ฟังความ 2 ด้าน “Virtual Influencer” บวกตรงไหน ลบอย่างไร เมื่ออินฟลูเอนเซอร์ไม่มีตัวตน

  • เลียม นิคุโระ (Liam Nikuro) นายแบบลูกครึ่งญี่ปุ่นอเมริกันที่โพสต์ภาพแฟชั่นสตรีทสุดเท่และข้อความกระตุ้นให้ผู้คนพูดคุยด้วยอย่างเป็นกันเอง วันนี้มีฐานแฟนมากกว่า 14,400 คนบนอินสตาแกรมแล้วทั้งที่ไม่มีตัวตนจริงบนโลก (Virtual Influencer) ขณะที่อิมมะ แกรม (Imma Gram) นางแบบสาวผมบ๊อบสีชมพูซึ่งมักโพสต์วิดีโอบน TikTok นั้นได้โอกาสถ่ายแฟชั่นให้กับแบรนด์ดังเช่น Burberry, Bape และ Dior ทั้งที่เธอเป็นเพียงภาพกราฟิกที่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น
  • นอกจาก 2 รายนี้ โลกยังได้เห็น“ผู้มีอิทธิพลเสมือน” หรือ Virtual Influencer  แนวอื่นที่ถูกยกเป็นดาวเด่นในโลกโซเชียลที่มีฐานแฟนและอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยหลายคนมองว่าบางครั้ง Virtual Influencer ก็น่าเชื่อถือมากกว่ามนุษย์ตัวจริงที่เต็มไปด้วยผู้ติดตามปลอม คอมเมนต์ลวง และยอดชมสุดเฟก
  • แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้าน Virtual Influencer ก็ถูกมองว่ามีแง่ลบไม่ธรรมดา Virtual Influencer จึงไม่ได้เปรียบเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และมองว่าถึงอย่างไร ชาวโลกก็ยังต้องการอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นมนุษย์ตัวจริงอยู่ดี

เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิกวันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในโลกของภาพยนตร์ แต่กำลังถูกนำไปใช้งานในรูปแบบหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการสร้างนางแบบหนุ่มสาวที่กำลังมาแรงในแวดวงแฟชันต่างประเทศ จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลเสมือนหรือเวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์ที่ชาวโซเชียลให้ความสนใจ

เมื่อ Virtual Influencer เกิดไปโดนใจชาวโซเชียลจนดึงดูดผู้ติดตามมากขึ้นอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมการตลาดจึงขานรับในวงกว้างยิ่งขึ้นและกลายเป็นแรงผลักดันการเติบโตของ Virtual Influencer ได้อย่างน่าประทับใจ
การเติบโตนี้เกิดขึ้นได้เพราะแบรนด์ให้การยอมรับ Virtual Influencer เห็นได้ชัดจากซูเปอร์โมเดลไร้ชีวิตอย่าง Shudu ซึ่งถูกเลือกเพราะแบรนด์ต้องการจ้างพรีเซนเตอร์ที่เชื่อมต่อโลกแห่งแฟชั่นและเทคโนโลยีแบบเป๊ะมากชนิดที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ดังนั้น Shudu ซึ่งเป็นซูเปอร์โมเดลดิจิทัลคนแรกของโลกจึงได้รับการว่าจ้างแทน โดยทีมงานต้องสร้างเสียงให้กับ Shudu รวมถึงต้องทำงานกับ Swarovski เพื่อออกแบบชุดดิจิทัลสำหรับเธอโดยเฉพาะ
เป๊ะเว่อร์ไม่มีหลุด

แบรนด์ที่จ้าง Shudu จะได้รับประโยชน์สูงสุดเรื่องการควบคุม ทั้งด้านบุคลิกภาพ พฤติกรรม และอีกหลายส่วนซึ่งสามารถขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแบรนด์ว่าต้องการสร้างสรรค์ภาพลักษณ์พรีเซนเตอร์ในรูปแบบใด ตรงข้ามกับการทำงานในแคมเปญที่มีมนุษย์ตัวจริงเป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งอาจจะสะกดชื่อแบรนด์ผิดก็ได้ขณะที่โพสต์ผลิตภัณฑ์

Virtual Influencer มักถูกสร้างขึ้นตามหลักบรรทัดฐานความงามของแต่ละบริษัท ความสร้างสรรค์ใน Virtual Influencer จึงไร้ขีดจำกัด กลายเป็นความยืดหยุ่นที่แบรนด์สามารถทำได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะพาอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นไปดาวอังคาร หรือการทำสิ่งที่ไม่คาดฝันให้เป็นภาพที่ผู้ชมเห็นได้เต็มอารมณ์

เมื่อนำไปผสมกับยุคแห่งการทำการตลาดด้วยผู้มีอิทธิพลหรือ Influencer Marketing ซึ่งแบรนด์ต้องใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ต่อปีในการจ้างกลุ่มครีเอเตอร์บนโซเชียลสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดผู้บริโภคให้มองไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แบรนด์ที่เจียดเงินมาใช้ผู้มีอิทธิพลเสมือนยังทำให้มีภาพลักษณ์เป็นแบรนด์ที่ดูทันสมัยและเข้าถึงวัยรุ่นได้มากขึ้น เช่น Samsung, Balmain, Gucci และอีกหลายแบรนด์ที่แสดงได้ถึงความสนุกสนาน แปลกใหม่ และน่าสนใจกว่าเดิมหลังจากที่ใช้ไอดอลดิจิทัลอย่าง Li Miquela, Shudu และ Yoox
 
ต่อต้านเพราะลวงตา
ความไม่จริงของ Virtual Influencer กลายเป็นข้อเสียที่ทำให้ Virtual Influencer ขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้คลื่นลูกใหม่ของวงการบันเทิงและการตลาดนี้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับข่าวปลอมในพริบตา

เทคโนโลยีดีพเฟก (Deepfake) ที่สร้างข่าวปลอมจากวิดีโอปลอมนั้นถูกชาวโลกบอกต่อให้ระวังอย่าหลงเชื่อ เนื่องจากวิดีโอปลอมเหล่านี้สามารถใช้เป็นอาวุธทางการเมือง รวมถึงการโจมตีเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคลหรือกลุ่มคนได้ง่ายมาก ดังนั้นแบรนด์ที่จ้าง Virtual Influencer ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์สร้างสรรค์รูปร่างหน้าตาและท่าทางขึ้นโดยไม่มีจริงเหมือนเทคโนโลยี Deepfake จึงมีความเสี่ยงสูงถูกมองเป็นแบรนด์ที่ผลิตเนื้อหา “ปลอม” แบบไม่มีมูลความจริงเลย
ตัวอย่างเช่น Liam Nikuro ที่อัปโหลดภาพพร้อมโปสเตอร์เขียนว่า “I can’t breathe” บนอินสตาแกรมเพื่อบอกผู้ติดตามว่าตัวเขาสนับสนุนปรากฏการณ์ Black Lives Matter ในสหรัฐฯ และ Imma Gram ที่โพสต์รายชื่อคนดำผู้เสียชีวิตด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานรัฐในสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้แม้ว่าจะมีความพยายาม แต่ต้องยอมรับว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่ได้มีความน่าเชื่อถือในสายตาบุคคลทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ผู้สร้าง Virtual Influencer บางรายเลือกที่จะหยิบเน็ตไอดอลดิจิทัลมาเป็นตัวแทนรณรงค์สิทธิมนุษยชน เช่น Liam ที่ผู้สร้างยืนยันว่าไม่ได้สร้างมาเพื่อการตลาด แต่สร้างมาเพื่อต่อต้านการถูกกลั่นแกล้งบนออนไลน์ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการรณรงค์ที่เชื่อว่าจะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
ต้องชั่งน้ำหนัก
ในเมื่อวันนี้เทคโนโลยีสามารถพา Virtual Influencer ให้ไปได้ไกลกว่าเดิมด้วยภาพใบหน้าที่สมจริงอย่างเหลือเชื่อ จนทำให้ Virtual Influencer มองแล้วแทบไม่แตกต่างจากผู้มีอิทธิพลตัวจริง สิ่งที่แบรนด์ต้องทำจึงเป็นการตัดสินใจให้ดีว่า Virtual Influencer นั้นตรงกับคุณค่าของแคมเปญที่ต้องการทำหรือไม่ เช่น ภาพลักษณ์ความถูกต้องและความซื่อสัตย์ ซึ่งนี่เป็นคำถามที่แบรนด์จะต้องถามตัวเองแล้วตอบให้ได้

การจ้างผู้มีอิทธิพลเสมือน อาจทำให้ผู้บริโภคมองว่าแบรนด์ล่องลอย เพราะ Virtual Influencer ยังมีชีวิตอาศัยอยู่บน Instagram และ YouTube เท่านั้นในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำว่า Virtual Influencer เหมาะกับแบรนด์ที่ตั้งใจสะท้อนภาพการยกระดับผู้หญิง ทำให้ผู้บริโภคเห็นนางแบบในมุมที่แปลกตามากกว่าที่เคย ขณะเดียวกัน Virtual Influencer ยังได้รับการยอมรับว่าเหมาะสมมากในการทำแคมเปญช่วงโควิด-19 ระบาด เพราะงานแคมเปญ Virtual Influencer ไม่มีวันสะดุด ต่างจากการใช้อินฟลูเอนเซอร์มนุษย์ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมหรือถูกล็อกดาวน์

สุดท้ายแล้ว อินฟลูเอนเซอร์ทั้งที่เป็นคนจริงและงานดิจิทัลก็จะยังถูกว่าจ้างอย่างหลากหลายต่อไป เพราะทั้งแง่บวกและลบของ Virtual Influencer ล้วนเป็นสีสันที่ทำให้ตลาด  “ผู้มีอิทธิพล” ยังมีมนต์ขลังที่ไม่เสื่อมคลายไปง่ายๆ ในเร็ววัน

ที่มา : https://www.voguebusiness.com/technology/china-virtual-influencers

https://www.scmp.com/lifestyle/arts-culture/article/3091979/instagram-influencer-singer-and-model-and-computer-generated

https://www.raconteur.net/hr/virtual-influencer-for-against

https://www.instagram.com/lilmiquela/?utm_source=ig_embed

https://www.instagram.com/shudu.gram/?utm_source=ig_embed
Created with