เปลี่ยนงานเสริมให้เป็นงานประจำทำเงินได้ยังไง?

In Summary

  • อีกเส้นทางหนึ่งที่เราสามารถทำได้คือการทำงานเสริมที่เราต้องการเป็นเสริมควบคู่ไปกับงานประจำก่อน จนกว่าจะมั่นใจแลเปิดกิจการของตนเองได้ เหมือนตัวอย่างของเจ้าของร้านอาหารที่เคยเปิดร้านอาหารใต้ดินแค่เดือนละครั้ง ทำคู่ไปกับงานประจำ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนปัจจุบันสามารถเปิดร้านอาหารของตนเองได้
  • เราต่างคุ้นเคยกับเส้นทางของการเป็นเจ้าของกิจการแบบเดิมๆ คิดแผนธุรกิจ ลาออกจากงานประจำ เริ่มกิจการ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าแผนนี้มีความเสี่ยงมากในสถานการณ์แบบนี้
  • การเริ่มต้นเส้นทางของผู้ประกอบการในรูปแบบนี้มีความเสี่ยงน้อยกว่า ทำให้เราสามารถเรียนรู้และทดลองได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทุน และนั่นช่วยปูเส้นทางที่มั่นคงว่าในการเป็นเจ้าของกิจการ

หากพูดถึงเส้นทางในการเป็นผู้ประกอบการที่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง เรามักมองมันเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้ เริ่มจากการลาออกจากงานประจำ และเริ่มเปิดธุรกิจใหม่ จนถึงการค่อยๆ พาธุรกิจไปสู่จุดที่ประสบความสำเร็จ
ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นการเสี่ยงแบบที่เราอาจจะได้ทุกอย่าง ประสบความสำเร็จแบบรุ่งโรจน์ หรือไม่ได้อะไรกลับมาเลย หมดเนื้อหมดตัว ไม่มีทั้งงานประจำและเงินเก็บก็หายหมด แต่มันไม่จำเป็นต้องไปในทิศทางนั้นเสมอไป เพราะเส้นทางการเป็นเจ้าของกิจการอาจเริ่มจากการทำงานเสริมเล็กๆ ควบคู่ไปกับงานประจำ หรืออาจจะเกิดขึ้นในเวลาที่เราไม่ทันตั้งตัวเลยด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นก็เป็นปกติของชีวิต เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอนเสมอ

> จากร้านอาหารใต้ดินสู่เจ้าของกิจการ
ดาฟนี ดิมิทรี (Daphne Demetry) ผู้ช่วยอาจารย์ในคณะบริหารของมหาวิทยาลัย McGuil ได้แชร์เรื่องราวที่เธอไปพบเจอมาจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในกิจการเกี่ยวกับอาหารกว่า 63 คน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นเริมต้นเส้นทางการทำงานของตนเองจากการเปิดร้านอาหารใต้ดินเล็กๆ (Underground Restaurant) คือร้านอาหารแนวใหม่ที่เปิดในบ้านของเจ้าของเอง บางครั้งอาจใช้ชื่อเรียกว่า ร้านอาหารป็อปอัพ

การเปิดร้านอาหารใต้ดินไม่จำเป็นต้องเปิดทุกวัน สามารถเปิดเป็นครั้งคราวได้ อาจเปิดร้านแค่สัปดาห์ละครั้ง หรือเดือนละครั้งก็ได้ และความที่เปิดไม่บ่อยนี้เป็นจุดดึงดูดที่ได้ผลที่สุดอย่างหนึ่งของร้านอาหารใต้ดิน ข้อดีที่สุดอย่างหนึ่งของการเปิดร้านอาหารแบบนี้คือ เราสามารถเปิดไปด้วยและทำงานประจำในวันอื่นๆ ไปด้วยได้ เจ้าของร้านอาหารใต้ดินที่เราไปกินนั้น อาจเป็นทนาย หรือเป็นผู้จัดการในบริษัทใหญ่ก็เป็นได้

ซึ่งต่อไปในอนาคต ถ้าหากร้านอาหารใต้ดินของเรามีชื่อเสียงมากพอ เราค่อยเปลี่ยนมันเป็นร้านอาหารปกติ และออกจากงานประจำมาทำตอนนั้นก็ยังไม่สาย แต่ถ้ามันเกิดล้มเหลว เราก็ไม่มีอะไรจะต้องเสียมากมาย แค่เงินทุนตั้งต้นเล้กๆ น้อยๆ นี่คือตัวอย่างของการเริ่มเส้นทางสู่การเป็นเจ้าของกิจการในแบบที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องสูญเสียงานประจำ ลงทุนน้อย ซึ่งอาจเปลี่ยนแนวคิดแบบเดิมๆ ของการลาออกมาเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งต้องยอมรับว่าเสี่ยงมากในสถานการณ์ปัจจุบันเช่นนี้

โลกอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มออนไลน์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราทำงานเสริมได้ง่ายขึ้น เช่น การทำงานศิลปะขายในอินเทอร์เน็ต ตามที่เราเคยแนะนำไปในคอลัมน์ 2nd Jobs ก่อนหน้านี้ หรือถ้าเราเป็นคนชอบแสดงออก การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ทำคอนเทนต์ดีๆ ลง YouTube หรือ TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่มาแรงในขณะนี้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และอาจสร้างรายได้จากการที่มีสปอนเซอร์มางโฆษณา หรือจ้างเราทำคอนเทนต์โปรโมท ทำให้เรารวยได้ไม่รู้ตัวกันเลยทีเดียว
> ความเหนื่อยยากและการเรียนรู้ที่แสนสุข
มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่หันมาเริ่มทำงานเสริมควบคู่ไปกับงานประจำก่อน เพื่อลองเชิงกิจการใหม่ของตนเอง เรียกว่าอาจก้าวเท้าลงสนามแค่หนึ่งข้างก่อน ถ้าไม่รอดก็ชักเท้ากลับมา ถึงแม้ว่าข้อเสียอย่างหนึ่งคือการที่เส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงานและเวลาว่างของเราอาจจะบางลง เราอาจจะต้องทำงานตลอดเวลา แต่มันก็คุ้มที่จะเสียสละ เพระมันคือเส้นทางที่ดูมีความเป็นไปได้ที่สุดที่จะเปลี่ยนงานอดิเรกและงานที่เราหลงใหลให้มาเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเราได้ ลองนึกภาพดูสิว่าถ้าเราได้สิ่งที่เราชอบทุกวัน แม้ความเหนื่อยล้าจากการทำงานจะยังมีอยู่ แต่มันก็คงลดลงไปไม่น้อย

หรือลองมองการทำงานที่เรารัก ซึ่งอาจทำให้เราเหนื่อยขึ้นว่าเป็น “ความเหนื่อยยากและการเรียนรู้ที่แสนสุข” ก็ได้นะ เหมือนที่บรรดาเชฟเจ้าของร้านอาหารใต้ดินมอง เพราะมันเป็นงานที่เกิดจากแพสชันในการทำอาหารของพวกเขา นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะได้ทดลองและพัฒนาฝีมือการทำอาหารของตนเอง ซึ่งการกลายเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่แผนแรกของพวกเขาเลย พวกเขาแค่ต้องการทำงานที่รักเท่านั้น ความคิดในการเป็นผู้ประกอบการของเชฟเหล่านี้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากการได้รับคำชมเรื่องฝีมือการทำอาหาร ทำให้มุมมองที่มีต่อตนเองเริ่มเปลี่ยนไปอย่างไม่คาดคิด และเริ่มเห็นหนทางว่าพวกเขาอาจจะทำอาหารเป็นอาชีพได้ เขาไม่ได้มองสิ่งที่ทำเป็งานอดิเรกอีกแล้ว แต่เริ่มมองเห็นมันในลักษณะของอาชีพที่มั่นคง ซึ่งทั้งหมดนี้มันไม่เหมือนกับกระบวนการการเริ่มทำธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ต้องหาให้เจอก่อนว่าจะทำอะไร ลาออก แล้วค่อยเริ่มทำ กระบวนการในแบบใหม่นี้ค่อยๆ ก่อตัวและเดินหน้าไปโดยที่ตัวเขาเองแทบจะไม่รู้ตัว และสุดท้ายก็ถึงจุดที่ทุกอย่างก็เป็นใจให้เขาเป็นเจ้าของร้านอาหารได้ในที่สุด อย่างว่าแหละ ในโลกของความไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้
คริส (นามสมมุติ) คือหนึ่งในอดีตทนายความที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านอาหารชื่อดังที่เดอะเบย์แอเรีย ซานฟรานซิสโก เขาเริ่มทำร้านอาหารใต้ดินด้วยแนวคิดว่าแค่อยากทำสนุกๆ เท่านั้น แต่ยิ่งเขามีลูกค้ามากขึ้น ลูกค้าก็ยิ่งเรียกร้องให้เขาเปิดทุกวัน และบางคนถึงกับเสนอเงินลงทุนให้ จนถึงจุดนึงที่ทำให้เขามีความมั่นใจในเส้นทางของตนเอง และผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านอาหารในที่สุด

> เสี่ยงน้อย เรียนรู้เยอะ
การเริ่มเส้นทางของการเป็นผู้ประกอบการด้วยการทำงานที่สองควบคู่กับงานประจำไปก่อนมีข้อดีที่ทำให้เราคาดไม่ถึง ด้วยแนวคิดของการทำเล่นๆ เอาสนุกทำให้เราไม่กลัวที่จะทดลงและเรียนรู้อะไรแปลกใหม่ ถ้าหากเราลาออกจากงานประจำมาทำเลย เราคงไม่กล้าเสี่ยงถลุงเงินลงทุนจำนวนจำกัดของเราเอง เราจะค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่เรามั่นใจว่าเราพร้อมแล้ว นั่นคือวันที่เหมาะสมที่สุด

ตัวอย่างของร้านอาหารใต้ดินที่เราเล่าทั้งหมดนี้ให้บทเรียนกับว่า เราไม่จำเป็นต้องเริ่มวางแผนกิจการด้วยการวางแผนธุรกิจ คิดไอเดีย ลาออก และสร้างกิจการจากศูนย์เสมอไป เราสามารถเริ่มเดินทางสายนี้ควบคู่ไปกับงานประจำได้ ซึงทำให้ความเครียดลดลง และมีงานประจำเป็นฟูกรองรับความเสี่ยง ทำให้เราได้ลองและเรียนรู้อย่างเต็มที่มากกว่า

จำไว้ว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการเป็นผู้ประกอบการ ต่างคนต่างมีเส้นทางที่หลากหลาย ในขณะที่เราทำงานอดิเรกด้วยการนั่งวาดรูป ทำคลิป ทำอาหารอยู่นี้ เราอาจกำลังเริ่มเส้นทางการเป็นผู้ประกอบการของเราโดยไม่รู้ตัวก็ได้

Source

Created with