สร้างธุรกิจอายุยืน 100 ปี ด้วยวิธีคิดแบบริเน็น (Rinen)

In Summary
  • สร้างธุรกิจอายุ 100 ปี ด้วยวิธีคิดแบบริเน็น บทความนี้เรียบเรียงจาก SHiFT Your Future Live วิชาที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ตอนที่ 4
  • แขกรับเชิญ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญและผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น’
  • ผู้ดำเนินรายการ วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม บรรณาธิการที่ปรึกษา SHiFT Your Future
ริเน็น คืออะไร ?
พูดง่ายๆก็คือ ‘Business philosophy’ หรือ ‘ปรัชญาธุรกิจ’ หรือสิ่งที่ผู้ประกอบการเชื่อว่า ธุรกิจของเรามีคุณค่ายังไง ทำธุรกิจไปเพื่ออะไร เป็นคำถามสั้นๆง่าย แต่เป็นคำถามที่ผู้ประกอบการควรตอบได้  

ถ้าเป็นฝั่งตะวันตก เราจะเห็นได้ว่า เขาให้ความสำคัญกับเรื่อง Mission Vision ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับริเน็น แต่ริเน็นจะจับหลักที่กว้างกว่า  เพราะใต้ร่มของ Rinen จะมี Vision  Mission  Value  Credo หรือความเชื่อของบริษัท

พูดง่ายๆ ว่า ตัวโครงสร้างไม่ต่าง แต่สิ่งที่องค์กรญี่ปุ่นทำได้ดีและยั่งยืน ก็เพราะว่าเขาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการถ่ายทอด Rinen ออกไป หลายบริษัทมี Mission Vision เอาไว้ประดับข้างฝา เอาไว้ให้พนักงานท่อง ทำข้อสอบ ท่องได้หรือไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลที่จะไปฝึกอบรมหรือสื่อสาร  แต่องค์กรญี่ปุ่นที่ดี แค่พนักงานจะหยิบจานมาทานข้าว แค่จะไปเจอลูกค้า ทุกโมเมนต์เขาจะสำเหนียกได้ว่า เขาทำไปเพื่ออะไร

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของวัฒนธรรมใดๆ เพราะเมืองไทยก็เริ่มจะเป็นอย่างนั้น

หลายๆ ธุรกิจเช่น บาร์บีคิวพลาซ่า หรือบริษัทฟู้ดส์แพชชั่น ก็เริ่มคุยกันว่า เขาจะส่งความสุขให้ผู้คนผ่านอาหาร ดังนั้นขนาดคนขับรถส่งหมูของฟู้ดส์แพชชั่น บาร์บีคิวพลาซ่า ยังต้องรู้เลยว่าตัวเองกำลังส่งหมู เพื่อไปให้คนมีความสุขในการทานหมูกระทะ สิ่งเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย แต่อาจจะไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก

ส่วนตัวคิดว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปจนถึงจุดที่ ทุกคนทำหมูกระทะได้ และรสชาติก็หมักออกมาได้พอกันหมดแหละ แต่ถามว่ามีอะไรที่แตกต่างยิ่งกว่านั้นไหม? คำตอบคือ ‘Emotion’ หรือในแง่ ‘จิตวิญญาณ’ ที่ผู้บริโภคเขาสามารถรับรู้ได้ว่า ถ้ากินหมูกระทะเจ้านี้เขาอยากให้เรามีความสุขผ่านหมูที่ร่าเริง เราก็ไปกินบาร์บีคิวเจ้านี้ อีกเจ้าหนึ่งบอกว่า ฉันอินเรื่องสุขภาพมาก บาร์บีคิวจะต้องแคลอรี่ต่ำ เพื่อให้ทุกคนได้ทานและไม่มีทางอ้วนไปตลอดชีวิต เพราะเจ้าของเป็นคนที่รักษาสุขภาพมาก ทั้งหมดมันอาจจะเป็นเรื่องราวของเจ้าของเอง เรื่องราวของพนักงานเรื่องราวขององค์กร มันเลยมีส่วนเข้ามาเสริมตัวการตลาดของโปรดักต์ว่า ทำไมเป็นเหตุผลต้องมาทานหมูกระทะร้านนี้

ผู้คน วัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น กับ ริเน็น
จริงๆคนญี่ปุ่นเป็นคนที่คิดถึงคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ เพราะคนญี่ปุ่นมี ‘หลัก 3 ประโยชน์’ หรือ ‘หลัก 3 ได้’  ซึ่งพูดมา 400 ปีแล้ว

1. บริษัทต้องได้เวลาทำธุรกิจ
2. ลูกค้าต้องได้ สินค้าดีๆและบริการดีๆ
3. สังคมต้องได้

สิ่งเหล่านี้ เป็นหลักการของพ่อค้าญี่ปุ่น เมื่อ 400 ปี ซึ่งถ้าจะเทียบยุคสมัย ก็เท่ากับสมัยอยุธยาของไทย ในเวลานั้น เมื่อพ่อค้าชาวญี่ปุ่นจะไปค้าขายที่เมืองไหน เขาจะมีหลักว่าต้องทำให้สังคมยั่งยืนและรุ่งเรืองด้วย แม้แต่นักธุรกิจญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ ก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ เช่น  ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย เอกชนชื่อดังของญี่ปุ่นคือ เคโอ เคยกล่าวว่า เขาได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะอยากให้ญี่ปุ่นมีความรู้ทัดเทียมตะวันตก อยากสร้างสังคมและการศึกษาที่ดี นี่คือการคิดที่สะท้อนว่า ทุกคนเห็นคุณค่าธุรกิจของตัวเองว่า ทำไปเพื่ออะไร ประเด็นนี้ อาจจะเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกของญี่ปุ่น

ถามว่าอะไรที่ทำให้วัฒนธรรมของญี่ปุ่นเป็นคนแบบนั้น? เหตุผลส่วนหนึ่งคือ เพราะว่าประเทศญี่ปุ่นประสบกับภัยพิบัติบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะสึนามิถล่มเกาะ แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฯลฯ ทำให้เขาเผชิญกับความไม่แน่นอนมาโดยตลอด  มันเลยสร้างนิสัยให้คนญี่ปุ่นคิดถึงคนอื่นได้ง่ายกว่าวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ  และสิ่งเหล่านั้นก็ค่อยๆ หล่อหลอมให้กลายมาเป็นปรัชญาการทำธุรกิจ

ทำไมธุรกิจถึงต้องมีปรัชญา? ทำไมต้องมีความเชื่อ? คำตอบคือ การที่เรามีปรัชญาในการทำธุรกิจ มันจะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าเราควรหรือไม่ควรจะทำอะไร เช่น ร้านออโตย่า (Ootoya) ที่ญี่ปุ่นต้องปิดสาขาชั่วคราวในช่วงโควิด เขามีทางเลือกที่จะทำเดลิเวอรี่หลายๆ อย่าง หรืออาจจะทำอาหารแช่แข็งก็ได้ เพื่อให้ร้านเขาอยู่รอด

แต่ออโตย่าตัดสินใจไม่ทำ…เพราะแก่นการทำธุรกิจของเขาคือ การทำให้ลูกค้าได้ทานอาหารปรุงสุก สด ราคาย่อมเยา เขาจะทำอาหารแช่แข็งในเวลานี้ก็ได้ เพราะมันก็ทานได้ง่ายๆ แต่การทำแบบนั้น มันไม่ตรงกับปรัชญาของเขานั่นเอง นั่นหมายความว่า เมื่อเรามีปรัชญาทางธุรกิจ มันจะมีแก่นให้เรายึดได้ว่า ทำไมเราถึงไม่ควรทำสิ่งนี้

แล้วทำไมออโตย่า ต้องซีเรียส อย่าลืมว่าเขาสร้างแบรนด์มาตลอดว่าเป็น ‘Home Cooking Restuarant’ ทำอาหารราคาไม่แพง เป็นที่พึ่งพิงของมนุษย์เงินเดือน ที่ไม่มีเวลาทำกับข้าวที่บ้าน ถ้าเมื่อไหร่ที่เขาทำอาหารที่ไม่ปรุงสุกค่ะ มันจะทำให้แบรนด์ของเขาค่อยๆหายไป สุดท้ายแล้ว ความเป็นตัวตนก็จะไม่ชัด พอผ่านไป 5 ปี 10 ปี ก็เป็นไปได้ว่า คนจะเริ่มไม่เข้าใจว่าออโตย่า คือร้านอะไร

แก่นการทำธุรกิจ มันจะสะท้อนความเชื่อของเขาเอง เมื่อไหร่ที่เรามีความเชื่อ เราจะอยากทำสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ หรือภาษาการตลาด จะเรียกว่ามีความเป็น ‘Brand Consistency’ ความสม่ำเสมอในการทำแบรนด์  ในการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเข้าใจและจดจำเราได้ง่ายกว่า

บริษัทที่อยู่ได้ยาวนาน เขามีวิธีคิด วิธีทำอย่างไร
ตัวอย่างที่จะเล่า เป็นบริษัทอายุ 72 ปี และมีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นบริษัทที่อยู่ได้ยาวนาน

บริษัทดังกล่าว ชื่อว่า ‘เซนริน (Zenrin)’ เดิมทีบริษัทนี้เขาทำแผ่นพับท่องเที่ยวในเมืองเบบปุ (Beppu) มีฟังก์ชั่นแผนที่เแนบใน Guide Book  ปรากฏว่าเป็นที่นิยมมาก เพราะคนใช้แผนที่หาออนเซน (Onsen) เขาก็เลยทำแผนที่ขายมาเรื่อยๆ

ต่อมา เซนรินเริ่มส่งคนไปทำแผนที่เพื่อสำรวจว่า บ้านคนอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วจะมีชื่อทุกคนหมดเลย จากนั้นก็ลองทำส่งขายอำเภอ สำนักงานเขต  พอขายได้เมืองหนึ่งก็เริ่มขยายไปขายในเมืองอื่น จนในที่สุดก็ขายทั่วประเทศญี่ปุ่น ในที่สุด วันที่ Google เข้าไปทำแผนที่ในเมือง ก็เลยทำสัญญากับเซนริน เพราะแผนที่ญี่ปุ่นจัดว่าสุดยอดและละเอียดมาก
ริเน็นของบริษัททำแผนที่คืออะไร
ถ้ามองกลับไปที่ Rinen ของบริษัทเซนริน เขาจะมีการพูดไว้ชัดเจนว่า ฉันไม่ได้เป็นแค่บริษัทแผนที่…แต่ฉันกำลังช่วยเหลือชีวิตผู้คน ด้วยการสร้างข้อมูลทางความรู้ เวลาและสถานที่  ปัจจุบันเซนริ มีพนักงาน 2,000 คน ยอดขาย 60,000 ล้านเยน หรือ 20,000 ล้านบาท

ถามว่าเขาช่วยเหลือผู้คนทางเวลา สถานที่ได้ยังไง? คำตอบคือ เวลาเกิดภัยพิบัติ เขาจะขายข้อมูลนี้ให้กับทางเขต ทางอำเภอ ทำให้เข้าไปช่วยเหลือคนที่ติดภัยสึนามิ ติดแผ่นดินไหวได้อย่างสะดวก และนอกจากนี้เขาลิงก์ข้อมูลแผนที่ กับระบบ Salesforce ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานขายเวลาไปเยี่ยมลูกค้า ให้สามารถกรอกข้อมูลลูกค้าเพื่อดูว่าใครบ้างที่เขาจะซื้อหรือไม่ซื้อ และล่าสุดทำวาดแผนที่อากาศ ส่งโดรนขึ้นไปสำรวจอากาศ และพยายามทำแผนที่ท้องฟ้า คือไม่เคยหยุดการพัฒนาและใช้คุณค่าของแผนที่ได้อย่างเต็มที่

บริษัทญี่ปุ่น เลือกคนที่ริเน็นตรงกัน ไม่ใช่มาสอนทีหลัง
สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้และเห็นได้ชัดก็คือ บริษัทญี่ปุ่นจะรับพนักงานเข้ามาจากการมีความเชื่อ หรือ Rinen ที่ตรงกัน  ไม่ใช่ค่อยมาสอน Rinen ของบริษัททีหลัง นั่นแปลว่า ฉันเป็นบริษัทที่มี Rinen แบบนี้ เธออินไหม ถ้าอินก็สัมภาษณ์ต่อ หรือคุยกันแล้วรู้สึกว่าคนนี้ ไม่ใช่ ไม่ได้ดูอินกับ Rinen เขาก็จะไม่รับไปเลย

เช่น กรณีที่เกิดขึ้นจริงคือ นักศึกษาปริญญาตรีจบใหม่ อยากเข้าไปทำงานที่ ยูนิโคล (Uniqlo) ให้ได้ เพราะเขาเชื่อว่า “แฟชั่นจะเปลี่ยนโลกได้” เพราะตอนนั้น Mission ของยูนิโคล คือ ‘Lifeware’ คือ เสื้อผ้าที่เปลี่ยนชีวิตคน ทำให้คนทั่วโลกมีเสื้อผ้าที่คุณภาพดีไว้สวมใส่ สุดท้ายเมื่อเขามี Rinen ที่ตรงกับยูนิโคล เขาก็ได้ไปทำงานกับยูนิโคลเลย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ ผู้ประกอบการหลายๆท่าน  ยังไม่รู้ว่าตัวเองทำธุรกิจไปเพื่ออะไร เพราะเขาจะคุยแต่การเพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน แต่ไม่ได้คุยกันว่าจริงๆ จะทำธุรกิจไปเพื่ออะไร วิธีการคือ เขาต้องสื่อสาร Rinen เยอะมาก ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น มีอาชีพหนึ่งที่ญี่ปุ่นเรียกว่า ‘นักเล่านิทาน’ หรือ ‘Storyteller’ เวลามีการเปิดโรงงานใหม่ เขาจะส่งทีมนักเล่านิทานไปเล่า Rinen ให้พนักงานทุกคนเข้าใจ CEO ของบริษัทจะต้องท่อง Rinen ทุกเช้า พนักงานทุกคนต้องมีสมุดจดปรัชญาของบริษัทถือติดตัวไว้ บางบริษัทหัวหน้าจะเช็ค ให้ลูกน้องเขียนเรียงความเลยว่าภายในเดือนนั้นได้ทำอะไรที่ตรงกับริ Rinen ของบริษัทหรือยัง  

ริเน็นเกิดขึ้นได้ ถ้าพนักงานคิดและเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ
บางท่านบอกว่าไม่ใช่เจ้าของธุรกิจ แล้วจะมี Rinen ได้ยังไง? เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยตรงกับอาจารย์เกตุ  เพราะเคยถูกตั้งเป้าให้ทำโปรเจกต์เรียนออนไลน์ให้คณะ เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา ซึ่งในตอนแรกฟังแล้วมันเท่ดี เข้าใจ ก็ก้มหน้าก้มตาทำออนไลน์ไปเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่เป็นคน low tech มาก เลยรู้สึกไม่สนุกอย่างรุนแรงกับโปรเจกต์นี้

แต่พอทำได้ประมาณ 6 เดือน มี user ท่านหนึ่ง inbox เข้ามาในเพจ บอกว่า ขอบคุณมากที่คณะพาณิชยศาสตร์และบัญชีทำโครงการนี้ เพราะว่าเขาเป็นผู้สอนอยู่ที่สหกรณ์การเกษตรที่ดอยอ่างขางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทุกครั้งเวลาที่เขาลงดอยมา เขาก็จะมาเรียนแล้วก็เอาความรู้กลับไปสอนชาวดอย แล้วเขาก็ส่งรูป PowerPoint ที่เขาทำมาให้ดู

อาจารย์เกตุบอกว่า “นั่นคือครั้งแรก ที่รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างเสียบเข้าไปในหัวใจ แล้วบอกเราว่า นี่ไงมันคือการลดช่องว่างทางการศึกษา”  ดังนั้น มันไม่แปลกที่พนักงานรู้สึกว่าทำไมเหมือนจะเข้าใจแต่ยังไม่เข้าใจว่าทำไปเพราะอะไร เพราะมันยังไม่เข้าไปถึงหัวใจ การจะเข้าไปถึงหัวใจได้ มันต้องมีประสบการณ์ ต้องมีการฝึกให้พนักงานคิด และตระหนักว่า ตกลงเรายังอยู่ใน Rinen ของเราหรือเปล่า

การปรับใช้ริเน็นให้เป็นรูปธรรม
ในกรณีที่บริษัทยังไม่มี Rinen และท่านเป็นผู้ประกอบการ หรือผู้บริหารระดับสูง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ หาก่อนว่า ธุรกิจเราเกิดมาเพื่ออะไร ? คุณค่าของธุรกิจเราคืออะไร ? อย่างเช่น บริษัทแผนที่บอกว่าจะช่วยทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น ด้วยการสร้างข้อมูลให้ หรือบริษัทเครื่องเขียน อยากให้คนทำงานและเรียนหนังสือได้ดีขึ้น คือ ไม่ได้บอกว่าฉันขายปากกานะ แต่ฉันอยากให้คุณเรียนหรือทำงานได้ดีขึ้นด้วยการใช้เครื่องเขียนของฉัน

หรือคนทำนิตยสารแฟชั่นผู้หญิง ตอนนี้ไม่มีใครซื้อนิตยสารแล้ว เราจะปิดบริษัทมั้ย ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะหน้าที่เราคือช่วยให้ผู้หญิงแต่งตัวได้อย่างมั่นใจมากขึ้น นั่นคือคุณค่าของเรา ดังนั้นเราจะทำยังไงที่จะทำให้ความรู้เข้าถึงกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ เอ๊ะ! ไปทำเว็บมั้ย ไปทำสัมมนาหรือทำไลฟ์ไหม คิดแบบนี้ มันจะทำให้เราไม่ยึดติดกับฟอร์มแบบเดิมๆ

เพราะความน่ากลัวของพวกเราคือ เวลาที่เราทำงานไปเรื่อยๆ เราจะชินกับอะไรเดิมๆ มันเหมือนอยู่ใน Comfort Zone ถ้าเรากลับไปทบทวนหรือเห็นคุณค่า Rinen ทุกๆวัน มันจะทำให้เรามีโอกาสที่จะเห็นวิกฤติ เห็นโอกาสก่อนคนอื่น แล้วปรับตัวได้เร็วกว่าคนอื่นด้วย

สุดท้าย ไม่ว่าจะองค์กรใดก็ตาม ถ้าตั้งใจรักษาแก่นของตัวเองได้  องค์กรนั้นก็จะเป็นองค์กรที่มีริเน็นที่แข็งแรง ไม่ทำอะไรผิดทิศทาง หรือไม่เป๋ ยกตัวอย่าง เมื่อ 150 ปีที่แล้วในญี่ปุ่น  มีร้านนาฬิการ้านหนึ่ง เขาขายนาฬิกาไปแล้วบังเอิญ นาฬิกามันเสีย  แต่มันไม่ใช่ความผิดของร้านนาฬิกานั้นเลย เพราะเขารับมาจากบริษัทผู้ผลิตอีกที แต่เจ้าของร้านก็อุตส่าห์นั่งรถเดินทางไปประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อไปเปลี่ยนนาฬิกาให้ลูกค้า แล้วกราบขอโทษ อันนี้คือการแสดงความซื่อสัตย์จริงใจกับลูกค้าอย่างสูง เพราะเขาถือว่า เขาพูดมาตลอดว่า เราต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า ดังนั้น พอเกิดปัญหาขึ้น เราสามารถทำแบบที่เราพูดได้มากน้อยแค่ไหน นั่นต่างหากที่เป็นหลักจริงๆ  Rinen จะเขียนอะไรก็ได้  แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เรารักษามันได้มากน้อยแค่ไหน ทำอย่างที่พูดได้ไหม

คำถามบางส่วนจากทางบ้าน
ถ้าในอนาคตทุกบริษัท เน้น Rinen สร้างคุณค่าให้กับพนักงานและสังคม แทนที่จะโฟกัสผลกำไร ทำให้พนักงานรู้สึกเติมเต็มจากงานที่ทำ เงินและระบบทุนนิยมจะมีบทบาทน้อยลงกับคนในสังคมไหม และสังคมจะมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นไหม?

ถ้าทุกบริษัทมีริเน็นเหมือนกัน ข้อดีคือ เขาจะไม่แข่งกันโดยตรง เพราะความเชื่อต่างกัน  พูดง่ายๆว่า ขายของเหมือนกันได้ แต่ความเชื่อต่างกัน รูปแบบสินค้าก็จะต่างกันไปเอง เช่น บริษัทเครื่องเขียนของ Kokuyo บอกว่า “ช่วยคนทำงาน และเรียนหนังสือให้ดีขึ้น” จดโน้ตแล้วสอบมหาวิทยาลัยได้ที่ 1  ส่วน Midori ทำกระดาษเพนกวินดุ๊กดิ๊กน่ารักๆ บอกว่า “อยากให้คนมีเครื่องเขียนดีๆ มีดีไซน์” จะเห็นว่าบริษัทนี้สินค้าต่างกัน Rinen ต่าง กลุ่มลูกค้าก็ต่างกันอีก  

ส่วนประเด็นว่า ระบบทุนนิยมสังคมจะเท่าเทียมกันมากขึ้นไหม? ความเท่าเทียมเกิดจากโครงสร้างสังคมที่กระจายอำนาจอย่างยุติธรรม  เช่น  จ้างพนักงานอย่างเป็นธรรม ถ้าเราดูกันจริงๆ เงินเดือนพนักงานกับผู้บริหารสูงสุด ในอเมริกาต่างกัน 30 เท่า  แต่ในญี่ปุ่นต่างกัน 7 เท่า ถ้าเราเอาเงินนั้นมากระจายให้พนักงาน หรือตอบแทนลูกค้า มันจะเป็นทุนนิยมที่น่ารัก ที่มีหัวใจมากขึ้น

ส่วนระบบทุนนิยมจะมีบทบาทน้อยลง กับคนในสังคมมากไหม? คิดว่า ทุนนิยมก็ยังสำคัญ แต่จะทำให้เกิดการกระจาย ทรัพยากรได้ดีขึ้น จ้างงานเป็นธรรมมากขึ้นเท่าเทียมมากขึ้น


คอร์สออนไลน์กับ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ “Marumura” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดอย่างยั่งยืน การตลาดสไตล์ญี่ปุ่น และการพัฒนาสินค้าจาก Insight ของผู้บริโภค และยังมีผลงานเขียนหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจและแรงบันดาลใจของคนญี่ปุ่นมากมาย

สิ่งที่คุณจะได้จากการเรียนคอร์สนี้

  • เรียนรู้ปรัชญาการสร้างธุรกิจแบบ Rinen เพื่อวางรากฐานธุรกิจ 100 ปี
  • ต่อยอดนำปรัชญา Rinen เพื่อไปปรับใช้กับองค์กรได้
  • กำหนด Mission, Vision, Value ขององค์กรให้สอดคล้องกับ Rinen
  • เรียนรู้การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และความสัมพันธ์อันดีภายในด้วย Rinen
  • สร้างพื้นฐานการบริหารธุรกิจที่ยั่งยืนทั้งอายุองค์กรและผลกำไร
  • เรียนรู้วิธีการคัดเลือกพนักงาน หรือผู้ถือหุ้นที่มีเข้ากับ Rinen ขององค์กร


ดูรายละเอียดคอร์สทั้งหมดเพิ่มเติม คลิก
Created with