Passion to Profit: ธุรกิจกาแฟยังเซ็กซี่อยู่มั้ย

คำถามนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิต ที่ยังติดใจใครหลาย ๆ คนในวันนี้ ทั้งกลุ่มคนที่กำลังมองหาอาชีพเสริม หรือ คนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง …​

ภาพร้านกาแฟสวยๆ นั่งชิลๆ ท่ามกลางกลิ่นหอมของกาแฟ อาจเป็นภาพธุรกิจในฝันของคนที่ชื่นชอบกาแฟ…หรือแม้แต่คนที่ไม่ชอบแต่ก็อยากมีธุรกิจสวยๆ ชิลๆ อย่าง​”ร้านกาแฟ” กับเขาบ้าง แต่เส้นทางมันจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ฝัน..จริงหรือ??

SHiFT Your Future ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้ โดยทั้ง 2 ร้าน มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งในมุมของ Passion และ เงินทุน แต่สิ่งที่ได้จากการพูดคุยครั้งนี้ เราได้เห็นถึงจุดหมายปลายทางเดียวกันของทั้งคู่คือ “การตั้งใจมอบกาแฟที่ดีที่สุดของร้านให้กับลูกค้า”
นพพล อมรพิชญ์ปรัชญา หรือ หมู Bottomless
“นพพล อมรพิชญ์ปรัชญา” หรือ หมู Bottomless เจ้าของโรงคั่วและร้านกาแฟ Bottomless ย่านนนทบุรี ที่คอกาแฟต่างรู้จักกันดี ถึงฝีไม้ลายมือการชงกาแฟระดับเซียน และ อุปกรณ์ชงกาแฟที่เรียกได้ว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจร้านกาแฟ มาจากความเบื่อหน่ายงานที่ทำแล้วหันมามองหางานอดิเรกที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง นั่นคือการลงทุนซื้อเครื่องชงกาแฟมาใช้เองที่บ้าน จากเครื่องชงกาแฟเครื่องละ 100,000 บาท แล้วผลัดเปลี่ยนซื้ออุปกรณ์การชงกาแฟมารีวิวลงโซเชียลมีเดีย จนเป็นที่รู้จักของกลุ่มคนรักกาแฟ ลุกลามไปถึงขั้นเปิดร้าน

“คุณหมู” เริ่มหันมาเอาดีด้านการเปิดร้านกาแฟ หลังจากลองผิดลองถูกอยู่กับการหาคำตอบว่า “กาแฟแบบไหนถึงจะดีที่สุด” มาอย่างน้อย 6 ปี แต่การทำธุรกิจร้านกาแฟ ไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ คุณหมู เล่าว่าช่วง 2 ปีแรกที่เริ่มทำร้านกาแฟ จะต้องมีอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ที่ขายกาแฟไม่ได้เลยสักแก้ว ช่วงที่ขายดีที่สุดอย่างมากก็วันละ 50 แก้วเท่านั้น จนกระทั่งเกิดความท้าทายจากคนรอบข้าง ที่มองว่า อนาคตของร้านกาแฟนี้ คงไปไม่รอด…

ความท้าทายในการทำธุรกิจร้านกาแฟ ในซอยเล็กๆ ซึ่งเป็นทำเลที่ไม่เอื้อต่อการทำร้านกาแฟให้อยู่รอด เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณหมู ลุกขึ้นมาทำร้านกาแฟอย่างจริงจังมากขึ้น ใส่ใจมากขึ้น โดยมีสูตรสำเร็จที่ฟังดูง่าย แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด นั่นก็คือ “ตั้งใจทำ… ทุกแก้วที่เสิร์ฟลูกค้าต้องดีที่สุด” แล้ว…คำว่า ดีที่สุดมันอยู่ตรงไหน? “กาแฟทุกแก้ว มันมีความตั้งใจอยู่ ลูกค้ากินจะรู้ว่า กาแฟแก้วนี้คนชงตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ” เป็นคำตอบที่ได้จากคำถามนี้

อีกหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจร้านกาแฟ ก็คือ “การเตรียมพร้อมและใจรักในงานบริการ” ต้องถามตัวเองให้ดีว่า พร้อมหรือเปล่าที่จะมาทำอาชีพนี้ การชงกาแฟวันละ 10-20 แก้ว บางครั้งเป็น 100 แก้ว ทุกวัน เป็นงานที่ซ้ำซาก หลายคนอาจเบื่อ หลายคนทำได้ บางคนทำไม่ได้ พร้อมหรือไม่ที่จะรับสภาวะนี้ การทำร้านกาแฟ ต้องใช้พลังเยอะ ทั้งพลังกาย พลังใจ พลังการครีเอท พลังในการดูแลร้าน ถามตัวเองให้ดีว่าพร้อมหรือเปล่า

“การมีอุปกรณ์ทันสมัยราคาแพง” แม้จะมีผลกับธุรกิจทั้งในเชิงคุณภาพของกาแฟ และในเชิงภาพลักษณ์ ที่ช่วยสร้างความรู้สึกของลูกค้าว่ากาแฟร้านนี้ต้องดี แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ยิ่งอุปกรณ์แพง คนชงก็ต้องมีทักษะที่ดีและเก่ง เพราะเครื่องยิ่งแพงยิ่งแสดงรสชาติของกาแฟได้ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะมีทุนซื้ออุปกรณ์ราคาเท่าไหร่ ก็เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะกาแฟ แต่ละประเภท แต่ละวิธีการชง ก็มีความแตกต่างในตัวของมันเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตั้งใจทำกาแฟออกมาให้ดีที่สุด และมีความอดทน จึงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับธุรกิจนี้

สำหรับเงินลงทุน คุณหมู บอกว่าขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน ถ้าร้านกึ่ง ๆ specialty ก็มี 2 ล้านบาท บางคนทุ่มทุนเป็น 10 ล้านบาทก็มี เพราะสมัยนี้ บาริสต้าร์ เก่งๆ ก็มีการซื้อตัวกันแล้ว การแข่งขันก็ถือว่ารุนแรง แต่เชื่อว่าถ้าตั้งใจ ก็ไปรอด

แล้ว….สำหรับคนที่ทุนน้อยล่ะ แถมยังไม่ชอบกินกาแฟ จะเปิดร้านกาแฟได้มั้ย???
จรัญญา จันทร์วงษ์ หรือ แพดดี้
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ ของคนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจร้านกาแฟ “จรัญญา จันทร์วงษ์” หรือ แพดดี้ เจ้าของร้านกาแฟ SimpleLife” ย่านพระราม 9 ที่เริ่มธุรกิจจากศูนย์ ทุนน้อย ไม่มี passion ไม่กินกาแฟ และมีงานประจำอยู่แล้ว……เอ๊ะ? ไม่มีอะไรเลยแบบนี้แล้วเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร???

คุณแพดดี้ เริ่มธุรกิจร้านกาแฟ จากความชอบของคุณพ่อ ทั้งที่ตัวเองไม่ชอบกินกาแฟด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อสานต่อธุรกิจที่คุณพ่อฝันไว้

อุปสรรคปัญหา ก็เหมือนร้านกาแฟทั่วไป คือ ไม่เป็นที่รู้จัก ชงกาแฟยังไม่ถูกปาก ไม่มีจุดขาย เพราะไม่เคยรู้เลยว่า “กาแฟและร้านกาแฟที่ดี เป็นอย่างไร” ขณะเดียวกันก็ต้องการรู้ว่า “เธอจะทำกาแฟที่ดีที่สุดได้แค่ไหน?” คุณแพดดี้ นำเอาความอยากรู้นี้ มาเป็น passion ขับเคลื่อนตัวเองให้ค้นคว้า ศึกษา ทดลอง และ ฝึกฝนพัฒนาตัวเองจนชำนาญ นำไปสู่การแข่งขันบาริสต้าร์ การเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าที่เข้าร้านกาแฟ เช่น การทำ late’art และโฟกัสไปที่การชงกาแฟ เพื่อให้ร้านของเธอเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึง โดยหวังว่าสักวันหนึ่ง ร้านของเธอจะเป็นที่รู้จัก และเป็นร้านแนะนำให้คอกาแฟตัวจริง ต้องมาชิมสักครั้ง

สิ่งที่คุณแพดดี้ สะท้อนให้กับคนที่กำลังอยากเข้ามาทำธุรกิจร้านกาแฟ ต้องตระหนักให้ดีก่อนที่จะเข้าสู่วงการนี้ ก็คือ อยากให้มองถึงเบื้องหลังความสำเร็จของแต่ละร้านว่า พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะมีวันนี้… ภาพที่สวยหรู ดูสบายที่หน้าร้าน แต่เบื้องหลังต้องเต็มไปด้วยความอดทน ฝึกฝน พัฒนาและตั้งใจ การมีใจรักอย่างเดียวอาจทำให้เปิดร้านได้ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจ และ อดทน ที่สำคัญต้องยอมรับให้ได้หากยอดขายไม่เป็นไปอย่างที่คิด…

การท้อแท้ ไม่ใช่คำตอบสำหรับเธอ เพราะสำหรับคุณแพดดี้ เธอเริ่มมาจากศูนย์ อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เริ่มมาจากระดับพื้นฐาน การพัฒนาตัวเองในทุกช่วงเวลาคือความรู้ ที่ทำให้เธอมีความชำนาญและเข้าใจในการใช้งานเครื่องมือแต่ละชนิดแม้จะมีความแตกต่างกัน

แม้จะมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกันสุดขั้ว ทั้ง Bottomless และ SimpleLife แต่กุญแจสำคัญที่ทำให้ทั้ง 2 ร้านประสบความสำเร็จ นั้นแทบไม่ต่างกัน นั่นก็คือ “ความตั้งใจ ที่จะทำกาแฟทุกๆ แก้วออกมาให้ดีที่สุด เพื่อลูกค้า” และถ้าทำอย่างนั้นได้แล้วละก็…เชื่อว่าความสำเร็จของธุรกิจกาแฟของคุณก็คงอยู่แค่เอื้อม

วันนี้ ธุรกิจร้านกาแฟ ยังคงมีความเซ็กซี่ น่าหลงใหล และหอมกรุ่นเหมือนกลิ่นกาแฟในถ้วยยามเช้า … สุดท้ายก็แค่ถามใจตัวเองว่า “พร้อมมั้ย ที่จะกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้”
Created with