Crowdfunding ช่องทางจับคู่ “ผู้ประกอบการ-นักลงทุน” ยุคดิจิทัล

Crowdfunding หรือ การระดมทุนสาธารณะ เป็นอีกหนึ่งช่องทางของผู้ประกอบการอย่าง SMEs ที่สนใจเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจ แต่ยังขาดเงินทุน ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางให้นักลงทุนเข้ามาสร้างรายได้ในรูปแบบ Passive Income จากดอกเบี้ย

ในบทความนี้จะพามาส่องข้อดีและข้อควรระวัง ของการระดมทุนและการลงทุนในรูปแบบของ Crowdfunding กัน

 
Crowdfunding ช่องทางระดมทุนของ SMEs

Crowdfunding เป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เข้าถึงเงินทุนอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเตรียมเอกสารมากมาย หรือใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ในการขอเงินทุน ซึ่งต่างจากการขอเงินกู้ผ่านธนาคารที่มีเรื่องยุ่งยากมากมาย และยังต้องมั่งลุ้นว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ หรือบางธุรกิจอาจจะไม่มีช่องทางเข้าไปหานักลงทุนรายใหญ่เพื่อนำเสนอแผนงานแลกกับการขอเงินระดมทุนหรือให้ส่วนแบ่งเป็นหุ้นบริษัท

ซึ่งหลักการการขอระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มนั้นค่อนข้างง่าย ไม่ว่าจะขอเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ การขยายธุรกิจ เงินทุนหมุนเวียน หรือเพื่อการรีไฟแนนซ์ SMEs เพียงแค่เลือกว่าต้องการระดมทุนไปเพื่ออะไร และกรอกข้อมูล เช่น 1.ชุดเอกสารการจดทะเบียนบริษัท 2.เอกสารประจำตัวของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ กรรมการ 3.รายงานเครดิตบูโร 4.รายละเอียด หรือ ประวัติ ของบริษัท (ถ้ามี) 5.บัญชีธนาคาร งบการเงิน และ6.รายงานภาษี จากนั้น แพลตฟอร์มจะทำการประเมินความเสี่ยง และแจ้งผลกลับมาใน 3-7 วัน

เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการระดมทุน ในขั้นตอนนี้นักลงทุนจะเห็นรายละเอียดว่าบริษัทต้องการเงินทุนไปทำอะไร และมีแนวโน้มที่ดีไหม หลังจากที่ได้เงินครบตามจำนวน ทางผู้ออกหุ้นกู้จะออกใบหุ้นกู้ Crowdfunding ให้ผู้ลงทุน แต่หากการจองซื้อไม่สำเร็จ (ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีผู้ออกหุ้นกู้ได้เงินระดมทุนไม่ถึงเป้า) ผู้ลงทุนจะได้รับค่าจองซื้อกลับคืน

 

ลงทุนกับ Crowdfunding ต้องรู้อะไรบ้าง

ในมุมของนักลงทุน Crowdfunding ถือเป็นหนึ่งช่องทางในการสร้าง Passive Income ได้เป็นอย่างดี สามารถเปิดพอร์ทลงทุนผ่านแพลตฟอร์มได้ไม่ยาก และเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่เงินหลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักล้านบาท และมีโอกาสได้ผลตอบแทนตั้งแต่ 4-12% ต่อปี

โดยลักษณะการเลือกบริษัทลงทุนจะคล้ายกับการเลือกซื้อหุ้น คือ สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท สถานะทางการเงิน และการประเมินความเสี่ยงทางเครดิตผ่านเจ้าของธุรกิจโดยตรง แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ นักลงทุนสามารถสอบถามข้อมูลจากเจ้าของธุรกิจได้โดยตรง และพูดคุยกับนักลงทุนคนอื่นๆ ผ่าน Forum ได้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจก่อนตัดสินใจลงทุน

แล้วการลงทุนกับ Crowdfunding มีความเสี่ยงในด้านใดบ้าง… น่าจะเป็นสิ่งนักลงทุนอยากรู้

การลงทุนในหุ้นกู้ผ่านแพลตฟอร์ม Crowdfunding นั้น แพลตฟอร์มจะทำหน้าที่ส่งคำเตือนไปหาผู้ประกอบกิจการ จนไปถึงจ้างหน่วยงานการติดตามหนี้เพื่อดำเนินการเรียกคืนหนี้ในนามของนักลงทุน แต่เมื่อตามจนถึงที่สุดแล้วยังไม่สามารถเรียกเงินกลับมาจ่ายให้นักลงทุนได้ ก็จะทำให้นักลงทุนต้องเสียเงินลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมดไป

นอกจากนี้ การลงทุนใน Crowdfunding นั้นเป็นการลงทุนในระยะยาว 3-24 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้ผู้จะไม่สามารถขายหน่วยลงทุนต่อได้ จึงไม่เหมาะกับคนที่ต้องการสภาพคล่องในการลงทุน

ส่วนด้านความเสี่ยงอื่นๆ เช่น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันยก (เว้นจะถูกเขียนไว้ในหนังสือชี้ชวน) ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย จะไม่มีการนำทรัพย์สินของผู้ออกหุ้นกู้มาขายทอดตลาดเพื่อนำมาชำระคืนแก่นักลงทุน และผู้ลงทุนอาจจะไม่ได้รับการชำระเงินคืน เช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้เลิกกิจการ ผู้ลงทุนในหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เป็นลำดับต่อมา หลังจากเจ้าหนี้อื่น เช่น ลูกจ้างผู้มีเงินเดือน และเจ้าหนี้ที่มีประกัน ที่มีสิทธิ์มากกว่า

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มอย่าง Funding societies ก็ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ได้ให้เงินทุนกับ SMEs ไปกว่า 65,000 ราย เป็นเงินทุนไปกว่า 45,000 ล้านบาท และมีสัดส่วนการผิดนัดชำระน้อยกว่า 1.30%

 

ลงทุนอย่างไรให้เสี่ยงน้อยที่สุด
…ถึงแม้ว่าสัดส่วนการผิดนัดชำระจะน้อย แต่การลงทุนยังไงก็มีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่นักลงทุนต้องคำนึงก่อนการลงทุนทุกครั้งคือ เลือกธุรกิจที่เรามีความรู้ ความเข้าใจ จากนั้นให้ศึกษารายละเอียดของการขอเงินระดมทุน รวมถึงสอบถามข้อมูลตรงจากผู้ประกอบการอย่างละเอียด

นอกจากนี้ หากนักลงทุนที่สนใจจะหา Passive Income กับ Crowdfunding ก็ควรเลือกการกระจายเงินลงทุนไปหลายๆ บริษัท เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงโดยรวม

และสำหรับนักลงทุนรายย่อย ไม่ควรจะนำเงินออมหรือเงินลงทุนทั้งหมดที่มีมาลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding เพียงอย่างเดียว แต่ควรเลือกกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นมีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือมีความคล่องตัวมากกว่าด้วย

 

สัปดาห์หน้าจะพาไปรู้จักกับการ Tokenization Asset ซึ่งจะเป็นโลกอนาคตของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

-รวมคำศัพท์ FinTech ควรรู้
-เปิดมุมมอง “สิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน” FinTech กับแต้มต่อของธุรกิจหากเข้าใจการเงินยุคใหม่
Created with