สิ่งที่ประชาชนอยากรู้จาก “รัฐ” ในยุค “สงคราม COVID-19”

บทความพิเศษจาก : คุณชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ
ผู้ประกาศข่าวสาวมากประสบการณ์จากสถานีทีวีช่อง 8 และอดีตผู้ประกาศข่าวช่อง TNN 24

คิดเหมือนดิฉันมั้ยคะ?

ทุกวันนี้ เป็นยุคแห่งสงคราม

สงครามการต่อสู้กับ  “Covid-19


ในยุคสงครามมักจะมีแต่ความสับสนวุ่นวาย ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ  ความหวาดกลัว ความวิตกกังวลเกิดขึ้นทุกหัวระแหง กลัวไม่มีจะกิน กลัวว่าเราจะตาย ไม่รู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น

โดย ชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ
ในยุคสงคราม เราต้องการกองทัพ ใครครอบครองสื่อ..ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง!!

ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ฝั่งของฝ่ายอักษะ ผู้นำเยอรมันนี อย่าง ฮิตเลอร์ ได้ใช้ยุทธการโฆษณาชวนเชื่อใน เผด็จการนาซี และลัทธิฟาสซิสต์ เชื่อในเผด็จการ เชื่อในสงคราม รวมถึงแนวคิดเลือดอารยัน (คือกลุ่มคนเลือดบริสุทธิ์) ในขณะที่ฝั่งพันธมิตร ผู้นำอเมริกาอย่าง ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ก็ยังต้องพึ่งพากลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ เพื่อจูงใจให้คนอเมริกัน เห็นความจำเป็นที่ต้องเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร

คำถามคือ แล้วเรามีกองทัพร่วมรบกับ กองทัพของ Covid-19 หรือยัง ? เพราะอะไร ?

ความร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติคือสิ่งสำคัญในการร่วมรบ แต่ขณะเดียวกันผู้นำ ต้องมีความเข้าใจ และสร้างพลังของคนในชาติขึ้นมาให้ได้ ด้วย “การสื่อสาร” ที่ถูกต้อง ตรงประเด็น

เราเคยผ่านเหตุการณ์ที่ คนทั่วโลก แห่ชื่นชมในการบริหารสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ มาแล้ว จำได้มั้ยคะ “13 หมูป่า ที่ถ้าขุนน้ำนางนอน” ซึ่งถ้าพูดถึงเหตุการณ์นี้ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ

1. การบริหารสถานการณ์ (Operation)
เราจะเห็นการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ จากทุกภาคส่วน ด้วยความเต็มใจ และเต็มศักยภาพ ภายใต้ Single Command ของ อดีตผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงราย ด้วยพันธกิจที่เป็นเป้าหมายเดียวกัน คือ 13 หมูป่าต้องออกจากถ้ำอย่างปลอดภัย

2. การสื่อสาร (Communication)
ถึงแม้ช่วงแรกจะเห็นความสับสนของการให้ข่าว เนื่องจากแต่ละสำนักข่าว ต่างแข่งกันทำข่าวให้ลึกและเร็ว และเข้าไปในพื้นที่ๆไม่ควรจะเข้าไป จนโดนสังคมประณาม แต่หลังจากนั้นระยะหนึ่ง เราจะเห็นศูนย์ข่าว (Media Center) และทีมแถลงข่าว ที่จะออกมาในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งจะกำหนดตัวผู้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ตามแต่ด้านที่เกี่ยวข้อง ใครควรเป็นผู้พูด อะไรพูดได้ อะไรพูดไม่ได้ พูดแค่ไหน พูดตอนไหน เพื่อควบคุมกระแสข่าวที่ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ

 คำถามต่อมาคือ ในสงคราม Covid-19 และภาวะวิกฤติเช่นนี้ เราตอบโจทย์แม้เพียง แค่ 2 ข้อนี้ได้หรือยัง?

           มีอีกหนึ่งตัวอย่างค่ะ ใกล้ตัวมากๆ และล่าสุด สดๆ ร้อนๆ จริงๆ กับการต่อสู้กับ สงคราม Covid-19

…(พาดหัวข่าว)… “องค์การอนามัยโลก (WHO) และผู้เชี่ยวชาญ ด้านสาธารณสุข ยกย่อง นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ของสิงคโปร์ ให้เป็นต้นแบบในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน บรรเทาความตื่นตระหนก ขจัดข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ  ขณะเดียวกัน ได้ติงการสื่อสารที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนของ ผู้นำฮ่องกงและไทย”
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า แถลงการณ์เพียง 9 นาทีที่เผยแพร่ ทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติสิงคโปร์ เมื่อ 9 ก.พ.ของนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ได้ช่วยขจัดความวิตกกังวลของประชาชนได้อย่างเห็นผลทันที

สิ่งที่ นายลี ทำ และสิ่งที่ WHO ชื่นชม คืออะไร?
  1. โปร่งใส ไม่ปกปิดข้อมูลว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเท่าไหร่
  2. ให้ความเข้าใจ และสร้างความอุ่นใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
  • อธิบายว่า ไวรัส Covid ไม่ได้น่ากลัวเท่าโรคซาร์ส ที่เคยระบาดเมื่อปี 2003 และเคยประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา เปรียบเทียบความแตกต่าง 2 โรค เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพ
  • แต่ก็มีมาตรการรับมือกับไวรัส Covid อย่างไม่ประมาท เนื่องจากยังไม่มีใครรู้อนาคตว่าจะรุนแรงแค่ไหน โดยแจกแจงว่าเราจะทำอะไรบ้าง และตอนนี้ต้องทำอะไร
  • สร้างความเชื่อมั่นด้วย ท่าที น้ำเสียง บุคลิก ที่เชื่อมั่น จริงจัง มีพลัง แต่ก็ดูอบอุ่น และเป็นมิตร

3. แจกแจงมาตรการรับมือของรัฐบาล
–  นายลี พูดถึงมาตรการของรัฐบาล และสามารถปรับเปลี่ยนได้ถ้ามีการแพร่ระบาด เป็นวงกว้าง พร้อมยืนยัน “จะแจ้งข้อมูลทุกขั้นตอน”

นายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ของสิงคโปร์

      –  มีการจัดเตรียมเครื่องมือทางการแพทย์ มีหมอ พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ สถานที่รองรับ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หน้ากากอนามัย ทุกอย่างเพียงพอ มีการศึกษาเรื่องไวรัสอย่างต่อเนื่อง และมีการเตรียมการด้านจิตวิทยา เพื่อให้ชาวสิงคโปร์รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น และควรเตรียมรับมืออย่างไร
4. ให้แนวทางกับประชาชนในการป้องกันไวรัส
        – ให้ข้อมูลกับชาวสิงคโปร์ว่าจะเตรียมรับมือกับระยะต่อไปอย่างไร

น.ส.โอลิเวียร์ ลอว์ เดวีส์ โฆษกองค์การอนามัยโลก ระบุว่า “ความโดดเด่นในการสื่อสารในยามวิกฤติของสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการสื่อสารกับประชาชนเป็นวงกว้าง”

น.ส.โอลิเวียร์ ลอว์ เดวีส์

นายโธมัส อับราฮัม เจ้าของหนังสือ Twenty First Century Plague, the Story of SARS และที่ปรึกษาการสื่อสารความเสี่ยง ของ WHO ระบุว่า ถ้อยแถลงของผู้นำสิงคโปร์ได้ผล เพราะชาวสิงคโปร์มีความเชื่อมั่นในความสามารถ และความโปร่งใสของรัฐบาลสูง

“ความหวาดกลัว จะสร้างความเสียหายยิ่งกว่าเชื้อไวรัส ”

-ลี เซียน ลุง

นี่แสดงถึงประสิทธิภาพการสื่อสารของผู้นำถึงประชาชน ยังไม่รวมถึงวิธีการรับมือ  ที่ยังมีอีกหลายประเทศซึ่งมีมาตรการในการจัดการกับ Covid-19 อย่างเด็ดขาดและเห็นผลในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น จีน ไต้หวัน หรือญี่ปุ่น

ถามว่าตอนนี้เราคนไทย ต้องการรับรู้อะไรจากรัฐบาลในสถานการณ์นี้บ้าง

ถ้าให้ตอบในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ดิฉันก็เชื่อว่า…
  1. เราอยากรู้ข้อมูลจริง

  • ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมีแค่นี้จริงหรือ?
  • ทำไมบางคนที่เป็นผู้ติดเชื้อจึงไม่ต้องเปิดเผยชื่อ แล้วคนอื่นจะรู้ได้อย่างไรว่าไปเจอคนเหล่านี้หรือเปล่า?
  • ตกลงประเทศเราเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 หรือยัง?
  • เพราะอะไรเราจึงไม่ต้องปิดเมือง หรือเราทำอะไรไปแล้วบ้าง 


หรือแม้กระทั่งว่า ถ้าตอนนี้เราได้รับข้อมูลจริงอยู่แล้ว แต่ทำไมคนไม่เชื่อ?

2. อยากเห็นมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาล
  • ตอนนี้การระบาดอยู่ที่ระยะไหน รัฐบาลทำอะไรแล้วบ้าง ที่เป็นห่วงคืออะไร และถ้าต้องเข้าสู่ระยะต่อไป นอกจากจะบอกว่ารัฐบาลเตรียมอะไรไว้แล้ว เราก็อยากรู้ด้วยว่าประชาชนควรทำตัวอย่างไรบ้าง เพราะเราไม่รู้เรื่องอะไรเลยก่อนจะเกิดเหตุ แต่มักจะรู้หลังเกิดไปแล้วมากกว่า เช่นมีการปิดจุดเสี่ยงหลายจุดในกรุงเทพ คนเลยแห่กลับต่างจังหวัด  โดยไม่มีมาตรการที่ป้องกันการเคลื่อนย้ายใดๆ มาก่อน
  • เมื่อทางการประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ก็ย่อมเกิดคนว่างงานทันทีในจำนวนมหาศาลถามว่าตรงนี้จะบริหารจัดการอย่างไร จะมีการพักหนี้ได้บ้างหรือไม่ และอีกหลายคำถาม
  • การบริหารจัดการแบบ Single Command เป็นเรื่องจำเป็นหรือยังในภาวะวิกฤติเช่นนี้ และเฉพาะแค่การปิดเมือง เราควรให้อำนาจผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดได้จริงหรือไม่? เช่น ผู้ว่าฯกทม.สั่งปิดหลายสถานที่เริ่ม 22 มีนาคม แต่เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายคนออกจากกรุงเทพฯเป็นจำนวนมากตามมาอย่างที่เห็น ซึ่งกลายเป็นว่าเหมือนเร่งการระบาดให้เร็วขึ้น จากที่กังวลว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์

3. อยากรับรู้ข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สร้างความสับสนเช่นทุกวันนี้
  • เรามีศูนย์ฯ การแจ้งข่าวหลายศูนย์จนสับสน
  • ผู้กำหนดทิศทางข่าวของประเทศ คือใคร? ที่ควรจะมาจากแหล่งเดียว ไม่สร้างความสับสน

4. เราอยากเห็น ความเป็นพวกเดียวกัน ความเป็นผู้นำ ความอบอุ่น ความเป็นมิตร จากรัฐบาล ที่ไม่ใช่ผลักประชาชน ออกมายืนอยู่คนละฝั่งกัน
และทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่รัฐบาลควรจะสื่อสารกับประชาชนในภาวะวิกฤติให้มีประสิทธิภาพนั้น ก็หนีไม่พ้นการตอบคำถามเหล่านี้เป็นแกน
  1. การประมวลเหตุผลว่า สิ่งที่ประชาชน อยากรู้คืออะไรบ้าง?
  2. จะมีมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างไร?
  3. มีผลกระทบอะไรบ้างที่ต้องเกิดตามมาหลังมาตรการเหล่านี้? แล้วเตรียมการรองรับอย่างไร? เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ คนไม่มีงานทำ เป็นต้น
  4. มีมาตรการรับมือกับอนาคตที่จะมาอย่างไร? มีแผนในการก้าวล้ำนำหน้าปัญหาไปก่อน 1 ก้าวได้อย่างไร เพื่อให้เตรียมตัว
  5. ประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง เพื่อรับกับแต่ละมาตรการ ขอชัดๆ
  6. ปลุกพลังใจ สร้างความเชื่อมั่น ว่าเราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน สร้างความเชื่อมั่นในตัวผู้นำเหตุการณ์

แน่นอนว่ามาตรการหลายอย่างที่สื่อสารผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข เป็นเรื่องที่ต้องขอชื่นชมว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่เสียดายที่ขาดการสื่อสารกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น การบริหารสถานการณ์ที่ดี จึงต้องเคียงคู่ไปกับการสื่อสารที่ดีเสมอ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ในภาวะวิกฤติเช่นนี้…เพราะเราต้องการความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติทุกคน  เพื่อผ่าน “สงคราม Covid-19” นี้ไปให้ได้พร้อมกัน

ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคน

#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
Created with