START-UP: รู้จัก ‘Burn rate’ และ ‘การแบ่งหุ้น’ ชี้ชะตาชีวิตสตาร์ทอัพ

In Summary

  • ในซีรีส์ START-UP แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดของการแบ่งหุ้น และการคำนวณอัตราการเผาเงินทุน (Burn rate) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของสตาร์ทอัพ
  • การแบ่งหุ้นมีข้อควรระวังหลักคือไม่ควรแบ่งเท่ากันทุกคน ควรแบ่งตามแรงงาน แรงเงิน และแรงสมองที่ลงไป และเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์
  • Burn rate หรืออัตราการเผาทุนคือ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนช่วงที่บริษัทใช้เงินทุนที่ได้มาโดยยังไม่มีรายรับเข้ามา ซึ่งถือเป็นตัวชี้ชะตาว่าบริษัทจะอยู่ในสภาพแบบนี้ไปได้อีกกี่เดือน และทุนหมดเมื่อไหร่ ก็จบเมื่อนั้น

START-UP ซีรีส์ขวัญใจของเราในขณะนี้ เดินทางมาถึงครึ่งเรื่องแล้ว ที่ผ่านมามีฉากเด็ดๆ มากมายที่ชวนให้เราต้องขบคิดไปกับเรื่องของการก่อตั้งธุรกิจ ซีรีส์เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่า ไม่มีอะไรทำได้ง่ายเหมือนที่คิดไว้ตอนเริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความกดดันเรื่องเงิน และผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

เราคงเห็นกันในซีรีส์แล้วว่าความกดดันของเหล่าซัมซานเทคมีมากแค่ไหนเมื่อพูดถึงเรื่องการแบ่งหุ้น และความเครียดก็ยิ่งมากขึ้นไปอีกเมื่อคำนวณ Burn rate จนทำให้ซอดัลมีของเราต้องดั้นด้นไปขอทุนจากหลายบริษัท เพื่อให้ซัมซานเทคสร้างนุนกิลต่อไปได้

วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ ‘รูปแบบการแบ่งหุ้น’ และ ‘Burn Rate’ ในวงการสตาร์ทอัพ ว่ามันคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และทำไมทุกคนถึงต้องเคร่งเครียดกับมันขนาดนี้
Photo from: Unsplash

 

แบ่งหุ้นยังไงให้ไม่แตกคอกัน?
ในตอนหนึ่งของเรื่อง เราจะเห็นว่าซัมซานเทคผู้ยังไม่ช่ำชองในการสร้างโมเดลธุรกิจมากนัก ตัดสินใจแบ่งหุ้นให้ทุกคนคนละเท่าๆ กัน แต่พอหัวหน้าทีมฮันเห็นอย่างนั้นก็โมโหมาก และสั่งให้แบ่งหุ้นใหม่ทั้งหมด โดยให้ตั้ง ‘Keyman’ ขึ้นมาหนึ่งคน และเทหุ้น 60-80 เปอร์เซ็นต์ไปที่คนคนนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต

ดูถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่าแล้วการแบ่งหุ้นเท่ากันมันไม่ดีตรงไหน? และทำไมนักลงทุนถึงจะไม่เชื่อมั่นหากแบ่งหุ้นลักษณะนี้?

เพราะการแบ่งหุ้นอย่างเท่าเทียมนอกจากจะแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในตัวผู้ก่อตั้งแล้ว (ถ้าเชื่อมั่นทำไมไมให้ถือหุ้นเยอะล่ะ?) ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาที่จบไม่ลงเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน เพราะเสียงเท่ากัน และไม่รู้จะให้ใครชนะดี นอกจากนี้ในความเป็นจริงแล้ว หุ้นส่วนทุกคนไม่มีทางที่จะลงทุน ลงแรง ลงสมองได้เท่ากันเป๊ะ จะมีคนที่ทำน้อยกว่า และคนที่ทำมากกว่าเสมอ สุดท้ายแล้วคนที่รู้สึกแย่คือคนที่ทำมาก แต่กลับต้องเห็นอีกฝ่ายที่ทำน้อยได้ประโยชน์เท่ากัน

การแบ่งหุ้นที่ดี และหลายบริษัทนิยมใช้กัน คือการแบ่งหุ้นแบบ ‘Dynamic Equity Split (DES)’ เป็นการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่

  1. ความทุ่มเทและเวลาในการทำงาน
  2. เงินทุนที่ลงไป
  3. จำนวนและคุณภาพของไอเดียที่คิดได้
  4. ความช่วยเหลือในการจัดหาอุปกรณ์และสำนักงาน
  5. ความสัมพันธ์ หรือคอนเนคชันที่มีประโยชน์ 

โดยการแบ่งแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่กำหนดอย่างตายตัว จะต้องมีการประเมินใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง การแบ่งหุ้นแบบนี้จะทำให้ผู้ถือหุ้นมีกำลังใจทำงาน และเป็นการแบ่งที่ค่อนข้างยุติธรรม ใครทำเท่าไหร่ก็จะได้เท่านั้น
Photo from: Unsplash

 

Burn rate อัตราการเผาของเงินทุน ชี้ชะตาชีวิต
สตาร์ทอัพกว่า 82 เปอร์เซ็นต์จบลงเพราะปัญหาเรื่องกระแสเงินสด
และแน่นอนว่าซัมซานเทคของเราคงไม่อยากเป็นหนึ่งในนั้น นั่นคือสาเหตุที่ทำไมซอดัลมีต้องมานั่งคิด Burn rate ขึ้นกระดานให้ทุกคนดู

อัตราการเผาเงินทุน (Burn rate) คือค่าใช้จ่ายต่อเดือนช่วงที่บริษัทใช้เงินทุนที่ได้มาโดยยังไม่มีรายรับเข้ามา ซึ่งถือเป็นตัวชี้ชะตาว่าบริษัทจะอยู่ในสภาพแบบนี้ไปได้อีกกี่เดือน และทุนหมดเมื่อไหร่ ก็จบเมื่อนั้น โดยจะคิดเป็นจำนวนเงินทั้งหมดที่ใช้ต่อเดือน

บริษัทที่มี Burn rate 100,000 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าบริษัทนั้นใช้เงิน 100,000 บาทต่อเดือน และนำไปหารกับเงินทุนที่เหลืออยู่ เช่น ถ้าเหลืออยู่ 400,000 แสดงว่าคุณมีเวลาอยู่แค่ 4 เดือน

และถึงแม้ว่าบริษัทจะมีรายรับแล้ว แต่ถ้านั่นยังน้อยกว่ารายจ่าย ก็ต้องคิด Burn rate ไปเรื่อยๆ เช่นถ้ามีรายรับเดือนละ 10,000 Burn rate ก็จะเหลือ 90,000 ซึ่งอาจยืดอายุบริษัทไปได้อีกนิด

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำว่าคุณควรมีเงินให้อยู่รอดได้ต่อไปอย่างน้อย 6 เดือน คำศัพท์อีกคำที่ใช้คู่กันคือ ‘Runway’ หรือระยะเวลาที่บริษัทยังอยู่รอดได้ นั่นหมายความว่าถ้าคิดตามจำนวนข้างต้น บริษัทจะปลอดภัยในระดับหนึ่งหากมีเงินเหลือ 600,000 บาท เพราะมันจะปลอดภัยกว่าถ้าต้องเจอกับขาลงของตลาด ปัญหาที่ไม่คาดคิด หรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

เข้าใจกันมากขึ้นแล้วใช่มั้ยว่าทำไมซอดัลมีและหัวหน้าฮันของเราถึงเคร่งเครียดกันสุดๆ ทีนี้ก็กลับไปเกาะจอรอดูตอนต่อไปกันได้แล้ว รับรองว่าถ้ามีเกร็ดความรู้ดีๆ จากซีรีส์สุดฮิต เราจะรีบเอามาฝากทุกคนกันอีกแน่นอน

อ่านเรื่องเกี่ยวกับสตาร์ทอัพต่อได้ที่ รู้จักกับ K-STARTUP: Sandbox แห่งสตาร์ทอัพ ที่มีอยู่จริงของเกาหลีใต้ และเปิดโอกาสให้คนทั่วโลก

Source
Created with