน เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่ Job Board อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นควรมีการสมัครรับข่าวสารหรือเป็นสมาชิกของกลุ่มหรือเพจหางานต่างๆ มากขึ้น และยิ่งถ้ามีส่วนร่วมที่ดี ก็ยิ่งส่งผลต่อ Profile มากยิ่งขึ้น
  3. ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมต่างๆใน Social Media และ/หรือ Movement ต่างๆ เพราะหากมีทัศนคติหรือพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีหรือเหมาะสม เช่น การแสดงกิริยาก้าวร้าว ดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอ นินทาว่าร้าย หรือตัดสินคนอื่นแบบไม่สมควร ก็อาจเป็นเหตุให้โดนปัดตกได้
สัมภาษณ์งาน
ในการสัมภาษณ์คน ไม่ว่าผู้สัมภาษณ์จะเก่งแค่ไหนหรือผ่านประสบการณ์การสัมภาษณ์คนมาเยอะขนาดไหนก็ตาม คำถามหลักๆ ที่เกิดขึ้นในการพิจารณาผู้สมัครแต่ละคน จะไม่หนีไปจาก 4 ข้อนี้

  1. มีประสบการณ์/ทักษะตรงกับตำแหน่งงานหรือไม่?

  - จุดประสงค์ของคำถามนี้ค่อนข้างตรงตัว คือการพิจารณาประสบการณ์และทักษะที่เกี่ยวข้องว่าเหมาะสมกับตำแหน่งงานนี้มากแค่ไหน
    - คำถามนี้ตัวผู้ถามอาจได้รับคำตอบเองเมื่อได้อ่านประวัติของผู้สมัคร รวมไปถึงการสัมภาษณ์งานจริง

แนวทางการเตรียมตัว
  • เน้นผลงานในโปรไฟล์ให้เด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร และรวมไปถึงทักษะที่มีอีกด้วย
  • เนื้อหาของผลงานควรใส่รายละเอียด หรืออย่างน้อยมีสรุปสั้นๆ ใน Resume และการสัมภาษณ์จะต้องสามารถอธิบายได้ชัดเจน
  • เล่าทักษะด้วยการยกตัวอย่างประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Soft Skills


2. มีบุคลิกและลักษณะนิสัยอย่างไร?

    -
จุดประสงค์ของคำถามนี้เพื่อดูว่า จะสามารถทำงานร่วมกันได้ไหม ทั้งกับผู้สัมภาษณ์เอง และคนในทีม เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ผู้สัมภาษณ์หรือผู้จ้างงานแต่ละคน มีความชอบเชิงพฤติกรรมไม่เหมือนกัน
   - โดยส่วนใหญ่การสังเกตเกิดขึ้นในห้องสัมภาษณ์เลย ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การสัมภาษณ์คนของผู้สัมภาษณ์ว่าสังเกตได้มากน้อยแค่ไหน
  - ตัวอย่างคำถามในการสัมภาษณ์: ชอบทำอะไรเวลาว่าง? ชอบทำงานกับเพื่อนร่วมทีมแบบไหน?


แนวทางการเตรียมตัว

  • บอกเล่าตัวตนที่เป็นตัวตนจริงๆ เลยว่า ชอบทำอะไรยามว่าง ทำไมถึงสนใจ และสุดสัปดาห์ทำอะไร เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์เห็นไลฟ์สไตล์เราอย่างชัดเจน
  • ความชอบไม่ชอบ ไม่ได้จบแค่เรื่องไลฟ์สไตล์ แต่รวมไปถึงลักษณะของคนที่ชอบและไม่ชอบทำงานด้วย ในที่นี้เป็นเหมือนเครื่องบ่งชี้ว่าตัวเราเองมีบุคลิกลักษณะนิสัยอย่างไร และเราจะเข้ากับคนประเภทไหนได้ดี
  • ใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพให้เป็นประโยชน์ เพราะปัจจุบันนี้มีแบบทดสอบมากมายที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น (ถึงแม้จะไม่ตรง 100%)


    3.
    มีเป้าหมายหรือมุมมองในอนาคตอย่างไร?
    - จุดประสงค์ของคำถามนี้หลักๆ เพื่อให้รู้ว่า ทิศทางของบริษัท และ/หรือ ทิศทางของทีม จะเหมาะสมกับผู้สมัครคนนี้หรือไม่ รวมไปถึงสิ่งที่ผู้สมัครให้คุณค่าในการทำงานด้วย เพราะถ้าหากไม่มีส่วนไหนที่ตรงกัน ก็เป็นการยากที่จะทำงานแล้วมีความสุขและทำได้อย่างเต็มที่
    - โดยสรุปคือคำถามนี้เป็นการมองหาความเข้ากันได้ของตัวผู้สมัครกับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมักจะสังเกตได้ด้วยการพูดคุยเห็นหน้า และการเจอกันจริงๆ มากกว่าแค่การคุยโทรศัพท์
    - ตัวอย่างคำถามในการสัมภาษณ์: ลองบรรยายสภาพแวดล้อมการทำงานที่เราชอบให้ฟังหน่อย? เป้าหมายในการทำงานคืออะไร? เรามองบริษัทนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

Photo from: Unsplash

 

แนวทางการเตรียมตัว
  • ค้นหาเป้าหมายการทำงานของตัวเอง ว่าในท้ายที่สุดแล้วเราอยากทำงานลักษณะไหน (ไม่ใช่อาชีพ) เช่น อยากทำงานที่ได้พบปะผู้คน อยากทำงานสายการตลาด อยากบริหารทีมใหญ่ เป็นต้น
  • หาวัฒนธรรมองค์กรที่เราอยากทำงานด้วยคำถามเหล่านี้

    - เป้าหมายของบริษัทแบบไหนที่เราจะชอบ? เช่น บริษัทมุ่งจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด หรือ ต้องการช่วยสังคมจริงๆ เป็นต้น
    - ลักษณะผู้นำแบบไหนที่เราสบายใจที่จะทำงานด้วย? เช่น ไม่จู้จี้จุกจิก หรือ ต้องการให้เราลงมือทำเอง เป็นต้น
    - เพื่อนร่วมงานแบบไหนที่เราจะทำงานด้วยความสบายใจ? เช่น ทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่ หรือ เป็นกันเองในทุกระดับ เป็นต้น คำถามนี้เหมือนกับการเตรียมตัวในข้อ 2
    - สภาพแวดล้อมการทำงานแบบไหนที่ชอบ? เงียบ ไม่วุ่นวาย ออฟฟิสหรูหรา เป็นต้น
    - อยากมีลักษณะการทำงานอย่างไร? เช่น แต่ละคนทำงานของตัวเองแล้วมารวมกัน หรือ ทำงานช่วยๆกัน เป็นต้น

        4. มีความคาดหวังอะไร?

        - จุดประสงค์ของคำถามนี้ไม่ใช่แค่ในเรื่องของค่าตอบแทนเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงสิ่งที่อยากได้จากบริษัท ทั้งความก้าวหน้าทางอาชีพ การสนับสนุนในการทำงาน หรือการพัฒนาทักษะและความสามารถของตัวเรา เป็นต้น
        - ผู้สมัครส่วนใหญ่พลาดกับสิ่งนี้ตลอด และผลก็คือ เมื่อเข้าไปแล้วพบว่าบริษัทไม่ได้ให้ตามที่เราต้องการ หรือไม่สามารถให้ได้ตรงกับความต้องการทางอาชีพของเรา ก็ต้องออกไปหาที่ใหม่อีก
        - ตัวอย่างคำถามมักจะใช้คำถามเดียวกับข้อ 3


        แนวทางการเตรียมตัว

    •     คำนวณความจำเป็นเรื่องเงินและสวัสดิการก่อนไปสัมภาษณ์ เพื่อให้ตัวเลขที่ขอไปนั้นเป็นที่ชัดเจนและสมเหตุสมผล
    •     ต้องการอะไรจากบริษัทบ้างในแง่การพัฒนาทักษะและความสามารถในการทำงาน เช่น โอกาสในการเติบโตในตำแหน่งงาน ทุนการศึกษา หรือการอบรมในหัวข้อเฉพาะทาง เป็นต้น



    สรุปในการเตรียมตัว

    •     สมัครงาน ควรมีการสร้างคอนเน็คชันมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแนะนำงานมากกว่าแค่การส่งใบสมัครทางออนไลน์เท่านั้น
    •     สัมภาษณ์งาน ต้องมีความชัดเจนกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่มีและต้องพัฒนา เป้าหมายในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรที่ชอบ หรือแม้แต่ความจำเป็นทางการเงิน


    ถ้าเตรียมตัวแบบนี้แล้ว ไม่ต้องไปเสียเวลานั่งอ่านคำถามที่มักจะเจอในการสัมภาษณ์ เพราะคำตอบเรามีครบเพียงพอที่ HR จะใช้ในการคัดเลือกบุคคล
        
      


Created with