Start Dee : EdTech เพื่อสังคม ยกระดับการศึกษาเด็กไทย ความท้าทายที่ต้องหาคำตอบ

In Summary
  • Start Dee : EdTech เพื่อสังคม ยกระดับการศึกษาเด็กไทย ความท้าทายที่ต้องหาคำตอบ  บทความนี้เรียบเรียงจาก SHiFT Your Future Live วิชาที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ตอนที่ 6
  • แขกรับเชิญ ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ ซีอีโอ ผู้ก่อตั้งธุรกิจด้านการศึกษา (EdTech) ภายใต้ชื่อ “Start Dee”
  • ผู้ดำเนินรายการ วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม บรรณาธิการที่ปรึกษา SHiFT Your Future 
บทบาทใหม่ของ “ไอติม” จาก “นักการเมืองรุ่นใหม่” สู่ “สตาร์ทอัพ” ด้านการศึกษา
จุดเริ่มต้นของ Start Dee เกิดขึ้นหลังจาก “ไอติม” เลือกเดินออกจากวงการการเมือง แล้วหันมาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยมีหลักคิดในการเลือกอาชีพ 2 หลักใหญ่ ๆ คือ

1. จุดไหนที่อยู่แล้วสามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้
2. ตรงไหนที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ

สุดท้ายคำตอบที่ได้คือการทำสตาร์ทอัพด้านการศึกษา เพื่อสังคม  

PainPoint สำคัญที่อยากเข้ามาแก้ไขปัญหาของการศึกษาไทย

จุดสำคัญคือการเริ่มดูว่าจะแก้ปัญหาอะไร ซึ่งมองว่า การศึกษาเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาคือการทำให้การศึกษาของไทยสามารถเข้าถึงคนทั้งประเทศได้มากขึ้น

ที่น่าสนใจคือ “EdTech มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจัยที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องของการศึกษามากขึ้น”

“ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ

วิธีหาพาร์ทเนอร์ผู้ร่วมงาน ของ Start Dee เหมือนหรือต่างกับสตาร์ทอัพทั่วไป


ปกติแล้วการหาพาร์ทเนอร์ผู้ร่วมงานของสตาร์ทอัพมักจะประกอบได้ด้วยคนที่มีความถนัดใน 3 ส่วนหลัก คือ เทคโนโลยี (Tech) , การเงิน (Finance) และ การตลาด (Marketing) แต่ในมุมของ “ไอติม” มีแนวทางการคัดเลือกพาร์ทเนอร์​โดยการดู

1. ดูแผนธุรกิจว่าต้องใช้คนด้านไหน
2. ดูว่าเราไม่ถนัดงานด้านไหน แล้วหาคนที่ถนัดมาเติมเต็ม

ในมุมของ Start Dee ซึ่งเป็นธุรกิจด้านการศึกษา แล้วในส่วนตัวมีความสนใจด้านการศึกษาแต่ต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญมาก ๆ มาดูแลด้านนี้ ดังนั้นองค์ประกอบของ Start Dee จึงมี 3 ส่วนหลัก คือ

1. ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ มาดูแลเนื้อหาที่เป็นธุรกิจหลัก
2. ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด   
3. ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล มาดูกระบวนการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นบุคคลากรในบริษัท

โดยการคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน จะดูจากงานที่ทำล่าสุดว่า คน ๆ นั้นทำอะไรอยู่ มีทักษะอะไรมาบ้าง ซึ่งผลการศึกษาและระดับการศึกษา ก็ถือว่าสำคัญ แต่อาจจะดูเป็นอันดับหลัง ๆ เพราะมองว่าที่ผ่านมาโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของแต่ละคนไม่เท่ากัน

แต่อย่างไรก็ตามการที่มีคนเก่งที่เข้าใจเนื้อหาด้านวิชาการ เข้ามาร่วมงานก็จะช่วยเสริมศักยภาพการสอนได้
Start Dee = Study+Dee  
เหตุผลที่ทำให้เกิดเป็น Start Dee มาจากการสำรวจมุมมองของนักเรียนเกี่ยวกับการศึกษาที่พบว่า ถ้าพูดถึง Study นักเรียนส่วนใหญ่จะรู้สึกถึงความกดดัน ความเครียด ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่อยากให้เป็นภาพจำของการศึกษาไทย  และ Start Dee ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษา โดยการเป็นตัวช่วยให้เด็กสามารถเข้าถึงการเรียนได้ตลอดเวลาที่ต้องการถือเป็นโรงเรียนหลังที่ 2 มีบางคลิปที่ “ไอติม” ลงมือทำคลิปสอนด้วยตัวเอง โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ โดยเหตุผลที่ทำคลิปด้วยตัวเอง ก็เพราะต้องการเข้าใจว่า คนที่เป็นครูสอนผ่านคลิปวีดีโอ จะต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง  ส่วนคลิปที่ผลิตมาเพื่อสอนนักเรียนผ่าน Start Dee ส่วนใหญ่มีเนื้อหาตามวิชาที่มีในโรงเรียน แต่ก็จะมีเพิ่มเติมวิชาอื่น ๆ ด้วย เช่น เรื่องเคล็ดลับการเรียน เป็นต้น

เบื้องต้น Start Dee จับกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กนักเรียนระดับ มัธยม 1-6 เพื่อช่วยนักเรียนที่ไปเรียนไปไม่ได้ในช่วงวิกฤติ โควิด-19 เนื่องจากมองว่า นักเรียนในกลุ่มนี้มีความเครียด และ ความกดดันสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายของ  Start Dee ตั้งใจจะขยายการเรียนครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6   โดยเชื่อว่าการปิดช่องว่างทางการศึกษาของเด็กนักเรียน จำเป็นต้องทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่เท่ากันตั้งแต่ระดับพื้นฐาน

เป้าหมายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของนักเรียนไทย

มีผลสำรวจที่สะท้อนปัญหาการศึกษาของไทยได้อย่างชัดเจนว่า หลัก ๆ แล้วปัญหาการศึกษาไทยมี  2 ประเด็นใหญ่ คือ

1. ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสถานศึกษาที่มีคุณภาพ  
2. ปัญหาในการเข้าถึงโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึง  ดังนั้น Start Dee จึงเข้ามาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการศึกษานอกโรงเรียน ที่ทำให้นักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงได้   

โดยเลือกที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ  เพราะปัจจุบันพบว่า สัดส่วนนักเรียนที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์มีเพียง 50% ขณะที่นักเรียนที่มีรายได้น้อยที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์มีเพียง 10-20% เท่านั้นขณะที่จำนวนนักเรียนที่เข้าถึงโทรศัพท์มือถือมีมากถึง 86% โดยเป็นนักเรียนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงโทรศัพท์มือถือมากถึง 79%   

3 เทคนิคการสอนของ Start Dee
การสอนเนื้อหาเฉพาะบุคคล

  • หัวใจหลักของเทคนิคการสอนสไตล์ Start Dee โดยเนื้อหาที่จะใช้ในการสอนเด็กที่เข้ามาใช้แอปพลิเคชั่น จะต้องไม่เหมือนกัน และต้องเหมาะกับนักเรียนแต่ละคน โดยจะนำเทคโนโลยีเข้ามาวิเคราะห์ความต้องการศึกษาของแต่ละบุคคลให้มีความเหมาะสม

นำเกมมาใช้กระตุ้นให้การเรียนสนุกมากขึ้น

  • พัฒนารูปแบบการสอนในแอปพลิเคชั่นให้ผู้เรียนรู้สึกเหมือนกับการเล่นเกม โดยมีการ Up Level เพื่อให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการเรียน

เปิดช่องทางการเรียนรู้ร่วมกัน

  • เปิดพื้นที่ให้นักเรียนที่ใช้แอปพลิเคชั่น สามารถสื่อสารกันได้ สามารถแลกเปลี่ยนแชร์โน๊ตที่จดระหว่างการเรียนระหว่างกันได้
เชื่อในพลังของข้อมูลเป็นหลัก

การก่อตั้ง และ การพัฒนาธุรกิจ ในมุมของ “ไอติม” จะพยายามให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เคยมีคำกล่าวว่า “ถ้าอยากรู้ว่าประเทศเป็นประชาธิปไตยหรือไม่.. ให้ไปดูที่ห้องเรียน”  จุดสำคัญคือ ต้องรู้จุดแข็ง..จุดอ่อน ของตัวเอง ต้องฟังคนมีประสบการณ์ อย่ายึดติดกับความเชื่อส่วนบุคคล และ ยึดถือข้อมูลเป็นหลัก วิเคราะห์ไปตามเหตุผล สิ่งสำคัญคือ ต้องกล้าลองอะไรใหม่ ๆ ล้มเหลวไม่เป็นไร เอาความล้มเหลวมาเป็นข้อมูล วิเคราะห์และใช้พัฒนาแก้ไขปัญหา

Start Dee มีการเก็บข้อมูลของผู้เรียนภายในแอปพลิเคชั่น เพื่อดูพฤติกรรมของนักเรียน แล้วนำมาปรับปรุงแนวทางการผลิตสื่อและจัดข้อมูลการเรียนการสอนออนไลน์ให้สอดรับกับความต้องการของนักเรียน

ไม่ยึดติดหลักสูตรการศึกษาไทยจนเกินไป

แม้หลักสูตรการสอนหลัก ๆ ของ Start Dee จะอิงหัวข้อตามหลักสูตรของการศึกษาไทย แต่ต้องไม่ยึดติดกับหลักสูตรมากเกินไป โดยยกตัวอย่างการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ที่ตามหลักสูตรส่วนใหญ่จะนำเสนอมุมมองหลักเพียงข้างเดียว สิ่งสำคัญคือการนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนในต่างประเทศมาปรับใช้วิเคราะห์ เปรียบเทียบ 2 ด้าน ไม่ฟังความข้างเดียว แต่ขณะเดียวกันเนื้อหาก็อาจขัดกับคู่มือการสอนของไทย แต่อย่างไรก็ตาม การสอนของ Start Dee จะต้องรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาเป็นหลัก ซึ่งความต้องการในการยกระดับการศึกษาของ Start Dee ต้องการไปให้ไกลกว่าในหลักสูตร ต้องทำให้เด็กมีทักษะการเปรียบเทียบ การคิด วิเคราะห์ เพื่อให้เด็กคิดเป็น วิเคราะห์ได้

ครูที่มาสอน ต้องผ่านการทดสอบหลายด้าน ทั้งเรื่องการสัมภาษณ์ การทำข้อสอบในวิชาที่จะสอน เพื่อวัดผลเชิงวิชาการ ทั้งในหลักสูตรของ TOFEL , IELTS  และที่สำคัญต้องผ่านการทดสอบการสอนหน้ากล้อง ซึ่งเป็นทักษะที่แตกต่างจากการสอนหน้าชั้นเรียนทั่วไป

ทีมงานของ  Start Dee จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ  70% เป็นส่วนรับผิดชอบด้านการผลิตเนื้อหาการเรียนการสอน ซึ่งจะแบ่งเป็นกลุ่มของครู และ กลุ่มผู้ผลิตสื่อ

Business Model ของ  Start Dee
รายได้หลักของ Start Dee มาจากการเก็บค่าสมาชิกรายเดือน ที่มีการกำหนดราคาให้ต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อตอบโจทย์ DNA ของธุรกิจการศึกษาเพื่อสังคม ซึ่งการต้องเก็บค่าสมาชิก ก็เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ที่สำคัญต้องทำให้ผู้ใช้เกิดความกังวลในค่าใช้จ่ายรายเดือนให้น้อยที่สุด ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่า ค่าสมาชิกรายเดือน เดือนละ 200-300 บาท ก็สามารถเข้าถึงเนื้อหาการสอนภายในแอปพลิเคชั่นได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะหาผู้สนับสนุนภายนอกเพื่อหาทุนเข้ามาสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงเนื้อหาการเรียนภายในแอปพลเคชั่นได้ โดยข้อเสนอที่น่าสนใจคือ การเปิดพื้นที่ให้ทุนจากองค์กรธุรกิจ(Corporate Fund) เพื่อหาทุนเรียนฟรี และเปิดโอกาสในการเข้าฝึกงานในองค์นั้น ๆ ต่อยอดเรื่องอาชีพ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ตอบโจทย์ธุรกิจที่อยากลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งแอปพลิเคชั่น Start Dee มีระบบที่สามารถตรวจสอบพัฒนาการของผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาเพื่อวัดผลได้ด้วย

เรื่องของผู้ร่วมลงทุน สำคัญคือต้องมีเป้าหมายที่ตรงกัน คือ เรื่องการเงินมีไว้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ส่วนตัวไม่อยากเห็นบริษัทนี้เป็นบริษัทที่หวังผลกำไร ซึ่งความสำเร็จสามารถชี้วัดได้ที่ด้านอื่นด้วย ไม่ใช่เรื่องของเงินอย่างเดียว

ซึ่งการวัดผล นอกจากจะวัดผลจากข้อมูลที่เก็บภายในแอปพลิเคชั่นแล้ว ยังมีการวัดผลการศึกษาที่โรงเรียนของเด็ก ว่าดีขึ้นหรือไม่ มีทักษะที่ดีขึ้นหรือไม่ และ สุดท้ายจะนำไปสู่การวัดคะแนน PISA ซึ่งเป็นการวัดทักษะของนักเรียนทั่วโลก ที่ปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำจนเกือบจะรั้งท้าย ทั้งในระบบโลก และระดับภูมิภาค

พฤติกรรมของนักเรียนไทย ที่ท้าทายที่สุด??

คือความไม่เข้าใจว่า “จะเรียนไปทำไม?” ซึ่งเป็นมุมมองของเด็กไทยที่มีต่อการศึกษา และเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทย ที่จะต้องทำให้เด็กนักเรียนสามารถหาคำตอบตรงนี้ให้ได้

เป้าหมายของ Start Dee คือการเป็นแอปพลิเคชั่นที่เข้าถึงเด็กนักเรียนมากที่สุด และ ทำให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่น มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น สามารถทำให้นักเรียนเข้าใจ ประยุกต์ใช้ คิด วิเคราะห์เป้าหมาย และ จุดประสงค์ของการเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถตอบคำถามที่ว่า “จะเรียนไปทำไม?” ให้ได้ด้วยตัวเอง

วิชาที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ในมุมมองของ “ไอติม”

การหาความสุข” คือวิชาที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ในมุมของไอติม ที่มองว่า เด็กไทยมีความเครียด มีความกดดันด้านการศึกษา จนบางครั้งเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต มีภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว

“การศึกษาไทย ไม่ได้ปลูกฝังเรื่องการบริหารจัดการอารมณ์ การหาความสุขในชีวิต การบริหารสมดุลในชีวิต ที่สำคัญคือ ต้องเรียนรู้การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่เราไว้ใจ”

      “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ
สามารถรับชม LIVE เต็มๆย้อนหลังได้ที่


Created with