จับเข่าคุย พอล-ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Head of Venture Builder แห่ง KX ผู้เชื่อว่าในโลกแห่งเทคโนโลยีการเงิน อะไรก็เกิดขึ้นได้

ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โลกการเงินปรับเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดด เกิดระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Finance) ที่พลิกแพลงวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลกหลากหลายรูปแบบ ด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจนี้ เรามีโอกาสพูดคุยกับ พอล-ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Head of Venture Builder แห่ง KX ซึ่งเป็น Venture Builder ของกลุ่มธนาคารกสิกรไทย ถึงการสร้างธุรกิจการเงินรูปแบบใหม่ และมองไกลถึงอนาคตภายหน้า ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้เพียงเขียนโค้ดเขียนโปรแกรมไม่กี่บรรทัด
โลกการเงินไร้ตัวกลาง ใครๆ ก็เข้ามาพัฒนาได้

พอล เล่าถึงมุมมองของ KX ต่อโลกที่โอบรับเทคโนโลยีการเงิน หรือ ฟินเทค มาใช้เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาที่กำลังกลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลก

“ไม่ว่าเราจะไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อ หรือบน e-Commerce ก็ตาม ฟินเทคจะฝังอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ในส่วนนี้จะเป็นการผสมผสานระหว่างสินค้ากับบริการใหม่ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมา บวกกับเทคโนโลยีพวก Machine Learning และ Artificial Intelligence ผนวกกับพวก Biometrics ทำให้คนจำนวนมากเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้โดยที่ไม่ต้องไปธนาคาร

คำสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ก็คือ Decentralized Finance หรือ DeFi ระบบการเงินแบบไร้ตัวกลางในการทำธุรกรรมต่างๆ ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ๆ ขึ้น และมาพร้อมข้อดีคือทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงได้หมด แม้กระทั่งเด็กและเยาวชน

“ในโลกของ DeFi จะมีกลุ่มคนที่อายุน้อยมากด้วย เราจึงได้เห็นเด็กอายุ 8 ขวบ กระโดดเข้ามาพัฒนาสินค้าหรือบริการพวกนี้เยอะมากนะครับ”

และนั่นหมายความว่าคนที่พัฒนาสินค้าและบริการจะไม่ใช่ฟินเทคที่มีทุนเยอะๆ หรือเป็นของบริษัทใหญ่ๆ อีกต่อไป แต่สัดส่วนไม่น้อยคือเหล่าคนรุ่นใหม่ที่พร้อมก้าวขึ้นมาเป็นผู้พัฒนาและเปลี่ยนโลก

จากโลกของ เด็กติดเกม สู่ดิจิทัลรูปแบบใหม่ จาก The Matrix สู่ Ready Player One


            DeFi อาจมีความหมายว่าระบบการเงินแบบไร้ตัวกลางก็จริง แต่ในมุมมองของ KX พอล อยากให้มองครอบคลุมไปถึง Decentralized World ที่ไม่เพียงเข้ามามีบทบาทแค่เรื่องการเงินเท่านั้น

“มันมีโอกาสอีกมากมายมหาศาล แล้วแต่จะจินตนาการเลยครับ” พอลเล่าด้วยความตื่นเต้น “ดังนั้นถ้ามองว่ามันจะโตมากมายขนาดไหน มันจะโตอีกเยอะ เยอะแค่ไหนไม่รู้นะ แต่ว่า ณ ปัจจุบันยังเป็นช่วงที่พยายามนำสิ่งที่เราเห็นอยู่ในโลกปกติเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล ในช่วงต่อไปก็จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่โลกปกติไม่มี”

พอลคาดการณ์ว่าผู้คนจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ใน ‘ดิจิทัลสเปซ’ มากขึ้น ดิจิทัลสเปซนี้มีหลายช่องเหมือนโทรทัศน์ แต่ละคนจึงเหมือนมีหลายร่าง มีชีวิตอยู่ในโลกที่จับต้องได้ สามารถอยู่ได้ในโลกหลากหลายใบ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะแบ่งภาคชีวิตเขายังไง หรืออีกนัยหนึ่งคือการเข้าสู่ Metaverse นี่เอง

“เทรนด์นี้จริงๆ แล้วมันไม่ได้เพิ่งเกิด แต่อาจย้อนไปได้ตั้งแต่การเกิดโลกของ ‘เด็กติดเกม’ เมื่อก่อนเป็นคำแง่ลบใช่ไหมครับ แต่เดี๋ยวนี้มีความหมายแง่บวกมากขึ้น เพราะทุกวันนี้คนที่อยู่ในโลกดิจิทัลใช้เวลากับตรงนั้นได้อย่างสร้างสรรค์ สร้างรายได้ให้ครอบครัวได้จริง อย่างผมเองก็ติดเกม เราก็จะแบ่งภาคชีวิตทั้งในโลกของเกมและอยู่ในโลกแบบที่เราเห็นกันปกติ”

อีกสิ่งที่ พอล เปรียบเปรยไว้ก็คือโลกของภาพยนตร์ เมื่อก่อนอาจเป็นยุคคาวบอย ผ่านหนังตะวันตกแดนเถื่อนที่ไม่มีเรื่องของวิถีชีวิตดิจิทัลเข้ามา  

“ต่อมาก็จะเป็นเรื่อง The Matrix (1999) แล้วก็ Ready Player One (2018) ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดีไซน์มันยังไง”

 

สิ่งสำคัญที่ต้องทำ ก่อนก้าวขาสู่โลกใบใหม่


แม้โลกการเงินจะรุดหน้าไปไกล แต่หัวเรือใหญ่ของ KX เชื่อก็คือ บริการทางการเงินต่างๆ ยังอยู่ในช่วงถ่ายโอนจากโลกปกติเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัลเท่านั้น

“ส่วนใหญ่ยังคิด Token Economic ไม่ครบ ดังนั้นถ้าเราดูในเรื่องของการเงิน การลงทุน หรือเกม เขาไม่สามารถรักษา Value ได้ระยะยาว ทำให้ราคาขึ้นแล้วก็ลง มีอยู่แค่ไม่กี่ตัวที่สามารถเป็นธุริจที่ยั่งยืนได้

พอลเองมองว่าระบบการเงินยังสามารถพัฒนาได้อีกเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถออกแบบให้ Token มีมูลค่าที่แน่นอนได้ไหม หรือออกแบบให้มีมูลค่าอยู่เพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้สร้างจะเขียนโปรแกรมตามที่จินตนาการไว้ยังไง

เมื่อแนวโน้มจะพัฒนา และมีผู้คนเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ พอล อยากแนะนำมือใหม่ที่กำลังคิดจะก้าวขาเข้ามาว่า ให้อ่านหนังสือชี้ชวน (White Paper) ของตัว Token นั้นๆ เพื่อหาว่าทำไมถึงเกิดขึ้น Token นี้พยายามแก้ปัญหาอะไร มีระบบการกระจายอย่างไร สร้าง Value Going Forward แบบไหน Value นั้นเพียงพอไหม มีคู่แข่งหรือไม่ เป็นต้น และอาจต้องลงลึกถึงขั้นเทคนิค หรือสมการทางคณิตศาสตร์เลยทีเดียว

“เดี๋ยวนี้จะมีคนที่วิเคราะห์แล้วก็แชร์สรุปให้อ่านกัน แต่ผมว่าแนะนำให้อ่านเองดีกว่า เพราะบางทีคนจะสรุปแต่ใจความสำคัญ แต่มันอาจมีอะไรที่ซ่อนอยู่ที่เขาดึงมาไม่ครบ”

ประการต่อมา ดูความปลอดภัยว่ามีการทำ Smart Contract Audit แล้วหรือยัง ซึ่งปกติจะมีการแจ้งไว้อยู่แล้ว หรือถ้ายังไม่ผ่านการตรวจสอบก็ต้องดูว่าดำเนินการมาแล้วนานแค่ไหน เคยมีประวัติโดนแฮ็คบ้างหรือไม่ เป็นต้น

“บางอันแม้จะตรวจสอบแล้วแต่ก็ถูกแฮ็คได้นะครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าถูกแฮ็คแล้วจะจบเกมเลย ต้องดูวิธีการรับมือของทีมงานด้วย เนื่องจากมันไม่มีใครรู้ทุกอย่างในโลก DeFi เขาก็จะได้เรียนรู้ในจังหวะที่ถูกโจมตี หาทางแก้ไขให้สถานการณ์ไปได้”

ทั้งนี้ พอล แนะนำว่าถึงจะอ่านทุกอย่างอย่างถี่ถ้วนแล้ว แต่เวลาเจออะไรที่คิดว่าดีมากๆ สวยหรูมากๆ เช่นมอบผลตอบแทนสูงชนิด ‘Too good to be true’ ก็อยากให้ระวังไว้ด้วย เพราะเบื้องหลังอาจเป็นมิจฉาชีพเข้ามาตักตวงผลประโยชน์

 

เล็งอุดช่องโหว่ NFT ด้วย Coral


ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระแสความนิยมต่อ NFT หรือ Cryptocurrency สำหรับซื้อขายผลงานศิลปะรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  พอลเล่าว่าทาง KX เล็งเห็นความน่าสนใจและโอกาสมากมาย จึงเปิดตัวแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Coral ซึ่งเป็น Super Simple NFT Marketplace เพื่อให้ศิลปิน หรือผู้มีจิตวิญญาณศิลปินมาอยู่บนแพลตฟอร์มสร้างงานศิลปะ และโปรโมตงานไปสู่ระดับโลก

“ทั้งหมดนี้ผู้ใช้ไม่ต้องออกจากบ้านเลย เป็นมุมหนึ่งที่เราจะช่วยให้คนจำนวนมากก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลและได้ประโยชน์จริงๆ”

สาเหตุที่ KX ทำคลอด Coral ขึ้นมาเพราะว่าวงการ NFT ตอนนี้เกิดดราม่าเต็มไปหมด

“ศิลปินตัวจริงขายงานที่เป็น NFT แล้วถูกก็อปปี้งาน ก็อปปี้ตัวตนทั้งหมดจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปขายบนอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง เพราะไฟล์ที่อยู่ข้างหลังมันสามารถดึงออกมาได้” พอลเล่าให้ฟังแบบกระชับๆ พร้อมยืนยันว่า Coral ออกแบบมาเพื่อแค่ปัญหานี้โดยเฉพาะ

“เริ่มจากการให้ศิลปินทุกคน แบรนด์ทุกแบรนด์ยืนยันตัวตนก่อน” พอลเริ่มอธิบาย “เมื่อมีการซื้อผลงาน Coral จะโอนไฟล์ NFT จากศิลปินให้แก่ผู้ซื้อจริงๆ เพื่อป้องกันการถูกก็อปปี้ ที่ผ่านมามันไม่มีใครมาบอกนะว่าใครเป็นคนทำ เพราะว่าสืบกันไม่ได้ ทุกคนไม่ระบุตัวตนทั้งหมด แล้วคนซื้อส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองซื้อของปลอมไป”

Head of Venture Builder แห่ง KX มองว่าอุตสาหกรรม NFT เติบโตปีละหลายร้อยเปอร์เซ็น ดังนั้นหากไม่รีบจัดการปัญหานี้ตั้งแต่ต้น มันจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่จนแก้ไม่จบ

สิ่งสำคัญที่ พอล ย้ำก็คือ KX และ Coral จะดึงข้อดีของ DeFi มาอยู่ในโลกที่คน 99% ไม่มีเวลาหรือทรัพยากรในการเรียนรู้ศึกษาประเด็นเหล่านี้

“คีย์เวิร์ดของ Coral คือ Super Simple เมื่อศิลปินมาขายของ เขาไม่จำเป็นต้องมีงบใด ๆ ทั้งสิ้น ขอแค่มีฝีมือ ขายได้เดี๋ยวค่อยตัดจากยอดขาย”

“ส่วนในมุมผู้ซื้อ ก็ใช้เงินบาทนี่แหละ ซื้อขายของเหมือนบน e-Commerce จ่ายด้วยแอปพลิเคชันธนาคาร สแกนคิวอาร์โค้ด บัตรเครดิต เดบิต ได้หมด ไม่ต้องไปพยายามทำความเข้าใจก่อนว่า Cryptocurrency มันคืออะไร ฉันชอบงานศิลปะชิ้นนี้ ฉันซื้อเลย ลดสเต็ปในการคิดไปเยอะมาก ส่วนในมุมของศิลปินก็อุ่นใจได้ว่านี่คือช่องทางที่ทำให้เข้าถึงคนเป็นหลักล้านได้ทันที” พอลกล่าว

 

โลกการเงินที่มาพร้อมโอกาสใหม่ๆ สำหรับทุกคน


ในช่วงท้ายของการสนทนา พอล ใช้โอกาสนี้เชิญชวนทุกคนให้ลองก้าวเข้าไปใน Decentralize World

“สำหรับมุมผู้บริโภค อยากให้เข้ามารู้จัก มาเข้าใจว่ามันคืออะไร ทำให้เวลาเราจะเลือกซื้อสินค้าหรือเลือกผู้ให้บริการ เราจะเลือกได้อย่างถูกต้อง”

ส่วนในมุมของผู้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็อยากให้เข้ามาเพื่อค้นหาโอกาสในทางธุรกิจซึ่งมีเยอะมากขึ้น

“สินค้าและบริการทางการเงินจะมาอยู่ในชีวิตประจำวันแบบไร้รอยต่อมากขึ้น แล้วก็จะมีหลากหลายมากขึ้นพอดีกับความต้องการเรามากขึ้น” พอลย้ำ

“ลองมองย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้านี้ สินค้าหรือบริการทางการเงินมีแค่ตัวเลือก A B C ซึ่งมันอาจไม่ได้พอดีกับความต้องการของเราเลย... แต่ปัจจุบันบริการทางการเงินจะพอดีกับความต้องการของเรามากขึ้น”

นอกจากนั้นในโลกของ DeFi ก็จะเพิ่มโอกาสมากขึ้นเช่นกัน ทั้งในเรื่องของการลงทุน เรื่องของการทำมาหากินแบบใหม่ เป็นประโยชน์กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ยิ่งระยะเวลาผ่านไปจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เต็มไปหมด เกิดเครื่องมือต่างๆ สินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถจะทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

“ในโลกของ DeFi มีสิ่งที่เรียกว่า Flash Loan สามารถเสนอการกู้เงินบวกการวาง Collateral การซื้อทรัพย์สินนั้น แล้วเอาทรัพย์สินนั้นไปขายต่อ เพื่อเอาเงินไปคืนให้กับผู้ที่เราไปกู้มาได้ใน Transaction เดียว... ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน แทบจะไม่มีข้อจำกัด”

“นี่คือความพิเศษในโลกของ DeFi ที่รอให้เราจินตนาการขึ้นมาครับ” พอล ทิ้งท้าย
Created with