อนาคตของงานหลังผ่านวิกฤต

In Summary

  • อนาคตของงานหลังผ่านวิกฤต บทความนี้เรียบเรียงจาก Shift Your View Live ตอนที่ 1
  • แขกรับเชิญ พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด
  • ผู้ดำเนินรายการ ชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ (เมย์)
“จารึกไว้ในประวัติศาสตร์แรงงานประเทศไทย ว่า ปี 2563 เป็นปีที่แรงงานตกงานมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากผลพวงวิกฤต Covid-19 ที่กระทบเศรษฐกิจไปทั่วทุกมุมโลก”

แม้ครึ่งแรกของปี 2563 จะเป็นช่วงเวลาที่น่าหดหู่ สำหรับแรงงานไทย ที่ต้อง​ “ระแวง” และ “ระวัง” “การเลิกจ้าง” หลังจากที่องค์กร นายจ้าง ห้างร้านต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม เอสเอ็มอี ต่างขาดสภาพคล่อง จนสายป่านที่มีเพียงน้อยนิดต้องขาดสะบั้น และ ปิดฉากลงด้วยการเลิกจ้างงาน รวมถึง ยุติกิจการในที่สุด

แต่เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป ก็เริ่มเห็นสัญญาณบวกกลับมา โดยเฉพาะในมุมของการจ้างงาน ซึ่งสะท้อนข้อมูลจาก คุณพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี​(ประเทศไทย)จำกัด (Jobs DB) ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ “SHiFT Your View” Ep.01 ทางเฟซบุ๊กSHiFT Your Future

ครึ่งปีแรกคนตกงานมากสุดเป็นประวัติการณ์

จ๊อบส์ ดีบี ได้ทำการสำรวจผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่ลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักสุดในประวัติศาสตร์ ส่ง ผลกระทบต่อการประกาศจ้างงานอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ที่รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการล็อคดาวน์ธุรกิจ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) พบว่า ยอดการลงประกาศจ้างงาน ลดลงไปกว่า 36% เพราะธุรกิจต่างวิตกกังวลกับการลุกลามของเชื้อไวรัส ที่ส่งผลกับสุขภาพ และ เศรษฐกิจ

แต่สัญญาณเริ่มดีขึ้นในเดือน พ.ค.-มิ.ย. หลังจากภาครัฐ เริ่มควบคุมการแพร่ระบาดได้ และประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มมีความมั่นใจ และเข้าใจในสถานการณ์มากขึ้น จนกลับมาดำเนินกิจการต่อได้อีกครั้ง สะท้อนได้จากตัวเลขการประกาศจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า

วิกฤตครั้งนี้ หนักหนากว่า “ต้มยำกุ้ง”

แน่นอนว่า วิกฤตครั้งนี้ จะรุนแรงกว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เนื่องจากช่วงนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกระทบเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก การค้าต่างประเทศ และการลงทุน เป็นบางกลุ่มธุรกิจเท่านั้น  แต่สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 เรียกได้ว่า “ลุกลาม” ไปทั่วโลก ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า ธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก โดนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะรายเล็ก สายป่านสั้น กระทบหนักสุด สภาพคล่องไม่พอ สุดท้ายก็จบที่การเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่วนรายกลาง มีสายป่านยาวหน่อยก็พอทนได้ แต่จะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับเครดิตและเงินทุนในกระเป๋า สะท้อนภาพชัดว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ รุนแรงและลงลึกกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

หากจะเปรียบเทียบระหว่าง วิกฤตครั้งนี้กับต้มยำกุ้ง คงเปรียบเทียบกันได้ลำบาก เพราะหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่ถ้าจะให้พูดง่าย ๆ ก็คือวิกฤตครั้งนี้กระทบในวงกว้างมากกว่า โดยเฉพาะมุมของการจ้างงาน ที่พบว่า ผู้ประกอบการ มีการ “เลิกจ้าง” พนักงาน คิดเป็นสัดส่วน 9% ของแรงงานในระบบที่มีอยู่กว่า 38 ล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อย่างเช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม และ ธุรกิจสายการบิน

แนวโน้มการจ้างงานครึ่งปีหลัง

เมื่อรัฐบาลคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ได้สำเร็จ และเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ให้ธุรกิจกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง ก็เริ่มเห็นสัญญาณการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดย 88% ขององค์กรธุรกิจ ที่ จ๊อบส์ ดีบี ได้ทำการสำรวจความเห็นกว่า 400 องค์กร ยืนยันหนักแน่นว่า ครึ่งปีหลัง จะกลับมาจ้างงานอีกครั้ง สะท้อนความมั่นใจในเศรษฐกิจที่จะเดินต่อไปได้  ประกอบกับ ประสบการณ์ที่คนไทยได้เรียนรู้การรับมือกับโควิด-19 มาแล้ว ก็เชื่อว่า แม้จะเกิดการระบาดรอบ 2 ก็จะไม่กระทบรุนแรงเท่ากับรอบแรก เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาได้สอนให้คนปรับตัวพร้อมรับมือแล้ว 

เมื่อ “ตกงาน” กะทันหัน ต้องทำอย่างไร?
  1. “ตั้งสติ” อย่าตกใจ ตื่นตระหนกจนเกินไป
  2. เช็ครายละเอียด เงินชดเชยจากบริษัทว่า มีชดเชยให้ได้เท่าไหร่
  3. เช็คกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ เงินประกันสังคม
  4. รีบหางานใหม่ ต้องอัพเดท Resume ให้เป็นปัจจุบัน แล้วฝากไว้ที่เว็บไซต์จัดหางาน หรือ สำนักงานจัดหางาน
  5. ระหว่างรองานใหม่ ให้หาเวลาพักผ่อน หรือ เพิ่มทักษะให้กับตัวเอง เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการได้งาน



ใครบ้างที่เสี่ยงจะตกงาน?
  1. ทำงานในธุรกิจที่ไม่ปรับตัว หรือ ตามไม่ทันกระแสโลก ตกเทรนด์
  2. ระหว่างที่ทำงาน ไม่มีการพัฒนาทักษะความสามารถอื่น ๆ เช่น ภาษา , เทคโนโลยี หากไม่พัฒนาทักษะเหล่านี้ ก็เสี่ยงที่จะตกงาน หรือ หางานใหม่ไม่ได้


เคล็ด(ไม่)ลับ ทำอย่างไรไม่ให้ตกงาน?   

  1. ในระหว่างที่มีงานทำ ต้องเร่งฝึกภาษา ฝึกทักษะด้านออนไลน์ และการใช้เทคโนโลยี เพราะถึงแม้จะตกงาน ก็ยังมีโอกาสได้งานใหม่สูงกว่า เรียกว่ามีลู่ทางมากกว่าคนที่ไม่มีทักษะเหล่านี้  เนื่องจากในอนาคต ภาษา และ เทคโนโลยี จะเข้าไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรม และจะยิ่งมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ
  2. ฝึกทักษะตามความสนใจของตัวเอง แต่ต้องดูให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย


คำแนะนำ ระยะสั้น

สำหรับคนที่ตกงาน อาจเพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้านออนไลน์ ด้านการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรือไม่ก็ทดลองขายของออนไลน์ ดูวิธีการนำสินค้าไปสู่กลุ่มลูกค้าได้หรือไม่ หากมีทักษะเหล่านี้ บางทีก็ไม่จำเป็นต้องหางานทำก็ได้ เพราะสามารถที่จะประกอบธุรกิจของตัวเองได้เลย

"“คนที่อยู่รอดได้ ไม่ใช่คนที่อยู่ในองค์กรใหญ่ หากแต่เป็นคนที่ปรับตัวได้ และอยู่ในองค์กรที่ปรับตัวตามเทรนด์ได้ทัน”

 - พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี​(ประเทศไทย)จำกัด

 
งาน “ไอที” ยังฮอตฮิตติดลมบนต่อเนื่อง

จ๊อบส์ ดีบี ยังได้เปิด 5 เทรนด์อาชีพที่มาแรง และมีความต้องการมากที่สุดในตลาดแรงงานขณะนี้  

อันดับ 1 ยังคงครองแชมป์ต่อเนื่อง คือ งานด้าน IT เช่น นักพัฒนาแอปพลิเคชั่น , นักพัฒนาเว็บไซต์ , SEO Specialist หรือแม้แต่งานการทำตลาดออนไลน์ เรียกได้ว่ามาแรงที่สุดต่อเนื่องกันมาหลายปี

อันดับ 2 งานด้านการตลาด , งานประชาสัมพันธ์​

อันดับ 3 งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ

อันดับ 4 ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร

อันดับ 5 งานจัดซื้อ จัดจ้าง

คนหางานก็มาก คนจ้างก็พอมี อย่างนี้จะทำอย่างไรให้ได้งาน???

            สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการเขียน Resume ต้องกระชับ และ สะอาดตา เพราะ HR ต้องอ่านResume ของผู้สมัครงานจำนวนมาก หากเขียนได้กระชับ สะอาดตา และ ตรงเป้า ก็จะดึงความสนใจได้มากขึ้น    ที่สำคัญ ใน Resume จะต้องระบุช่องทางติดต่อให้ชัดเจน และเป็นปัจจุบันที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล์, ทั้งหมดจะต้องติดต่อได้ เพราะหากนายจ้างสนใจจะจ้างงาน แต่ดันติดต่อไม่ได้ ก็พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย และสุดท้ายคือการระบุ Profile การทำงานของตัวเอง ต้องเขียนให้ชัดว่า “ผลงานที่เคยทำผ่านมามีอะไรโดดเด่นบ้าง” “ความสำเร็จในการทำงานที่ผ่านมามีอะไรบ้าง” และต้องดูว่า บริษัทที่เราไปสมัครงาน ต้องการคนที่มีคุณสมบัติอย่างไร และกรอกคุณสมบัติของเราให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการได้งานมากขึ้น

ยังพอมีที่ให้ “นักศึกษาจบใหม่” อยู่มั้ย?

            แม้ว่า 88% ขององค์กรนายจ้างจะยืนยันว่า ครึ่งปีหลังจะกลับมาจ้างงานอีกครั้ง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นโอกาสของเด็กจบใหม่ เสมอไป เพราะโดยเฉลี่ยแล้วเด็กจบใหม่ราว 20-30% จะไม่ได้งานในทันที และ ยิ่งวิกฤตแบบนี้ โอกาสที่เด็กจบใหม่ จะตกงาน ก็ยิ่งมีสูงขึ้น และแนวโน้มชัดเจนว่าเด็กจบใหม่ จะตกงานมากกว่า 30% แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของจ๊อบส์ ดีบี พบว่า ยังมีผู้ประกอบการอย่างน้อย 53% จาก 400 องค์กรที่มีการสำรวจ บอกว่าจะเปิดโอกาสรับเด็กจบใหม่ เข้าทำงาน ก็ยังถือว่ามีโอกาสอยู่ไม่น้อย แน่นอน…คนที่มีโอกาสมากที่สุดคือคนที่ ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี มีทัศนคติที่ดี เคล็ดลับคือ เวลาสอบสัมภาษณ์ ขอให้ตอบด้วยความมั่นใจ และต้องมีความรู้ในสิ่งที่ร่ำเรียนมา

ไทยติดอันดับ 1 กังวลเรื่องความมั่นคงทางอาชีพ

            ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่ได้จากการพูดคุยกับคุณพรลัดดา ในวันนี้คือ ผลการสำรวจปัจจัยดึงดูดคนเข้ามาทำงาน ที่พบว่า คนในแต่ละ Gen จะมีความต้องการทำงานกับบริษัทที่แตกต่างกัน นั่นหมายความว่า ไม่ใช่แค่บริษัทเท่านั้นที่จะเลือกคนทำงาน แต่คนสมัยนี้ก็เลือกบริษัทที่จะเข้าทำงานด้วยเช่นเดียวกันว่าตรงกับความต้องการของตนเองหรือไม่ และแน่นอนค่าตอบแทน ต้องตรงใจ ซึ่งเป็นปัจจัยอันดับ 1 ที่จะเลือกเข้าทำงาน  ตามมาด้วยปัจจัยด้านความมั่นคงทางอาชีพ ที่น่าสนใจก็คือ คนไทยในปัจจุบัน กังวลเรื่องความมั่นคงทางอาชีพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจนถึงขั้นติดอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกลุ่มประเทศที่ประชากรมีความกังวลด้านความมั่นคงทางอาชีพมากที่สุด…

เสนอรัฐเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ธุรกิจที่จ้างงานเพิ่ม

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะเป็นตัวบ่งชี้ ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ เพราะถ้าเศรษฐกิจดี ธุรกิจขยายกิจการ การจ้างงานก็เพิ่ม ผันแปรตามกันไป  แต่หากตำแหน่งงานขณะนี้ไม่พอรองรับ ก็อาจต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับองค์กรธุรกิจที่มีการจ้างงานเพิ่ม ก็จะดีไม่น้อย  

จะไม่มีคำว่า “ตกงาน” สำหรับคนที่ “ไม่เลือกงาน”
Created with